ข้ามไปเนื้อหา

หน้ากากแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้ากากแก้ว
หน้ากากแก้ว
ガラスの仮面
ชื่อภาษาอังกฤษGlass Mask
แนวดราม่า, ศิลปะการแสดง
มังงะ
เขียนโดยซูซูเอะ มิอูจิ
สำนักพิมพ์ญี่ปุ่น สำนักพิมพ์โคดันฉะ
ไทย สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์
วางจำหน่ายตั้งแต่พ.ศ. 2519(หยุดพักชั่วคราว)
จำนวนเล่ม49
อนิเมะโทรทัศน์
กำกับโดยยูซากุ ซากาโมโตะ
กิซาบูโร ซูงิอิ
โทชิมากะ สึโนดะ
อำนวยการโดยฮิเดฮิโกะ ทาเกอิ
มาซาโนบุ ชิโมดะ
ทัตสึยะ โอโนะ
ดนตรีโดยคาซูโอะ โอตานิ
สตูดิโอเอเคน
เครือข่ายญี่ปุ่น นิปปงทีวี
ฉาย 9 เมษายน พ.ศ. 2527 27 กันยายน พ.ศ. 2527
ตอน22
โอวีเอ
Glass no Kamen: Sen no Kamen wo Motsu Shoujo
กำกับโดยสึเนโอะ โคบายาชิ
เขียนบทโดยโนบูอากิ คิชิมะ
โยชิยูกิ ซูงะ
โทโมโกะ คนปารุ
ดนตรีโดยทามิยะ เทราชิมะ
สตูดิโอทีเอ็มเอสเอ็นเตอร์เทนเมนต์
โพลีแกรม
ฉาย 16 ธันวาคม พ.ศ. 2541 21 เมษายน พ.ศ. 2542
ความยาว45 นาที
ตอน3
อนิเมะโทรทัศน์
กำกับโดยมาโมรุ ฮามาซุ
อำนวยการโดยชินซากุ ฮัตตะ
ทาดาฮิโตะ มัตสึโมโตะ
เขียนบทโดยโทชิมิจิ ซาเอกิ
ดนตรีโดยทามิยะ เทราชิมะ
สตูดิโอทีเอ็มเอสเอ็นเตอร์เทนเมนต์
เครือข่ายญี่ปุ่น ทีวีโตเกียว
ไทย โมเดิร์นไนน์ ทีวี, ทรูวิชั่นส์
ฉาย 5 เมษายน พ.ศ. 2548 28 มีนาคม พ.ศ. 2549
ตอน51

หน้ากากแก้ว หรือ นักรักโลกมายา (ญี่ปุ่น: ガラスの仮面โรมาจิGarasu no Kamenทับศัพท์: การาซุ โนะ คาเม็ง) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น ผลงานของ ซูซูเอะ มิอูจิ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งนอกจากหนังสือการ์ตูนแล้ว หน้ากากแก้วยังโด่งดังจนถูกสร้างเป็นละครวิทยุ ภาพยนตร์การ์ตูน OVA ละครโทรทัศน์ ละครเวทีและละครโนด้วย

การ์ตูนเรื่องนี้โด่งดัง ด้วยคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นของนางเอก "มายะ" ที่มีพรสวรรค์ในการแสดงเป็นอย่างมาก เธอต้องผ่านบททดสอบและพิสูจน์ความสามารถในการแสดงต่างๆมากมาย เห็นได้จากฉากนึง ที่เธอต้องรับมือกับการแสดงท่าทาง โดยห้ามพูดอะไรใดๆ นอกจากคำว่า "ค่ะ" "ใช่ค่ะ" "ขอบคุณค่ะ" "ขอโทษค่ะ" และตัวละครรอบข้างก็ได้เล่นบทส่งที่มีความท้าทายเพื่อบีบให้เธอไม่สามารถแสดงบทโต้ตอบได้ แต่เธอก็ใช้วิธีสมมติเหตุการณ์และสิ่งต่างๆที่มองไม่เห็น แต่สื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ว่าเธอสื่อถึงอะไร พร้อมพูดคำสั้นๆตามโจทย์ได้อย่างไหลลื่นไม่มีติดขัด ทำเอาทุกคนตะลึงกันไปเลย เอกลักษณ์ของเธอคือการแสดงละครอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถสวมรอยเป็นตัวละครต่างๆได้ทุกบทบาท จนลืมความเป็นตัวตนของตัวเองไปขณะแสดง และต้องพบกับคู่ต่อสู้ที่ดูเหนือกว่าเธอทุกด้านอย่าง "อายูมิ" โดยมี "นายกุหลาบสีม่วง" บุคคลลึกลับ ผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เธอจะรับมือกับอายูมิอย่างไร เพื่อก้าวเข้าสู่เวทีที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และเพื่อแย่งชิงบท นางฟ้าสีแดง น่าติดตามมากๆ

