เจ้าพระอัคร์บุตร (บุญมี รามางกูร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระอัคร์บุตร (บุญมี รามางกูร)
ขุนโอกาส (เจ้าโอกาส) เมืองธาตุพนม, กรมการกองบ้านธาตุพนม, กรมการเมืองคำเกิด
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดธาตุพนม
เสียชีวิตเวียงจันทน์
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระอัคร์บุตร (บุญมี รามางกูร) หรือเจ้าพระอัคร์บุตรบุญมี อดีตกรมการกองข้าอุปัฏฐากพระมหาธาตุพนมหรือกองบ้านธาตุพนม ต่อมาได้ลี้ภัยการเมืองท้องถิ่นไปเป็นเจ้าเมืองหรือขุนโอกาสธาตุพนมคนแรกและเป็นผู้ตั้งเมืองธาตุพนมที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในสมัยอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน เนื่องจากฝรั่งเศสต้องการเอาใจบรรดาเจ้านายลาวริมฝั่งโขงที่ข้ามไปรับราชการอยู่ด้วย (หากนับรวมเจ้าเมืองหรือขุนโอกาสธาตุพนมที่ฝั่งขวาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ลงมาจะเป็นเจ้าเมืองคนที่ ๕) โดยมีศูนย์กลางการปกครองขนาดเล็กที่บ้านด่านปากเซ เมืองหนองบก แขวงคำม่วน ต่อกับบ้านปากเซบั้งไฟ เมืองไซบูลี แขวงสะหวันนะเขด พระอัคร์บุตรมีนามเดิมว่าท้าวสุวัณณบุญมี ในเอกสารพื้นเมืองพระนมออกนามว่าราชาเจ้าโอกาส คัมภีร์สังกาสธาตุพระนมและมหาสังกาสธาตุพระนมโคดมเจ้าออกนามเต็มว่าพระมหาสมเด็จราชาธาตุพระนมบุรมมราชาเจดีย์มหาคุณ[1] ส่วนเอกสารพื้นพระบาทใช้ชาติหรือพื้นพระยาธัมมิกราชออกนามว่าเจ้าพระอัครบุตรสุตสุวัณณบุญมีหรือพระเจ้าอัครบุตราสุวัณณะและออกนามเต็มว่าพระมหาสมเด็จราชาธาตุพระนมบุรมเจดีย์มหาบุญ หลังเป็นเจ้าเมืองธาตุพนมได้ออกไปเป็นที่ปรึกษาราชการเมืองคำเกิด แขวงบอลิคำไซ นับว่าเป็นผู้ดำรงนามยศพระอัคร์บุตรคนแรกและคนเดียวของธาตุพนม[2] ซึ่งเป็นตำแหน่งในระบบอาญาสี่ของหัวเมืองขนาดเล็กที่เทียบเท่าเมืองชั้นจัตวาหรือระดับกอง ทั้งเป็นต้นสกุลบุคคละ (บุคละ) หรือบุคคละวิเศษ และสกุลรามางกูร ณ โคตะปุระ[3] ของอำเภอธาตุพนม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ เคยเป็นหนึ่งในเจ้านายลาวที่เข้าร่วมขบวนการผู้มีบุญองค์มั่นจากการสนับสนุนขององค์พระบาทและองค์ขุดจึงตั้งตนเป็นพระยาธรรมิกราชเพื่อต่อต้านอำนาจปกครองของสยาม หลังได้รับการอุปถัมภ์จากฝรั่งเศสแล้วได้เปลี่ยนไปเข้าร่วมขบวนการต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส และใช้ชีวิตบั้นปลายที่นครหลวงเวียงจันทน์จนถึงแก่กรรม

ประวัติ[แก้]

