ภัณฑารักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภัณฑารักษ์ คือ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการ ความหมายความตัวอักษร ก็คือ ผู้ดูแลรักษาคลังเก็บสิ่งของ มาจากคำศัพท์ภาษาสันสกฤต ภาณฺฑารกฺษ (ภาณฺฑ + อารกฺษ) ความหมายโดยทั่วไป คือ "ผู้ดูแลสถานที่จัดแสดงและสิ่งจัดแสดง"[1][2]

ภัณฑารักษ์นับเป็นตำแหน่งที่สำคัญและรับผิดชอบสูง ทั้งในแง่บริหารและปฏิบัติการ หน้าที่หลักของภัณฑารักษ์ คือการจัดหา จัดหมวดหมู่ และจัดแสดงวัตถุในที่จัดแสดง รวมถึงการดูแล ซ่อมแซม และวางแผนจัดการและแผนการให้บริการ และยังมีส่วนอย่างมากในการประเมินราคาของศิลปวัตถุด้วย ด้วยเหตุนี้ ภัณฑารักษ์จึงต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านเป็นอย่างดี นอกเหนือจากความรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ทั่วไป เช่น หากต้องดูแลพิพิธภัณฑ์อัญมณี ก็จะต้องมีความรู้ด้านอัญมณีศาสตร์ หากต้องดูแลนิทรรศการศิลปะ ก็ต้องมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หรือแนวความคิดร่วมสมัยที่เกี่ยวข้อง หรือหากต้องดูแลเทศกาลภาพยนตร์ ก็ต้องมีความรู้ด้านภาพยนตร์หรือทัศนศิลป์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของภัณฑารักษ์แตกต่างกันไป ตามลักษณะเฉพาะของสถานที่จัดแสดง

ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่จะมีภัณฑารักษ์จำนวนมาก โดยมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้านตามความเชี่ยวชาญ และอาจมีผู้ช่วยภัณฑารักษ์อีกทอดหนึ่งก็ได้ ขณะที่นิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กอาจมีภัณฑารักษ์เพียงไม่กี่คนหรือมีเพียงคนเดียว ทำหน้าที่ดูแลจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง

อ้างอิง[แก้]

  1. Carly Chynoweth, How do I become a museum curator? 22 December 2006, Times Online
  2. Valarie Kinkade, Day in the life: curator. เก็บถาวร 2012-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน American Association of Museums