อากีรา
อากีรา Aki Ra | |
---|---|
អាគីរ៉ា | |
อากีรา ใน พ.ศ 2549 | |
เกิด | អឿន យក្ស (เอือน เยียะ; Eoun Yeak) ไม่ทราบ (ป. พ.ศ. 2513)[1] เสียมราฐ, กัมพูชา |
อาชีพ | นักรณรงค์เก็บกู้ทุ่นระเบิด, ภัณฑารักษ์, ผู้อำนวยการ Cambodian Self Help Demining (องค์กรเอกชน) |
คู่สมรส | ហួត (ฮวด; Hourt) (เสียชีวิต 2552) |
บุตร | 3 (អមតៈ (อมตะ), មីនា (มีนา), មេត្តា (เมตตา)) |
อากีรา (เขมร: អាគីរ៉ា; อักษรโรมัน: Aki Ra บางครั้งเขียน Akira เกิดประมาณ พ.ศ. 2513) เป็นอดีตทหารเด็กชาวกัมพูชาที่ถูกเกณฑ์โดยเขมรแดง ซึ่งภายหลังทำงานเป็นผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดและภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ในเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เขาอุทิศชีวิตเพื่อกำจัดทุ่นระเบิดในกัมพูชา และดูแลเด็กที่ตกเป็นเหยื่อกับระเบิด อากีรากล่าวว่าตั้งแต่ปี 2535 เขาได้เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดมากถึง 50,000 ลูก และเขาเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดกัมพูชา (អង្គការដោះមីនកម្ពុជា; Cambodian Self Help Demining, CSHD)[2]
ปฐมวัย
[แก้]อากีราไม่แน่ใจอายุของตนเองแต่เชื่อว่าเขาเกิดในปี 2513[1][3] หรือปี 2516[4] บิดามารดาถูกสังหารโดยเขมรแดง[5] เขาเป็นเด็กกำพร้าในค่ายของเขมรแดง เขาได้รับการเลี้ยงดูร่วมกับเด็กกำพร้าคนอื่น ๆ อีกหลายคนโดยผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ ยวน (យួន; Yourn) ในไม่ช้าเขาก็กลายเป็นทหารเด็กเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ อีกหลายคน เมื่อความแข็งแรงของเขาเพียงพอที่จะเป็นประโยชน์กับหน่วยทหารเขมรแดงในท้องถิ่น[6] เมื่อกองทัพเวียดนามบุกกัมพูชาเพื่อโค่นล้มระบอบเขมรแดง เขาถูกควบคุมตัวโดยทหารเวียดนาม[7] ต่อมาเขาได้สมัครเป็นทหารในกองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชาของรัฐบาลสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาที่ตั้งขึ้นใหม่ หน้าที่ของเขารวมถึงการวางทุ่นระเบิดตามพื้นที่ขุดบริเวณชายแดนกัมพูชาติดกับไทย ชื่อ "อากีรา" ตั้งโดยคนรู้จักชาวญี่ปุ่น และไม่ใช่ชื่อเกิดของเขา ชื่อเดิมของเขาคือ เอือน เยียะ (អឿន យក្ស; Eoun Yeak) แต่หนึ่งในหัวหน้างานของเขาเคยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเขากับ AKIRA ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับงานหนัก[6][8]
การกวาดล้างทุ่นระเบิด
[แก้]หลังจากวางทุ่นระเบิดหลายพันลูกในฐานะทหาร อากีราได้รับงานเป็นผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดกับองค์กรสนับสนุนการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งสหประชาชาติ (United Nations Mine Action Service, UNMAS) ใน พ.ศ. 2534[9] หลังจากออกจาก UNMAS ในปี 2535 เขายังคงปลดชนวนและกำจัดทุ่นระเบิดในชุมชนของเขาต่อไป เขาใช้มีดพับ จอบ และท่อนไม้ในการเก็บกู้เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ[10] เขาจะปลดชนวนกับระเบิดและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิด (unexploded ordnance, UXO) ที่เขาพบในหมู่บ้านเล็ก ๆ และนำเปลือกของวัตถุที่เก็บกู้กลับบ้าน บางครั้งเขาจะขายเป็นเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นทุนในการทำงานของเขา[11]
นักท่องเที่ยวเริ่มได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับชายชาวกัมพูชาคนหนึ่งที่ใช้ท่อนไม้เก็บกู้ทุ่นระเบิด และมีบ้านที่เต็มไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถอดชนวนแล้ว[12] ในปี 2542 อากีราเริ่มเรียกเก็บเงินหนึ่งดอลลาร์สหรัฐเพื่อดูชุดสะสมของเขา โดยเขาใช้เงินนั้นเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมต่อไป[13] จึงเป็นการเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดกัมพูชา[14]
อากีราเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่เขาเคยสู้รบ เมื่อเขาได้ยินเรื่องอุบัติเหตุ หรือเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านและชาวนาโทรศัพท์หาเขาที่พิพิธภัณฑ์ และเล่าให้เขาฟังถึงทุ่นระเบิดในหมู่บ้านและขอความช่วยเหลือจากเขา[15] นอกจากนั้นเขาได้จัดกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการให้การศึกษาเรื่องความเสี่ยงต่อทุ่นระเบิดเพื่อสอนผู้คนเกี่ยวกับอันตรายของอาวุธยุทโธปกรณ์และทุ่นระเบิดที่ยังไม่ระเบิด[11]
การรับบุตรบุญธรรม
[แก้]ขณะที่ทำงานในหมู่บ้านเหล่านี้ เขาพบเด็กได้รับบาดเจ็บและถูกทอดทิ้งจำนวนมาก เขาพาเด็ก ๆ กลับบ้านเพื่ออาศัยอยู่กับเขาและฮวด (ហួត; Hourt) ภรรยาของเขา เด็กบางคนที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านเคยเป็นเด็กเร่ร่อนจากเสียมราฐและพนมเปญด้วย ในที่สุดเขาก็รับอุปการะเด็กชายและเด็กหญิงมากกว่ายี่สิบคน[9]
ในช่วงต้นปี 2552 เด็กชายคนหนึ่งมาอาศัยอยู่กับอากีราและฮวด ซึ่งเขาสูญเสียแขนและมือส่วนใหญ่ไปจากระเบิดลูกปรายที่คาดว่าหลงเหลือมาจากสงครามกลางเมืองกัมพูชา เมื่อเด็กชายกับลุงของเขาพบระเบิดในขณะทำงานในทุ่งนาใกล้เมืองพระตะบองทางตะวันตกของเสียมราฐ อากีราพบเขาในโรงพยาบาลและเล่าให้ครอบครัวฟังเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตอนนี้เขาอาศัยอยู่กับอากีราและเข้าเรียนที่โรงเรียน ปัจจุบันมีเด็กทั้งหมด 29 คนอาศัยอยู่ที่ศูนย์บรรเทาทุกข์พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดกัมพูชา[6] ในอดีตพวกเขาส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของทุ่นระเบิด แต่ปัจจุบันยังรวมไปถึงเด็กที่เกิดมาไม่มีแขนขา ผู้ที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอ และบางคนติดเชื้อเอชไอวี บางคนเป็นเด็กกำพร้า ขณะที่บางคนพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูพวกเขาได้[16] เงินทุนที่พิพิธภัณฑ์ได้รับทุ่มเทเพื่อสนับสนุนเด็ก ๆ เหล่านี้ ในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่มห่ม และสนับสนุนให้พวกเขาไปโรงเรียน
องค์กรความช่วยเหลือกวาดล้างทุ่นระเบิดของชาวกัมพูชา
[แก้]หน่วยงานของรัฐบาลกัมพูชาพยายามที่จะปิดพิพิธภัณฑ์หลังจากเปิดได้ไม่นาน และอากีราจำเป็นต้องยุติกิจกรรมเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ "ไม่ได้รับการรับรอง" หลังจากถูกจำคุกช่วงสั้น ๆ ใน พ.ศ. 2544[17] (และอีกครั้งใน พ.ศ. 2549)[18] ในปี 2548 เขาได้เดินทางไปลอนดอน เพื่อรับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการกำจัดอาวุธยุทโธปกรณ์จากโรงเรียนนานาชาติด้านความมั่นคงและการศึกษาวัตถุระเบิด ต่อมาใน พ.ศ. 2551 ด้วยความช่วยเหลือของกองทุนบรรเทาภัยจากทุ่นระเบิด (Landmine Relief Fund) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลจากสหรัฐ และคณะเก็บกู้ทุ่นระเบิดของทหารผ่านศึกเวียดนามในกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มทหารผ่านศึกชาวออสเตรเลีย อากีราได้รับการรับรองอย่างสมบูรณ์ในฐานะผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิด และเขาได้ก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งใหม่ขึ้นในชื่อ Cambodian Self Help Demining (CSHD, องค์กรความช่วยเหลือกวาดล้างทุ่นระเบิดของชาวกัมพูชา)[3] องค์กรได้รับการรับรองจากหน่วยงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดของกัมพูชาโดยมีการตรวจสอบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นประจำ และกองทุนบรรเทาภัยจากทุ่นระเบิดมีตัวแทนในประเทศกัมพูชาที่ทำงานร่วมกับ CSHD[19] นอกจากนี้ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวแคนาดา ริชาร์ด ฟิทุสซี (Richard Fitoussi)[20] และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ทอม ชาเดียค (Tom Shadyac) ยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่อีกด้วย[21]
พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดมีการย้ายที่ทำการและได้เปิดใหม่ใน พ.ศ. 2551[16][22]