หน้ากากแก้ว ได้ถูกตีพิมพ์ออกจำหน่ายในหลายๆ ประเทศ โดยใช้ชื่อเรื่องที่แตกต่างกันไปตามภาษาของประเทศนั้นๆ เช่น ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Mask of Glass (มาสก์ออฟกลาส) หรือ Glass Mask (กลาสมาสก์) ฉบับภาษาอิตาลีใช้ชื่อว่า Il grande sogno di Maya และฉบับภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า Laura ou la passion du théâtre

สำหรับการจัดพิมพ์ในประเทศไทยช่วงแรกๆ ไม่ค่อยแน่ชัดนักในเรื่องของลิขสิทธิ์ ครั้งแรกจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มิตรไมตรีใช้ชื่อว่า "หน้ากากแก้ว" ตีพิมพ์เล่ม 1-4 เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523-2524 หลังจากนั้นเปลี่ยนมาจัดพิมพ์โดย วิบูลย์กิจ ใช้ชื่อว่า "นักรักโลกมายา" มีประมาณ 56 เล่ม (ยังไม่จบ) และต่อมาก็เป็น สยามอินเตอร์คอมิกส์ ที่ได้รับลิขสิทธิ์ตีพิมพ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้มีการตีพิมพ์มาแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 2 นี่เอง ที่ได้เปลี่ยนชื่อ "นักรักโลกมายา" มาเป็น "หน้ากากแก้ว" เพื่อให้ตรงกับความหมายในภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งล่าสุดตีพิมพ์ถึงฉบับที่ 49 ส่วนฉบับที่ 50 ที่มีกำหนดการจะวางขายที่ญี่ปุ่น ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นั้น ทางซุสุเอะ มิอุจิ ก็แจ้งเลื่อนการวางออกไปอีก โดยยังไม่มีประกาศวันวางใหม่ที่แน่นอนออกมาในขณะนี้[1] ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน มิอุจิได้ให้สัมภาษณ์ว่าเธออยู่ในช่วงใกล้ตอนจบของการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว[2]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

คิตาจิมะ มายะ เป็นเพียงเด็กหญิงที่ดูธรรมดา แต่ซ่อนด้วยความสามารถด้านการแสดงที่เธอสามารถสวมทุกบทบาทได้อย่างอิสระ ราวกับเปลี่ยนเป็นคนละคน ความสามารถที่เธอซ่อนไว้ข้างใน ทำให้สึกิคาเงะ จิงุสะ อดีตนักแสดงชื่อดังเจ้าของบทบาท "นางฟ้าสีแดง" เห็นเข้า และชักจูงเธอเข้าสู่วงการโลกมายา โดยให้มายะ เข้าสู่คณะละครสึกิคาเงะซึ่งเป็นคณะละครที่เธอตั้งขึ้น แต่แล้วก็โดนขัดขวางทั้งจากคณะละครคู่แข่ง คณะไดโตะ ซึ่งมีดารานำสาวชื่อ ฮิเมกาวะ อายูมิ เด็กสาวผู้เพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน เป็นกำลังสำคัญ และมี ฮายามิ มาสึมิ ผู้หวังจะครอบครองลิขสิทธิ์เรื่อง นางฟ้าสีแดง ที่อาจารย์สึกิคาเงะถืออยู่เป็นแรงผลักจากเบื้องหลัง และเธอยังถูกขัดขวางจากแม่ของเธอที่ไม่ยอมให้เธอไปเต้นกินรำกิน คณะสึกิคาเงะและคณะไดโตะมีเรื่องราวกระทบกระทั่งกันอยู่หลายครั้งเพื่อกดดันให้ สึกิคาเงะ ยอมปล่อยลิขสิทธิ์บทประพันธ์ให้เป็นของไดโตะ สุดท้ายด้วยความพ่ายแพ้และถูกดูถูกและเหยียดหยามจากเพื่อนรวมวงการ ทำให้คณะสึกิคาเงะต้องยุบตัวลง และถูกยึดทรัพย์สินทุกอย่าง มายะ และเพื่อนๆ ในคณะของเธอจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์กันตามลำพัง