พระอัคร์บุตรเป็นบุตรลำดับแรกของเจ้าพระรามราชปราณีฯ (ศรี) ขุนโอกาสเมืองธาตุพนมลำดับ 2 กับอาดยานางบุษดี เป็นหลานปู่เจ้าพระรามราชฯ (ราม) ขุนโอกาสเมืองธาตุพนมลำดับแรกจากราชวงศ์เวียงจันทน์กับอาดยานางยอดแก้วสีบุนมาแห่งจำปาศักดิ์ อ้างสิทธิปกครองกองข้าโอกาสพระธาตุพนมลำดับ 3 ต่อจากบิดาแต่ไม่สำเร็จ ตำแหน่งเป็นของพระปราณีศรีมหาพุทธบริษัท (เมฆ) ลูกพี่ลูกน้อง เนื่องจากการเมืองท้องถิ่นคือการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสและการลดอำนาจจากสยาม การขัดผลประโยชน์กลุ่มมูลนายธาตุพนมและปัญหากบฏผีบุญอีสาน[4]

ก่อน พ.ศ. 2444 ปฏิรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล นำกำลังผีบุญชิงกองข้าโอกาสพระธาตุพนมจากหลานคือพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) นายกองบ้านธาตุพนมลำดับ 5[5] คัมภีร์สังกาดธาตุพระนมระบุ ...จุลลสังกาดราซาได้ 4 ฮ้อย 20 2 ตัว ปลีเปิกยี่ เดือน 10 1 เพ็งวัน 4 ปีกัดไค้ ยามเที่ยงคืน อาคคัตตะรืกถือซาว 7 ลูกอั้น พระมาหาสมเด็จจราซาธาดตูพระนมบุฮมมราซาเจดีมหาคูร ยังมีพระยาตน 1 ก็ถือเอาคุนสีนมาสั่งสอรสัมมนพรามเจ้าทั้งหลาย แลอาคคมหาเสนาท้าวพระยาขุรหมื่รหลวงเมืองปชานาสัตตินิกอรซาวบ้านซาวเมืองทั้งยิงซายน้อยใหย่ทั้งหลาย...[6]

ต่อมาวิวาทกับพระปราณีฯ (เมฆ) และพระอุปราชา (เฮือง) ผู้น้องจนลือว่าต้องความผิดราชการจึงหนีจากธาตุพนมอยู่ในอารักขาฝรั่งเศสพร้อมพระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (จันทร์ทองทิพย์ มังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนม ขุนสฤษดิ์เรณู (ไชยสาร บัวสาย) ยกกระบัตรเมืองเรณูนคร และราชวงศ์พรหมบุตร (บุญเที่ยง รามางกูร) ผู้น้อง[7] ฝรั่งเศสเอาใจโดยตั้งเป็นขุนโอกาสเพียงในนามปกครองกองข้าโอกาสพระธาตุพนมไม่กี่หมู่บ้านในเซบั้งไฟ ต่อมาย้ายเป็นกรมการเมืองคำเกิดปรึกษาราชการชายแดนเวียดนามชั่วคราวแล้วอพยพอยู่เวียงจันทน์ถาวร ระหว่างเป็นกรมการสมรสกับอาดยานางบัวสีธิดาเพี้ยทิพพะสอน (ท้าวสุวันนะกุมมาน สุวันนะพักดี) กับนางบัวมะนีหลานปู่หลานย่าอุปฮาตเมืองคำเกิดกับอาดยานางคำด้วง ระหว่างอาศัยที่เวียงจันทน์เดินทางเยี่ยมญาติที่ธาตุพนมไม่เกิน 3 ครั้ง เมื่อตั้งสกุลบุคคละที่เวียงจันทน์จึงรวมญาติสายตรงขุนโอกาสฝั่งขวาน้ำโขงใช้สกุลร่วมกันทั้งหมด[8]

บูรณะวัดหัวเวียงรังษีและหนีจากธาตุพนม[แก้]

