ข้ามไปเนื้อหา

เครย์ฟิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครย์ฟิช
Temporal range: Triassic–recent
Northern kōura, Paranephrops planifrons (Parastacidae)
Northern kōura, Paranephrops planifrons (Parastacidae)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์Edit this classification
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
Crustacea
ชั้น: Malacostraca
Malacostraca
อันดับ: Decapoda
Decapoda
อันดับย่อย: Pleocyemata
Pleocyemata
ไม่ได้จัดลำดับ: Reptantia
Reptantia
อันดับฐาน: Astacidea
Astacidea
วงศ์ใหญ่และวงศ์
Astacoidea
Parastacoidea

สำหรับเครย์ฟิชที่พบในทะเล ดูที่: ล็อบสเตอร์ และกุ้งมังกร

เครย์ฟิช หรือ หรือ ล็อบสเตอร์น้ำจืด (อังกฤษ: Crayfish, Crawfish, Freshwater lobster,[1] Crawdad,[2] Mudbug,[2] Freshwater yabby) เป็นกุ้งน้ำจืดจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างโดยรวมลำตัวใหญ่ เปลือกหนา ก้ามใหญ่แลดูแข็งแรง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง เช่น อีเรียนจายา และเอเชียตะวันออก ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานเครย์ฟิชไปแล้วกว่า 500 ชนิด ซึ่งกว่าครึ่งนั้นเป็นเครย์ฟิชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยชนิดที่ยังไม่ได้รับการอนุกรมวิธาน อีกทั้งหลายชนิดยังมีความหลากหลายทางสีสันมากอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทยไม่มีกุ้งในลักษณะเครย์ฟิช ซึ่งกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่สุดที่พบในประเทศไทย คือ กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) ซึ่งในลักษณะกุ้งก้ามกรามนี้ ไม่จัดว่าเป็นเครย์ฟิช

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำว่า "เครย์ฟิช" (crayfish) มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณคำว่า escrevisse (ฝรั่งเศส écrevisse)[3] เป็นที่มาของคำว่า "เครย์ฟิช" โดยรวมกับคำว่า "ปลา" (fish) (รากศัพท์พื้นบ้าน)[3] ชาวอเมริกันใช้คำว่า "ครอว์ฟิช" (crawfish) ในความหมายอย่างเดียวกัน[3]

โครงสร้างของร่างกาย

[แก้]

ร่างกายเครย์ฟิชนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนกลาง หรือ ทอแร็ก คือส่วนที่มีขาใช้สำหรับเดิน ส่วนสุดท้ายคือ ส่วนท้องซึ่งเป็นส่วนที่มีเนื้อเยอะมากที่สุด ซึ่งส่วนหัวกับส่วนกลางนั้นเชื่อมติดรวมกันเป็นชิ้นเดียว เรียกว่า เซฟาโลทอแร็ก (ข้อมูลบางแหล่งอาจระบุว่าเครย์ฟิชนั้นมีลำตัวเพียง 2 ส่วนก็ได้) ทั้งตัวนั้นจะถูกหุ้มด้วยเปลือก หรือ คาราเพซ ซึ่งทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ใช้สำหรับปกป้องลำตัว และเป็นที่ตั้งของอวัยวะหายใจ คือ เหงือกที่มีลักษณะคล้ายขนนกอยู่ใกล้บริเวณปาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบหายใจ คือเป็นทางผ่างของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือกนั่นเอง

ในส่วนของขานั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ขาเดิน ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 คู่ โดยคู่แรกนั้นถูกพัฒนาจนกลายเป็นก้าม ใช้สำหรับหยิบจับอาหารและใช้ต่อสู้ และ ขาว่ายน้ำ จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ มีไว้สำหรับโบกน้ำที่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อหายใจ รวมทั้งโบกพัดแพลงก์ตอนเข้าหาตัวเพื่อกินเป็นอาหารอีก ในเครย์ฟิชตัวเมีย ขาว่ายน้ำยังใช้เป็นที่อุ้มไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิอีกแล้วต่างหาก[4]

Procambarus clarkii ตัวเมียพร้อมกับไข่เต็มท้อง
Cherax sp. "zebra" ในตู้เลี้ยง
Procambarus clarkii ในตู้เลี้ยง