หนังสืออนุญาตของ CSHD คือให้ทำการกวาดล้างทุ่นระเบิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถือว่า "มีความสำคัญต่ำ" ส่วนองค์กรกวาดล้างทุ่นระเบิดระดับนานาชาติอื่น ๆ จะปฏิบัติการในพื้นที่ "มีความสำคัญสูง" ในปีแรกของการดำเนินการ CSHD ได้เคลียร์พื้นที่ 163,000 ตารางเมตร และนำผู้คนกว่า 2,400 คนกลับคืนสู่ที่ดินที่เคยอันตรายเกินกว่าจะทำการเกษตรหรืออยู่อาศัยได้ CSHD ทำเช่นนี้โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,314 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
CSHD ได้รับทุนหลักจากพันธมิตรในสหรัฐและออสเตรเลีย ได้แก่กองทุนบรรเทาภัยจากทุ่นระเบิด และคณะเก็บกู้ทุ่นระเบิดของทหารผ่านศึกเวียดนามในกัมพูชา ใน พ.ศ. 2552 สำนักงานกำจัดและลดอาวุธ ในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้มอบเงินสนับสนุนกองทุนบรรเทาภัยจากทุ่นระเบิดจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วย CSHD ในการทำงานเพื่อกวาดล้างเศษซากของสงคราม (explosive remnants of war, ERW) ใน "หมู่บ้านที่มีลำดับความสำคัญต่ำ" ในกัมพูชา การระดมทุนอย่างต่อเนื่องนั้นไม่แน่นอน เนื่องจาก CSHD ต้องแข่งขันกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ เช่นองค์กรกลุ่มที่ปรึกษาเรื่องทุ่นระเบิด (Mines Advisory Group) และกองทุนฮาโลเพื่อเก็บกู้ระเบิด (Halo Trust)
การตอบรับ
[แก้]ใน พ.ศ. 2548 หนังสือ Children and the Akira Landmines Museum (アキラの地雷博物館とこどもたち) ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น โดยมีอากีราเป็นผู้เขียนหลัก[23][4]
ในปี 2549 มังงะเรื่อง Mitsurin Shonen ~Jungle Boy~ (密林少年~ジャングル・ボーイ~) โดยอากิระ ฟูกายะ (深谷 陽, Akira Fukaya) ได้รับการตีพิมพ์ มังงะเรื่องนี้ไม่เพียงแต่รายงานเรื่องราวของอากีราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประชุมที่ผู้เขียนมีกับอากีราอีกด้วย หนังสือเล่มที่สองได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2550 และฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส Enfant Soldat ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2552 โดยสำนักพิมพ์ Éditions Delcourt[24]
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง A Perfect Soldier ที่บรรยายชีวิตของอากีรา ออกฉายในปี 2553[25][26]
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 อากีราได้รับเลือกให้เป็นฮีโร่ของซีเอ็นเอ็น (CNN Hero)[27] และในเดือนกันยายน เขาได้รับเลือกให้เป็น 10 อันดับแรกของ CNN Hero ประจำปี 2553[28]
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555 อากีราได้รับเกียรติจากมูลนิธิมันแฮ (만해사상실천선양회, SPPMT) ในเกาหลีใต้ โดยได้รับรางวัลมันแฮด้านสันติภาพของมูลนิธิ ประจำปี 2555[29][30] ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 อากีราได้รับทุนพอล พี. แฮร์ริสเพื่อสันติภาพและการแก้ไขข้อขัดแย้งจากสโมสรโรตารีเกรเวนเฮิร์สต์ รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา[31]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง A Perfect Soldier บอกเป็นนัยว่าอากีราประสบปัญหาทางจิต รวมถึงภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ฝันร้าย และความวิตกกังวล ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดของเขาในฐานะทหาร[25]
แหล่งข่าวหลายแห่งระบุว่าอากีรามีปัญหาสุขภาพเนื่องจากการสัมผัสกับสารเคมีที่ระเบิดได้เช่น ทีเอ็นที และอาร์ดีเอกซ์ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน[4][15]
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 อากีราถูกจับกุมฐานเก็บวัตถุระเบิดที่บรรจุสารเฉื่อยซึ่งปลดชนวนแล้วไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดกัมพูชา เขาถูกกล่าวหาว่าไม่มีใบอนุญาตให้แสดงอาวุธ พิพิธภัณฑ์ถูกปิดเป็นเวลาสามเดือน และได้เปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากนั้น[32]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "The Cambodian Landmine Museum and School Founders". The Cambodia Landmine Museum.
- ↑ "Life of the Land". Time. 31 ตุลาคม 2013.
