ข้ามไปเนื้อหา

วิลเลียม เชกสเปียร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เช็คสเปียร์)

วิลเลียม เชกสเปียร์
William Shakespeare
ภาพวาดเหมือนในคริสตศตวรรษที่ 17
ตั้งอยู่ที่หอศิลป์ภาพบุคคลแห่งชาติ ณ กรุงลอนดอน
เกิด26 เมษายน ค.ศ. 1564(1564-04-26)
สแตรตเฟิร์ด-อะพอน-เอวอน ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต23 เมษายน ค.ศ. 1616(1616-04-23) (51 ปี)
สแตรตเฟิร์ด-อะพอน-เอวอน ประเทศอังกฤษ
สุสานโบสถ์โฮลีทรินิตี้ สแตรตเฟิร์ด-อะพอน-เอวอน
อาชีพ
  • นักเขียน
  • กวี
  • นักแสดง
ปีปฏิบัติงานป. 1585–1613
ยุคสมัย
องค์การคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน/คิงส์เม็น
ผลงานเด่นงานวรรณกรรมของเชกสเปียร์
ขบวนการยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอังกฤษ
คู่สมรสแอนน์ แฮททาเวย์ (สมรส 1582)
บุตร
บิดามารดา
อาชีพนักเขียน
ภาษาภาษาอังกฤษสมัยใหม่ช่วงต้น
แนว
ลายมือชื่อ

วิลเลียม เชกสเปียร์ (อังกฤษ: William Shakespeare; 26 เมษายน ค.ศ. 1564 - 23 เมษายน ค.ศ. 1616)[a] เป็นกวี นักเขียนบทละครและนักแสดงชาวอังกฤษที่ได้รับยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของวงการวรรณกรรมอังกฤษและเป็นนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก[2][3][4] ผู้คนมักเรียกขานเขาว่าเป็นกวีแห่งชาติของอังกฤษ หรือ "ยอดกวีแห่งเอวอน" (เรียกง่าย ๆ ว่า "ยอดกวี") งานเขียนของเขาที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยบทละคร 39 เรื่อง กวีนิพนธ์แบบซอนเน็ต 154 เรื่อง บทกวีบรรยายอย่างยาวอีกประมาณ 2-3 เรื่อง และบทกวีแบบอื่น ๆ อีกหลายชุด ซึ่งบางบทประพันธ์ก็มีความไม่แน่นอน บทละครของเขาได้รับการแปลออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และเป็นที่นิยมจนถูกนำมาแสดงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาบทละครของนักเขียนท่านอื่น ๆ[5] นอกจากนี้เชกสเปียร์ยังเป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการใช้ภาษาอังกฤษ ผลงานของเขายังคงได้รับการศึกษาและตีความใหม่อยู่อย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน

เชกสเปียร์เกิดและเติบโตที่เมืองสแตรตเฟิร์ด ริมแม่น้ำเอวอน เมืองวอร์ริกเชอร์ เมื่ออายุ 18 ปี เขาสมรสกับแอนน์ แฮทธาเวย์ มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่ ซูซานนา และฝาแฝด แฮมเน็ต กับ จูดิธ ระหว่าง ค.ศ. 1585- 1592 เขาประสบความสำเร็จในการเป็นนักแสดงที่กรุงลอนดอนรวมถึงการเป็นนักเขียน และได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนในคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน (Lord Chamberlain's Men) ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อ King's Men เชกสเปียร์เกษียณตัวเองกลับไปยังสแตรตเฟิร์ดในราว ค.ศ. 1613 และเสียชีวิตในอีกสามปีต่อมา ไม่ค่อยมีบันทึกใดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเชกสเปียร์มากนัก จึงมีทฤษฎีมากมายที่คาดกันไปต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ความเชื่อทางศาสนา และแรงบันดาลใจในงานเขียนของเขา[6]

ผลงานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของเชกสเปียร์ประพันธ์ขึ้นในช่วง ค.ศ. 1590 ถึง 1613 ในยุคแรก ๆ บทละครของเขาจะเป็นแนวชวนหัวและแนวอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางบทละครที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อมาเขาเขียนบทละครแนวโศกนาฏกรรมหลายเรื่อง รวมถึงเรื่อง แฮมเล็ต King Lear และ แม็คเบธ ซึ่งถือว่าเป็นบทละครตัวอย่างของวรรณกรรมอังกฤษ ในช่วงปลายของการทำงาน งานเขียนของเขาจะเป็นแนวสุข-โศกนาฏกรรม (tragicomedies) หรือแนวโรมานซ์ และยังร่วมมือกับนักเขียนบทละครคนอื่น ๆ อีกมาก บทละครของเขาตีพิมพ์เผยแพร่ในหลายรูปแบบโดยมีรายละเอียดและเนื้อหาต่าง ๆ กันตลอดช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ใน ค.ศ. 1623 เพื่อนร่วมงานสองคนในคณะละครของเขาได้ตีพิมพ์หนังสือ "First Folio" เป็นการรวบรวมงานเขียนของเขาขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้บรรจุบทละครที่ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นงานเขียนของเชกสเปียร์เอาไว้ทั้งหมด (ขาดไปเพียง 2 เรื่อง)

ในยุคสมัยของเขา เชกสเปียร์เป็นกวีและนักเขียนบทละครที่ได้รับการยกย่องอยู่พอตัว แต่เขาได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงเช่นในปัจจุบันนี้นับตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 กวียุคโรแมนติกยกย่องนับถือเชกสเปียร์ในฐานะอัจฉริยะ ขณะที่กวียุควิคตอเรียเคารพนับถือเชกสเปียร์อย่างยิ่ง กระทั่ง จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ เรียกเขาว่า Bardolatry[7] (คำยกย่องในทำนอง "จอมกวี" หรือ "เทพแห่งกวี") ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการดัดแปลงงานประพันธ์ของเขาออกไปเป็นรูปแบบแนวทางใหม่ ๆ โดยเหล่านักวิชาการและนักแสดงมากมาย ผลงานของเขายังคงเป็นที่นิยมอย่างสูงจนถึงปัจจุบันและมีการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ในทุกประเทศทุกวัฒนธรรมทั่วโลก

ประวัติ

[แก้]

วัยเยาว์

[แก้]
บ้านเกิดของเชกสเปียร์ ที่เมืองสแตรทฟอร์ด ริมแม่น้ำเอวอน
ตราอาร์มประจำตระกูลเชกสเปียร์

วิลเลียม เชกสเปียร์ เป็นบุตรของ จอห์น เชกสเปียร์ เทศมนตรีและพ่อค้าถุงมือชาวเมืองสนิตเตอร์ฟิลด์ กับแมร์รี่ อาร์เด็น บุตรีของเจ้าที่ดินผู้มั่งคั่ง[8] เขาเกิดที่เมืองสแตรทฟอร์ดริมแม่น้ำเอวอน เข้าพิธีรับศีลเมื่อ 26 เมษายน ค.ศ. 1564 ไม่ทราบวันเกิดของเขาแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นวันที่ 23 เมษายน หรือวันที่ระลึกนักบุญเซนต์จอร์จ[8] อย่างไรก็ดีอาจเป็นความผิดพลาดของนักวิชาการในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งสับสนกับวันเสียชีวิตของเชกสเปียร์ คือ 23 เมษายน 1616 ก็เป็นได้[8] เชกสเปียร์เป็นบุตรคนที่สามในจำนวนพี่น้องแปดคน และเป็นบุตรชายคนโตที่ยังมีชีวิตอยู่[8]

แม้จะไม่ใคร่มีบันทึกเกี่ยวกับประวัติของเชกสเปียร์หลงเหลืออยู่ นักศึกษาชีวประวัติส่วนใหญ่เชื่อว่า เชกสเปียร์เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียน King's New School ในเมืองสแตรทฟอร์ด[9] ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเขาราว 1 ใน 4 ไมล์ การศึกษาภาษาศาสตร์ในโรงเรียนยังค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปมาในยุคสมัยเอลิซาเบธ แต่หลักสูตรถูกควบคุมทั่วประเทศโดยกฎหมาย[10] ทางโรงเรียนจะต้องสอนไวยากรณ์ละตินและวรรณกรรมคลาสสิกเท่านั้น เมื่ออายุได้ 18 ปี เชกสเปียร์แต่งงานกับแอนน์ ฮาธาเวย์ (Anne Hathaway) หญิงสาวอายุ 26 ปี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1582 ดูเหมือนการแต่งงานจะจัดขึ้นอย่างเร่งรีบ เพราะมีการประกาศเรียกหาคำคัดค้านการวิวาห์เพียงครั้งเดียว แทนที่จะเป็นสามครั้งตามประเพณีปรกติ[11] สาเหตุอาจเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ของฮาธาเวย์ก็ได้ เพราะเพียงหกเดือนหลังการแต่งงาน เธอก็ให้กำเนิดบุตรีคนแรกของเชกสเปียร์ คือ ซูซานนา ผู้เข้าพิธีรับศีลในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1583[8] ต่อมาบุตรชายและบุตรสาวฝาแฝด คือแฮมเน็ตและจูดิธ จึงถือกำเนิดขึ้น 2 ปีหลังจากนั้น และเข้าพิธีรับศีลเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1585[8] แฮมเน็ตเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่ออายุได้เพียง 11 ปี มีพิธีฝังศพเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1596[8]

ไม่มีบันทึกใด ๆ เกี่ยวกับเชกสเปียร์ให้พบเห็นอีกหลังการเสียชีวิตของบุตรฝาแฝด จนกระทั่งปรากฏชื่อของเขาอยู่ในฉากละครหนึ่งในกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1592 ช่องว่างที่หายไปหลายปีระหว่าง ค.ศ. 1585 ถึง 1592 นักวิชาการเรียกว่าเป็น "ปีที่หายไป" ของเชกสเปียร์[8] มีนักศึกษาชีวประวัติหลายคนสร้างเรื่องสมมุติฐานขึ้นมากมายในช่วงปีเหล่านี้ เช่น นิโคลัส รอว์ นักศึกษาชีวประวัติเชกสเปียร์คนแรก ๆ เสนอแนวคิดว่า เชกสเปียร์หนีออกจากเมืองสแตรทฟอร์ดไปยังกรุงลอนดอนเพื่อหลบหนีคดีขโมยกวาง[12] เรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 18 บอกว่า เชกสเปียร์เริ่มต้นชีวิตการงานในโรงละครโดยการเป็นคนดูแลม้าของผู้อุปถัมภ์โรงละครในกรุงลอนดอน[8] จอห์น ออบรี่ย์ เสนอว่า เชกสเปียร์น่าจะเป็นครูโรงเรียนในชนบท[8] ขณะที่นักวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 20 บางคนคิดว่า เชกสเปียร์อาจจะเคยเป็นครูของ อเล็กซานเดอร์ โฮตัน แห่งแลงคาไชร์ เจ้าที่ดินชาวคาทอลิก ซึ่งระบุชื่อ "วิลเลียม เชกสชาฟต์" ในพินัยกรรมของเขา[13] อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลยนอกจากคำบอกเล่าที่ได้ยินได้ฟังมาหลังจากการเสียชีวิตของเขาแล้วทั้งสิ้น[8]