การแบ่งวงศ์และสกุล

[แก้]

เครย์ฟิชนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ใหญ่ ๆ คือ Astacoidea ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป สามารถแบ่งเป็นวงศ์ย่อยได้อีก 2 วงศ์คือ Astacidae และ Cambaridae โดยเครย์ฟิชชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงศ์นี้คือ Procambarus clarkii โดยรวมแล้วเครย์ฟิชในวงศ์นี้ มีรูปร่างใหญ่ ไม่มีกรี มีลักษณะเด่นคือ ก้ามมีหนาม ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร และวงศ์ใหญ่ Parastacoidea ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคโอเชียเนียและอีเรียน จายา เครย์ฟิชในวงศ์นี้ก้ามจะไม่มีหนาม และลักษณะของก้ามจะป่องออกต่างไปจากวงศ์ Astacoidea แต่มีที่หนีบสั้นและเล็กกว่า ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30–40 เซนติเมตร ชนิดของเครย์ฟิชในวงศ์นี้ที่เป็นที่รู้จัก คือ Cherax quadricarinatus[4]

การแบ่งเพศและวงจรชีวิต

[แก้]

เครย์ฟิชนั้นในธรรมชาติจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่มีลักษณะน้ำใสสะอาด มีออกซิเจนสูง โดยจะซ่อนตัวอยู่ตามขอนไม้หรือหินใต้น้ำ เป็นสัตว์ที่กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งซากพืชซากสัตว์ด้วย ออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะไม่หากินทุกวัน แต่จะเว้นระยะไปราว 1–2 วัน จึงออกหากินอีกครั้ง มีอาณาเขตของตัวเองประมาณ 40 เซนติเมตร

เครย์ฟิชในวัยเล็กจะมีระยะการลอกคราบบ่อยกว่าตัวที่โตแล้ว โดยจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่หนึ่งครั้งต่อหนึ่งเดือน เมื่ออายุได้ 1 ปี การลอกคราบจะเหลือเพียงปีละครั้งเท่านั้น การลอกคราบแต่ละครั้งใช้เวลานานราว 2–3 วัน กว่าเปลือกใหม่ที่ได้นั้นจะแข็งแรงเท่าเดิม ในบางครั้งอาจมีพฤติกรรมกินเปลือกตัวเองที่ลอกออกหรือของตัวอื่นก็ได้ เพราะร่างกายของเครย์ฟิชในช่วงลอกคราบต้องการแคลเซี่ยมเพื่อสร้างเปลือกใหม่ให้แข็งแรง

การจำแนกเพศนั้น ในวงศ์ Astacoidea เครย์ฟิชตัวผู้จะมีอวัยวะคล้ายตะขออยู่บริเวณขาเดินคู่ที่ 2 และ 3 ใช้สำหรับเกาะเกี่ยวตัวเมียในการผสมพันธุ์ และจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า ปาปิลเล บริเวณโคนขาคู่สุดท้าย ส่วนตัวเมียจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า แอนนูลลัส เวนทราลิส ลักษณะเป็นแผ่นวงรีสีขาว ขนาดประมาณ 1–2 มิลลิเมตร บริเวณขาเดินคู่ที่ 3 นอกจากนี้แล้วในตัวผู้ขาว่ายน้ำคู่แรกและคู่ที่ 2 จะถูกพัฒนาเป็นแขนเล็ก ๆ เรียกว่า เพทาสมา สำหรับผ่านน้ำเชื้อไปยังตัวเมียอีกด้วย

แต่ร่างกายโดยรวมแล้ว เครย์ฟิชตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งก้ามที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า

ส่วนในวงศ์ Parastacoidea นั้น ตัวผู้จะมีอวัยวะเป็นรูปวงรีบริเวณโคนขาคู่ที่ 3 ซึ่งตัวเมียไม่มี และอวัยวะส่วนนี้จะแตกต่างไปจากในวงศ์ Astacoidea[4]

