นีอูอาโฟโออู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เกาะนีอูอาโฟเอา)
นีอูอาโฟโออู (ภูเขาไฟ)
นีอูอาโฟโออูมองจากสถานีอวกาศนานาชาติ, 2005-03-19
จุดสูงสุด
ความสูง
เหนือระดับน้ำทะเล
260 เมตร (853 ฟุต)
พิกัด15°36′S 175°38′W / 15.60°S 175.63°W / -15.60; -175.63
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้งประเทศตองงา โอเชียเนีย
ข้อมูลทางธรณีวิทยา
ประเภทภูเขาภูเขาไฟรูปโล่
การปะทุครั้งล่าสุดมีนาคม ค.ศ. 1985

นีอูอาโฟโออู (ตองงา: Niuafoʻou) หรือเคยเป็นที่รู้จักในชื่อว่า เกาะจดหมายกระป๋อง และ เกาะแห่งความโชคดี เป็นเกาะภูเขาไฟทางตอนเหนือของประเทศตองงาในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างประเทศฟีจีและประเทศซามัว โดยอยู่เหนือเกาะโตงาตาปู 574 กิโลเมตรและอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของวาวาอู บริเวณใจกลางของเกาะประกอบด้วยทะเลสาบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของปล่องภูเขาไฟจากการปะทุ ส่วนบริเวณโดยรอบมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน และไม่มีลากูน จึงยากต่อการเข้าถึงโดยเรือ ภูเขาไฟบนเกาะยังคงมีพลังและปะทุอยู่หลายครั้ง โดยทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะยังคงมีร่องรอยของลาวาไหลหลาก นอกจากนี้เกาะแห่งนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากพายุหมุนเขตร้อนอีกด้วย

ชาวพอลินีเซียเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงสหัสวรรษที่ 1 และมีความสัมพันธ์กับเกาะโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอูเวอา ในช่วงศตวรรษที่ 13 หรือ 14 ตองงาพิชิตนีอูอาโฟโออู และแต่งตั้งผู้นำจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงตระกูลโฟโตฟีลีและตระกูลฟูซีตูอา ด้วยเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวและยากแก่การเข้าถึง จึงทำให้สภาพโดยรวมเป็นอิสระจากตองงาจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 และเกิดภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ในช่วงศตวรรษที่ 19 มิชชันนารีโปรเตสแตนท์และคาทอลิกมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาบนเกาะ และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนศาสนาประชาชนบนเกาะ เกาะแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรตองงาตั้งแตปี 1875 และเป็นส่วนหนึ่งของตองงาในอารักขาของบริติชตั้งแต่ปี 1900–70 ในปี 1946 เกิดการปะทุของภูเขาไฟ ส่งผลให้รัฐบาลตองงาตัดสินใจอพยพประชาชนออกจากเกาะ โดยประชาชนสามารถกลับมาได้อีกครั้งในปี 1958 และมีบางส่วนตัดสินใจอยู่บนเกาะเออัวต่อไป นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ประชากรบนเกาะมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน โดยในปี 2011 มีประชากร 523 คน ขณะที่ปี 2016 เหลือเพียง 493 คนเท่านั้น

สภาพดินภูเขาไฟที่อุดมสมบูรณ์บนเกาะทำให้เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม โดยมีการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น มะพร้าว มัน เผือก สาเกและไม้ผลอื่น โดยนีอูอาโฟโออูเป็นแหล่งส่งออกมะพร้าวและเนื้อมะพร้าวแห่งที่สำคัญและเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักของเกาะที่มีพื้นฐานจากเกษตรกรรมแบบยังชีพ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเดี่ยวทำให้มีพันธุ์สัตว์จำนวนไม่มากนัก ประกอบด้วย นกหลายชนิด ซึ่งในจำนวนนี้มีสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นได้แก่ นกมาเลา นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลายอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้อีกด้วย ส่วนบริเวณรอบเกาะมีปลาอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนหมูเป็นสัตว์ที่ประชากรบนเกาะนิยมเลี้ยง