ลอนดอน และการอาชีพการละคร

[แก้]

ไม่ทราบแน่ชัดว่า เชกสเปียร์เริ่มต้นการประพันธ์ของเขาเมื่อใด แต่มีบันทึกและการกล่าวอ้างถึงชื่อของเขาอยู่ในรายการแสดง ทำให้ทราบว่าบทละครของเขามีการแสดงอยู่ในลอนดอนแล้วในราวปี ค.ศ. 1592[14] เขาเป็นที่รู้จักดีในกรุงลอนดอนจนกระทั่งนักเขียนบทละคร โรเบิร์ต กรีน ยังเอ่ยถึง[15] นักวิชาการส่วนมากเห็นว่า กรีนระบุชื่อเชกสเปียร์ในเชิงปรามาสว่าเขาพยายามขยับฐานะของตัวให้ขึ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น และพยายามตีเสมอนักเขียนผู้ได้รับการศึกษาอย่างดีจากมหาวิทยาลัย เช่น คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์, โทมัส แนช รวมถึงตัวกรีนเอง[9]

คำว่าร้ายของกรีนเป็นหลักฐานอย่างแรกที่ระบุถึงการงานอาชีพของเชกสเปียร์เกี่ยวกับการละคร นักศึกษาชีวประวัติเชื่อว่าเขาน่าจะเริ่มต้นอาชีพของเขาในราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1580 ก่อนการเอ่ยถึงของกรีนเล็กน้อย[16] หลังจาก ค.ศ. 1594 บทละครของเชกสเปียร์ก็มีการแสดงแต่เฉพาะในคณะละคร Lord Chamberlain's Men ซึ่งเป็นคณะละครที่เหล่านักแสดงร่วมเป็นเจ้าของเอง โดยเชกสเปียร์ก็เป็นหุ้นส่วนด้วย ในเวลาต่อมาคณะละครนี้กลายเป็นคณะที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในกรุงลอนดอน[8] หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ในปี ค.ศ. 1603 คณะละครนี้ได้รับพระราชทานตราทะเบียนหลวงจากพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ คือพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง และเปลี่ยนชื่อคณะละครเป็น King's Men[17]

ปี ค.ศ. 1599 สมาชิกคณะละครกลุ่มหนึ่งได้สร้างโรงละครของตัวเองขึ้นมาบนฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำเทมส์ เรียกชื่อโรงละครว่า "โรงละครโกลบ" ในปี ค.ศ. 1608 หุ้นส่วนกลุ่มนี้ได้เข้าควบคุมกิจการของโรงละคร Blackfriars มีบันทึกการซื้อที่ดินและการลงทุนของเชกสเปียร์ทำให้ทราบได้ว่า การลงทุนครั้งนี้ทำให้เชกสเปียร์มีฐานะมั่งคั่งขึ้น[14] ในปี ค.ศ. 1597 เชกสเปียร์ซื้อบ้านขนาดใหญ่เป็นหลังที่สองในเมืองสแตรทฟอร์ด (ภายหลังเรียกว่า New Place) และในปี ค.ศ. 1605 เขายังได้ลงทุนเป็นเจ้าของถึงหนึ่งในสิบของตำบลแห่งหนึ่งในเมืองสแตรทฟอร์ด[18]

บทละครบางส่วนของเชกสเปียร์ได้รับการตีพิมพ์แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1594 เมื่อถึงปี 1598 ชื่อของเขาสามารถเป็นจุดขายโดยได้พิมพ์ปรากฏบนปกหนังสือ[8][19][20] เชกสเปียร์ยังคงแสดงละครเวทีของเขาเองและบทละครของคนอื่น ๆ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะคนเขียนบทละครแล้ว ละครเวทีของเบน โจนสัน ในปี ค.ศ. 1616 ยังปรากฏชื่อของเชกสเปียร์ในรายชื่อนักแสดงในเรื่อง Every Man in His Humour (1598) และ Sejanus, His Fall (1603)[21] ทว่าชื่อของเขาไม่ได้ร่วมอยู่ในละครของโจนสันในปี 1605 เรื่อง Volpone ทำให้นักวิชาการลงความเห็นว่า นั่นเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดบทบาทอาชีพนักแสดงของเชกสเปียร์[16] อย่างไรก็ดี ในหนังสือ "First Folio" แสดงชื่อของเชกสเปียร์เป็นหนึ่งในบรรดา "ตัวละครหลัก" ของบทละครทั้งหมดนั้น ซึ่งบางเรื่องก็เปิดแสดงหลังจากเรื่อง Volpone แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าเชกสเปียร์ได้ร่วมแสดงเป็นตัวละครใดกันแน่[8]

เชกสเปียร์ใช้เวลาของเขาไปกับทั้งลอนดอนและสแตรทฟอร์ดพร้อมกัน ในปี ค.ศ. 1596 ก่อนที่เขาจะไปซื้อที่ดินใหม่เพื่อสร้างบ้านในสแตรทฟอร์ด เชกสเปียร์อาศัยอยู่ที่โบสถ์หลังหนึ่งของเซนต์เฮเลน ทางตอนเหนือของแม่น้ำเทมส์[22] เขาย้ายข้ามแม่น้ำมาทางใต้ในปี 1599 ซึ่งพรรคพวกของเขาได้สร้างโรงละครโกลบขึ้นในที่แห่งนั้น เมื่อถึงปี 1604 เขาย้ายกลับไปทางเหนือของแม่น้ำอีก ไปอยู่ในแถบชุมชนทางตอนเหนือของคริสตจักรเซนต์ปอล โดยเช่าห้องจากช่างทำวิกผมชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ คริสโตเฟอร์ เมาท์จอย[22]

อนุสาวรีย์ ที่ฝังศพของเชกสเปียร์ ที่เมืองสแตรทฟอร์ดริมแม่น้ำเอวอน

ช่วงปลายของชีวิต

[แก้]

หลังจากปี ค.ศ. 1606-1607 เชกสเปียร์ก็เขียนบทละครน้อยลง และไม่ได้เขียนเพิ่มอีกเลยหลังจากปี 1613[8] งานเขียนบทละคร 3 เรื่องสุดท้ายของเขาเป็นงานเขียนร่วมกับนักเขียนบทละครคนอื่น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น จอห์น เฟล็ตเชอร์[22] ผู้รับสืบทอดตำแหน่งนักเขียนบทละครประจำคณะของเขาใน King's Men ในเวลาต่อมา[8]

นิโคลัส รอว์ เป็นนักศึกษาชีวประวัติคนแรกที่นำเสนอแนวคิดว่า เชกสเปียร์เกษียณตัวเองกลับไปยังสแตรทฟอร์ดเป็นเวลาหลายปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต[9] ทว่าในยุคสมัยนั้นยังไม่ค่อยนิยมการเกษียณการทำงาน และเชกสเปียร์เองก็ยังเดินทางไปยังลอนดอนอยู่บ่อย ๆ[9] เช่นในปี ค.ศ. 1612 เขาเดินทางมาเป็นพยานในศาลเนื่องจากคดีของบุตรสาวของเมาท์จอย[22] ในเดือนมีนาคม 1613 เขาซื้อบ้านหลังเล็กหลังหนึ่งในที่สงฆ์ของ Blackfriars[8] และหลังจากเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1614 เขาพำนักอยู่ในลอนดอนเป็นเวลาหลายสัปดาห์กับลูกเขย คือ จอห์น ฮอลล์[22]

เชกสเปียร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1616[8] โดยใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับภรรยาและบุตรสาวทั้งสอง ซูซานนาแต่งงานกับนายแพทย์ จอห์น ฮอลล์ เมื่อปี ค.ศ. 1607 ส่วนจูดิธแต่งงานกับโทมัส ควินีย์ พ่อค้าเหล้าองุ่น สองเดือนหลังจากเชกสเปียร์เสียชีวิต[8]

ในพินัยกรรมของเชกสเปียร์ เขายกที่ดินผืนใหญ่ของเขาให้แก่ซูซานนา บุตรสาวคนโต[8] ข้อกำหนดระบุว่าเธอจะต้องสืบมรดกต่อไปโดยมอบให้แก่ "บุตรชายคนโต"[22] ครอบครัวควินีย์มีบุตรสามคน แต่ทั้งสามถึงแก่กรรมโดยไม่ได้แต่งงาน ครอบครัวฮอลล์มีบุตรเพียงคนเดียวคือ เอลิซาเบธ เธอแต่งงานสองครั้งแต่ไม่มีบุตร จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1670 เป็นอันสิ้นสุดผู้สืบตระกูลสายตรงของเชกสเปียร์[8] ในพินัยกรรมของเขาไม่ค่อยเอ่ยถึงภริยา ซึ่งสมควรจะได้รับมรดกจำนวน 1 ใน 3 ของที่ดินของเขาโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดีเขาได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ให้ยก "เตียงนอนที่ดีที่สุดหลังที่สอง" ของเขาให้แก่เธอ เป็นเหตุให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมาก[9] นักวิชาการบางคนเห็นว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อยั่วแอนน์ แต่อีกหลายคนเห็นว่า เตียงนอนหลังที่สองของเขาหมายถึงเตียงจากการแต่งงาน จึงน่าจะมีความหมายอย่างลึกซึ้ง[8]

ร่างของเชกสเปียร์ฝังไว้ที่สุสานของคริสตจักรโฮลี่ทรินิตี้หลังจากเขาเสียชีวิตได้สองวัน ต่อมาในช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนปี ค.ศ. 1623 มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่เขาบนกำแพงทางด้านเหนือพร้อมรูปปั้นครึ่งตัวของเขาในท่ากำลังเขียนหนังสือ คำจารึกเปรียบเทียบเขาเสมอกับเนสเตอร์ โสกราตีส และเวอร์จิล[8] แผ่นหินที่วางเหนือหลุมศพของเขามีอักขระจารึกไว้พร้อมกับคำสาปหากมีผู้ใดบังอาจมาเคลื่อนย้ายกระดูกของเขา

งานบทละคร

[แก้]