วัดหัวเวียงรังษี บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สังกัดธรรมยุติกนิกาย[9] อยู่ริมโขงตรงข้ามเมืองหนองบก แขวงคำม่วน ทิศเหนือกำแพงเมืองธาตุพนม เป็นวัดโบราณสร้างทับวัดเก่าสมัยล้านช้างเวียงจันทน์และเป็นวัดประจำตระกูลผู้ปกครองธาตุพนม เดิมเป็นเขตกัลปนาชั้นในของพระธาตุพนม[10] อาจสร้างครั้งสถาปนาอูบมุงภูกำพร้าและบูรณะฟื้นฟูสมัยปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนมยุคเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก อิฐอุโบสถหลังเดิมรุ่นเดียวกับอิฐวัดพระธาตุพนม เดิมมีเนื้อที่ 5 ไร่เศษ อยู่ทิศหัวเมืองธาตุพนม เดิมใกล้วัดและในวัดมีสระโบราณ 3 แห่งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านธาตุพนม หลังกุฏิวัด และริมศาลาติดที่ว่าการอำเภอหลังเดิม มีไว้สำหรับเจ้านายเวียงจันทน์อุปโภคบริโภค มุขปาฐะวัดระบุว่าสมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เสด็จบูรณะวัดพระธาตุพนมได้ประทับใกล้วัดและอาศัยน้ำจากสระทั้ง 3[11]

นอกจากนี้ยังใช้ในพิธีมุทธาภิเษกผู้ปกครองธาตุพนม[12] ต่อมาถูกถมทั้งหมดเนื่องจากการปรับภูมิทัศน์ หลังยกเลิกระบบอาดยาเมือง พ.ศ. 2456 ข้าราชการและราษฎรร่วมสร้างกุฎิใหม่ขึ้นที่วัดปรากฏในราชกิจจานุเบกษา 12 ตุลาคม 2456 เล่ม 30 หน้า 1574-1575 พ.ศ. 2456 ว่า ...ด้วยมณฑลอุดรมีใบบอกมาว่า ได้มีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ รวม 80 บาท 32 สตางค์ สร้างกุฏิขึ้นที่วัดหัวเวียง ในอำเภอเรณูนคร เมืองนครพนม 1 หลัง 2 ห้อง กว้าง 1 วา 3 ศอก ยาว 3 วา 2 ศอก เสาใช้ไม้มะค่า พื้นฝาแลเครื่องบนใช้ไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องไม้แล้วเสร็จหมดตัวเงิน ผู้บริจาคทรัพย์ทั้งหลายขอพระราชทานถวายพระราชกุศล ดังมีรายนามผู้บริจาคทรัพย์ คือ พระเกศ 8 บาท นายหอมเสมียน 18 บาท จีนหุย 14 บาท 50 สตางค์ นายน้อย 8 บาท 50 สตางค์ ขุนพนมพนารักษ์นายอำเภอ 8 บาท นายจาม 4 บาท 75 สตางค์ นายทองดี 4 บาท 50 สตางค์ นายอิน นายเหล็ก คนละ 4 บาท ผู้บริจาคทรัพย์ต่ำกว่า 4 บาท เงิน 6 บาท 7 สตางค์ กระทรวงธรรมการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว กระทรวงธรรมการ แจ้งความมา ณวันที่ 26 กันยายน พระพุทธศักราช 2456 (ลงนาม) วิสุทธสุริยศักดิ์ เสนาบดี...[13]

ก่อน พ.ศ. 2460 ฝรั่งเศสชักชวนเจ้านายลาวข้ามโขงเป็นเจ้าเมืองฝั่งซ้ายจึงอพยพบุตรภรรยาข้ามไปพร้อมเจ้าเมืองนครพนม ฝรั่งเศสตั้งเจ้าเมืองนครพนมเป็นเจ้าเมืองท่าแขกและตั้งพระองค์เป็นขุนโอกาสปกครองกองข้าพระธาตุพนมบริเวณบ้านด่านปากเซบั้งไฟและบ้านใกล้เคียงหลัง พระอัคร์บุตรถูกลดอำนาจในธาตุพนมเนื่องจากสยามตั้งพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร) เป็นนายกองข้าพระธาตุพนมแทนตำแหน่งขุนโอกาสที่ขาดช่วงสมัยหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ โดยเป็นกองขึ้นเมืองนครพนมและมุกดาหาร ได้ข้ามมาธาตุพนมนำประชาชนบูรณะวัดหัวเวียงและสั่งช่างคือพระอธิการอินทร์เจ้าอาวาสกับหลวงชาญอักษรกรมการบ้านธาตุพนมชาวนครราชสีมาสร้างรูปครุฑหลังอุโบสถ พระปราณีศรีมหาบริษัท (เมฆ) อดีตขุนโอกาสลูกพี่ลูกน้องซึ่งตั้งบ้านเรือนที่เซบั้งไฟและพระอุปราชา (เฮือง) ผู้น้องไม่พอใจลือว่าพระอัคร์บุตรจะต้องความผิดราชการจึงข้ามไปเซบั้งไฟและไม่กลับมาธาตุพนมอีก[14]

