เคออสไอแลนด์: เดอะ ลอสต์ เวิล์ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เคออสไอแลนด์: เดอะ ลอสต์ เวิล์ด
ผู้พัฒนาดรีมเวิกส์อินเตอร์แอกทีฟ
ผู้จัดจำหน่ายดรีมเวิกส์อินเตอร์แอกทีฟ
อำนวยการผลิตเดนิส ฟุลตัน
ออกแบบโนอาห์ ฟอลสไตน์
โปรแกรมเมอร์สตีเวน เฮิร์นดอน
ศิลปินนิโคลัส ดีโซมอฟ
เขียนบทแดนนี ฮาร์ติแกน
ทิม เวด
แต่งเพลงไมเคิล จีอาคีโน
ชุดจูราสสิค พาร์ค
เครื่องเล่นไมโครซอฟท์ วินโดวส์
วางจำหน่าย
แนววางแผนเวลาจริง
รูปแบบ

เคออสไอแลนด์: เดอะ ลอสต์ เวิล์ด (อังกฤษ: Chaos Island: The Lost World) หรือที่รู้จักในชื่อ เคออสไอแลนด์ (อังกฤษ: Chaos Island) และ เคออสไอแลนด์: เดอะ ลอสต์ เวิล์ด: จูราสสิค พาร์ค (อังกฤษ: Chaos Island: The Lost World: Jurassic Park) เป็นวิดีโอเกมวางแผนเวลาจริงสำหรับพีซี ซึ่งพัฒนาและเผยแพร่โดยบริษัทดรีมเวิกส์อินเตอร์แอกทีฟ และอิงจากภาพยนตร์ ค.ศ. 1997 เรื่องเดอะ ลอสต์ เวิล์ด จูราสสิค พาร์ค[1] ซึ่งเกมเคออสไอแลนด์ได้รับการวางจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1997[2] โดยในเกมเคออสไอแลนด์ ผู้เล่นจะควบคุมตัวละครที่แสดงบนแผนที่, กำกับทิศทางที่พวกเขาเคลื่อนที่ด้วยเมาส์ และสั่งการด้วยเมาส์หรือจากเมนู

โครงเรื่อง[แก้]

เกมนี้มีตัวละครหกตัวจากภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยแต่ละตัวให้เสียงโดยนักแสดงที่รับบทในภาพยนตร์ ได้แก่ ดร.เอียน มัลคอล์ม (เจฟฟ์ โกลด์บลุม), ดร.ซาราห์ ฮาร์ดิง (จูเลียน มัวร์), นิก แวน โอเวน (วินซ์ วอห์น), เอ็ดดี คาร์ (ริชาร์ด ชิฟ), เคลลี เคอร์ติส (วาเนสซา ลี เชสเตอร์) และจอห์น แฮมมอนด์ (ริชาร์ด แอตเทนโบโร)[3] โดยช่วงต้นเกม มัลคอล์ม, แวน โอเวน และคาร์ อยู่ที่อิสลา นูบลาร์ (เกาะที่จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ ปรากฏขึ้น) ซึ่งพวกเขาได้นัดพบกับฮาร์ดิง และรับซีรัมดีเอ็นเอที่ใช้ควบคุมไดโนเสาร์ที่พวกมันฟักออกมา จากนั้นเรือบรรทุกสินค้าก็พาพวกเขาไปที่อิสลา ซอร์นา (ที่ซึ่งเดอะ ลอสต์ เวิล์ด จูราสสิค พาร์ค ปรากฏขึ้น) และพังครืนที่นั่นท่ามกลางพายุลูกหนึ่ง