ศัพทมูล[แก้]

นีอูอาโฟโออูมีความหมายว่า "มะพร้าวสดหลายลูก"[1]: 198  ในอดีตนักเดินเรือหลายคนได้เดินเข้ามาถึงเกาะแห่งนี้ พร้อมทั้งตั้งชื่อให้ โดยยาโกบ เลอ แมเรอ และวิลเลิม สเคาเติน นักสำรวจชาวดัตช์ตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ในปี 1616 ว่า เกาะความหวังดี (Eylant van Goede Hoop)[2]: 14  ต่อมาในปี 1772 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินเรือมาถึง เรียกเกาะนี้ว่าเกาะรุ่งสาง (Island of the daybreak)[3]: 3  จากนั้นในปี 1791 นักเดินเรือชาวอังกฤษได้บันทึกชื่อเกาะแห่งนี้ว่าเกาะโพรเบย์ (Probey Island) และระบุชื่อของเกาะด้วยการถอดเสียงจากภาษาท้องถิ่นว่า Onooafow[4]: 88 

นีอูอาโฟโออูเคยมีฉายาว่า เกาะกระป๋องดีบุก [5] เนื่องจากช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นีอูอาโฟโออูไม่มีท่าเรือหรือชายหาดให้เทียบท่าได้ ประกอบกับอยู่ในบริเวณร่องลึกตองงา ส่งผลให้เรือไม่สามารถทอดสมอได้ ทำให้เมื่อประชากรบนเกาะและประชากรภายนอกต้องการติดต่อกัน จำเป็นต้องนำจดหมายใส่ในกระป๋องแล้วใช้วิธีการว่ายน้ำไปกลับระหว่างเรือและชายฝั่งเพื่อรับส่งจดหมาย ต่อมาเปลี่ยนจากการว่ายน้ำเป็นใช้เรือแคนูแทน ซึ่งการรับส่งจดหมายในลักษณะนี้สิ้นสุดลงในปี 1983 เมื่อมีการก่อสร้างสนามบินขึ้นบนเกาะ[6]

ภูมิศาสตร์[แก้]

เกาะนีอูอาโฟโออูตั้งอยู่ในภูมิภาคพอลินีเซียในมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะแห่งนี้อาจก่อตัวขึ้นเมื่อ 1 ล้านปีที่แล้ว[7] โดยเป็นหนึ่งในเกาะที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของหมู่เกาะตองงา เกาะที่ใกล้ที่สุดได้แก่นีอูอาโตปูตาปูและตาฟาฮี ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออก 210 กิโลเมตร ขณะที่เกาะวาลิสอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 270 กิโลเมตร[3]: 1–2  ส่วนเกาะโรตูมาที่ถูกยึดครองโดยชาวนีอูอาโฟโออูในศตวรรษที่ 17[8]: 11  อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 910 กิโลเมตร[8]: 1  เขตแดนระหว่างประเทศฝรั่งเศสและตองงาอยู่ระหว่างเกาะนีอูอาโฟโออูและวาลิสและฟูตูนา

เกาะแห่งนี้ต่างจากเกาะแห่งอื่นของหมู่เกาะตองงา เนื่องจากหมู่เกาะอื่นตั้งอยู่ตามแนวหมู่เกาะภูเขาไฟรูปโค้งตองงา ขณะที่นีอูอาโฟโออูตั้งอยู่บนแอ่งเลา ซึ่งอยู่บนแผ่นธรณี (microplate) ที่ต่างกัน[1]: 200 

ภูมิประเทศ[แก้]

