เสม็ดใบกว้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสม็ดใบกว้าง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Myrtales
วงศ์: Myrtaceae
สกุล: Melaleuca
สปีชีส์: M.  quinquenervia
ชื่อทวินาม
Melaleuca quinquenervia

เสม็ดใบกว้าง หรือ เสม็ดขาวใบกว้าง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Melaleuca quinquenervia) เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ที่มีขนาดเล็กถึงกลางของพืชในสกุลเมอร์เทิล ของวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) สามารถแผ่กิ่งก้านสาขามีความสูงของต้นได้ถึง 20 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ ใบมีสีเขียวอมเทารูปทรงคล้ายใบหอกหรือรูปไข่ และมีดอกเป็นพู่สีเหลืองอ่อนหรือสีขาว ออกดอกตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2340 โดยอันโตนิโอ โฆเซ กาบานิเยส นักธรรมชาติวิทยาชาวสเปน

มีถิ่นกำเนิดในนิวแคลิโดเนีย ปาปัวนิวกินี และชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ตั้งแต่อ่าวโบทานีในนิวเซาท์เวลส์ ขึ้นไปทางเหนือในควีนส์แลนด์ M. quinquenervia เติบโตได้ดีในหนองน้ำที่ราบลุ่มแม่น้ำและปากแม่น้ำ ซึ่งมักเป็นดินเหนียว มีการนำเข้าไปกระจายพันธุ์ในเอเวอร์เกรดส์ของรัฐฟลอริดาและถูกจัดให้เป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานที่ร้ายแรงโดย USDA ไม่พบเสม็ดใบกว้างในประเทศไทย[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

เสม็ดใบกว้าง (Melaleuca quinquenervia) เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลาง ซึ่งมักแผ่กิ่งก้านสาขาได้สูง 8–15 เมตร และทรงพุ่มกว้าง 5–10 เมตร แต่บางต้นสามารถสูงได้ถึง 25 เมตร ต้นอ่อนหรืออายุน้อยมีขนทั้งยาวสั้นและนุ่มปกคลุมลำต้น เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ คล้ายกระดาษเรียงซ้อนกันเป็นปึก หนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ

ใบ ออกเรียงสลับรอบกิ่ง ใบแบน เหนียว รูปใบหอกแบบกว้างหรือรูปไข่ ทรงใบค่อนไปทางสมมาตร สีเขียวหม่นหรือสีเขียวอมเทา ยาว 55–120 มิลลิเมตร และกว้าง 10–31 มิลลิเมตร สัดส่วนความยาวของใบเป็นสามถึงแปดเท่าของความกว้าง (รูปทรงใบที่ออกกว้าง) เส้นใบที่เด่นชัดสีเขียวอ่อน 5 เส้น และเกือบขนานไปกับขอบใบ[2][3][4][5]

ดอกสีขาวหม่น สีครีม สีเหลืองอ่อน หรืออาจมีสีเขียวแกม เป็นพู่ ออกที่ปลายกิ่ง ซึ่งสามารถเติบโตผลิยอดต่อไปหลังจากออกดอกได้ บางครั้งออกดอกที่ด้านบนของซอกใบ ดอกพู่กระจุกเป็นช่อ 5 ถึง 18 ดอก คล้ายแปรงล้างขวด ปลายกิ่งเดียวมีได้มากถึง 3 ช่อ และช่อดอกอาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 40 มิลลิเมตร ดอก และยาวประมาณ 20–50 มิลลิเมตร กลีบดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และร่วงหล่นตามวัย มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ซึ่งกระจุกกันเป็นมัด 5 มัดรอบ ๆ แต่ละมัดมีเกสรเพศผู้ 5 ถึง 10 เส้น ออกดอกตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงต้นฤดูใบไม้ร่วงคือ เดือนกันยายนถึงมีนาคมในออสเตรเลีย

ผล มีลักษณะเป็นเปลือกไม้ ทรงกลมแป้น หรือทรงกระบอกสั้น ยาว 2.5–4 มิลลิเมตร และเป็นกระจุกกันแน่นเป็นตุ่ม ๆ เรียงกันเป็นพืดตามแนวรอบกิ่งก้าน แต่ละผลมีเมล็ดขนาดเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งจะออกเป็นประจำทุกปี[2][3][4][5][6]