ต่อมา มายะและเพื่อน ๆ ได้รับโอกาสอีกครั้งจากคณะละครอิคาคุจู ให้มาร่วมเปิดทำการแสดงร่วมกัน ด้วยพลังใจของทั้งสอง ทำให้คณะละครสึกิคาเงะและอิคาคุจูกลายเป็นคณะละครที่แข็งแกร่งอย่างล้นหลาม มายะเองยังได้รับโอกาสจากคณะละครต่าง ๆ ให้เข้าร่วมทำการแสดง และเหตุนี้ทำให้ มายะ และ อายูมิ ต้องห้ำหั่นกันด้วยความสามารถทางด้านการแสดง จนกระทั่งเธอทั้งสองคน ได้มายืนอยู่บนเวทีเดียวกัน หลายต่อหลายครั้ง ทำให้เธอทั้งสอง ตระหนัก และ กังวล กับความสามารถของทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอด จนในที่สุด มายะ ได้โอกาสในการเติบโตหลังจาก สึกิคาเงะ ตัดสินใจให้เธอย้ายเข้าคณะไดโตะเพื่อฝึกเป็นดาราเต็มตัว โดยมี มิสึกิ ซาเอโกะ ผู้เป็นเลขาส่วนตัวของมาสึมิเป็นผู้จัดการชีวิตของเธอ และเธอยังได้รับโอกาสในการห้ำหั่นกับ อายูมิ เพื่อรับตำแหน่งผู้สืบทอด "นางฟ้าสีแดง" อย่างสมภาคภูมิ

การอยู่ในวงการมายาทำให้ มายะ ต้องเจอกับฝันร้ายที่สุดในชีวิต เมื่อเธอเริ่มมีความรักกับดาราจนเกิดข่าวฉาวใหญ่โต เรื่องราวทั้งหมดบานปลายจนค่ายละครและสถานีโทรทัศน์ต่างแบนเธอ มายะ กลายเป็นคนไร้ตัวตนอีกครั้ง และถูกถอดออกจากตำแหน่งผู้สืบทอดนางฟ้าสีแดง ทั้งหมดทำให้ มายะ เสียใจมาก แต่ด้วยพลังใจของเธอ เธอขอโอกาสกลับไปอยู่กับสึกิคาเงะ แต่ก็ถูกขัดขวางจากคณะไดโตะเหมือนแต่ก่อน แต่ไม่ใช่เพราะต้องการแย่งบทนางฟ้าสีแดง แต่ต้องการให้ มายะ ถอนตัวออกจากวงการเพื่อที่ อายูมิ จะได้เป็นทายาทนางฟ้าสีแดงเพียงคนเดียว มายะไม่ย่อท้อต่อปัญหาและตัดสินใจสู้ทุกวิถีทาง จนในที่สุดเธอก็ได้รับโอกาสในการรับบทใหญ่ที่สุดในชีวิต และประชันหน้ากับ อายูมิ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เจอกับ คุโรนุมะ ริวโซ ผู้กำกับละครชื่อดัง ที่เห็นแววตาที่ไม่ยอมแพ้ของเธอ จึงชักชวนเธอมาร่วมแสดงละคร "ทุ่งหญ้าที่ถูกลืม" ร่วมกัน และทำให้ มายะ กลายเป็นทายาทนางฟ้าสีแดงอีกครั้ง