การผสมพันธุ์นั้น เครย์ฟิชตัวผู้จะประกบตัวเมียจากด้านหลัง และพลิกท้องตัวเมียให้หงายแล้วตัวผู้จะเข้าประกบโดยใช้อวัยวะที่คล้ายตะขอนั้นจับตัวเมียในลักษณะท้องชนท้อง หันหัวไปในทางเดียวกัน ตัวผู้จะส่งผ่านถุงน้ำเชื้อไปปะติดไว้กับท้องของตัวเมีย ซึ่งพฤติกรรมนี้เครย์ฟิชในวงศ์ Astacoidea จะใช้เวลานานราว 10 นาที ขณะที่ในสกุล Cherax ในวงศ์ Parastacidae กินเวลาเพียง 1–2 นาที เท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิจากน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลาราว 3–4 สัปดาห์ โดยตัวเมียจะอุ้มไข่ไว้ในช่องท้อง ไข่มีลักษณะวงกลมสีดำคล้ายเมล็ดพริกไทยดำ ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้งอาจได้ลูกเครย์ฟิชมากถึง 300 ตัว ซึ่งเครย์ฟิชในวัยเล็กจะยังอาศัยอยู่กับแม่ โดยกินเศษอาหารที่แม่กินเหลือ เมื่อโตขึ้นจึงค่อยแยกจากไป[4]

เครย์ฟิชที่ถูกทำเป็นอาหารในรัฐลุยเซียนา

การกำเนิด

[แก้]

หลักฐานของซากดึกดำบรรพ์ของเครย์ฟิชมีมาอย่างยาวนานมากกว่า 30 ล้านปี ล้วนแต่เป็นของหายาก แต่โพรงซากดึกดำบรรพ์มีการตรวจพบจากชั้นหินเก่าแก่จากยุคปลายพาเลโอโซอิกหรือต้นยุคมีโซโซอิก[5] หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของวงศ์ Parastacidae พบในออสเตรเลียมีความเก่าแก่กว่า 115 ล้านปี[6]

เครย์ฟิชกับมนุษย์

[แก้]

เครย์ฟิชมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาแต่อดีต โดยใช้เป็นอาหารมานาน สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย โดยมักเป็นอาหารราคาแพงในภัตตาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครย์ฟิชในชนิด Cherax quadricarinatus มีการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงเป็นการเกษตรกรรมในประเทศออสเตรเลียด้วย สำหรับในประเทศไทย มีการเพาะเลี้ยงกันที่โครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการนำเข้ามาจากออสเตรเลีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548[7]

นอกจากนี้แล้วในปัจจุบัน ยังมีการนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลาเป็นสัตว์น้ำสวยงามอีกด้วย ทั้งวงศ์ Astacoidea และวงศ์ Parastacoidea โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนิด Procambarus clarkii ที่มีรูปร่างดูบึกบึน แข็งแกร่ง มีการพัฒนาสายพันธุ์จนมีสีสันที่หลากหลาย จากเดิมที่สีตามธรรมชาติ คือ สีแดง กลายมามีสีที่หลากหลาย เช่น สีฟ้า, สีน้ำเงิน, สีน้ำเงินเข้ม, สีขาว หรือ สีส้มและ สีแดงเข้ม เป็นต้น ซึ่งสำหรับในประเทศไทย เครย์ฟิชชนิดนี้มีการเลี้ยงกันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในชื่อของ "กุ้งแดง" หรือ "กุ้งญี่ปุ่น" สำหรับในตัวที่มีสีสันหลากหลายออกไปตามที่ได้กล่าวมา ก็เรียกชื่อต่าง ๆ กันไปตามสี เช่น "ไบร์ออเรนจ์", "อิเล็คทริคบลู", "กุ้งฟ้า" หรือ "สโนว์ไวท์" เป็นต้น และต่อมาได้มีการนำเครย์ฟิชชนิด P. clarkii แพทเทิร์นสีแบบ "โกสต์" มาผสมกับแพทเทิร์นสี แบบ "ไบรท์" (สีส้ม) จนเกิดเป็น "โกสต์ส้ม" โดยนักพัฒนาสายพันธุ์กุ้งชาวไทย ซึ่งทำให้นักเพาะกุ้งต่างประเทศ ให้ความสนใจกันมาก และ ในปัจจุบัน เครย์ฟิชชนิด P. clarkii แพทเทิร์นสีต่าง ๆ เพิ่มมามากขึ้นมาเรื่อย ๆ และ มีชื่อการค้าที่แตกต่างกันไป เช่น "วัว", "ด่าง", "ตันโจ" และกลายเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในต้นปี พ.ศ. 2560 มีการซื้อขายเครย์ฟิชโกสต์ด่างวัวตัวหนึ่งที่จังหวัดนครปฐมด้วยราคาสูงถึงหนึ่งล้านบาท[8]