- ↑ 3.0 3.1 Charlie Campbell (31 ตุลาคม 2013). "Life of the Land: A Former Child Soldier Makes Cambodia Safe". Time.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Shibata Yukinori. "Book Review: Children and the Aki Ra Landmines Museum". Bulletin of the Jesuit Social Center. Tokyo. p. 129.3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2023-11-03.
- ↑ "Digging up the past: Legendary Cambodian deminer Aki Ra continues to build Cambodia's future by digging up its past". FCC Cambodia Monthly Newsletter. กรกฎาคม 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2014.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Ebonne Ruffins (30 กรกฎาคม 2010). "Cambodian man clears land mines he set decades ago". CNN.
- ↑ Mark Jenkins (มกราคม 2012). "Cambodia's Healing Fields: Land mines once crippled a war-ravaged Cambodia. Today the nation is a model for how to recover from this scourge". National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2018.
- ↑ Kyle Ellison (23 ธันวาคม 2011). "A step inside the Cambodian Landmine Museum". Gadling.
- ↑ 9.0 9.1 Antonio Graceffo (22 พฤษภาคม 2008). "Aki Ra and Landmine Museum". Mekong.net.
- ↑ "The Incredible Journey of Aki Ra, Former Child Soldier". Asia Society. Hong Kong. 13 ตุลาคม 2009.
- ↑ 11.0 11.1 Meghan Wallace (Fall 2010). "Hero Profile: Aki Ra". Journal of ERW and Mine Action (14.3).
- ↑ Terry Hodgkinson (30 ตุลาคม 2011). Aki Ra's Landmine Museum – โดยทาง ยูทูบ.
- ↑ "Aki Ra's Cambodia Landmine Museum". Going Slowly. พฤศจิกายน 2011.
- ↑ Julie Stern & Megan Hinton (Spring 2014). "Landmine Museums Encourage Remembrance and Education". Journal of ERW and Mine Action (18.1).
- ↑ 15.0 15.1 Matthew Smeal (13 พฤศจิกายน 2006). "Cambodia's slow recovery from Khmer Rouge". Eureka Street. 16 (17).
- ↑ 16.0 16.1 William Morse (2014). "Cambodia Landmine Museum" (PDF). SEAMEO SPAFA Regional Centre for Archaeology and Fine Arts.
- ↑ Dan Eaton (26 กุมภาพันธ์ 2001). "Mad About Mines". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2023.
- ↑ Nicky Sullivan (1 มิถุนายน 2012). "From the good life to digging up land mines in Cambodia: Bill Morse chose to move to Cambodia to help activist Aki Ra rid the country of landmines". Christian Science Monitor.
- ↑ Rare Earth (1 ตุลาคม 2017). Using Landmines to Save Children's Lives – โดยทาง ยูทูบ.
- ↑ "Canadian filmmaker documents horrors of landmines". CTV News. 4 เมษายน 2012.
- ↑ "Josh Peace". BravoFACT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2014.
- ↑ Andy Brouwer (14 เมษายน 2007). "Aki Ra Coming Out of Retirement".
- ↑ アキ・ラー (1 กันยายน 2005). アキラの地雷博物館とこどもたち. 三省堂. ISBN 978-4-385-36208-3.
- ↑ Fukaya, Akira; Ra, Aki (2009). Enfant soldat T01 (DEL.SEINEN). Delcourt. ISBN 978-2-7560-1512-5.
- ↑ 25.0 25.1 loteq101 (21 กรกฎาคม 2013). A Perfect Soldier - The Story of Aki Ra De-mining in Cambodia – โดยทาง ยูทูบ.
- ↑ Jill Gaeta (Spring 2013). "Review of Documentary A Perfect Soldier by John Severson". The Middle Ground Journal (6).
- ↑ "CNN Hero Aki Ra Disarms Land Mines In Cambodia He Placed Decades Earlier". Huffpost. 30 กรกฎาคม 2010.
- ↑ "CNN Heroes Archive: Aki Ra". CNN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-28. สืบค้นเมื่อ 2023-11-03.
- ↑ "Aki Ra awarded the Manhae Peace Prize". The Global Clean-Up.
- ↑ "Aki Ra Wins Grand Peace Prize". Peace Works. 28 สิงหาคม 2012.
- ↑ Alistair Walsh (8 กุมภาพันธ์ 2013). "Canadian Rotarians honour Aki Ra for peace work". Phnom Penh Post.
- ↑ Fullerton, Jamie (22 ตุลาคม 2019). "'Whistles, warnings, kaboom!': a day with a landmine clearance team". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดกัมพูชา. cambodialandminemuseum.org.
- Cambodian Self Help Demining.
- ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา. cmac.org.kh.
- คณะเก็บกู้ทุ่นระเบิดของทหารผ่านศึกเวียดนาม – ในกัมพูชา. optushome.com.au.