ไม่นานอพยพไปชายแดนเวียดนามในตำแหน่งปรึกษาราชการเมืองคำเกิดในแขวงบอลิคำไซจนร่ำรวยจากการค้าชายแดน ส่วนเซบั้งไฟยกให้ท้าวพมมะพุทธาหรือหลวงโพสาลาดอดีตปลัดกองบ้านธาตุพนมผู้บุตรปกครอง ต่อมาฝรั่งเศสยกเป็นเมืองเซบั้งไฟจึงเลื่อนบุตรเป็นพระยาโพสาราชเจ้าเมือง ให้ท้าวกัตติยะหลานพระอัคร์บุตรเป็นอุปฮาต[15] พ.ศ. 2462 วัดหัวเวียงรับพระราชทานวิสุงคามสีมาสังกัดธรรมยุติกนิกายความว่า ...มีพระบรมราชโองการประกาศไว้แก่ชนทั้งปวงว่า ที่เขตพระอุโบสถวัดหัวเวียง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยยาว 1 เส้น 18 วา โดยกว้าง 1 เส้น 16 วา พระครูพนมนครคณาจารย์เจ้าคณะจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยพระครูเจ้าคณะแขวง ได้ให้กราบบังคมทูลพระกรูณา ขอเปนที่วิสุงคามสิมา พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงยินดีอนุโมทนาอนุญาตแล้ว โปรดให้กรมการ ปักกำหนดให้ตามประสงค์ ทรงพระราชอุทิศที่นั้นให้เปนที่วิสุงคามสิมา ยกเปนแผนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขตร เปนที่วิเสสสำหรับพระสงฆ์มาแต่จาตุทิศทั้งสี่ ทำสังฆกรรมมีอุโบสถกรรมเปนต้น พระราชทานตั้งแต่ณวันที่ 29 มกราคม รัตนโกสินทรศก 138 พระพุทธศาสนกาล 2462 พรรษา เปนวันที่ 3367 ในรัชกาลปัตยุบันนี้...[16]

ถึงแก่กรรม[แก้]

หลังอพยพอยู่เวียงจันทน์ได้มีภรรยาอีก 8 ท่านและค้าขายจนร่ำรวย เมื่อถึงแก่กรรมได้ประกอบพิธีศพเรียบง่ายเนื่องจากตรงกับช่วงวิกฤตการณ์การเมืองลาว พระอุปราชา (เฮือง) ผู้น้องพาญาติบางส่วนร่วมงานศพที่เวียงจันทน์ หลังเสร็จพิธีได้พาท้าวสุวันนะคำมีบุตรท่านสุดท้ายของพระอัคร์บุตรที่เกิดกับหม่อมบัวสีกลับมาเลี้ยงดูที่ธาตุพนมและรับเป็นบุตรบุญธรรม[17]

หม่อมและบุตรธิดา[แก้]