ภารกิจในอนาคตส่วนใหญ่จะใช้ในการต่อสู้กับนักล่า[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งอยู่บนเกาะเพื่อจับไดโนเสาร์และพาพวกมันไปที่สวนสนุก[4] เหล่านักล่าเป็นศัตรูกับตัวละครที่เล่นได้ และจะโจมตีพวกเขาด้วยการเดินเท้า, โดยใช้รถจี๊ป และรถถังในเลเวลต่อมา ในภารกิจหนึ่ง ตัวละครจะต้องปลดปล่อยลูกที. เรกซ์ และไดโนเสาร์ที่ถูกจับตัวอื่น ๆ ออกจากค่ายของเหล่านักล่า จากนั้นในภารกิจต่อไป ก็นำมันกลับไปที่รังของมัน และปลดปล่อยแม่ของมันที่ถูกจับโดยนักล่า

ต่อมาในเกม เหล่านักล่าจะระเบิดเครื่องส่งการสื่อสารของเหล่าตัวละครที่เล่นได้ เหล่าตัวละครไปที่อินเจนคอมมูนิเคชันส์เซ็นเตอร์ (เช่นเดียวกับในภาพยนตร์) เพื่อติดต่อความช่วยเหลือ ในด่านสุดท้ายของเกม ตัวละครทั้งหมดจะต้องเดินทางไปยังลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยชีวิต หากภารกิจเหล่านี้เสร็จสิ้น ภารกิจโบนัสจะเปิดขึ้นโดยที่ผู้เล่นสามารถเล่นเป็นแม่ของที. เรกซ์ ในแซนดีเอโกระหว่างทางไปยังเรือบรรทุกสินค้าที่มีลูกของมันอยู่ และต่อสู้กับเหล่านักล่าระหว่างทาง

รูปแบบการเล่น[แก้]

เฉพาะมัลคอล์ม, แวน โอเวน, คาร์ และ "ผู้ช่วยวิจัย" เท่านั้นที่มีให้ตั้งแต่เริ่ม ส่วนฮาร์ดิง และเคอร์ติส สามารถเล่นในเกมได้ในไม่ช้า ผู้เล่นสามารถมีผู้ช่วยวิจัยได้มากกว่าหนึ่งคน ตัวละครแต่ละตัวมีระดับความเร็ว, สายตา (ใช้สำหรับเปิดเผยหมอกสงคราม) และจำนวนเสบียงที่บรรทุกได้ในคราวเดียว[ต้องการอ้างอิง] ตัวละครแต่ละตัวสามารถพกปืนที่สามารถใช้ปะทะกับไดโนเสาร์และนักล่า[4] ตัวละครแต่ละตัวมีค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งแต้มเมื่อเลือกใช้ในด่านหนึ่ง โดยมีแต้มจำนวนจำกัดที่สามารถใช้ได้ก่อนด่านเริ่มต้น แต่เมื่อรวบรวมเสบียง สามารถใช้แต้มเพื่อนำตัวละครเข้ามาระหว่างด่าน ส่วนแฮมมอนด์ปรากฏในฉากคัตซีนระหว่างด่าน

เกมดังกล่าวประกอบด้วยระดับความยากสามระดับและ 12 ภารกิจ[3] ยกเว้นระดับง่าย ซึ่งสองภารกิจสุดท้ายจะถูกยกเลิก[ต้องการอ้างอิง] ในแต่ละภารกิจ ผู้เล่นจะต้องสร้างค่ายฐาน ซึ่งสามารถใช้สำหรับรวบรวมเสบียงและไข่ไดโนเสาร์[1] ตัวละครใด ๆ สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้าง พวกเขาสามารถรวบรวมเสบียงที่สามารถพบได้บนแผนที่ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่สามารถสร้างได้ ได้แก่ ที่กำบังสำหรับรักษาตัวละคร (ที่พักพิง และที่กำบังมั่นคงซึ่งรักษาได้เร็วกว่า) รังสำหรับฟักไข่ไดโนเสาร์ที่เป็นมิตร (รังประดิษฐ์ และตู้ฟักไข่ที่ฟักไข่ได้เร็วกว่า) ที่ซ่อนสูงซึ่งปกป้องเหล่าตัวละคร[ต้องการอ้างอิง] และอาคารที่สามารถใช้แต้มเพื่ออัปเกรดความเร็ว, ความสามารถในการมองเห็น และการป้องกันของตัวละคร[1]

