อินฟันตากริสตินาแห่งสเปน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อินฟันตากริสตินาแห่งสเปน
ประสูติ13 มิถุนายน พ.ศ. 2508 (58 ปี)
มาดริด ประเทศสเปน
พระสวามีอิญญากิ อูร์ดังการิน อี ลิบาร์ต (พ.ศ. 2540–2566)
พระนามเต็ม
กริสตินา เฟเดริกา บิกโตเรีย อันโตเนีย เด ลา ซานติซิมา ตรินิดัด เด บอร์บอน อี เกรเซีย
พระบุตรฆวน อูร์ดังการิน
ปาโบล อูร์ดังการิน
มิเกล อูร์ดังการิน
อิเรเน อูร์ดังการิน
ราชวงศ์บูร์บง
พระบิดาสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน
พระมารดาสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน
ลายพระอภิไธย

อินฟันตากริสตินา เฟเดริกา บิกโตเรีย อันโตเนีย เด ลา ซานติซิมา ตรินิดัด เด บอร์บอน อี เกรเซีย (สเปน: Cristina Federica Victoria Antonia de la Santísima Trinidad de Borbón y Grecia; ประสูติ: 13 มิถุนายน พ.ศ. 2508) หรือพระอิสริยยศเดิมว่า อินฟันตากริสตินา ดัชเชสแห่งปัลมาเดมายอร์กา (Infanta Cristina, Duquesa de Palma de Mallorca) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 กับสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน ทั้งเป็นพระขนิษฐาในอินฟันตาเอเลนา ดัชเชสแห่งลูโก และพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6

อินฟันตากริสตินาเสกสมรสกับอิญญากิ อูร์ดังการิน อี ลิบาร์ต เมื่อ พ.ศ. 2540 มีพระบุตรด้วยกัน 4 คน ใน พ.ศ. 2557 ทั้งสองตกเป็นข่าวด้วยถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน[1][2] ทั้งนี้อินฟันตากริสตินาอยู่ในลำดับที่ 6 ของการสืบราชบัลลังก์สเปน[3]

พระประวัติ[แก้]

อินฟันตากริสตินา เฟเดริกา ประสูติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2508 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ทรงบัพติศมาโดยอาร์ชบิชอปแห่งมาดริด ณ โบสถ์ภายในพระราชวังซาร์ซูเอลา มีพระบิดาทูนหัวและพระมารดาทูนหัว คือ อัลฟอนโซ ดยุกแห่งอ็องฌูและกาดิซ และอินฟันตามารีอา กริสตินาแห่งสเปน

พระองค์เข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนซานตามาริอาเดลกามิโน (Santa María del Camino) ระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซแห่งมาดริด เมื่อ พ.ศ. 2532 แล้วทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยทรงเริ่มปฏิบัติงานในองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปีถัดมา

นอกจากภาษาสเปน พระองค์สามารถรับสั่งภาษากาตาลา อังกฤษ และกรีก

เสกสมรส[แก้]

อินฟันตากริสตินาเสกสมรสกับอิญญากิ อูร์ดังการิน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสมาชิกนักกีฬาแฮนด์บอลโอลิมปิก[4] เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ณ เมืองบาร์เซโลนา และเนื่องจากก่อนหน้านี้อินฟันตากริสตินาได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ "ดัชเชสแห่งปัลมาเดมายอร์กา" จากพระราชบิดา[5] ด้วยเหตุนี้นายอูร์ดังการินจึงมีพระยศเป็น "ดยุกแห่งปัลมาเดมายอร์กา" ตามภริยา ทั้งสองมีพระบุตรด้วยกัน 4 คน ได้แก่

  1. ดอนฆวน อูร์ดังการิน (29 กันยายน พ.ศ. 2542)
  2. ดอนปาโบล อูร์ดังการิน (6 ธันวาคม พ.ศ. 2543)
  3. ดอนมิเกล อูร์ดังการิน (30 เมษายน พ.ศ. 2545)
  4. ดอญญา อิเรเน อูร์ดังการิน (5 มิถุนายน พ.ศ. 2548)

การฉ้อโกง[แก้]

อินฟันตากริสตินาและพระสวามี ตกเป็นข่าวด้วยถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน โดยเรื่องเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 เมื่อดยุกแห่งปัลมาเดมายอร์กา (ยศในขณะนั้น) ใช้เส้นสายให้องค์กรการกุศลส่วนตัวได้กำไรจากรัฐบาล 5,600,000 ยูโร จากการเก็บเงินเกินจำนวนจากรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อใช้ในการแข่งกีฬา ในเดือนกันยายนปีถัดมาอินฟันตากริสตินาได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ว่าทรงรับผลประโยชน์ด้วย[6] เนื่องจากดัชเชสดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร ทั้งยังร่วมกันตั้งบริษัทบังหน้าเพื่อทำการฟอกเงิน[4] ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สเปนที่เชื้อพระวงศ์เข้ารับพิจารณาคดีเช่นสามัญชน และส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์พระราชวงศ์สเปน[7]

จากการที่พระองค์มีส่วนพัวพันกับคดีฉ้อโกงดังกล่าวซึ่งสร้างความเสื่อมเสียแก่พระราชวงศ์ สำนักพระราชวังสเปนจึงมีแถลงการณ์ระบุว่าสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 มีพระบรมราชโองการถอดพระอิสริยยศอินฟันตากริสตินาออกจากการเป็น "ดัชเชสแห่งปัลมาเดมายอร์กา" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558[8][9][10]

อ้างอิง[แก้]

  1. ""เจ้าหญิงสเปน" ขึ้นศาลใต่สวนข้อหาฉาว "ฉ้อโกงและฟอกเงิน"". ผู้จัดการออนไลน์. 9 กุมภาพันธ์ 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-05. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "เจ้าหญิงสเปนถูกตั้งข้อหา 'คอร์รัปชัน' อย่างเป็นทางการ". ไทยรัฐออนไลน์. 25 มิถุนายน 2014. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "La infanta Leonor, primera en la línea de sucesión". lainformacion.com (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "อัยการเสนอจำคุก สวามีเจ้าหญิงสเปน 19 ปี-ปรับ 3.5 ล้านยูโร". ไทยโพสต์. 11 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. Real Decreto 1502/1997
  6. "เจ้าหญิงคริสตินาแห่งสเปนยื่นอุทธรณ์ ค้านข้อหาคอร์รัปชัน". ไทยรัฐออนไลน์. 3 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. พรรณิการ์ วานิช (10 มกราคม 2559). "เจ้าหญิงสเปนเตรียมขึ้นศาลคดีฉ้อโกง". วอยซ์ทีวี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-12. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "Spanish king strips sister of duchess title amid tax evasion scandal". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). 12 มิถุนายน 2558. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  9. "'เจ้าหญิงคริสตินาแห่งสเปน' ถูกถอดพระยศแล้ว". วอยซ์ทีวี. 12 มิถุนายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-24. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "กษัตริย์สเปน ทรงถอดพระยศ เจ้าหญิงคริสตินา พระเชษฐภคินี". ไทยรัฐออนไลน์. 12 มิถุนายน 2558. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า อินฟันตากริสตินาแห่งสเปน ถัดไป
บิกโตเรีย เด มาริชาลาร์ อี บอร์บอน ลำดับสืบราชบัลลังก์แห่งสเปน
(อันดับที่ 6)

ฆวน อูร์ดังการิน