เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (หน่อคำ พรหมเทพ)
เจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช
ก่อนหน้าพระพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฏ)
ถัดไปราชบุตร (หนูคำ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ.2368
นครหลวงเวียงจันทน์
เสียชีวิต5 พฤษภาคม พ.ศ.2429 เวลา 10.00 น. เศษ
กรุงเทพมหานคร
ศาสนาศาสนาพุทธ

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ มีพระนามเต็มว่า เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ ดำรงรัฐสีมาอุบลราชธานีบาล พระนามเดิมว่า เจ้าหน่อคำ พรหมเทพสกุล

ทรงเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ 5[1] ในฐานะเจ้าประเทศราชต่อจากพระพรหมราชวงศา (กุคำ สุวรรณกูฎ) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ 4 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)[2] เดิมมีพระยศในตำแหน่งคณะอาญาสี่เป็นที่เจ้าราชวงษ์นครจำปาศักดิ์ ในสมัยเจ้าราชบุตร (โย่) พระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์[3] เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ทรงเป็นต้นสกุลพระราชทาน 3 สกุลคือ พรหมโมบล เทวานุเคราะห์ และ พรหมเทพ

ราชตระกูลแห่งราชวงศ์เวียงจันทน์[แก้]

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ทรงสืบเชื้อสายราชตระกูลมาจากราชวงศ์เวียงจันทน์อันเก่าแก่ พระองค์เป็นพระโอรสในเจ้าเสือกับเจ้านางท่อนแก้ว เจ้าเสือผู้เป็นพระบิดานั้นเป็นพระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์พระองค์สุดท้าย ดังนั้น เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์จึงมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 และเป็นพระราชปนัดดา (เหลนทวด) ในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) ฝ่ายพระมารดาคือเจ้านางท่อนแก้วนั้นเป็นพระธิดาในสมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) ผู้เป็นอุปราชนครหลวงเวียงจันทน์ในสมัยสงครามกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 และสมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) ยังเป็นพระราชอนุชาต่างพระมารดากับสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 ดังนั้น เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์จึงมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ในสมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) อีกด้วย

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์มีพระญาติใกล้ชิดเป็นพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) คือเจ้าหญิงหนูมั่น ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า เจ้าจอมมารดาดวงคำ เจ้าหญิงหนูมั่นเป็นพระธิดาในเจ้าคลี่กับเจ้านางท่อนแก้ว เจ้าคลี่เป็นพระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์ เจ้าคลี่จึงมีศักดิ์เป็นพี่น้องกับเจ้าเสือผู้เป็นพระบิดาในเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ฝ่ายเจ้านางท่อนแก้วนั้นเป็นพระธิดาในสมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) ดังนั้น เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์และเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงดวงคำ จึงเป็นพี่น้องร่วมพระมารดาแต่ต่างพระบิดากัน นอกจากนี้ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ยังมีศักดิ์เป็นลุงของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) กับเจ้าจอมมารดาดวงคำ และเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ยังมีศักดิ์เป็นหลานลุงในสมเด็จเจ้าราชบุตร (โย่) พระเจ้านครจำปาศักดิ์ ผู้เป็นพระเชษฐาของเจ้าเสือพระบิดาในเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์

ขึ้นเป็นเจ้าประเทศราช[แก้]

เมืองอุบลราชธานีนี้ เดิมแรกตั้งเมืองมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ปรากฏความในเอกสารจดหมายเหตุ ร.1 จ.ศ. 1154 เลขที่ 2 สมุดไทยดำ เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่าด้วยเรื่องตั้งให้พระประทุม เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษเมืองอุบลราชธานี ความว่า "ด้วย พระบาทสมเดจ๊พระพุทธิเจ้าอยหัว ผู้พานพิภพกรุงเทพพระมหาณครศรีอยุทธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้พระประทุม เปนพระประทุมววรราชสุริยวงษ ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช เศกให้ ณ วัน 2 ฯ 13 8 ค่ำจุลศักราช 1154 ปีชวดจัตวาศก" [4] ผู้ปกครองเมืองมีพระยศเป็นพระประเทศราช นิยมออกคำนำนามพระยศในจารึกว่า พระ เช่น พระประทุมฯ พระพรหมฯ เป็นต้น เจ้านายสายแรกที่ปกครองเมืองทรงปกครองเมืองดอนมดแดงมาก่อน ทรงสืบเชื้อสายจากราชตระกูลนครศรีสัตนาคณหุตล้านช้างเวียงจันทน์หรือราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว ที่แยกย่อยมาจากราชตระกูลล้านช้างเวียงจันทน์อีกที ตั้งแต่ครั้งพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองพระองค์ก่อนเถิงแก่พิราลัย ทางราชการบ้านเมืองก็ยังหาตัวเจ้าเมืองจะปกครองมิได้ พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าราชวงศ์ (หน่อคำ) เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองนครจำปาศักดิ์ ผู้เป็นพระเชษฐาในเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงดวงคำมาเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ ดำรงรัฐสีมา อุบลราชธานีบาล เพื่อให้คล้องกันกับพระนามของ เจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ดำรงรัฐสีมา มุกดาหาราธิบดี หรือเจ้าหนู เจ้าผู้ครองเมืองมุกดาหารบุรี (บังมุก) ผู้เป็นพระญาติใกล้ชิด ส่วนตำแหน่งเจ้าราชวงศ์นครจำปาศักดิ์เมื่อว่างลงแล้วนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพิมพิสาร (บัวระพันธ์) พระโอรสในเจ้านุด พระราชนัดดาในเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย หรือ พรหมาน้อย) รับตำแหน่งสืบไป[5]