เนื้อเรื่องของเกมยังต้องการให้ตัวละครขยายพันธุ์และฝึกทีมไดโนเสาร์ต่อสู้ที่สามารถใช้ปะทะกับศัตรูได้[1][5][6] มีไดโนเสาร์แปดสายพันธุ์จากภาพยนตร์ ประกอบด้วย พาราซอโรโลฟัส, คอมป์ซอกนาทัส, แพคิเซอฟาโลซอรัส, ไดโลโฟซอรัส, สเตโกซอรัส, วิลอซิแรปเตอร์, ไทรเซราทอปส์ และไทแรนโนซอรัส เกมนี้เริ่มต้นด้วยเพียงสองสายพันธุ์แรก โดยมีไดโนเสาร์ที่แข็งแกร่งกว่าปรากฏในภารกิจต่อมา ไดโนเสาร์ป่าทั้งหมด (ซึ่งสวมปลอกคอสีขาว) มักเป็นศัตรูกับทั้งเหล่าตัวละครและเหล่านักล่า อย่างไรก็ตาม เกมดังกล่าวมีรังไดโนเสาร์พร้อมไข่ ซึ่งบรรดาตัวละครสามารถรวบรวมและฟักออกมาได้ โดยให้กำเนิดไดโนเสาร์สวมปลอกคอสีน้ำเงินซึ่งผู้เล่นสามารถควบคุมได้

ไดโนเสาร์ที่กินพืชเป็นอาหารสามารถเติมเต็มสุขภาพของพวกมันได้โดยการกินพืช ในขณะที่ไดโนเสาร์กินเนื้อทำได้โดยการกินนักล่าหรือไดโนเสาร์ตัวอื่น ๆ ในสามภารกิจสุดท้าย นักล่าจะสามารถฟักไข่ไดโนเสาร์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสวมปลอกคอสีแดงและเป็นปฏิปักษ์กับผู้เล่น นอกจากนี้ มีบางสถานการณ์ที่ไดโนเสาร์ป่าสามารถล่อหรือเป็นเหยื่อล่อให้นักล่าต่อสู้ได้ เนื่องจากพวกมันมักจะโจมตีตัวละครที่อยู่ใกล้เคียงทั้งสองด้าน โดยบางครั้งนักล่าก็ยั่วยุพวกมันด้วย

การพัฒนา[แก้]

โนอาห์ ฟอลสไตน์ เป็นหัวหน้านักออกแบบของเคออสไอแลนด์ ซึ่งฟอลสไตน์ถือว่าเคออสไอแลนด์เป็นแนวคิดที่ท้าทาย โดยเป็นเกมวางแผนแบบเรียลไทม์ที่มุ่งเป้าไปที่เด็กอายุระหว่าง 8 ถึง 12 ปี[7] เคออสไอแลนด์ได้รับการเปิดตัวที่งานอิเล็กทรอนิกเอ็นเตอร์เทนเมนต์เอ็กซ์โป (E3) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1997[8]

เมื่อการผลิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ทีมพัฒนาเลือกที่จะเริ่มเพิ่มด่านสุดท้ายพิเศษให้แก่เกมนี้เพียงไม่กี่เดือนก่อนการเปิดตัว ฟอลสไตน์ตั้งข้อสังเกตว่าเกมนี้ค่อนข้างไม่ค่อยมีใครรู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากมีการสั่งซื้อล่วงหน้า 200,000 ชุดของเกม – ซึ่งมีไว้สำหรับการจำหน่ายในทวีปยุโรป – ที่ถูกปฏิเสธโดยบริษัทดรีมเวิกส์[7] ส่วนเกมเอนจินที่ใช้สำหรับเคออสไอแลนด์ได้รับการอัปเดตและนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับสมอลโซลเจอร์สควอดคอมมานเดอร์ ซึ่งเป็นเกมวางแผนแบบเรียลไทม์ที่ได้รับการเปิดตัวใน ค.ศ. 1998[9]