พระอัคร์บุตรมีหม่อมปรากฏในสำเนาเอกสารลำดับสายสกุลของนายคำมี รามางกูร อักษรลาว รวม 17 ท่าน ชาวคำเกิด 3 ท่านคือหม่อมบัวสี สุวันนะพักดี หม่อมแก้วปับพาน หม่อมสีกะเสิมสุก ชาวธาตุพนม 2 ท่านคือหม่อมวัน หม่อมโผน (บ้านหัวบึง) ชาวท่าแขก 4 ท่านคือหม่อมเคือวัน หม่อมผ่อง หม่อมเนือด หม่อมต่อนคำ ชาวเวียงจันทน์ 8 ท่านคือหม่อมถ่อนแก้ว (ธิดาพระยาจันทะฮด) หม่อมพิดสะไหม (คุ้มโสกป่าหลวง) หม่อมสีเกิด หม่อมจำเลิน (บ้างเขียนหม่อมจำเลิด) หม่อมนอง หม่อมสายบัวคำ หม่อมหนูน และหม่อมหนูสุ่น มีบุตรธิดาต่างมารดาปรากฏในเอกสารเดียวกัน 29 ท่านคือพระบำรุงพระนมเจดีย์ศรีมหาบริษัท (ท้าวเทบปะจิด) รักษาราชการบ้านธาตุพนม บรรดาศักดิ์เดิมที่พระพิทักษ์เจดีย์นายกองบ้านธาตุพนม, ท้าวโพธิสารพินิต (ท้าวอินทะวงส์) กรมการบ้านธาตุพนม, ท้าวไชยสุริยวงศ์ (ท้าวไซยะวงศ์) กรมการบ้านธาตุพนม, หลวงพระศรีอรรคฮาต (ท้าวสุวันนะพมมา) กรมการบ้านธาตุพนม, พระยาโพธิ์สาราช (ท้าวพมมะพุทธา) เจ้าเมืองเซบั้งไฟคนแรก บรรดาศักดิ์เดิมที่หลวงโพสาลาดปลัดกองบ้านธาตุพนม, เพี้ยพรหมวงสา (ท้าวสุวันนะวงสา) กรมการบ้านธาตุพนม, หมื่นสีลาสำมาทานวัตริ์ (ท้าวสุวันนะสีลา) กำนันตำบลธาตุพนมคนแรกขึ้นกับอำเภอเรณูนคร, ท้าวคำทาด, ท้าวคำเถิก, ท้าวคำกอง, ท้าวคำฮุย, ท้าวคำสิงหาน, ท้าวเจียงคำ, ท้าวอินทะซิด, ท้าวลามมะลาด, ท้าวอุดตมะ, ท้าวสุดทะนู, นางคำสี, นางคำดี, นางหล่ำ, นางเลิศ, นางข่ายสุวัน, นางจันทะบุดตี, นางจันทะนาลี, นางจันทะผุสดี, นางสิมมาลี, นางออละพิมพา, นายสุนีย์ กำนันตำบลธาตุพนมคนแรกหลังเลิกบรรดาศักดิ์ และนายคำมี (ท้าวสุวันนะคำมี)[18] บุตรธิดาทั้งหมดตั้งรกรากที่เวียงจันทน์กับท่าแขกและกำเนิดในสกุลบุคคละ เฉพาะนายสุนีย์และนายคำมีเท่านั้นที่กลับมาอยู่อำเภอธาตุพนม หลังพระอุปราชา (เฮือง) น้องชายพระอัคร์บุตรตั้งสกุลรามางกูรจึงให้หลานทั้ง 2 ใช้สกุล ทายาทพระอัคร์บุตรจึงมีเพียง 2 สายเท่านั้นที่ใช้สกุลรามางกูร[19]

สกุลของทายาท[แก้]

สกุลบุคคละ[แก้]

สำเนาเอกสารลำดับสายสกุลของนายคำมี รามางกูร อักษรลาว ระบุสกุลตั้งที่เวียงจันทน์โดยย่ำกระหม่อมเวียงจันทน์หมายถึงเจ้าเมืองเวียงจันทน์มอบให้พระอัคร์บุตรแต่ไม่ระบุ พ.ศ. ทายาทบางท่านระบุเพียงตั้งขึ้นที่ประเทศลาวโดยพระอัคร์บุตร บ้างว่าตั้งขึ้นที่อำเภอธาตุพนมสมัย ร.6 ช่วงตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล 22 มีนาคม 2455 บังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2456[20] บุคคละ (Bhuccala) มาจากบาลีว่า ปุคฺคล ปรากฏในท้ายนามเจ้าพระยาหลวงบุดโคตตะวงสาเสถฐะบัวละพาสูวัณณะไซยะปุคคะละวีเสด (บุดโคด) กวานเวียงพนม ทวดของพระอัคร์บุตร และปรากฏในท้ายนามเจ้าพระยาแสนสีสูวัณณไซยะปุคคะละวีเสด (คำมุก) พี่ชายทวดของพระอัคร์บุตร ทั้ง 2 เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าไชยเสฏฐาธิราชที่ 3 หรือสมเด็จพระเจ้าสิริบุนสานแห่งเวียงจันทน์กับพระนางจันทะมาสเทวีแห่งเมืองโคดตะบอง[21] ถือเป็นสกุลแรกของทายาทขุนโอกาสธาตุพนมและราชวงศ์เวียงจันทน์สายหนึ่ง หลังถึงแก่กรรม พระอุปราชา (เฮือง สกุลเดิมบุคคละ) ผู้น้องเปลี่ยนสกุลบุคคละเป็นรามางกูร ทายาทบางส่วนใช้บุคคละเป็นส่วนน้อย[22]