กลุ่มต้นเสม็ดใบกว้าง M. quinquenervia

เสม็ดใบกว้าง มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกันมากกับ เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi) และ เสม็ดขาวใบยาว (Melaleuca leucadendra) ที่พบในประเทศไทย ทั้งสามเป็นพืชในสกุล Melaleuca ต่างกันเล็กน้อยที่ลักษณะเด่นของเสม็ดใบกว้าง คือ เส้นใบที่มี 5 เส้นชัดเจน สัดส่วนของใบที่กว้าง สั้นกว่า ค่อนไปทางสมมาตร ช่อดอกสั้นกว่า ผลที่ติดกันเป็นพืด และทั้งสามชนิดมีถิ่นกำเนิดต่างกัน

อนุกรมวิธาน[แก้]

เสม็ดใบกว้างได้รับการจัดอนุกรมวิธานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2340 โดยอันโตนิโอ โฆเซ กาบานิเยส (Antonio José Cavanilles) นักธรรมชาติวิทยาชาวสเปน โดยให้ชื่อว่า Metrosideros quinquenervia จากตัวอย่างที่เก็บรวบรวมใกล้พอร์ตแจ็คสัน และได้รับการเผยแพร่ใน Icones et Descriptiones Plantarum[7][8] ในปีพ.ศ. 2501 สแตนลีย์ แทชเชอร์ เบลค (Stanley Thatcher Blake) จากหอพรรณพืชควีนส์แลนด์ (Queensland Herbarium) ได้ย้ายชื่อชนิดไปยังสกุล Melaleuca [9]

ชื่อแสดงคุณลักษณะ quinquenervia มาจาก ภาษาละติน quinque แปลว่า "ห้า" และ nervus แปลว่า "เส้นใบ" หมายถึง ใบที่มีเส้นใบห้าเส้นเด่นชัด[2][4]

มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Broad-leaved paperbark, Broad-leaved tea tree และชื่อสั้นเรียก Paperbark รวมทั้งชื่อ Tea tree ที่ใช้ในออสเตรเลีย และ Punk tree ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา[6] ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Niaouli, Itachou (paicî) และ Pichöö (xârâcùù) ใน นิวแคลิโดเนีย [10]

การแพร่กระจายและถิ่นกำเนิด[แก้]

ถิ่นกำเนิดของ Melaleuca quinquenervia ในออสเตรเลีย

ในประเทศออสเตรเลีย เสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) แพร่กระจายตามชายฝั่งตะวันออกตั้งแต่คาบสมุทรเคปยอร์ก ในควีนส์แลนด์ ไปจนถึงอ่าวโบทานี (Botany Bay) ในนิวเซาท์เวลส์ เติบโตได้ดีในที่ราบลุ่ม หนองน้ำตามฤดูกาล ที่ราบปากแม่น้ำ ป่าชายหาดใกล้ทะเล ที่ลุ่มน้ำขัง ตามชายขอบป่าพรุ และเป็นพืชพันธุ์ที่โดดเด่นในภูมิภาคซิดนีย์ ที่เติบโตควบคู่ไปกับต้นไม้อื่น เช่น ไม้มะฮอกกานี (Eucalyptus robusta) และ Bangalay (E. botryoides) เสม็ดใบกว้างเติบโตในดินเหนียว ดินป่าพรุหรือดินที่มีน้ำขัง และเติบโตได้ในดินเปรี้ยวที่มี pH ต่ำถึง 2.5 [11]

เสม็ดใบกว้าง มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของนิวกินีตะวันตก ของประเทศอินโดนีเซีย และประเทศปาปัวนิวกินี และกระจายพันธุ์ในนิวแคลิโดเนียรวมทั้ง แกรนด์แตร์, Belep, เกาะ Pines และ Maré [10] อาจพบต้นเสม็ดใบกว้างกระจัดกระจายตามภูมิประเทศทุ่งหญ้าสะวันนาทางตะวันตกของนิวแคลิโดเนีย ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยมีสภาพป่ามาก่อน แต่ถูกปรับสภาพเป็นทุ่งหญ้าตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกของมนุษย์ในภูมิภาคซึ่งใช้ไฟในการบุกเบิกปรับหน้าดิน[12] ภัยคุกคามที่สำคัญต่อเสม็ดใบกว้าง คือการพัฒนาที่อยู่อาศัย การตัดถนน การปลูกอ้อยและสวนสน เสม็ดใบกว้างที่เหลืออยูู่ในออสเตรเลียไม่ได้รับการคุ้มครองในเขตสงวน โดยพื้นที่ป่าเสม็ดใบกว้างส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในที่ดินส่วนบุคคลซึ่งการหักล้างถากพงยังคงดำเนินต่อไป[13]

เสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) ได้รับการแนะนำให้เป็นไม้ประดับในพื้นที่เขตร้อนหลายแห่งของโลก รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และอเมริกา และกลายเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานในหลายพื้นที่เหล่านั้น[14]

นิเวศวิทยา[แก้]

เสม็ดใบกว้าง สามารถแตกยอดใหม่จากปุ่มปมตามลําต้นอย่างรวดเร็วหลังไฟป่า และได้รับการบันทึกว่าสามารถออกดอกภายในไม่กี่สัปดาห์หลังไฟป่า สามารถมีอายุได้นานกว่า 100 ปี โดยต้นเสม็ดใบกว้างปลูกอายุ 40 ปีจะมีเส้นรอบวงลำต้นประมาญ 2.7 เมตร [11]

ดอกเสม็ดใบกว้างเป็นแหล่งน้ำหวานที่ดีสำหรับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ แมลง และนกหลากหลายชนิด[6] เช่น นกแก้วเขียวอกลาย (Trichoglossus chlorolepidotus)[15] ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนหัวสีเทา (Pteropus poliocephalus) และค้างคาวแม่ไก่สีแดง (P. scapulatus) ที่กินทั้งดอก

เคมี[แก้]

สารประกอบอินทรีย์เทอร์พีนที่พบในเสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia)

สารสำคัญที่สกัดได้จากเสม็ดใบกว้าง คือ สารประกอบอินทรีย์เทอร์พีน ที่ต่างกัน 2 รูปแบบคือ

  • สารสำคัญที่ 1 (เทอร์พีนแบบเส้น) คือ E-nerolidol ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 74–95% ของน้ำมันทั้งหมด และยังรวมถึง Linalool [16]
  • สารสำคัญที่ 2 (เทอร์พีนแบบมุม) คือ Viridiflorol ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 13–66% ของน้ำมันทั้งหมด และยังรวมถึง 1,8-cineole และ α-Terpineol [16]

และยังมี Grandinin เป็น ellagitannin ที่พบในใบของเสม็ดใบกว้าง[17]

การใช้ประโยชน์[แก้]

เสม็ดใบกว้าง (M. quinquenervia) มีประโยชน์หลายอย่าง

ใบ มีรสขมหอม เมื่อถูกขยี้จะมีกลิ่นหอมระเหย ชาวออสเตรเลียพื้นเมือง นิยมใช้ใบอ่อนไปต้มเพื่อรักษา โรคหวัด อาการปวดหัว และโรคทั่วไป [18]

น้ำมันหอมระเหย ของ Melaleuca quinquenervia (โดยเฉพาะน้ำมันจากใบที่กลั่นด้วยไอน้ำมีสารสำคัญ 1,8-cineole ใช้ภายนอกสำหรับอาการไอ หวัด โรคประสาท และ โรคไขข้อ [19] ใช้กินช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ [1] นอกจากนี้ยังมีการสกัดสารสำคัญ nerolidol และ linalool) ซึ่งใช้ในน้ำยาไล่ยุงหรือแมลงและใช้เป็นตัวแต่งกลิ่นในสบู่และเครื่องสำอาง ได้ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิดโดยเฉพาะในออสเตรเลีย น้ำมันมีบันทึกในตำรับสมุนไพรและยาธรรมชาติ ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อและต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อช่วยในการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ปัญหาทางเดินหายใจและ โรคหวัด เป็นน้ำมันที่ไม่เป็นพิษ และทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้น้อยมาก มีระดับความเป็นอันตรายต่ำมาก (ระดับ 0) ในฐานข้อมูลความปลอดภัยของเครื่องสำอาง [20]

เปลือกไม้ที่เหมือนกระดาษนั้นใช้ในการรอง คูลามอน (ถาดทรงยาวคล้ายฟักผ่าครึ่ง) ใช้สร้างที่พักอาศัยแบบชั่วคราว ใช้ห่ออาหารอบ และใช้ปูหลุมเตาใต้ดิน [6]