นีอูอาโฟโออูเป็นเกาะภูเขาไฟ มีความยาวจากเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 กิโลเมตร ใจกลางของเกาะประกอบด้วยปล่องภูเขาไฟที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 กิโลเมตร ซึ่งมีการยุบตัวลงเป็นแคลดีรา[9][1]: 202  บริเวณปล่องภูเขาไฟมีทะเลสาบ 2 แห่ง ได้แก่ ไวลาฮี ("ทะเลสาบใหญ่" ในภาษานีอูอาโฟโออู) ซึ่งมีความลึก 120 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 13 ตารางกิโลเมตร และไวซิอี ("ทะเลสาบเล็ก") บางครั้งเรียกว่าไวมาตาอะโฮ[9] นอกจากนี้ยังพบเกาะเล็กอีกจำนวนหนึ่งภายในเขตทะเลสาบหลัก และหากนับจำนวนทะเลสาบรวมถึงทะเลสาบขนาดเล็กจะมีจำนวนเท่ากับ 10 แห่ง[1]: 205  จุดสูงสุดของเกาะคือปีอูโอฟาฮีฟาที่มีระดับความสูง 213 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแคลดีรา[9] ทางตะวันตกและใต้ของเกาะพบลาวาไหลหลากที่เกิดมาจากการปะทุของภูเขาไฟในอดีต[9]

กระบวนการภูเขาไฟ[แก้]

การปะทุของภูเขาไฟในปี 1943

ภูเขาไฟยังมีพลังอยู่และปะทุหลายครั้ง โดยนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาเกิดการปะทุที่ได้รับการบันทึกไว้มากกว่า 10 ครั้ง[1]: 204  ซึ่งการปะทุดังกล่าวแทบทั้งหมดล้วนสร้างผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ทำลายวัฒนธรรมและหมู่บ้าน และการปะทุครั้งใหญ่ในปี 1946 มีผลทำให้ประชาชนต้องอพยพออกจากเกาะทุกคน[10]

แผนที่นีอูอาโฟโออูแสดงที่ตั้งของหมู่บ้าน
การปะทุของภูเขาไฟบนเกาะนีอูอาโฟโออูนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19[1]: 204 
วันที่ ผลกระทบสำคัญ
ประมาณปี 1814
1840
1853 หมู่บ้านอาเฮาถูกทำลาย มีผู้เสียชีวิต 25 คน[11]: 70 
12 เมษายน 1867
13 สิงหาคม 1886 หมู่บ้านและเรือกสวนไร่นาจำนวนมากถูกทำลาย
1912
25 มิถุนายน 1929 หมู่บ้านฟูตูถูกทำลาย
1935
กันยายน 1943 บ้านหลายหลังและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย เกิดความอดอยาก[12]: 10, 70 
9–17 กันยายน1946 หมู่บ้านอางาฮาถูกทำลาย นำไปสู่การอพยพออกจากเกาะ[12]: 10 
1986

ภูมิอากาศ[แก้]

นีอูอาโฟโออูมีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้นหรือที่เรียกว่าภูมิอากาศแบบเส้นศูนย์สูตร โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเท่ากับ 26.5 ° C และอาจแตกต่างได้ในแต่ละปี[13] เกาะแห่งนี้มีฤดูกาลทั้งสิ้น 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝนที่มีระยะเวลายาวนานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน และฤดูแล้งสั้น ๆ ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เกาะต้องเผชิญกับพายุฝนฟ้าคะนองและพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยในพื้นที่[10]

การคมนาคม[แก้]