สกุลรามางกูร ณ โคตะปุระ[แก้]

รามางกูร ณ โคตะปุระ (Ramanɡkura na Kotapura) ตั้งเป็นกรณีพิเศษสำหรับทายาทสายตรง จดทะเบียนโดยนายเพลิงสุริยเทพ สกุลเดิมรามางกูร บุตรนายสุพรรณ รามางกูร (สกุลเดิมบุคคละ) หลานปู่นายคำมี รามางกูร (ท้าวสุวันนะคำมี สกุลเดิมบุคคละ) เหลนทวดพระอัคร์บุตรกับหม่อมบัวสี (สกุลเดิมสุวันนะพักดี) ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ 5 ตุลาคม 2552 เลขที่ 320/2552 คำขอที่ 5120/2552 โดยยื่นหลักฐานวงศ์สกุลแนบท้าย[23] เหตุที่ใช้ ณ โคตะปุระ เนื่องจากพระอัคร์บุตรเคยปกครองข้าโอกาสพระธาตุพนมบริเวณเซบั้งไฟซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสิริโคตะปุระในภาษาบาลีคือศรีโคตรบูรเดิมมาก่อน[24] ปัจจุบันมีผู้ใช้สกุลเพียงท่านเดียว


ก่อนหน้า เจ้าพระอัคร์บุตร (บุญมี รามางกูร) ถัดไป
พระปราณีศรีมหาพุทธบริษัท (เมฆ รามางกูร) ขุนโอกาสเมืองธาตุพนม (ในอารักขาฝรั่งเศส)
พระอัคร์บุตรธาตุพนม
กรมการธาตุพนมและเมืองคำเกิด

หลวงอามาตย์ราชวงษา (อำนาจ รามางกูร)

อ้างอิง[แก้]