วิวาทกับเจ้านายกรมการเมืองอุบลราชธานี[แก้]

พี่น้อง[แก้]

การพระศาสนา[แก้]

อัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์จากนครเวียงจันทน์[แก้]

สร้างวัดไชยมงคล[แก้]

วัดธรรมยุติกนิกายลำดับ 4 แห่งเมืองอุบลราชธานี

วัดไชยมงคลเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 2 ถนนสุรศักดิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ 34000 มีเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 89.7 ตารางวา ตามเอกสารโฉนดที่ 1945 เลขที่ดิน 1 หน้าสำรวจ 106 เล่มที่ 20 หน้า 45 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ออกให้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 โดยมีอาณาเขตทิศเหนือจรดถนนพโลชัย ทิศใต้จรดถนนสุรศักดิ์ ทิศตะวันออกจรดถนนสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันตกจรดที่ดินเอกชน วัดไชยมงคลเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นลำดับที่ 4 ในบรรดาวัดที่สังกัดธรรมยุติกนิกายในเมืองอุบลราชธานี โดยวัดแรกที่สร้างขึ้นคือวัดสุปัฏนารามวรวิหาร สร้างโดยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม ต้นสายสกุล พรหมวงศานนท์) (พ.ศ. 2338 - 2388) เจ้าเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ 2 วัดที่สร้างขึ้นเป็นลำดับที่ 2 คือวัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) สร้างโดยพระอุปฮาด (โท ต้นราชตระกูล ณ อุบล) และคณะกรมการเมืองอุบลราชธานี โดยเริ่มสร้างกุฎิ วิหาร และศาลาการเปรียญขึ้นในปี พ.ศ. 2398 นอกจากนี้เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานียังได้ร่วมมือกันสร้างวัดสุทัศนาราม ซึ่งเป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายแห่งที่ 3 ส่วนวัดไชยมงคลนั้นเป็นวัดสังกัดธรรมยุติกนิกายในลำดับที่ 4

มูลเหตุสร้างวัดไชยมคล

วัดไชยมงคลสร้างขึ้นโดยเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (พ.ศ. 2409-2425) ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มูลเหตุการสร้างวัดไชยมงคลขึ้นนั้น ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อพุทธศักราช 2409 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (บ้างออกพระนามว่าเจ้าพรหมเทวานุสรณ์) เป็นเจ้าผู้ครองเมืองอุบลราชธานีพระองค์ที่ 4 แล้ว ในปีเดียวกันได้เกิดกบฏฮ่อขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ฝั่งประเทศลาว ขณะนั้นสยามถือว่าแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงยังเป็นประเทศราชของสยามอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จึงได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ ยกกองทัพไปปราบกบฏฮ่อที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อพระได้รับพระบรมราชโองการแล้ว พระองค์จึงสั่งให้แม่ทัพนายกองรวบรวมไพร่พล พระองค์เห็นว่าสถานที่รวบรวมไพร่พลหรือบริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบันนี้ มีความร่มรื่น มีต้นโพธิ์ต้นไทรเจริญงอกงามอยู่เป็นจำนวนมาก สถานที่นี้มีชัยภูมิอันดีเหมาะที่จะเป็นที่รวบรวมไพร่พลเพื่อยกกองทัพไปปราบกบฏฮ่อ ด้วยความที่เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ทรงมีเชื้อสายมาจากพระมหากษัตริย์ที่เป็นนักรบ พระองค์จึงสามารถปราบกบฏฮ่อสำเร็จอย่างง่ายดาย หลังเสร็จศึกสงครามแล้วจึงเดินทางกลับมาที่เมืองอุบลราชธานี และทรงดำริที่จะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะขึ้น ณ สถานที่รวบรวมไพร่พล พระองค์จึงทรงรวบรวมกำลังศรัทธาจากเหล่าข้าราชบริพาร ไพร่พล และชาวบ้านชาวเมืองอุบลราชธานี สร้างวัดขึ้น ณ สถานที่เคยเป็นที่รวบรวมไพร่พลก่อนเดินทางไปปราบกบฏฮ่อ ในปีพุทธศักราช 2414 โดยพระราชทานนามวัดว่า วัดไชยมงคล เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระปราบไพรีพินาศ ที่อัญเชิญมาจากนครหลวงเวียงจันทน์ มาประดิษฐานไว้ที่วัดไชยมงคลแห่งนี้ ส่วนอีกองค์หนึ่งคือ พระทองทิพย์ ทรงนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน เมื่อดำเนินการสร้างวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์พร้อมทั้งชาวบ้านชาวเมืองได้กราบอาราธนาเจ้าอธิการสีโหหรือท่านอัญญาสิงห์จากวัดศรีอุบลรัตนาราม มาเป็นเจ้าอาวาสวัดไชยมงคลรูปแรก