การตอบรับ[แก้]

ซินดี แยนส์ จากคอมพิวเตอร์เกมส์แมกกาซีนให้คะแนนเกมนี้ที่สามดาวจากห้าดาว และเขียนว่าเกมดังกล่าว "มีรูปลักษณ์และความรู้สึกของคอมมานด์ & คองเคอร์ ดั้งเดิม" แม้ว่าเธอจะสังเกตเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่สมบูรณ์แบบ แยนส์เขียนว่าผู้เล่นที่มีประสบการณ์ด้านวางแผนเวลาจริงแบบจำกัดจะเพลิดเพลินไปกับภารกิจมินิของเกม แยนส์ตั้งข้อสังเกตว่านักแสดงของภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เสียงของพวกเขา "ในจำนวนไบต์เสียงที่ซ้ำซากจำเจระหว่างการเล่นภารกิจในจำนวนจำกัด... ซึ่งมีอารมณ์ขันอยู่บ้าง [...] อย่างไรก็ตาม ในการบรรยายสรุประหว่างภารกิจ การปรากฏตัวของนักแสดงนั้นยอมรับง่ายกว่ามาก และเป็นเรื่องที่ดีที่ได้ยินเจฟฟ์ โกลด์บลุม สอนเราเกี่ยวกับภารกิจที่จะเกิดขึ้น"[3]

เดวิด ลาพราด จากเว็บไซต์อะดรีนาลีนวอลต์ให้เกมนี้ได้สองดาวจากห้าดาว และรู้สึกประหลาดใจที่นักแสดงในภาพยนตร์บางคน "เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์คุณภาพต่ำเช่นนี้" โดยเขียนว่านักแสดงโดยทั่วไปมี "สายงานน้อยมาก ซึ่งใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพน้อยลงไปอีก ดังนั้น นักพากย์จึงไม่เพิ่มอะไรให้แก่ผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการกล่าวแจ้งภายนอกกล่องที่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มยอดขาย" ลาพราดกล่าวว่าเกมดังกล่าวมีรูปลักษณ์ที่ล้าสมัยเมื่อเทียบกับเกมอื่น ๆ ที่วางจำหน่ายในขณะนั้น และติเตียนตัวละครบางตัวที่มีภาพเคลื่อนไหวขนาดเล็กมากว่า "เป็นไปไม่ได้ที่จะระบุได้ชัดเจนว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งระหว่างการเล่นเกม" ลาพราดติเตียนเลเวลเริ่มต้นของเกมว่า "ไม่มีอะไรมากไปกว่าการฝึกภารกิจที่แนะนำผู้เล่นให้รู้จักองค์ประกอบพื้นฐานของการเล่นเกม" และเขียนว่า "ด้านนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เกมน่าเล่น" ลาพราดยังติเตียนภารกิจที่ดูเหมือน "ไร้จุดหมาย" และการขาดโหมดผู้เล่นหลายคน และเขียนว่า "ความข้องใจหลักของผมคือเกมนี้น่าเบื่อ"[1]