สำหรับในวงศ์ Parastacoidea สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันก็ได้แก่ Cherax quadricarinatus และ C. tenuimanus เพราะมีสีสันที่หลากหลายในตัวเดียวกัน ทั้งสีฟ้า, สีน้ำตาลอมเขียว หรือ สีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น ในประเทศไทยนิยมเรียกว่า "กุ้งเรนโบว์" และชนิด C. sp. "zebra" ซึ่งเป็นชนิดที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อสายพันธุ์ มีสีสันลำตัวที่สวยงาม มีสีดำเป็นเงาสลับกับลายปล้องสีขาวอมส้ม ก้ามสีขาว ในบางตัวอาจมีก้ามสีน้ำเงินหรือสีม่วงสวยงาม ซึ่งนิยมเรียกว่า "กุ้งม้าลาย" หรือ "กุ้งซีบร้า"[4] และจากความนิยมที่พุ่งขึ้นสูงนี้ทำให้เครย์ฟิชกลายมาเป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเอเลียนสปีชีส์ ทำให้ในกลางปี พ.ศ. 2560 กรมประมงได้สั่งห้ามนำเข้าเครย์ฟิชทุกชนิด และผู้ที่เพาะเลี้ยงทุกรายต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับถึง 1–2 ล้านบาท

นอกจากนี้แล้ว ในโรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของสาธารณรัฐเช็ก ได้ใช้เครย์ฟิชเป็นตัววัดคุณน้ำธรรมชาติจากแหล่งธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตเบียร์ โดยใช้เครื่องอินฟาเรด-ไบโอเซนเซอร์ติดที่ตัวเครย์ฟิชจำนวน 3 ตัว และปล่อยลงในน้ำที่จะใช้ผลิตเป็นเบียร์ เพื่อดูการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของเครย์ฟิชผ่านการประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น ก็จะทราบว่าน้ำนั้นมีสิ่งปนเปื้อนหรือไม่ โดยอุปกรณ์ตัวนี้ปัจจุบันได้ทำการจดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์แล้ว [9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. C. W. Hart, Jr. (1994). "A dictionary of non-scientific names of freshwater crayfishes (Astacoidea and Parastacoidea), including other words and phrases incorporating crayfish names". Smithsonian Contributions to Anthropology. 38 (38): 1–127. doi:10.5479/si.00810223.38.1. hdl:10088/1372.
  2. 2.0 2.1 Pableaux Johnson. "Mudbug Madness : Crawfish". Bayou Dog. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 August 2006. สืบค้นเมื่อ 28 August 2006.
  3. 3.0 3.1 3.2 "crayfish". OED. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-09. สืบค้นเมื่อ 2016-07-22.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Crayfish คืออะไร???? หน้า 82-90 โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ นิตยสาร AQUA ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2548
  5. Alycia L. Rode & Loren E. Babcock (2003). "Phylogeny of fossil and extant freshwater crayfish and some closely related nephropid lobsters". Journal of Crustacean Biology. 23 (2): 418–435. doi:10.1651/0278-0372(2003)023[0418:POFAEF]2.0.CO;2. JSTOR 1549646.
  6. Emory University (12 February 2008). "Oldest Australian crayfish fossils provide missing evolutionary link". ScienceDaily.
  7. "กุ้งมังกร". กบนอกกะลา. December 16, 2012. สืบค้นเมื่อ July 23, 2016.
  8. "อึง! หนุ่มกำแพงแสนหอบเงินซื้อกุ้ง "เครฟิชโกสต์" ตัวเดียว 1 ล้านบาท(ชมคลิป)". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-01-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-02. สืบค้นเมื่อ 2017-03-29.
  9. หน้า 7, โรงเบียร์เช็กใช้กุ้งเครย์ฟิชตรวจสภาพน้ำ. "ชื่นชีวิต". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21818: วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560: แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]