ลำดับเจ้าอาวาสวัดไชยมงคล (พ.ศ. 2414-2553)

  • เจ้าอธิการสีโห (เจ้าอธิการสิงห์) เจ้าอาวาสรูปแรก (พ.ศ. 2414) เดิมอยู่วัดศรีทอง
  • ญาครูลา บ้านเดิมอยู่บ้านปลาดุก
  • ญาครูคำ บ้านเดิมอยู่บ้านก้านเหลือง
  • พระอาจารย์ทอง
  • พระอาจารย์มหาคำแสน
  • พระอาจารย์กอง
  • พระครูชิโนวาทสาทร (พระมหาอุทัย ปภสฺสโร, ปธ. 4) พ.ศ. 2499-2538
  • พระครูมงคลชัยคุณ (พระสมชาย กลฺยาโณ) พ.ศ. 2538-2543)
  • พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ (พระจตุรงค์ ญาณุตฺตโม) พ.ศ. 2543-ปัจจุบัน 2553)[6]

ผลงาน[แก้]

เสด็จราชการทัพศึกฮ่อ[แก้]

ขอตั้งเมืองชานุมานมลฑลและเมืองพนานิคม[แก้]

รวบรวมตำนานเมืองจำปาศักดิ์[แก้]

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ทรงเป็นเจ้านายลาวพระองค์หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการค้นคว้า และรวบรวมตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ร่วมกันกับเจ้าราชวงษ์ผู้เป็นเจ้านายลาวจากนครจำปาศักดิ์ ตำนานนี้ถูกรวบรวมไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 70 เรียกว่า ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ และเจ้าราชวงศ์ ดังปรากฏความในตอนต้นของตำนานว่า

...วัน 4 เดือน 6 ขึ้นค่ำ 3 ปีระกาตรีศกศักราช 1223 ตรงกับปีคฤสตศักราช 1861 เป็นปีที่ 11 ในรัชชกาลที่ 4 ในพระบรมราชวงศ์อันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธสมมติเทพยพงศ์วงศาดิศวรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมราชมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรเมธรรหิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ 4 ในพระบรมราชวงศ์อันนี้ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระอาลักษณ์ และเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์เจ้าเมืองอุบลราชธานี และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์เก่า ซึ่งเป็นโทษต้องถอดออกนอกราชการค้างอยู่นานในกรุงเทพมหานคร มารวบรวมพงศาวดารเก่าของเมืองนครจำปาศักดิ์ และรวบรวมจดหมายเหตุเก่าใหม่มีใน 4 แผ่นดินมาเลือกเอาความตามสมควร แล้วเรียงเรื่องพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกเอกอุดมลงไว้ เพื่อจะให้ผู้อ่านได้ทราบความเดิม ตามเหตุที่มีจริงเป็นจริงดังจะกล่าวไปนี้...

ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับนี้ ได้ถูกนำมาอ้างอิงทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลาวและประวัติศาสตร์อีสานอยู่บ่อยครั้งในวงการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน[7]

ถึงแก่อสัญกรรมและการพระราชทานเพลิง[แก้]