นักวิชาการมักแบ่งลำดับงานเขียนของเชกสเปียร์ออกเป็นสี่ช่วง[23] ในช่วงแรกจนถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1590 เขามักเขียนบทละครชวนหัวซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานของชาวโรมันและอิตาลี หรือบทละครแนวอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงนั้น ต่อมาในช่วงที่สองตั้งแต่ราวปี 1595 เขาเริ่มเขียนละครโศกนาฏกรรม เริ่มตั้งแต่ โรมิโอกับจูเลียต ไปจนถึง จูเลียส ซีซาร์ ในปี ค.ศ. 1599 ในระหว่างช่วงเวลานี้ เขายังได้เขียนงานบทละครที่ได้รับยกย่องว่าเป็นบทละครแนวขบขันและแนวประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาด้วย จากนั้นในราวปี ค.ศ. 1600 ถึงประมาณ 1608 นับเป็น "ยุคโศก" ของเขา เชกสเปียร์เขียนแต่เรื่องโศกนาฏกรรมเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นในช่วงปี 1608 ถึง 1613 จะเป็นแนวเศร้าปนตลก หรือบางครั้งเรียกว่าแนวโรมานซ์

งานบทละครชิ้นแรกของเชกสเปียร์ที่มีการบันทึกไว้ คือบทละครเรื่อง พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และบทละครอีกสามองก์ของ พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1590 อันเป็นยุคที่นิยมละครชีวิตอิงประวัติศาสตร์ การระบุวันเวลาในการประพันธ์บทละครของเชกสเปียร์ทำได้ค่อนข้างยาก แต่จากการศึกษางานเขียนของเขา นักวิชาการเชื่อว่า Titus Andronicus, The Comedy of Errors, The Taming of the Shrew และ Two Gentlemen of Verona น่าจะเป็นงานเขียนในช่วงแรก ๆ ของเชกสเปียร์[8] ผลงานในกลุ่มละครอิงประวัติศาสตร์ของเชกสเปียร์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของราฟาเอล โฮลินเชด ในปี 1587 คือ Chronicles of England, Scotland, and Ireland แสดงให้เห็นถึงความล่มจมที่เกิดจากการปกครองอันอ่อนแอ ซึ่งสามารถตีความไปถึงต้นกำเนิดของราชวงศ์ทิวดอร์[24] องค์ประกอบของบทละครยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของนักเขียนบทละครในยุคเอลิซาเบธหลายคน โดยเฉพาะ โทมัส คิด และ คริสโตเฟอร์ มาโลว์ อันเป็นลักษณะของบทละครในยุคกลาง[25] บทละคร The Comedy of Errors ก็มีพื้นฐานมาจากรูปแบบละครในยุคคลาสสิก แต่ไม่พบแหล่งกำเนิดของ The Taming of the Shrew แม้ว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับละครอีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเดียวกันซึ่งดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้าน[8]

ภาพวาด Oberon, Titania and Puck with Fairies Dancing โดย วิลเลียม เบลก ค.ศ. 1786

ผลงานคลาสสิกและงานขำขันในยุคแรกของเชกสเปียร์มักมีโครงเรื่อง 2 ส่วนเกี่ยวพันกัน และมีลำดับการออกมุขตลกที่แน่ชัด เป็นตัวเบิกทางไปสู่ผลงานสุขนาฏกรรมอันอบอวลด้วยความรักในช่วงกลางทศวรรษ 1590[9] นั่นคือ ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน (A Midsummer Night's Dream) อันเป็นบทละครที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวความรัก เวทมนตร์ของนางฟ้า และฉากตลกขำขัน บทละครเรื่องต่อมาคือ เวนิสวาณิช ก็เป็นละครชวนหัวที่เกี่ยวกับความรัก มีตัวละครชาวยิวผู้เป็นนายหน้าเงินกู้จอมงก ไชล็อก อันสะท้อนภาพของผู้คนในยุคเอลิซาเบธ นอกจากนี้ยังมีบทละครชวนหัวที่เล่นถ้อยคำอย่างชาญฉลาด Much Ado About Nothing, ฉากอันงดงามมีเสน่ห์ใน As You Like It ตลอดจนเรื่องราวรื่นเริงใน ราตรีที่สิบสอง (Twelfth Night) เหล่านี้ล้วนเป็นบทละครสุขนาฏกรรมอันมีชื่อเสียงของเชกสเปียร์[9] หลังจากงานกวีเรื่อง ริชาร์ดที่ 2 เชกสเปียร์นำเสนองานเขียนร้อยแก้วเชิงขำขันกับละครอิงประวัติศาสตร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1590 คือเรื่อง พระเจ้าเฮนรีที่ 4 และ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ตัวละครของเขามีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากขึ้น โดยที่ต้องสลับไปมาระหว่างความจริงจังกับความตลก และยังสลับไปมาระหว่างการบรรยายแบบร้อยแก้วกับร้อยกรอง นับเป็นผลสำเร็จในการนำเสนอเรื่องราวด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ในงานเขียนของเขา[26][9] ยุคนี้ของเชกสเปียร์เริ่มต้นและจบลงด้วยงานเขียนโศกนาฏกรรมสองเรื่อง คือ โรมิโอกับจูเลียต ละครโศกนาฏกรรมความรักที่โด่งดังมีชื่อเสียงที่สุด และ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งแต่งขึ้นจากผลงานแปลของเซอร์โทมัส นอร์ธ เรื่อง Parallel Lives ในปี 1579 นับเป็นการนำเสนอรูปแบบละครชีวิตแนวใหม่[9]

ภาพวาดแฮมเล็ตกับปีศาจของบิดา วาดโดยอองรี ฟูเซลิ ราวปี ค.ศ. 1780-5

ช่วงที่เรียกว่า "ยุคโศก" ของเชกสเปียร์อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1600 - 1608 เขาเขียนทั้งบทละครโศกนาฏกรรมรวมถึงบทละครที่เรียกกันว่า "problem plays" (บทละครกังขา : กล่าวคือไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นละครตลกหรือละครเศร้า อาจเรียกว่าเป็น "ตลกร้าย") ได้แก่ Measure for Measure, ทรอยลัสกับเครสสิดา, และ All's Well That Ends Well[27][28] นักวิจารณ์หลายคนเห็นว่า ละครโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ของเชกสเปียร์เป็นตัวแสดงถึงศิลปะอันสูงสุดในตัวเขา วีรบุรุษ แฮมเล็ต เป็นตัวละครของเชกสเปียร์ที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะบทรำพันของตัวละครที่โด่งดังมาก คือ "To be or not to be; that is the question."[27] แฮมเล็ตเป็นตัวละครที่มีปัญหาภายในใจมาก และความลังเลของเขาเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต ทว่าตัวละครเอกในโศกนาฏกรรมเรื่องอื่นที่ตามมา คือ Othello และ King Lear กลับได้รับผลร้ายจากความรีบเร่งด่วนตัดสิน[27] โครงเรื่องโศกของเชกสเปียร์มักเกิดเหตุการณ์ที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเกิดขึ้น อันนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดและทำลายชีวิตของตัวละครเอกกับคนรัก นักวิจารณ์คนหนึ่งคือ แฟรงค์ เคอร์โมด (Frank Kermode) กล่าวว่า "บทละครไม่เปิดโอกาสให้ตัวละครหรือผู้ชมสามารถหลุดพ้นจากความโหดร้ายได้เลย"[27][9] ในบทละครเรื่อง แมคเบธ ซึ่งเป็นบทละครที่สั้นที่สุดของเชกสเปียร์ ความทะเยอทะยานไม่รู้จบยั่วให้แมคเบธกับภริยา คือเลดี้แมคเบธ ปลงพระชนม์กษัตริย์ผู้ชอบธรรมและชิงบัลลังก์มา ความผิดนี้ทำลายคนทั้งสองในเวลาต่อมา เชกสเปียร์ได้ประพันธ์บทกวีนิพนธ์อันไพเราะลงในงานบทละครโศกชิ้นสำคัญในช่วงหลัง ๆ คือ Antony and Cleopatra กับ Coriolanus ซึ่งถือว่าเป็นบทกวีที่ดีที่สุด ที.เอส.อีเลียต กวีและนักวิจารณ์ ยังยกย่องว่าเป็นบทละครโศกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเชกสเปียร์อีกด้วย[9][29]

ยุคสุดท้ายของผลงานของเชกสเปียร์หวนกลับไปสู่บทละครโรมานซ์หรือตลกโศกอีกครั้ง โดยมีบทละครสามเรื่องเป็นเรื่องเอกคือ Cymbeline, The Winter's Tale และ The Tempest นอกจากนี้ยังมีงานอื่นอีกเช่น Pericles, Prince of Tyre บทละครทั้งสี่เรื่องนี้มีบรรยากาศของเรื่องค่อนข้างเศร้ากว่าบทละครตลกอื่น ๆ ในช่วงทศวรรษ 1590 แต่ก็จบลงด้วยความปรองดองและการให้อภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้เกิดจากการที่เชกสเปียร์มีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น แต่ก็อาจเกิดจากความนิยมในการชมละครที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ด้วยเช่นกัน ยังมีผลงานของเชกสเปียร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันที่เชื่อว่าประพันธ์ขึ้นในยุคนี้อีกคือเรื่อง พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และ The Two Noble Kinsmen โดยคาดว่าเป็นงานเขียนร่วมกับจอห์น เฟล็ตเชอร์

การแสดงละคร

[แก้]
โรงละครโกลบ หลังที่สร้างขึ้นใหม่ในกรุงลอนดอน

ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเชกสเปียร์เขียนบทละครในยุคแรก ๆ ให้แก่คณะละครใด ที่หน้าปกของ Titus Andronicus ฉบับพิมพ์ปี 1594 ระบุว่าบทละครถูกนำไปแสดงโดยคณะละครเร่ถึง 3 คณะ[30] หลังจากเหตุการณ์โรคระบาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1592-3 บทละครของเขาก็นำไปแสดงในคณะละครของเขาเองที่โรงละคร The Theatre และ The Curtain ในชอร์ดิทช์ ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเทมส์[30] ชาวลอนดอนแห่กันไปที่นั่นเพื่อชมละครตอนแรกของเรื่อง พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 เลโอนาร์ด ดิกก์ส บันทึกไว้ว่า "แทบจะหาห้องไม่ได้"[31] เมื่อชาวคณะละครมีปัญหากับเจ้าของที่ดิน พวกเขาก็รื้อโรงละครลงแล้วเอาไม้ไปสร้างโรงละครแห่งใหม่ชื่อ "โรงละครโกลบ" ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์ที่เซาธ์วาร์ค เป็นโรงละครแห่งแรกที่นักแสดงสร้างขึ้นเพื่อนักแสดงเอง[32] โรงละครใหม่เปิดในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1599 โดยแสดงเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ เป็นเรื่องแรก บทละครที่เชกสเปียร์เขียนขึ้นหลังปี 1599 ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับโรงละครแห่งนี้ รวมถึงเรื่อง แฮมเล็ต โอเธลโล และ King Lear[33]

