ข้ามไปเนื้อหา

ตู้ปลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตู้ปลาที่เลี้ยงปลาน้ำจืดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ปลาตะพาก, ปลาตะพัด ในสวนสัตว์บริสตอล ประเทศอังกฤษ
ตู้ปลาแบบทั่วไปภายในบ้านเรือน ขนาด 80x30 เซนติเมตร

ตู้ปลา (อังกฤษ: Aquarium) คือ ภาชนะหลักสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงาม มีรูปทรงต่าง ๆ กัน โดยมากมักจะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยผลิตจากวัสดุประเภทกระจกหรืออะครีลิค มีขนาดแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ประมาณ 1 ฟุต จนถึงหลายเมตรในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งตู้ปลาที่มีขนาดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในน้อยกว่าหรือช้ากว่าตู้ปลาที่มีขนาดเล็ก

โดยมากแล้วตู้ปลาที่ผลิตจากกระจกจะเชื่อมต่อกันด้วยกาวซิลิโคนแบบกันน้ำ ซึ่งมีความเหนียวทนทานต่อการละลายของน้ำ ขณะที่ประเภทที่ผลิตจากอะครีลิคจะมีความทนทานกว่า เนื่องจากไม่แตกหักได้ง่าย แต่ก็จะมีราคาขายที่สูงกว่า

ซึ่งตู้ปลาแบบที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้วยแล้ว จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

เป็นตู้ปลาแบบเก่า มีกรอบเป็นอะลูมิเนียม และชันอุดกันน้ำรั่ว ซึ่งตู้แบบนี้แลดูอาจไม่สวยงาม แต่มีความทนทาน

  • แบบไม่มีกรอบ

เป็นตู้ปลาแบบใหม่ ไม่มีกรอบ เป็นแบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน แต่ความทนทานสู้แบบแรกไม่ได้ [1]

การเลี้ยงปลาในตู้มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคโรมัน และพัฒนาการเรื่อยมาจนถึงยุคกลางและต่อมาจนถึงปัจจุบัน[2] ซึ่งในปัจจุบัน มีการผลิตตู้ปลาให้มีรูปทรงหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ทรงกลม (มักนิยมใช้เลี้ยงปลาทอง), หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม หรือ ตู้ปลาที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน ทั้งเป็นโต๊ะรับแขก และเป็นตู้ไม้ รวมถึงมีการแปรรูปจากวัสดุที่เหลือใช้งานแล้ว เช่น โทรทัศน์[3] หรือแม้กระทั่งติดตั้งกับฝาผนังของบ้าน[4] สำหรับตู้ปลาขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑ์แล้ว การที่ต้องบรรจุน้ำที่มีปริมาณเป็นจำนวนหลายลิตร ต้องใช้ความหนาของวัสดุตามไปด้วย โดยมีหลักการคำนวณโดยใช้ความสูงคูณกับความกว้างและคูณกับความยาวของตู้ จะได้เท่ากับปริมาณลิตรของน้ำที่จะใช้บรรจุ[1]

หลักในการดูแลรักษาตู้ปลา ผู้เลี้ยงต้องเอาใจใส่ เนื่องจากตู้ปลาสำหรับเลี้ยงปลาสวยงามส่วนบุคคลส่วนใหญ่นั้น กาวซิลิโคนที่ใช้เชื่อมต่อกันนั้นจะเสื่อมสภาพได้เมื่อใช้นานไปสักระยะ จึงหมั่นควรสังเกต และระวังการแตกหักและซึมของน้ำ จึงต้องมีวัสดุที่มีความหนานุ่มรองก้นตู้ไว้ด้วย เช่น โฟม, พลาสติกหรือไม้อัด หากตู้ปลาเกิดจากการรั่วซึม สิ่งที่ต้องทำคือปล่อยน้ำทิ้งให้หมด เช็ดทำความสะอาดแล้วผึ่งลมให้แห้งสนิท จากนั้นก็นำมาซ่อมแซม โดยการใช้ชันหรือกาวซิลิโคนทารอยรั่วให้เรียบร้อย ปล่อยทิ้งไว้นานพอประมาณ จนมั่นใจว่าติดสนิทดีแล้วจึงใส่น้ำลงตู้ปลา สังเกตรอยรั่วซึมของน้ำอีกครั้ง ถ้าไม่มีรอยรั่วซึมแล้วจึงเริ่มจัดตู้ปลาพร้อมปล่อยปลาลง ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้กาวซิลิโคนเสื่อมสภาพได้แก่ ความร้อนและแสงอาทิตย์[5]

สำหรับตู้ปลาส่วนบุคคลที่เชื่อว่า ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นของจอห์น มาร์คัส ชาวอเมริกัน ที่ลอสแอนเจลิส ที่ทำตู้ปลาในโรงจอดรถของครอบครัว ในปี ค.ศ. 2002 และขยายเพิ่มอีกในปี ค.ศ. 2005 โดยมีความจุน้ำกว่า 10,000 แกลลอน ซึ่งเมื่อเทน้ำทั้งหมดออกแล้ว จะสามารถจอดรถยนต์ได้ 2 คัน ด้วยค่าใช้จ่ายมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปลาทั้งหมดในนี้ประกอบด้วยปลาน้ำจืดขนาดใหญ่กว่า 100 ตัว อาทิ ปลาอะราไพม่า, ปลาเปคู, เต่าจมูกหมู ค่าปลาทั้งหมด 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูในแต่ละเดือนกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ[6]

สำหรับตู้ปลาที่ได้ชื่อว่า สวยที่สุดในโลก คือ ตู้ปลาในโรงแรมเรดิสันบลู ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่เป็นตู้ปลาทรงกลม สูงกว่า 25 เมตร แขวนอยู่กับเพดานโรงแรม ขณะที่ด้านล่าง คือ ล็อบบี้ของโรงแรม ซึ่งสามารถชมได้ชัดเจนจากในลิฟต์แก้ว และห้องพักของลูกค้าโรงแรม ภายในเลี้ยงปลาทะเล 2,600 ตัว ใน 25 ชนิด ด้วยมูลค่าก่อสร้างกว่า 12.8 ล้านยูโร[7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ตอนที่ 2 องค์ประกอบของการจัดตู้ปลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-03. สืบค้นเมื่อ 2010-12-08.
  2. Brunner, Bernd (2003). The Ocean at Home. New York: Princeton Architectural Press. หน้า 21–22. ISBN 1-56898-502-9.
  3. "การประดิษฐ์ตู้ปลา...จากทีวีเก่า (ภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.พิษณุโลก)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-15. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  4. นวัตกรรม...ตู้ปลาติดผนัง (Wall Aquarium)
  5. "ตู้ปลากับการดูแลรักษา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-21. สืบค้นเมื่อ 2010-12-08.
  6. Homes With Incredible Pet Amenities (อังกฤษ)
  7. Radisson Blu Hotel Berlin’s Spectacular AquaDom (อังกฤษ)