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ทรงป่วยเป็นอหิวาตกโรค มาแต่วันอังคาร เดือนหก ขึ้น 2 ค่ำ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. 2429) ได้หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาอาหารหาคลายไม่ ครั้น ณ วันพูธ เดือนหก ขึ้น 3 ค่ำ ปีจอ อัฐศก (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2429) เวลาเช้าสี่โมงเศษ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมในกรุงเทพ อายุ 61 ปี โดยเจ้าพนักงานได้นำศพไปฝังไว้ตามสมควร เวลาล่วงมาถึง 21 ปี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส [8] พร้อมกับพระศพของพระขนิษฐภคินีคือ เจ้าจอมมารดาดวงคำ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ครั้นในวันถัดมา ณ วันที่ 2 มีนาคม ร.ศ. 126 ภายหลังจากพิธีเก็บอัฐิเจ้าจอมมารดาดวงคำแล้ว เจ้าพนักงานจึงได้ชักศพเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ขึ้นตั้งในเมรุ ประกอบหีบทองทึบ งานมโหรศพคงมีอย่างวันก่อน เวลาบ่ายพระราชทานเพลิง พระราชทานผ้าไตร 5 ไตร ผ้าขาวพับ 10 พับ กัลปพฤกษ์ 2 ต้น ต้นละ 20 บาท กับดอกไม้เพลิง และหนัง วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า เจ้าพนักงานดับเพลิงแปรรูปเก็บอัฐิแล้ว เป็นเสร็จการ ฯ

อนุสรณ์[แก้]

จังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งชื่อถนนสายหนึ่งว่า ถนนพรหมเทพ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระนามและคุณงามความดีของพระองค์

เกี่ยวกับนามสกุล[แก้]

สกุลพรหมโมบล[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสกุลแก่ทายาทใกล้ชิดของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ว่า พรหโมบล เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Brahmopala ลำดับเลขทะเบียนพระราชทานนามสกุลที่ 1404 ทรงพระราชทานแก่หลวงบุเรศผดุงกิจ (รวย) ปลัดกรมกองตระเวณ เป็นหลานเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ เมืองอุบลราชธานี 27/4/14 [9] อนึ่ง หลวงบุเรศผดุงกิจ (รวย) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พันตำรวจเอก พระยาบุเรศผดุงกิจ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นบุตรของนายขำ เป็นพระนัดดาในเจ้าหญิงหนูจีน เจ้าหญิงหนูจีนเป็นพี่น้องกับเจ้าเสือพระบิดาในเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (หน่อคำ) เจ้าหญิงหนูจีนและเจ้าเสือเป็นพระราชธิดาและพระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ดังนั้น พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) จึงมีศักดิ์เป็นหลานยายในเจ้าหญิงหนูจีน และมีศักดิ์เป็นหลานตาในเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (หน่อคำ) ผู้ถือว่าเป็นต้นสกุล

สกุลเทวานุเคราะห์[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสกุลแก่ทายาทใกล้ชิดของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ว่า เทวานุเคราะห์ เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Devanugrah ลำดับเลขทะเบียนพระราชทานนามสกุลที่ 3/6435 ทรงพระราชทานแก่นายจันทร์แพ บุตรชายเจ้าจันทร์โสม (จันทร์โฉม) ลำดับอักษร ท ที่ 24 พระราชทานเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471[10] อนึ่ง เจ้าจันทร์โสมเคยได้รับการสถาปนาเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า เจ้าจอมมารดาจันทร์โฉม และมีพระราชธิดา 1 พระองค์ คือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม ต่อมาเจ้าจอมมารดาจันทร์โฉมได้สมรสใหม่และมีบุตรชายคือนายจันทร์แพ เจ้าจอมมารดาจันทร์โฉมเป็นพี่น้องกับเจ้าเสือพระบิดาของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (หน่อคำ) ทั้ง 2 พระองค์เป็นพระราชธิดาและพระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ดังนั้น นายจันทร์แพ จึงมีศักดิ์เป็นหลานลุงในเจ้าเสือ และมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง (น้องชาย) ในเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (หน่อคำ) ผู้ถือว่าเป็นต้นสกุล

สกุลพรหมเทพ[แก้]

ก่อนหน้า เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ถัดไป
พระพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฏ)
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
(พ.ศ. 2409 - พ.ศ. 2425)
หลวงจินดารัตน์

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-15. สืบค้นเมื่อ 2010-05-08.
  2. บำเพ็ญ ณ อุบล และคณะ. อุบลราชธานี 200 ปี. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์. 2535.
  3. หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร). พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ : ตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาค 4. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ม.ป.ป..
  4. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. เรื่อง ทรงตั้งเจ้าประเทศราช กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. ม.ป.ท. : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2514. น. 5-7.
  5. เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546. น. 111.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-10. สืบค้นเมื่อ 2016-07-29.
  7. https://th.wikisource.org/wiki/%[ลิงก์เสีย]
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  9. https://sites.google.com/site/thailandsurname/home/-ph-1
  10. กรมศิลปากร. นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : เดือนตุลา. 2554. น. 55