หลังจากคณะละคร Lord Chamberlain's Men เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น King's Men ในปี 1603 พวกเขาก็เริ่มได้เข้าเฝ้าถวายรับใช้แด่กษัตริย์องค์ใหม่ คือ พระเจ้าเจมส์ แม้ประวัติการแสดงค่อนข้างจะขาดตอนไม่ต่อเนื่อง แต่คณะละครก็ได้ใช้บทละครของเชกสเปียร์แสดงต่อหน้าพระที่นั่งถึง 7 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1604 ถึง 31 ตุลาคม ค.ศ. 1605 รวมถึงเรื่อง เวนิสวาณิช ที่ได้แสดง 2 ครั้ง[30] หลังจากปี 1608 พวกเขาแสดงที่โรงละครในร่ม Blackfriars ในระหว่างฤดูหนาว และแสดงที่โกลบในช่วงฤดูร้อน[32] ฉากของโรงละครในร่มเปิดโอกาสให้เชกสเปียร์ได้ทดลองใช้อุปกรณ์ประกอบฉากแบบแปลกใหม่ เช่นในเรื่อง Cymbeline ฉากการโจมตีของเทพจูปิเตอร์ "ในท่ามกลางเสียงฟ้าร้องแสงฟ้าผ่า ประทับอยู่เหนืออินทรี ทรงขว้างค้อนสายฟ้า เหล่าปีศาจต่างทรุดลงไป"[9][34]

ในบรรดานักแสดงในคณะละครของเชกสเปียร์ มีนักแสดงผู้มีชื่อเสียงเช่น ริชาร์ด เบอร์บาจ, วิลเลียม เคมป์, เฮนรี่ คอนเดล และ จอห์น เฮมมิ่งส์ เบอร์บาจได้แสดงเป็นตัวละครเอกในบทละครยุคแรก ๆ ของเชกสเปียร์หลายเรื่อง รวมถึง ริชาร์ดที่ 3 แฮมเล็ต โอเธลโล และ King Lear[35] นักแสดงตลกผู้โด่งดัง วิล เคมป์ แสดงเป็นปีเตอร์คนรับใช้ในเรื่อง โรมิโอกับจูเลียต เป็น Dogberry ในเรื่อง Much Ado About Nothing[8] และบทอื่น ๆ อีก อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มิถุนายน 1613 มีปืนใหญ่ยิงถูกหลังคาของโรงละครโกลบ ทำให้เกิดไฟไหม้ทลายโรงละครลง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด[30]

ต้นฉบับงานเขียน

[แก้]
ภาพปก First Folio รวมงานเขียนของเชกสเปียร์ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1623

ปี ค.ศ. 1623 เพื่อนของเชกสเปียร์สองคนในคณะละคร King's Men คือ จอห์น เฮมมิ่งส์และเฮนรี่ คอนเดล ได้จัดพิมพ์หนังสือ First Folio เป็นการรวมงานเขียนบทละครต่าง ๆ ของเชกสเปียร์เป็นครั้งแรก เป็นหนังสือขนาดใหญ่ราว 15 นิ้ว (เรียกว่า folio) ประกอบด้วยเนื้อเรื่องบทละคร 36 เรื่อง ในจำนวนนี้มี 18 เรื่องเป็นบทละครที่เพิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก[30] โดยที่เนื้อเรื่องบางส่วนเคยเผยแพร่มาก่อนหน้านี้แล้วในรูปแบบหนังสือขนาดเล็ก (เรียกว่า quarto) ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าเชกสเปียร์เห็นชอบกับการตีพิมพ์คราวนี้ บางครั้ง "First Folio" จึงได้ชื่อว่าเป็นงานที่ "ขโมยมาและลักลอบตีพิมพ์"[36] อัลเฟรด พอลลาร์ด เรียกบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ว่า "bad quarto" (หมายถึงหนังสือที่บิดเบือน) เนื่องจากเนื้อหาจำนวนหนึ่งถูกดัดแปลง ถ่ายความ หรือบิดเบือนไป อันเนื่องจากการเขียนบทประพันธ์ขึ้นใหม่จากความทรงจำ[36] บทละครอื่น ๆ ของเชกสเปียร์ยังปรากฏเหลือรอดมาอยู่หลายชุด และแต่ละชุดก็มีความแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งอาจเกิดจากการคัดลอกหรือความผิดพลาดจากการพิมพ์ จากการบันทึกย่อของนักแสดง จากบันทึกของผู้ชม หรือบ้างก็จากกระดาษร่างของเชกสเปียร์เอง[37] บทละครบางเรื่องเช่น แฮมเล็ต ทรอยลัสกับเครสสิดา หรือ โอเธลโล ได้รับการดัดแปลงบทจากเชกสเปียร์เองหลายครั้ง สำหรับเรื่อง King Lear เนื้อหาที่ปรากฏในฉบับ folio กับฉบับ quarto ในปี 1608 มีความแตกต่างกันมากจนกระทั่งทางออกซฟอร์ดต้องตีพิมพ์ใน The Oxford Shakespeare ทั้งสองแบบ เพราะไม่สามารถนำสองเวอร์ชันนี้มารวมเข้าด้วยกันได้โดยไม่ทำให้เกิดความสับสน[30]

งานกวีนิพนธ์

[แก้]

ปี ค.ศ. 1593-1594 เกิดโรคระบาดใหญ่ทำให้ต้องปิดการแสดงละครลงไป เชกสเปียร์ได้ตีพิมพ์ผลงานกวีนิพนธ์สองเรื่องในแนวอีโรติก คือ Venus and Adonis และ The Rape of Lucrece โดยอุทิศให้กับ เฮนรี ริธเธสลีย์ เอิร์ลแห่งเซาธ์แฮมตัน ในเรื่อง Venus and Adonis อโดนิสผู้ไร้เดียงสาปฏิเสธการร่วมรักกับเทพีวีนัส ขณะที่ในเรื่อง The Rape of Lucrece ลูครีส ภริยาผู้ซื่อสัตย์ของคอลลาทินุส ถูกขืนใจโดยโอรสของทาร์ควิน (เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดราชวงศ์ทาร์ควินด้วย)[38] งานประพันธ์เหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิรูปของโอวิด[39] แสดงถึงความผิดบาปและความขัดแย้งทางศีลธรรมซึ่งเป็นผลจากตัณหาที่ไม่สามารถควบคุมได้[38] บทกวีทั้งสองเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากและมีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งตลอดช่วงชีวิตของเชกสเปียร์ ยังมีบทกวีอีกเรื่องหนึ่งชื่อ A Lover's Complaint พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1609 บรรยายถึงคำคร่ำครวญของเด็กสาวคนหนึ่งที่เสียตัวให้กับชายผู้มาเกี้ยวพา ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับกันว่าเชกสเปียร์เป็นผู้ประพันธ์บทกวีเรื่องนี้ แต่นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งเห็นว่าบทกวีนี้ด้อยความงามลงไปเพราะคำพรรณนาที่เยิ่นเย้อ[38] กวีนิพนธ์เรื่อง The Phoenix and the Turtle พิมพ์ในปี ค.ศ. 1601 เป็นกวีนิพนธ์เชิงเปรียบเทียบพรรณนาอาลัยในการสิ้นชีพของฟีนิกซ์ นกในตำนาน กับคู่รักของมันคือนกเขา (turtle dove) นอกจากนี้ยังมีบทกวีอีกสองเรื่องคือร่างโคลงซอนเน็ตบทที่ 138 และ 144 ได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1599 ในหนังสือ The Passionate Pilgrim ภายใต้ชื่อของเชกสเปียร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต[38]

ซอนเน็ต

[แก้]
ปกหนังสือ ซอนเน็ตของเชกสเปียร์ พิมพ์ในปี ค.ศ. 1609

งานกวีนิพนธ์ชุด ซอนเน็ต ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1609 ถือเป็นงานเขียนที่ไม่ใช่บทละครชุดสุดท้ายของเชกสเปียร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ นักวิชาการไม่ค่อยแน่ใจว่า บทกวี 154 ชุดได้ประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลาใด แต่เชื่อว่าเชกสเปียร์เขียนโคลงซอนเน็ตระหว่างทำงานอยู่เรื่อย ๆ ในเวลาว่าง[8] ก่อนที่จะมีการพิมพ์บทกวีชุดปัญหาใน The Passionate Pilgrim ในปี 1599 ฟรังซิส เมเรส เคยอ้างถึงผลงานในปี 1598 ของเชกสเปียร์ เรื่อง "sugred Sonnets among his private friends"[22] ดูเหมือนว่า เชกสเปียร์ได้วางโครงร่างบทประพันธ์เอาไว้สองชุดหลักที่ตรงข้ามกัน ชุดที่หนึ่งเกี่ยวกับตัณหาที่ไม่อาจควบคุมได้ของสตรีที่แต่งงานแล้ว (เรียกว่า "dark lady" หรือ "หญิงใจชั่ว") อีกชุดหนึ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในความรักของเด็กหนุ่มไร้เดียงสา (เรียกว่า "fair youth" หรือ "วัยเยาว์ที่งดงาม") ไม่ทราบแน่ชัดว่าแนวคิดทั้งสองนี้เป็นตัวแทนถึงผู้ใดผู้หนึ่งในชีวิตจริงหรือไม่ รวมถึงคำว่า "I" (ข้า) ในบทกวี จะหมายถึงตัวเชกสเปียร์เองหรือไม่ งานพิมพ์ซอนเน็ตในปี 1609 ได้อุทิศให้แก่ "มิสเตอร์ ดับเบิลยู. เอช." ซึ่งได้รับยกย่องไว้ว่าเป็น "ผู้ให้กำเนิดเพียงผู้เดียว" ของบทกวีเหล่านั้น แต่ไม่ทราบแน่ว่าผู้เขียนคำอุทิศนี้คือเชกสเปียร์หรือทางสำนักพิมพ์ ทอมัส ทอร์ป กันแน่ ทั้งไม่ทราบว่า มิสเตอร์ ดับเบิลยู. เอช. ตัวจริงคือใคร มีทฤษฎีที่วิเคราะห์กวีนิพนธ์เล่มนี้มากมาย รวมถึงว่าเชกสเปียร์ได้อนุญาตให้มีการตีพิมพ์คราวนี้หรือไม่[8] นักวิจารณ์ต่างให้คำชื่นชมแก่บทกวีชุดซอนเน็ตว่าเป็นตัวอย่างการพรรณนาอันลึกซึ้งอย่างวิเศษเกี่ยวกับธรรมชาติของความรัก ความใคร่ การเกิด การตาย และกาลเวลา[40]

ลักษณะการประพันธ์

[แก้]

ลักษณะการประพันธ์บทละครยุคแรก ๆ ของเชกสเปียร์เป็นไปตามสมัยนิยมในยุคของเขา โดยใช้ถ้อยคำภาษาที่มิได้ส่งออกมาจากภาวะในใจของตัวละครหรือตามบทบาทอันแท้จริง[41] คำพรรณนาในบทกวีก็เต็มไปด้วยอุปมาอุปไมยอันเพราะพริ้ง ภาษาที่ใช้เป็นลักษณะของสุนทรพจน์อันไพเราะมากเสียกว่าจะเป็นบทพูดจาสนทนากันตามจริง