ลาพราดเขียนว่าเกมนี้ "ทำผิดพลาดร้ายแรง [...] โดยไม่ให้คีย์ลัดสำหรับการกำหนดหน่วยหรือกลุ่มของหน่วยและเรียกพวกเขาขึ้นมาทันที ไม่มีเกมวางแผนเวลาจริงที่น่านับถือที่ทำผิดพลาดแบบนี้" ลาพราดยังติเตียนเกมดังกล่าวสำหรับ "บั๊กที่น่าผิดหวังอย่างหนึ่งที่สามารถทำลายความคืบหน้าของผู้เล่นในภารกิจได้" ซึ่งสมาชิกในทีมที่ไม่อยู่ในจุดเซฟมักจะถูกแยกออกจากเลเวลเมื่อโหลดใหม่ รวมถึงติเตียนเอฟเฟกต์เสียงที่ "เชย" ของเกมว่า "ไม่ซิงค์กันอย่างผิดคาดหมาย" และกล่าว่า "ไม่ค่อยสื่อถึงเหตุการณ์ที่พวกเขาตั้งใจจะแสดงให้เห็น" ตลอดจนติเตียนดนตรีออร์เคสตราของเกมนี้ แม้ว่าลาพราดจะชื่นชมการควบคุมของเกมและตัวละครที่ตอบสนองได้ดี แต่เขาสรุปว่า "เคออสไอแลนด์เป็นวิดีโอเกมวางแผนเวลาจริงซ่อมเสริม ซึ่งมีความลุ่มลึกเพียงเล็กน้อยในรูปแบบการเล่นที่ไม่ต้องการมากและเรียบง่าย"[1]

อย่างไรก็ตาม นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลีให้คะแนน "A−" และระบุว่าไม่สับสนเหมือนเกมวางแผนอื่น ๆ[10] ส่วนทาห์ซิน แชมมา จากนิตยสารคอมพิวเตอร์เกมมิงเวิลด์ชื่นชมกราฟิกและรูปแบบการเล่นแบบเรียลไทม์ และระบุว่าแม้ว่าเกมนี้จะ "ไม่ซับซ้อน" เหมือนเกมเรียลไทม์ตามภารกิจอื่น ๆ แต่ "เกมนี้สนุกมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้"[11] และริชาร์ด มัวร์ เขียนให้แก่ดิเอจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของออสเครเลีย โดยระบุถึงเคออสไอแลนด์ว่า "เป็นเกมที่ดี" สำหรับเด็ก และระบุว่า "กราฟิกไม่ดีมาก แต่ก็สนุก และต้องใช้สมอง" ซึ่งในระดับห้าดาว มัวร์ได้ให้คะแนนกราฟิกและเสียงของเกมนี้ที่สองดาว ขณะที่ให้ความสามารถในการเล่นที่สามดาว[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Laprad, David (November 11, 1997). "Chaos Island". The Adrenaline Vault. pp. 1–2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 2, 2000.
  2. "Copyright information for Chaos Island". United States Copyright Office. 1997. สืบค้นเมื่อ September 5, 2015.
  3. 3.0 3.1 3.2 Yans, Cindy (January 29, 1998). "Command & Conquer Lite, you know...for kids". Computer Games Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 4, 2003.
  4. 4.0 4.1 4.2 Moore, Richard (May 21, 1998). "Chaos Island". The Age. สืบค้นเมื่อ December 20, 2016.
  5. Glover, Anne (December 13, 1997). "Fossils, Rocks and Dinosaurs". The Sydney Morning Herald. สืบค้นเมื่อ December 20, 2016.
  6. "DreamWorks Interactive - Chaos Island". DreamWorksGames.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 21, 1997.
  7. 7.0 7.1 "Past Projects". The Inspiracy. สืบค้นเมื่อ September 25, 2016.
  8. "E3: a whiz-bang preview of next year's digital thrills". CNN. June 21, 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2000.
  9. Ragals, Dave (June 11, 1998). "Lights, Camera, Interaction!". CNN. สืบค้นเมื่อ September 25, 2016.
  10. "New Videogames of 12/19/1997: Frogger and Ariel's Story Studio". Entertainment Weekly. สืบค้นเมื่อ May 28, 2020.
  11. Shamma, Tahsin (March 1998). "This Just In". Computer Gaming World. pp. 40–41. สืบค้นเมื่อ September 6, 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]