นีอูอาโฟโออูไม่มีลากูน จึงไม่มีจุดทอดสมอเรือที่เหมาะสม นอกจากนี้บริเวณชายฝั่งมีลักษณะเป็นหน้าผา ส่งผลให้พื้นที่ขึ้นฝั่งมีน้อย และการเข้าถึงทางเรือทำได้ยากลำบากมาก ดังนั้นผู้คนและสินค้าจะต้องย้ายลงเรือขนาดเล็กก่อนขึ้นฝั่ง ทว่าปฏิบัติการเช่นนี้ยังคงมีอันตรายจากคลื่นที่มีกำลังแรง[3]: 4–5  ท่าเรือที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวของเกาะอยู่บริเวณอดีตเส้นทางลาวาไหลหลากที่ฟูตู ทางตะวันตกเกาะเกาะ ในทศวรรษ 2000 มีการก่อสร้างท่าเรือ แต่ได้รับความเสียหายจากคลื่นในปี 2014[14] ส่งผลให้มาตรฐานความปลอดภัยของท่าเรือต่ำกว่ามาตรฐาน[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Kempe, Stephan; Kazmierczak, Józef (2012). Terrestrial Analogues for Early Planetary Oceans: NIUAFO‘OU CALDERA LAKES (Tonga) and Their Geology, Water Chemistry, and Stromatolites. In: Hanslmeier A., Kempe S., Seckbach J. (eds) Life on Earth and other Planetary Bodies. Cellular Origin, Life in Extreme Habitats and Astrobiology, vol 24. Springer Netherlands. p. 195–234. ISBN 9789400749665.
  2. Veys, Fanny Wonu (2017). Unwrapping Tongan Barkcloth: Encounters, Creativity and Female Agen. Bloomsbury Publishing. ISBN 9781474283311.
  3. 3.0 3.1 3.2 Tsukamoto, Akihisa (1988). The language of Niuafo'ou Island (PhD). Australian National University.
  4. Dillon, Peter (1829). Narrative and Successful Result of a Voyage in the South Seas: Performed by Order of the Government of British India, to Ascertain the Actual Fate of La Pérouse's Expedition, Interspersed with Accounts of the Religion, Manners, Customs, and Cannibal Practices of the South Sea Islanders, เล่มที่ 2. Hurst, Chance, and Company, St. Paul's Church-Yard.
  5. "Niuafoʿou". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ October 1, 2020.
  6. "Niuafo'ou – Tin Can Island". StampWorldHistory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 3, 2018. สืบค้นเมื่อ October 1, 2020.
  7. World Wildlife Fund (May 15, 2014). "Tongan tropical moist forests". The Encyclopedia of Earth. สืบค้นเมื่อ March 14, 2021.
  8. 8.0 8.1 Howard, Alan; Rensel, Jan (2007). Island Legacy. A History of the Rotuman People (PDF). Trafford Publishing. p. 432. ISBN 9781425111243.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Global Volcanism Program (2003). "Global Volcanism Programe: Niuafo'ou". Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ March 14, 2021.
  10. 10.0 10.1 Global Volcanism Program (2003). "Logistics Capacity Assessment: Tonga" (PDF). United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs. ReliefWeb. สืบค้นเมื่อ April 3, 2021.
  11. Quesada, Cécile (2005). "Les hommes et leurs volcans : représentations et gestion des phénomènes volcaniques en Polynésie (Hawaii et Royaume de Tonga)". Journal de la société des oceanistes: 64–73.
  12. 12.0 12.1 Rogers, Garth (1986). The fire has jumped. Eyewitness accounts of the eruption and evacuation of Niuafo'ou, Tonga (PDF). University of the South Pacific. p. 432. ISBN 9781425111243.
  13. "Climate - Tonga". climatestotravel. สืบค้นเมื่อ 23 April 2021.
  14. "Heavy swells badly damage wharf in Tonga's far north". Radio New Zealand. 18 February 2014. สืบค้นเมื่อ March 21, 2021.
  15. "KING EMPHASIZES THE NEED TO CONSTRUCT AN AIRPORT AND A WHARF IN NIUAFO'OU". Radio and Television Tonga News. 19 July 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-02. สืบค้นเมื่อ March 21, 2021.

บรรณานุกรม[แก้]

หนังสือ[แก้]

วิทยานิพนธ์[แก้]

  • Tsukamoto, Akihisa (1988). The language of Niuafo'ou Island (PhD). Australian National University.
  • Quesada, Cécile (2006). Vivre dans une île-volcan : approche anthropologique des relations entre hommes et volcan à Niuafo'ou (Tonga, Polynésie Occidentale) (PhD) (ภาษาฝรั่งเศส). École des hautes études en sciences sociales.

วารสารวิชาการ[แก้]