แต่ต่อมาไม่นาน เชกสเปียร์เริ่มปรับปรุงวิถีทางดั้งเดิมเหล่านั้นเสียใหม่ตามจุดประสงค์ส่วนตัว การรำพึงรำพันกับตัวเองใน ริชาร์ดที่ 3 มีพื้นฐานมาจากวิธีการบรรยายจิตสำนึกของตัวละครในละครยุคกลาง ในขณะเดียวกันก็มีการแสดงบุคลิกตัวละครอย่างชัดแจ้งในระหว่างการรำพันนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดขึ้นทันทีทันใดในบทละครเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เชกสเปียร์ค่อย ๆ ผสมผสานวิธีการทั้งสองนี้เข้าด้วยกันไปเรื่อย ๆ ในระหว่างการทำงาน ตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นจะได้แก่บทละครเรื่อง โรมิโอกับจูเลียต[42] ช่วงกลางทศวรรษ 1590 ระหว่างที่เขาประพันธ์เรื่อง โรมิโอกับจูเลียต, ริชาร์ดที่ 3 และ ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน เชกสเปียร์เริ่มแต่งบทกวีที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น เขาค่อย ๆ ปรับระดับการอุปมาและการพรรณนาให้เหมาะสมกับลักษณะของตัวละครและเนื้อเรื่องของเขา

ฉันทลักษณ์มาตรฐานสำหรับบทกวีของเชกสเปียร์คือ blank verse ประพันธ์ด้วยมาตราแบบ iambic pentameter หมายความว่าบทกวีของเขาไม่ค่อยมีเสียงสัมผัส และมี 10 พยางค์ต่อ 1 บรรทัด ออกเสียงหนักที่พยางค์คู่ ฉันทลักษณ์ในบทประพันธ์ยุคแรกก็ยังมีความแตกต่างกับบทประพันธ์ในยุคหลังของเขาอยู่มาก โดยทั่วไปยังคงความงดงาม แต่รูปประโยคมักจะเริ่มต้น หยุด และจบเนื้อหาลงภายในบรรทัด เป็นความราบเรียบจนอาจทำให้น่าเบื่อหน่าย[43] ครั้นเมื่อเชกสเปียร์เริ่มชำนาญมากขึ้น เขาก็เริ่มใส่อุปสรรคลงไปในบทกวี ทำให้มีการชะงัก หยุด หรือมีระดับการลื่นไหลของคำแตกต่างกัน เทคนิคนี้ทำให้เกิดพลังชนิดใหม่และทำให้บทกวีที่ใส่ในบทละครมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่นที่ปรากฏใน จูเลียส ซีซาร์ และ แฮมเล็ต[44]

หลังจากเรื่อง แฮมเล็ต เชกสเปียร์ยังปรับรูปแบบการประพันธ์บทกวีของเขาต่อไปอีก โดยเฉพาะการแสดงความรู้สึกสื่อถึงอารมณ์ซึ่งปรากฏในบทละครโศกในยุคหลัง ๆ ในช่วงปลายของชีวิตการทำงานของเขา เชกสเปียร์พัฒนาเทคนิคการประพันธ์หลายอย่างให้ส่งผลกระทบด้านอารมณ์ต่าง ๆ กันได้ เช่น การส่งเนื้อความจากประโยคหนึ่งต่อเนื่องไปอีกประโยคหนึ่ง (enjambment) การใส่จังหวะเว้นช่วงหรือจังหวะหยุดแบบแปลก ๆ รวมถึงโครงสร้างและความยาวประโยคที่แตกต่างกันหลาย ๆ แบบ ผู้ฟังถูกท้าทายให้จับใจความและความรู้สึกของตัวละครให้ได้[45] บทละครโรมานซ์ในยุคหลังที่มีโครงเรื่องพลิกผันชวนประหลาดใจ ส่งแรงบันดาลใจให้กับแนวทางประพันธ์บทกวีในช่วงสุดท้าย โดยมีประโยคสั้น-ยาว รับส่งล้อความกัน มีการใช้วลีจำนวนมาก และสลับตำแหน่งประธาน-กรรม ของประโยค เป็นการสร้างสรรค์ผลกระทบใหม่โดยธรรมชาติ[45]

อัจฉริยะในทางกวีของเชกสเปียร์มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสัญชาตญานการทำละคร[46] โครงเรื่องละครของเชกสเปียร์ได้รับอิทธิพลจาก เปตราก และ โฮลินเชด เช่นเดียวกับนักเขียนบทละครคนอื่น ๆ แต่เขาปรับปรุงโครงเรื่องเสียใหม่ สร้างศูนย์กลางความสนใจขึ้นหลาย ๆ จุดและแสดงการบรรยายด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ชมมากเท่าที่จะทำได้ ยิ่งเชกสเปียร์มีความชำนาญมากขึ้นเท่าใด เขาก็สามารถสร้างตัวละครได้ชัดเจนมากขึ้น มีแรงจูงใจอันหลากหลายมากขึ้น และมีวิธีการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ดี เชกสเปียร์ยังคงรักษารูปแบบของงานในยุคต้นของเขาเอาไว้อยู่บ้าง แม้ในงานบทละครโรมานซ์ช่วงหลังของเขา ก็ยังมีการใช้รูปแบบของบทอันพริ้งเพรา เพื่อรักษามนต์เสน่ห์ของมายาแห่งการละครเอาไว้[45][47]

อิทธิพลของเชกสเปียร์

[แก้]
ภาพวาด Macbeth Consulting the Vision of the Armed Head ของอองรี ฟูเซลี (1793-94)

ผลงานของเชกสเปียร์ได้สร้างให้เกิดความประทับใจอันยาวนานต่อมาในวงการการละครและวรรณกรรม เขาได้ขยายศักยภาพของการละครออกไปทั้งในด้านการสร้างลักษณะและบทบาทของตัวละคร โครงเรื่องที่แปลกใหม่ ภาษา และรูปแบบของการแสดงละคร[48] ก่อนจะมีละครเรื่อง โรมีโอและจูเลียต ไม่เคยมีการแสดงละครโรมานซ์ที่หยิบยกเอาความรักขึ้นมาเป็นประเด็นทรงคุณค่าสำหรับละครโศกมาก่อนเลย[49] การพูดคนเดียวของตัวละครเคยใช้สำหรับการอธิบายลักษณะของตัวละครหรือช่วยบรรยายเหตุการณ์ในเรื่อง แต่เชกสเปียร์นำมาใช้ในการรำพึงรำพันถึงความในใจของตัวละครตัวนั้น[50] นอกจากนี้ ผลงานของเขายังเป็นแรงบันดาลใจต่อกวีในยุคหลังอย่างมาก กวียุคโรแมนติกพยายามจะฟื้นฟูลักษณะการประพันธ์แบบเชกสเปียร์ขึ้นมาใหม่ แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จอร์จ สเตนเนอร์ นักวิจารณ์ กล่าวว่า บทกวีอังกฤษในยุคระหว่างคอเลริดจ์จนถึงเทนนีสัน เป็นได้แค่ "งานดัดแปลงห่วย ๆ ที่เลียนแบบเชกสเปียร์" เท่านั้น[51]

เชกสเปียร์ยังมีอิทธิพลต่อนักเขียนนวนิยายเช่น โทมัส ฮาร์ดี[52] วิลเลียม ฟอลค์เนอร์[53] และ ชาร์ลส์ ดิคเก้นส์ ดิคเก้นส์นี้มักอ้างถึงงานประพันธ์ของเชกสเปียร์ และวาดภาพจากงานของเชกสเปียร์ถึง 25 ภาพ[54] นวนิยายที่มีตัวละครคนเดียวของนักประพันธ์ชาวอเมริกัน ชื่อ เฮอร์แมน เมลวิลล์ ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจากเชกสเปียร์อย่างมาก กัปตัน อาฮับ ในเรื่อง โมบิดิก (Moby-Dick) ซึ่งเป็นวีรบุรุษรันทดที่คลาสสิกมาก ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากเรื่อง King Lear[55] นักวิชาการยังสามารถระบุงานดนตรีมากกว่า 20,000 ชิ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับผลงานของเชกสเปียร์ ในจำนวนนี้รวมถึงละครโอเปราสองเรื่องของจูเซปเป แวร์ดี เรื่อง Otello และ Falstaff ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับบทละครต้นฉบับอย่างเห็นได้ชัด[56] เชกสเปียร์ยังส่งแรงบันดาลใจต่อศิลปินนักวาดภาพจำนวนมาก รวมถึงศิลปินในยุคโรแมนติกและกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล[57][58] ศิลปินยุคโรแมนติกชาวสวิสคนหนึ่งชื่อ อองรี ฟูเซลี ซึ่งเป็นสหายของวิลเลียม เบลก ถึงกับลงมือแปลเรื่อง แมคเบธ ไปเป็นภาษาเยอรมันทีเดียว[59] นักจิตวิทยา ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ ยังใช้ตัวอย่างงานของเชกสเปียร์โดยเฉพาะเรื่อง แฮมเล็ต ไปเป็นทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์[60]

ในยุคของเชกสเปียร์ รูปแบบไวยากรณ์และการสะกดคำในภาษาอังกฤษยังไม่สู้จะเป็นมาตรฐานดังเช่นปัจจุบัน การใช้ภาษาของเชกสเปียร์มีบทบาทสำคัญที่ช่วยจัดรูปแบบให้ภาษาอังกฤษใหม่[61] ในหนังสือพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (A Dictionary of the English Language) ของ ซามูเอล จอห์นสัน ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในตระกูลพจนานุกรมทั้งหมด อ้างอิงถึงเชกสเปียร์มากกว่านักเขียนคนอื่น ๆ มาก[62] สำนวนบางอย่างเช่น "with bated breath" (จาก เวนิสวาณิช) และ "a foregone conclusion" (จาก โอเธลโล) ก็กลายเป็นที่ใช้อยู่ทั่วไปในคำพูดภาษาอังกฤษในปัจจุบัน[63]

ชื่อเสียงและคำวิจารณ์

[แก้]

He was not of an age, but for all time.