  1. คัมภีร์ใบลานเรื่อง สังกาดธาตุพระนม. หอสมุดแห่งชาติ บ้านเซียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว (หน้า 31 อักษรลาวเดิม). เส้นจาร. ม.ป.ป.. ไม่ปรากฏเลขรหัส. 16 ใบ 32 หน้า. ไม่ปรากฏหมวด. หน้า 4 บรรทัด 2-3.
  2. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), (ม.ป.ท.: วัดบวรนิเวศวิหาร คณะแดงรังสี, ม.ป.ป.), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  3. เพลิงสุริยเทพ รามางกูร ณ โคตะปุระ. เอกสารจดทะเบียนตั้งสกุลรามางกูร ณ โคตะปุระ. ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่. เลขที่ 320/2552. คำขอที่ 5120/2552. พ.ศ. 2552.
  4. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  5. พระครูสิริปัญญาวุฒิ (ขุนละคร ขันตะ), คัดลอก. คัมภีร์เรื่อง พื้นพระบาทใช้ชาติหรือพื้นครุธฮาช (พื้นพระยาธัมมิกราช). วัดศรีสุมังค์ บ้านนาถ่อนท่า ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. เอกสารเขียนบนกระดาษ 1 ฉบับ. อักษรธรรมลาว, อักษรลาวเดิม. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นเขียน. ม.ป.ป. (ต้นฉบับ พ.ศ. 2449). ไม่ปรากฏเลขรหัส. 3 ใบ 6 หน้า. ไม่ปรากฏหมวด.
  6. คัมภีร์ใบลานเรื่อง สังกาดธาตุพระนม. หอสมุดแห่งชาติ บ้านเซียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี สปป.ลาว. หน้า 4.
  7. สัมภาษณ์นางสาวจันเนา รามางกูร เรื่อง ประวัติยาพ่อพระอัคร์บุตร อายุ 90 ปี อาชีพค้าขาย เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2550.
  8. สัมภาษณ์นางทองแสง รามางกูร (นีรพงศ์) เรื่อง ประวัตินายคำมี รามางกูร และพระอัคร์บุตร (บุนมี บุคคละ) บิดา อาชีพค้าขาย เมื่อ 14 เมษายน พ.ศ. 2542.
  9. ดูรายละเอียดใน http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/927[ลิงก์เสีย]
  10. ดูรายละเอียดใน http://www.finearts.go.th/fad10/parameters/km/item/[ลิงก์เสีย]
  11. พระอธิการหนูกัน ธมฺมทินฺโน, วัดหัวเวียง, (นครพนม: ม.ป.พ., 2516), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  12. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  13. กระทรวงธรรมการ. ราชกิจจานุเบกษา. 12 ตุลาคม 2456. เล่ม 30. หน้า 1574-1575.
  14. สัมภาษณ์นางสาวจันเนา รามางกูร เรื่อง ประวัติวัดหัวเวียงรังษี (ธ.) อายุ 90 ปี อาชีพค้าขาย เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2551.
  15. สัมภาษณ์นางสาวจันเนา รามางกูร เรื่อง ชีวิตพระอัคร์บุตรในเวียดนามและทายาท อายุ 90 ปี อาชีพค้าขาย เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2551.
  16. สำเนาเอกสาร พระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมาวัดหัวเวียง พ.ศ. 2456 ได้จากวัดหัวเวียงรังษี (ธ.) บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อ้างใน พระอธิการหนูกัน ธมฺมทินฺโน, วัดหัวเวียง, (นครพนม: ม.ป.พ., 2516), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  17. สัมภาษณ์นางพิศมัย คงเพชร (รามางกูร) เรื่อง ประวัตินายคำมี รามางกูร อาชีพค้าขาย เมื่อ 14 เมษายน พ.ศ. 2542.
  18. ไม่ปรากฏนาม (ลายมือผู้เขียน). สำเนาเอกสารลำดับสายสกุลของนายคำมี รามางกูร. อักษรลาว. เส้นเขียนหมึกบนกระดาษมีเส้น. ม.ป.ป. (ต้นฉบับของนางทองแสง รามางกูร (นีรพงศ์)).
  19. คำมี รามางกูร (เจ้าของเอกสาร). เอกสารเปลี่ยนสกุลจากบุคคละเป็นรามางกูร . ที่ว่าการอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. 28 มิถุนายน พ.ศ. 2518 (ต้นฉบับของนางทองแสง รามางกูร (นีรพงศ์)).
  20. ดูรายละเอียดใน http://www.oknation.net/blog/purelife/2008/01/22/entry-17
  21. สัมภาษณ์นางสาวจันเนา รามางกูร เรื่อง ที่มาสกุลบุคคละ อายุ 90 ปี อาชีพค้าขาย เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2550.
  22. สัมภาษณ์นายกมล รามางกูร เรื่อง จำนวนผู้สืบสกุลบุคคละในอำเภอธาตุพนม อาชีพค้าขาย เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2550.
  23. เพลิงสุริยเทพ รามางกูร ณ โคตะปุระ. เอกสารจดทะเบียนตั้งสกุลรามางกูร ณ โคตะปุระ. ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่. เลขที่ 320/2552. คำขอที่ 5120/2552. พ.ศ. 2552.
  24. วัดโอกาส (ศรีบัวบาน), พระติ้ว-พระเทียม: พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม, (นครพนม: วัดโอกาส (ศรีบัวบาน), ม.ป.ป), หน้า 5.