ดอก น้ำหวานสกัดแบบดั้งเดิมโดยการขยำในน้ำใน คูลามอน ใช้เป็น เครื่องดื่ม ดอกหอมของเสม็ดใบกว้างยังช่วยผลิต น้ำผึ้ง สีเหลืองอำพันสีอ่อนถึงเข้มซึ่งต่างกันในแต่ละพื้นที่ เป็นน้ำผึ้งที่มีรสชาติเฉพาะตัวและหวานจัด ไม่จัดเป็นน้ำผึ้งคุณภาพสูง แต่ก็เป็นที่นิยม [21]

บางครั้งต้นเสม็ดใบกว้าง ยังนิยมทำเป็น บอนไซ [22]

เนื้อไม้ ทนต่อความชื้นและทนการแช่น้ำ และมักใช้เป็นรั้ว [23]

เป็นต้นไม้ ที่นิยมปลูกข้างถนนหรือปลูกในสวนสาธารณะโดยเฉพาะในซิดนีย์ [24] ในประเทศออสเตรเลียใช้ในการกันลม บังแดดให้ร่ม และแหล่งอาหารที่ดีสำหรับแมลงและนกท้องถิ่นหลากหลายชนิด [6][25] สามารถทนต่อดินที่มีน้ำขังได้ [23] ทั้งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ว่าเป็น วัชพืชรุกราน ใน รัฐฟลอริดา ซึ่งเคยได้แนะนำให้ปลูกในการช่วยซับน้ำในหนองน้ำ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 https://www.matichonweekly.com/column/article_224476
  2. 2.0 2.1 2.2 ISBN 9781922137517
  3. 3.0 3.1 ISBN 1876334983
  4. 4.0 4.1 4.2 ISBN 0207168679
  5. 5.0 5.1 https://plantnet.rbgsyd.nsw.gov.au/cgi-bin/NSWfl.pl?page=nswfl&lvl=sp&name=Melaleuca~quinquenervia
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ISBN 0-85091-589-9
  7. https://biodiversity.org.au/nsl/services/rest/instance/apni/473477
  8. https://bibdigital.rjb.csic.es/records/item/9682-redirection
  9. https://biodiversity.org.au/nsl/services/rest/instance/apni/543006
  10. 10.0 10.1 http://endemia.nc/flore/fiche445.html
  11. 11.0 11.1 "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-03-16. สืบค้นเมื่อ 2020-10-25.
  12. ISBN 0-387-98313-9
  13. C.E., Turner; T. D. Center; D. W. Burrows; G. R. Buckingham (1998). "Ecology and management of Melaleuca quinquenervia, an invader of wetlands in Florida, USA. Wetlands Ecology and Management". 5: 165–178.
  14. "Melaleuca quinquenervia (paperbark tree)". Centre for Agriculture and Biosciences International. Retrieved 5 February 2017. https://www.cabi.org/isc/datasheet/34348
  15. Lepschi BJ (1993). "Food of some birds in eastern New South Wales: additions to Barker & Vestjens". Emu. 93 (3): 195–99. doi:10.1071/MU9930195.
  16. 16.0 16.1 Ireland, B.F.; D.B. Hibbert; R.J. Goldsack; J.C. Doran; J.J. Brophy (2002). "Chemical variation in the leaf essential oil of Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T. Blake". Biochemical Systematics and Ecology. 30 (5): 457–470. doi:10.1016/s0305-1978(01)00112-0.
  17. Moharram, F. A. (2003). "Polyphenols ofMelaleuca quinquenervia leaves - pharmacological studies of grandinin". Phytotherapy Research. 17 (7): 767–773. doi:10.1002/ptr.1214. PMID 12916075.
  18. Maiden, J.H., The Forest Flora of New South Wales, vol. 1, Government Printer, Sydney, 1904.
  19. Blake, S.T., Contributions from the Queensland Herbarium, No.1, 1968.
  20. [1][ลิงก์เสีย]
  21. Cribb, A.B. & J.W., Useful Wild Plants in Australia, Collins 1982, p. 23, ISBN 0-00-636397-0.
  22. "Australian Plants as Bonsai - Melaleuca quinquenervia". Australian National Botanic Gardens. Retrieved 15 May 2020.
  23. 23.0 23.1 Halliday, Ivan (1989). A Field Guide to Australian Trees. Melbourne: Hamlyn Australia. p. 262. ISBN 0-947334-08-4.
  24. Halliday, Ivan (2004). Melaleucas: A Field and Garden Guide. Sydney: New Holland Press. p. 238. ISBN 1-876334-98-3.
  25. Elliot, Rodger (1994). Attracting Wildlife to Your Garden. Melbourne: Lothian Press. p. 58. ISBN 0-85091-628-3.