 

"เขามิใช่เพียง (นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่) แห่งยุค แต่เป็น (นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่) ตลอดกาล"

เบน โจนสัน[64]

เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เชกสเปียร์ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากนัก แต่ก็ได้รับคำยกย่องสรรเสริญตามสมควร[65] ปี ค.ศ. 1598 พระนักเขียนชื่อ ฟรังซิส เมเรส ยกย่องเชกสเปียร์ว่า "โดดเด่นที่สุด" ยิ่งกว่านักเขียนชาวอังกฤษทั้งหมดไม่ว่าด้านงานสุขหรือโศกนาฏกรรม[66] เหล่านักเขียนบทละคร Parnassus ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น เคมบริดจ์ นับเนื่องเขาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับชอเซอร์ โกเวอร์ และสเปนเซอร์[67] ใน First Folio เบน จอห์นสัน เรียกเชกสเปียร์ว่าเป็น "จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย เสียงชื่นชม ความรื่นเริงและความมหัศจรรย์แห่งเวทีของเรา" แม้เขาจะเคยกล่าวในที่แห่งอื่นว่า "เชกสเปียร์ต้องการศิลปะ"[67]

ระหว่างช่วงฟื้นฟูราชวงศ์ในช่วงทศวรรษ 1660 และปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 แนวคิดแบบคลาสสิกเป็นเสมือนแฟชั่นชั่วครู่ชั่วยาม นักวิจารณ์ในยุคนั้นส่วนมากจึงมักจัดระดับงานของเชกสเปียร์อยู่ต่ำกว่า จอห์น เฟล็ตเชอร์ และ เบน โจนสัน[67] ตัวอย่างเช่น โทมัส ไรเมอร์ วิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิกับการที่เชกสเปียร์นำเรื่องขำขันมาผสมปนเปกับงานโศก อย่างไรก็ดี จอห์น ไดรเดน กวีและนักวิจารณ์อีกคนหนึ่งให้ค่าแก่งานของเชกสเปียร์อย่างสูง เขาพูดถึงโจนสันว่า "ผมนับถือเขา แต่ผมรักเชกสเปียร์"[68] คำวิจารณ์ของไรเมอร์มีอิทธิพลมากกว่าเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักวิจารณ์จึงเริ่มกล่าวขวัญถึงถ้อยคำอันงดงามของเชกสเปียร์ และยอมรับถึงอัจฉริยภาพในทางอักษรของเขา งานเขียนเชิงวิชาการหลายชิ้น รวมถึงงานที่โดดเด่นเช่นงานเขียนของ ซามูเอล จอห์นสัน ในปี 1765 และ เอ็ดมอนด์ มาโลน ในปี 1790 แสดงให้เห็นถึงความนิยมยกย่องที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ[67] เมื่อถึงช่วงปี 1800 เขาก็ได้รับยกย่องให้เป็นกวีเอกแห่งชาติ[69] ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ชื่อเสียงของเชกสเปียร์ก็เลื่องลือกว้างไกลออกไป เทียบเคียงกับบรรดานักเขียนชื่อดังท่านอื่น ๆ ได้แก่ วอลแตร์ เกอเธ่ สเตนดัล และ วิกเตอร์ ฮูโก เป็นต้น[70]

ระหว่างช่วงยุคโรแมนติก เชกสเปียร์ได้รับยกย่องอย่างสูงจากกวีและนักปรัชญาวรรณกรรม แซมมวล เทย์เลอร์ คอเลริดจ์ (Samuel Taylor Coleridge) นักวิจารณ์ชื่อ August Wilhelm Schlegel แปลงบทละครของเขาไปอยู่ในวรรณกรรมโรแมนติกของเยอรมัน[71] เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำวิจารณ์ยกย่องอัจฉริยะของเชกสเปียร์ก็ยิ่งเลิศลอยมากขึ้น[72] โทมัส คาร์ลไลล์ เขียนถึงเขาเมื่อ ค.ศ. 1840 ว่า "เชกสเปียร์ผู้ยิ่งใหญ่ ส่องประกายด้วยมงกุฎแห่งเอกราช อันเจิดจรัสเหนือผองเรา ดำรงซึ่งเกียรติ ศักดิ์ และพลังอันยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดจักทำลายลงได้"[73] การแสดงละครในยุควิกตอเรียสร้างจากงานของเชกสเปียร์อย่างยิ่งใหญ่อลังการ[74] จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักวิจารณ์และนักเขียนบทละครถึงกับตั้งสมญานามเชิงล้อเลียนให้แก่เชกสเปียร์ว่าเป็น "Bardolatry" (จอมเทพแห่งกวี: มีความหมายเชิงยกย่องแต่แฝงความโบราณคร่ำครึ) และกล่าวว่า งานเขียนร่วมสมัยเชิงธรรมชาตินิยมที่เริ่มจากบทละครของอิบเซน นับเป็นจุดสิ้นสุดยุคของเชกสเปียร์[67]

แต่การปฏิวัติศิลปะยุคใหม่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มิได้ละทิ้งงานของเชกสเปียร์ กลับนำผลงานของเขากลับมาใหม่ตามความพอใจของชนชั้นสูง กลุ่มเอ็กซ์เพรสชันนิสต์ในเยอรมันและพวกฟิวเจอริสต์ในมอสโกต่างนำเอาบทละครของเขากลับมาสร้างสรรค์กันใหม่ นักเขียนบทละครและผู้กำกับนิยมมาร์กซิสต์ ชื่อ Bertolt Brecht ได้สร้างโรงละครย้อนยุคโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเชกสเปียร์ ที.เอส.อีเลียต กวีและนักวิจารณ์แสดงความเห็นค้านกับชอว์ ว่างานของเชกสเปียร์มีความ "เรียบง่าย" อย่างมาก ซึ่งแสดงถึงความทันสมัยของเชกสเปียร์ในยุคเดียวกันนั้น[75] อีเลียต ร่วมกับ จี.วิลสัน ไนท์ และโรงเรียนวิจารณ์วรรณกรรมยุคใหม่ มีบทบาทสำคัญในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนี้โดยได้รับอิทธิพลจากผลงานของเชกสเปียร์ ช่วงทศวรรษ 1950 คลื่นการเปลี่ยนแปลงของยุคใหม่เริ่มเคลื่อนเข้าสู่ยุค "โพสต์-โมเดิร์น" ซึ่งนำการศึกษาวรรณกรรมของเชกสเปียร์เข้าสู่ยุคใหม่ด้วย[75] ทศวรรษ 1980 ลักษณะการศึกษาผลงานของเชกสเปียร์เปิดกว้างต่อศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น เช่น structuralism, เฟมินิสต์, อัฟริกัน-อเมริกัน, และ เควียร์[75]

ข้อเคลือบแคลงเกี่ยวกับเชกสเปียร์

[แก้]

ความเป็นเจ้าของผลงาน

[แก้]

หลังจากเชกสเปียร์เสียชีวิตไปแล้วราว 150 ปี ก็เริ่มเกิดข้อสงสัยขึ้นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของผลงานบางชิ้นของเชกสเปียร์[76] นักเขียนคนอื่นที่อาจเป็นเจ้าของผลงานเหล่านั้นได้แก่ ฟรานซิส เบคอน, คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ และเอ็ดเวิร์ด เดอ เวียร์ เอิร์ลแห่งออกซฟอร์ด[77] แม้ว่าในวงวิชาการจะมีการพิจารณาและปฏิเสธความเป็นเจ้าของงานของผู้น่าสงสัยคนอื่น ๆ ไป แต่ประเด็นความสนใจในเรื่องนี้ก็ยังคงโด่งดังอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีที่ว่าเอิร์ลแห่งออกซฟอร์ดเป็นผู้ประพันธ์ตัวจริง ที่ยังคงมีการศึกษาค้นคว้าอยู่ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 21[78]

ศาสนา

[แก้]

นักวิชาการบางคนอ้างว่าสมาชิกตระกูลเชกสเปียร์นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ในยุคที่การนับถือคาธอลิกเป็นการกระทำผิดกฎหมาย[79] แต่ที่แน่ ๆ มารดาของเชกสเปียร์ คือแมรี อาร์เดน มาจากครอบครัวคาธอลิกที่เคร่งครัด หลักฐานแน่นหนาเท่าที่พบน่าจะเป็นเอกสารเข้ารีตคาธอลิกที่ลงนามโดย จอห์น เชกสเปียร์ ค้นพบในปี ค.ศ. 1757 ในจันทันในบ้านเดิมของเขาที่ถนนเฮนลีย์ ปัจจุบันเอกสารนั้นสูญหายไปแล้ว แต่กระนั้นนักวิชาการก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอกสารนั้นไม่ใช่เอกสารที่ปลอมขึ้น[9] ในปี ค.ศ. 1591 คณะปกครองสงฆ์รายงานว่า จอห์นไม่ได้ไปร่วมการประชุมที่โบสถ์ "เนื่องจากหวาดกลัวกระบวนการสารภาพบาป" ซึ่งเป็นวิธีล้างบาปโดยปกติของชาวคาธอลิก[9] ปี ค.ศ. 1606 ซูซานนา บุตรสาวของวิลเลียมถูกขึ้นชื่อไว้ในทะเบียนผู้ไม่เข้าร่วมพิธีรับศีลอีสเตอร์ที่เมืองสแตรทฟอร์ด[8][9] นอกจากนี้ นักวิชาการยังพบฉากเหตุการณ์ในบทละครของเขาหลายส่วนที่ทั้งสนับสนุนและต่อต้านความเป็นคาธอลิก ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าที่แท้เป็นอย่างไรกันแน่[80]

รสนิยมทางเพศ

[แก้]

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของเชกสเปียร์ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนัก เขาแต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 18 ปีกับ แอนน์ ฮาธาเวย์ อายุ 26 ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ บุตรีคนแรกคือซูซานนา ถือกำเนิดหลังจากการแต่งงานเพียง 6 เดือน แต่นักอ่านมากมายตลอดหลายศตวรรษต่างมุ่งประเด็นไปที่เนื้อหาในโคลงซอนเน็ตเกี่ยวกับความรักของเขาที่มีต่อชายหนุ่ม อย่างไรก็ดี บางคนกล่าวว่าเนื้อหาเหล่านั้นน่าจะสื่อถึงความสัมพันธ์แบบสหายมากกว่าแบบคนรัก[81] ในขณะเดียวกันโคลงซอนเน็ตอีกชุดหนึ่งคือ "Dark Lady" ก็สื่อถึงสตรีที่แต่งงานแล้ว และมีส่วนบ่งชี้ถึงการลักลอบมีความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง[82]

รายชื่อผลงานของเชกสเปียร์

[แก้]

ผลงานของเชกสเปียร์ที่ทราบแน่ชัดคือบทละคร 36 เรื่องที่ปรากฏใน "First Folio" แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เรื่องเศร้า เรื่องตลกขบขัน และเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ยังมีบทละครอีกสองเรื่องที่มิได้อยู่ใน First Folio แต่นักวิชาการยอมรับกันแล้วว่าเชกสเปียร์มีส่วนเกี่ยวข้องในการประพันธ์ค่อนข้างมาก คือ The Two Noble Kinsmen และ Pericles, Prince of Tyre[83] ทั้งนี้ยังไม่นับรวมบทกวี

ปัจจุบันนิยมแยกงานประเภทตลกขบขันออกเป็นหมวดย่อยได้แก่: โรมานซ์ (romances) หรือ เรื่องตลกเศร้า (tragicomedies) งานประเภทนี้จะมีเครื่องหมายดอกจัน * แสดงไว้ งานที่ไม่อาจจัดประเภทได้ชัดเจนจะแสดงด้วยเครื่องหมายกางเขนคู่ (‡) ส่วนงานที่เชื่อว่าเชกสเปียร์ประพันธ์ร่วมกับผู้อื่นจะแสดงด้วยเครื่องหมายกางเขนเดี่ยว (†) งานเขียนบางชิ้นที่มีการกล่าวถึงเกี่ยวข้องกับเขาอยู่บ้างจะแสดงอยู่ในหมวดของงานสูญหายและงานเคลือบแคลง

เชกสเปียร์ในวัฒนธรรมปัจจุบัน

[แก้]

อนุสาวรีย์

[แก้]
อนุสาวรีย์เชกสเปียร์ ที่จัตุรัสเลสเตอร์

ผลจากชื่อเสียงและความนิยมในผลงานของเชกสเปียร์ จึงมีอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ของเชกสเปียร์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่อไปนี้เป็นต้วอย่างอนุสาวรีย์บางแห่งที่โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ[84][85]

  1. รูปปั้นครึ่งตัวของเชกสเปียร์ที่โบสถ์โฮลี่ทรินิตี้ ในเมืองสแตรทฟอร์ด ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของเชกสเปียร์
  2. โกเวอร์เมมโมเรียล ที่อุทยานบันครอฟต์ เมืองสแตรทฟอร์ด เป็นรูปปั้นเชกสเปียร์ในท่านั่ง ด้านข้างมีรูปปั้นของเลดี้แมคเบธ เจ้าชายฮัล แฮมเล็ต พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 และฟอลสตัฟฟ์ เป็นตัวแทนหมายถึง ปรัชญา โศกนาฏกรรม ประวัติศาสตร์ และความขบขัน ผู้อนุเคราะห์การก่อสร้างคือลอร์ดโรนัลด์ ซุทเทอร์แลนด์-โกเวอร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1888
  3. ที่จัตุรัสเลสเตอร์ ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ของเชกสเปียร์ โดยเป็นน้ำพุอยู่กลางจัตุรัส
  4. อนุสาวรีย์เชกสเปียร์ที่ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน โดยตั้งอยู่ที่ "มุมกวี" (Poets' Corner) ของวิหาร สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1740
  5. รูปปั้นครึ่งตัวของเชกสเปียร์ สร้างโดย ลูอิส ฟรังซัวส์ โรบิลเลียค ศิลปินงานปั้นชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ
  6. อนุสาวรีย์เชกสเปียร์ที่ เซนทรัลปาร์ก ในเมืองนิวยอร์ก สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1864 ในโอกาสครบรอบ 300 ปีวันเกิดของเชกสเปียร์

ละครและภาพยนตร์

[แก้]

เรื่องราวของเชกสเปียร์รวมถึงผลงานของเขาได้รับการดัดแปลงไปยังสื่อต่าง ๆ เช่น เป็นละครชุดทางโทรทัศน์เรื่อง "เชกสเปียร์" ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี ส่วนภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเชกสเปียร์ได้แก่

  • The Life of Shakespeare (ค.ศ. 1914)
  • Master Will Shakespeare (ค.ศ. 1936)
  • Life of Shakespeare (ค.ศ. 1978)
  • Shakespeare in Love (ค.ศ. 1998)

บทละครของเชกสเปียร์ นอกจากมีการนำไปใช้แสดงละครเวทีและดัดแปลงเป็นโอเปราแล้ว ยังได้นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกมากมายหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น

อื่น ๆ

[แก้]

นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์น้อยที่ตั้งชื่อตามนามสกุลของเขา คือ ดาวเคราะห์น้อย 2985 เชกสเปียร์ ซึ่งค้นพบในปี ค.ศ. 1983

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. เป็นวันที่ตามปฏิทินจูเลียน ซึ่งใช้อยู่ในประเทศอังกฤษในช่วงที่เชกสเปียร์มีชีวิต แต่เมื่อต้นปีได้ปรับเป็นวันที่ 1 มกราคม (ดูที่วันที่รูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่) หากนับตามปฏิทินเกรกอเรียนซึ่งนำมาใช้ในกลุ่มประเทศคาทอลิกเมื่อ ค.ศ. 1582 เชกสเปียร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม[1]

แหล่งอ้างอิง

[แก้]
  1. Schoenbaum 1987, p. xv.
  2. Greenblatt 2005, p. 11.
  3. Bevington 2002, pp. 1–3.
  4. Wells 1997, p. 399.
  5. Craig 2003, p. 3.
  6. เจมส์ ชาปิโร (2005). 1599: A Year in the Life of William Shakespeare. ลอนดอน: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, xvii–xviii. ISBN 0-571-21480-0.
    • เอส. ฌอนบอม, (1991). Shakespeare's Lives. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 41, 66, 397–98, 402, 409. ISBN 0-19-818618-5.
    • แกรี่ เทย์เลอร์ (1990). Reinventing Shakespeare: A Cultural History from the Restoration to the Present. ลอนดอน: สำนักพิมพ์โฮการ์ธ, 145, 210–23, 261–5. ISBN 0-7012-0888-0.
  7. Bertolini, John Anthony (1993). Shaw and Other Playwrights. Pennsylvania: Pennsylvania State University Press, 119. ISBN 0-271-00908-X.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 8.24 8.25 8.26 8.27 8.28 ฌอนบอม (1987), William Shakespeare: A Compact Documentary Life, ฉบับปรับปรุงใหม่, ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 14–22. ISBN 0-19-505161-0.
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 9.12 9.13 9.14 ปีเตอร์ แอคครอยด์ (2006). Shakespeare: The Biography. ลอนดอน: วินเทจ, 53. ISBN 0749386558.
  10. เดวิด เครสซี่ (1975). Education in Tudor and Stuart England. นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์เซนต์มาร์ติน, 28, 29. OCLC 2148260.
  11. ไมเคิล วูด (2003). Shakespeare. นิวยอร์ก: เบสิกบุ๊คส์, 84. ISBN 0-465-09264-0.
  12. นิโคลัส รอว์ (1709). Some Account of the Life &c. of Mr. William Shakespear. เล่าใหม่โดย เทอร์รี่ เอ. เกรย์ (1997) ในบทความ วิลเลียม เชกสเปียร์ กับอินเทอร์เน็ต เก็บถาวร 2008-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  13. อี. เอ. เจ. โฮนิกมานน์ (1999) Shakespeare: The Lost Years. ฉบับแก้ไขปรับปรุง. แมนเชสเตอร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์, 1. ISBN 0-7190-5425-7.
  14. 14.0 14.1 อี.เค. แชมเบอร์ส (1930). William Shakespeare: A Study of Facts and Problems. Vol. 1. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์คลาเรนดอน, 287, 292. OCLC 353406.
  15. สตีเฟน กรีนแบลทท์ (2005). Will in the World: How Shakespeare Became Shakespeare. ลอนดอน: พิมลิโค, 11. ISBN 0-7126-0098-1.
  16. 16.0 16.1 สแตนลี่ย์ เวลส์ (2006). Shakespeare & Co. นิวยอร์ก: แพนธีออน, 28. ISBN 0-375-42494-6.
  17. อี.เค. แชมเบอร์ส (1923). The Elizabethan Stage. Vol. 2. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์คลาเรนดอน, 208–209. OCLC 336379.
  18. จี.อี. เบนท์ลี่ย์ (1961). Shakespeare: A Biographical Handbook. นิวฮาเว่น: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล, 36. OCLC 356416.
  19. เดวิด สก๊อต คัสทัน (1999). Shakespeare After Theory. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 37. ISBN 0-415-90112-X.
  20. โรสลิน นัตสัน (2001). Playing Companies and Commerce in Shakespeare's Time. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 17. ISBN 0-521-77242-7.
  21. โจเซฟ ควินซี อดัมส์ (1923). A Life of William Shakespeare. บอสตัน: ฮูตันมิฟฟลิน, 275. OCLC 1935264.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 ปาร์ก โฮแนน (1998). Shakespeare: A Life. ออกซฟอร์ด; นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 121. ISBN 0-19-811792-2.
  23. เอ็ดเวิร์ด ดาวเดน (1881). Shakspere. นิวยอร์ก: แอปเพิลตันแอนด์โค, 48–9. OCLC 8164385.
  24. เออร์วิง ริบเนอร์ (2005). The English History Play in the Age of Shakespeare. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 154–155. ISBN 0-415-35314-9.
  25. แพทริก เจอราร์ด เชนีย์ (2004). The Cambridge Companion to Christopher Marlowe. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 100. ISBN 0-521-52734-1.
  26. ไบรอัน กิบบอนส์ (1993). Shakespeare and Multiplicity. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 1. ISBN 0-521-44406-3.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 เอ. ซี. แบรดลี่ย์ (1991 edition). Shakespearean Tragedy: Lectures on Hamlet, Othello, King Lear and Macbeth. ลอนดอน: เพนกวิน, 85. ISBN 0-14-053019-3.
  28. Muir, Kenneth (2005). Shakespeare's Tragic Sequence. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 12–16. ISBN 0-415-35325-4.
  29. ที.เอส.อีเลียต (1934). Elizabethan Essays. ลอนดอน: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, 59. OCLC 9738219.
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 30.4 30.5 สแตนลี่ย์ เวลส์, et al (2005). The Oxford Shakespeare: The Complete Works, 2nd Edition. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. ISBN 0-19-926717-0.
  31. เจมส์ ชาปิโร (2005). 1599: A Year in the Life of William Shakespeare. ลอนดอน: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, xvii–xviii. ISBN 0-571-21480-0.
  32. 32.0 32.1 อาร์. เอ. โฟคส์ (1990). "Playhouses and Players". In The Cambridge Companion to English Renaissance Drama. เอ. บรอนมุลเลอร์ และ ไมเคิล ฮาธาเวย์ (eds.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 6. ISBN 0-521-38662-4.
  33. เอ.เอ็ม. แนกเลอร์ (1958). Shakespeare's Stage. นิวฮาเวน, CT: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล, 7. ISBN 0-300-02689-7.
  34. ปีเตอร์ ฮอลแลนด์ (ed.) (2000). Cymbeline. ลอนดอน: เพนกวิน; บทนำ, xli. ISBN 0-14-071472-3.
  35. วิลเลียม ริงเลอร์ จูเนียร์ (1997)."Shakespeare and His Actors: Some Remarks on King Lear". จาก Lear from Study to Stage: Essays in Criticism. เจมส์ โอเกิน และ อาเทอร์ ฮอลีย์ สกูเทน (eds.). นิวเจอร์ซีย์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฟาร์เลย์ ดิคคินสัน, 127. ISBN 0-8386-3690-X.
  36. 36.0 36.1 อัลเฟรด ดับเบิลยู พอลลาร์ด (1909). Shakespeare Quartos and Folios. ลอนดอน: เมธูน. OCLC 46308204.
  37. เฟรดสัน โบเวอร์ (1955). On Editing Shakespeare and the Elizabethan Dramatists. ฟิลาเดลเฟีย: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย, 8–10.
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 จอห์น โรว์; ไบรอัน กิบบอนส์; และ เอ.อาร์. บรอนมุลเลอร์ (eds.) (2006). The Poems: Venus and Adonis, The Rape of Lucrece, The Phoenix and the Turtle, The Passionate Pilgrim, A Lover's Complaint, โดย วิลเลียม เชกสเปียร์. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่สอง; บทนำ, 21. ISBN 0-521-85551-9.
  39. โรแลนด์ มูแชต ไฟรย์ (2005). The Art of the Dramatist. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge. ISBN 0-415-35289-4.
  40. ไมเคิล วูด (2003). Shakespeare. นิวยอร์ก: เบสิกบุ๊คส์, 84. ISBN 0-465-09264-0.
  41. วูล์ฟกัง เคลเมน (2005). Shakespeare's Dramatic Art: Collected Essays, 150. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge. ISBN 0-415-35278-9.
  42. วูล์ฟกัง เคลเมน(2005). Shakespeare's Imagery. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 29. ISBN 0-415-35280-0.
  43. Frye, Roland Mushat (2005). The Art of the Dramatist. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge. ISBN 0-415-35289-4.
  44. จอร์จ ที ไรท์ (2004). "The Play of Phrase and Line". จาก Shakespeare: An Anthology of Criticism and Theory, 1945–2000. รัสส์ แมคโดนัลด์ (ed.). ออกซฟอร์ด: แบล็กเวลล์, 868. ISBN 0-631-23488-8.
  45. 45.0 45.1 45.2 รัสส์ แมคโดนัลด์ (2006). Shakespeare's Late Style. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. ISBN 0-521-82068-5.
  46. ไบรอัน กิบบอนส์ (1993). Shakespeare and Multiplicity. Cambridge: Cambridge University Press, 1. ISBN 0-521-44406-3.
  47. จอห์น ซี. เมกแฮร์ (2003). Pursuing Shakespeare's Dramaturgy: Some Contexts, Resources, and Strategies in his Playmaking. นิวเจอร์ซีย์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแฟร์เลย์ ดิคคินสัน, 358. ISBN 0-8386-3993-3.
  48. อี. เค. แชมเบอร์ส (1944). Shakespearean Gleanings. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 35. OCLC 2364570.
  49. จิลล์ แอล. ลีเวนสัน (2000) (ed.). บทนำ. Romeo and Juliet. วิลเลียม เชกสเปียร์. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 49–50. ISBN 0-19-281496-6.
  50. วูล์ฟกัง คลีเมน (1987). Shakespeare's Soliloquies. ลอนดอน: Routledge, 179. ISBN 0-415-35277-0.
  51. Dotterer, Ronald L (ed.) (1989). Shakespeare: Text, Subtext, and Context. Selinsgrove, Penn.: Susquehanna University Press, 108. ISBN 0-941664-92-9.
  52. ไมเคิล มิลเกต และ คีธ วิลสัน (2006). Thomas Hardy Reappraised: Essays in Honour of Michael Millgate โตรอนโต: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งโตรอนโต, 38. ISBN 0-8020-3955-3.
  53. ฟิลิป ซี. คอลิน (1985). Shakespeare and Southern Writers: A Study in Influence. แจ็กสัน: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งมิสซิสซิปปี, 124.
  54. วาเลรี แอล เกเกอร์ (1996). Shakespeare and Dickens: The Dynamics of Influence. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 163, 186, 251. ISBN 0-521-45526-X.
  55. จอห์น ไบรแอนท์ (1998). "Moby Dick as Revolution". ใน The Cambridge Companion to Herman Melville. Robert Steven Levine (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 82. ISBN 0-521-55571-X.
  56. จอห์น กรอสส์ (2003). "Shakespeare's Influence". ใน Shakespeare: An Oxford Guide. สแตนลีย์ เวลส์ และ ลีนา โคเวน ออร์ลิน (eds.). ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 641–2. ISBN 0-19-924522-3.
  57. รอย พอตเตอร์ และ ทีค มิคูลาส (1988). Romanticism in National Context. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 48. ISBN 0-521-33913-8.
  58. ไลโอเนล แลมเบอร์น (1999). Victorian Painting. ลอนดอน: ไฟดอน, 193–8. ISBN 0-7148-3776-8.
  59. จูเลีย พาไรส์ (2006). "The Nature of a Romantic Edition". ใน Shakespeare Survey 59. Peter Holland (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 130. ISBN 0-521-86838-6.
  60. นิโคลัส รอยล์ (2000). "To Be Announced". ใน The Limits of Death: Between Philosophy and Psychoanalysis. โจแอน มอร์รา, มาร์ค รอบสัน, มาร์ควาร์ด สมิธ (eds.). แมนเชสเตอร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์. ISBN 0-7190-5751-5.
  61. เดวิด คริสตัล (2001). The Cambridge Encyclopedia of the English Language. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 55–65, 74. ISBN 0-521-40179-8.
  62. จอห์น เวน (1975). Samuel Johnson. นิวยอร์ก: ไวกิง, 194. ISBN 0-670-61671-0.
  63. แจ็ค ลิงก์ (2002). Samuel Johnson's Dictionary: Selections from the 1755 Work that Defined the English Language. เดลเรย์บีช ฟลอริด้า: สำนักพิมพ์เลเวนเจอร์, 12. ISBN 1-84354-296-X.
  64. Quoted in Bartlett, John, Familiar Quotations, 10th edition, 1919. เก็บข้อมูลเมื่อ 14 มิถุนายน 2007.
  65. มาร์ค โดมินิค (1988). Shakespeare–Middleton Collaborations. Beaverton, Or.: สำนักพิมพ์อลิออธ, 9. ISBN 0-945088-01-9.
  66. เจอร์ไมนี เกรียร์ (1986). William Shakespeare. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 9. ISBN 0-19-287538-8.
  67. 67.0 67.1 67.2 67.3 67.4 ฮิว เกรดี (2001). "Shakespeare Criticism 1600–1900". In deGrazia, Margreta, and Wells, Stanley (eds.), The Cambridge Companion to Shakespeare. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 267. ISBN 0-521-65094-1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "grady" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  68. Dryden, John (1668). "An Essay of Dramatic Poesy". อ้างถึงโดย Grady ใน Shakespeare Criticism, 269; คำพูดทั้งหมดดูได้จาก: Levin, Harry (1986). "Critical Approaches to Shakespeare from 1660 to 1904". จาก The Cambridge Companion to Shakespeare Studies. Wells, Stanley (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 215. ISBN 0-521-31841-6.
  69. ไมเคิล ดอบสัน, (1992). The Making of the National Poet: Shakespeare, Adaptation and Authorship, 1660–1769. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์คลาเรนดอน. ISBN 0-19-818323-2. อ้างถึงโดย Grady ใน Shakespeare Criticism, 270.
  70. Grady อ้างถึง Philosophical Letters ของวอลแตร์ (1733); Wilhelm Meister's Apprenticeship ของเกอเธ่ (1795); two-part pamphlet Racine et Shakespeare ของสเตนดัล (1823–5); prefaces to Cromwell ของฮูโก (1827) และ วิลเลียมเชกสเปียร์ (1864). ใน Shakespeare Criticism, 272–274.
  71. Levin, Harry (1986). "Critical Approaches to Shakespeare from 1660 to 1904". จาก The Cambridge Companion to Shakespeare Studies. Wells, Stanley (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 215. ISBN 0-521-31841-6.
  72. โรเบิร์ต ซอว์เยอร์, (2003). Victorian Appropriations of Shakespeare. นิวเจอร์ซี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแฟร์เลย์ดิกคินสัน, 113. ISBN 0-8386-3970-4.
  73. Carlyle, Thomas (1840). "On Heroes, Hero Worship & the Heroic in History". อ้างถึงในงานของ เอมมา สมิธ, (2004). Shakespeare's Tragedies. ออกซฟอร์ด: แบล็กเวลล์, 37. ISBN 0-631-22010-0.
  74. Schoch, Richard (2002). "Pictorial Shakespeare". จาก The Cambridge Companion to Shakespeare on Stage. Wells, Stanley, and Sarah Stanton (eds.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 58–59. ISBN 0-521-79711-X.
  75. 75.0 75.1 75.2 ฮิว เกรดี (2001). "Modernity, Modernism and Postmodernism in the Twentieth Century's Shakespeare". จาก Shakespeare and Modern Theatre: The Performance of Modernity. Bristol, Michael, and Kathleen McLuskie (eds.). นิวยอร์ก: Routledge, 22–6. ISBN 0-415-21984-1.
  76. จอร์จ แมคไมเคิล และ เอ็ดการ์ เอ็ม. เกล็นน์ (1962). Shakespeare and his Rivals: A Casebook on the Authorship Controversy. นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์โอดิสซีย์. OCLC 2113359.
  77. เอช. เอ็น. กิบสัน (2005). The Shakespeare Claimants: A Critical Survey of the Four Principal Theories Concerning the Authorship of the Shakespearean Plays. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 48, 72, 124. ISBN 0-415-35290-8.
  78. เดวิด เคธแมน (2003). "ข้อสงสัยในความเป็นเจ้าของงาน". ใน Shakespeare: An Oxford Guide. สแตนลีย์ เวลล์ (ed.). ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 620, 625–626. ISBN 0-19-924522-3.
  79. Pritchard, Arnold (1979). Catholic Loyalism in Elizabethan England. Chapel Hill: University of North Carolina Press, 3. ISBN 0-8078-1345-1.
  80. ริชาร์ด วิลสัน (2004). Secret Shakespeare: Studies in Theatre, Religion and Resistance. แมนเชสเตอร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์, 34. ISBN 0-7190-7024-4.
  81. Casey, Charles (ฤดูใบไม้ร่วง 1998). Was Shakespeare gay? Sonnet 20 and the politics of pedagogy เก็บถาวร 2007-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. College Literature. เก็บข้อมูลเมื่อ 2 April 2007.
  82. เจ. เอ. ฟอร์ต "The Story Contained in the Second Series of Shakespeare's Sonnets." The Review of English Studies. (ตุลาคม 1927) 3.12, 406–414.
  83. เดวิด เคธแมน (2003). "The Question of Authorship". จาก Shakespeare: An Oxford Guide. สแตนลี่ย์ เวลส์(ed.). ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. ISBN 0-19-924522-3.
    • ชาร์ลส บอยซ์ (1996). Dictionary of Shakespeare. Ware, Herts, UK: Wordsworth. ISBN 1-85326-372-9.
  84. รวมอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ของเชกสเปียร์
  85. อนุสาวรีย์เชกสเปียร์ที่เซนทรัลปาร์ก

แหล่งข้อมูล

[แก้]
หนังสือ
บทความและช่องทางออนไลน์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
รุ่นดิจิทัล
นิทรรศการ
ดนตรี
มรดกและบทวิพากษ์