ในตอนท้ายของเรื่อง เป็นช่วงของการชิงชัยสู่เส้นทางของนางฟ้าสีแดง โดยสึกิคาเงะ ได้ให้สมาคมการละครเป็นผู้จัดการแข่งขัน และให้ทั้งสองคณะมาแสดงเรื่องนางฟ้าสีแดงประชันกันที่เวทีใหญ่ร้างกลางแจ้งใจกลางเมือง โดยฝั่ง มายะ มีคุโรนุมะเป็นผู้กำกับ และมีซากุระโคจิ ยู เป็นผู้รับบทช่างไม้ และฝั่ง อายูมิ มีโอโนเดระเป็นผู้กำกับ รวมไปถึงความรักครั้งสุดท้ายของ มายะ ที่ตั้งใจจะบอกให้มาสึมิรับรู้ แต่ก็ถูกขัดขวางโดย ทากามิยะ ชิโอริ ภรรยาที่ถูกจับคู่ให้แต่งงานเพื่อธุรกิจ ซึ่งผู้แต่งเปรยว่ามีตอนจบอยู่ในใจแล้ว และเร่งผลิตผลงานจัดพิมพ์ใหม่นี้ให้ทันตามความต้องการของผู้อ่าน หลังพักการแก้ไขผลงานที่ถูกท้วงติงไปเป็นระยะเวลานาน

ตัวละคร

[แก้]

ตัวละครหลัก

[แก้]
คิตาจิมะ มายะ (北島マヤ) หรือ โลรา แนสโซนิเย่ (Laura Nessonier) ในเวอร์ชันฝรั่งเศส
เด็กสาวอายุ 13 ปี (ตอนเริ่มเรื่อง) หน้าตาไม่ได้สวยงามอะไร พ่อของเธอตายตั้งแต่เธอยังเล็ก ส่วนแม่ของเธอเป็นพนักงานในร้านอาหารจีนเล็กๆ การเรียนไม่เก่งมากมาย ถึงภายนอกเธอจะดูเป็นเด็กธรรมดา แต่มีบางอย่างในตัวเธอ เมื่อถึงเวลาที่เธออยู่บนเวที ผู้ชม ต่างจับจ้องในตัวเธอเป็นสายตาเดียวกัน และยังมีความสามารถพิเศษ คือ หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดง ไม่ว่าจะนานสักแค่ไหน กระทั่งท่าทาง การออกเสียง น้ำเสียง คำสนทนา การแสดงออกทางหน้าตา เธอสามารถจดจำได้หมดทุกกระเบียดนิ้ว โดยที่แสดงออกมาซ้ำได้ โดยไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย เธอได้เข้าสู่วงการมายา ด้วยคำแนะนำของอาจารย์สึกิคาเงะ จิงุสะ ซึ่งมายะยังมีฉายาต่างๆ เช่น "หญิงสาวผู้มีหน้ากากพันหน้า" และ "ผู้ทำลายเวที" เป็นต้น
ฮิเมกาวะ อายูมิ (姫川亜弓) หรือ ซีโดนี เลอกูเย่ (Sidonie Lecuyer) ในเวอร์ชันฝรั่งเศส
เด็กสาวอายุ 13 ปี (ตอนเริ่มเรื่อง) เช่นเดียวกับมายะ แต่เธอมีทั้งความสามารถ และพรสวรรค์ในด้านการแสดงตั้งแต่เล็ก คุณพ่อของเธอเป็นผู้กำกับผู้มีชื่อเสียง และคุณแม่ของเธอ ก็เป็นนักแสดงผู้โด่งดัง เรียกได้ว่า เธอมีทั้งความพร้อมในทุกๆ ด้าน แต่เธอก็ยังต้องการจะก้าวต่อไป และพยายามศึกษา และหาประสบการณ์ เพื่อหนทางสู่ความเจิดจรัสของ นางฟ้าสีแดง
สึกิคาเงะ จิงุสะ (月影千草) หรือ มาดาม โกล เดอ แซงต์ ฟียาเกรอ (Madame Chloe de St-Fiacre) ในเวอร์ชันฝรั่งเศส
อดีตนักแสดงชื่อดัง ผู้เสียโฉม เพราะอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันจากการแสดง ทำให้เธอเสียโฉมไปครึ่งหน้า เธอจึงหลบซ่อนตัว และค้นหาคนที่จะมาเป็นตัวแทนเธอ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ และมีความเป็นเลิศทางด้านการแสดง เพื่อสานฝันของเธอ ที่จะได้เห็นการแสดงของ นางฟ้าสีแดง ที่เธอเคยแสดงไว้ กลับมาเจิดจรัสอีกครั้งหนึ่ง โดยเธอได้พบกับมายะ ซึ่งแสดงละครให้เด็กๆ ในสวนดู และได้ตระหนักถึงพรสวรรค์ของมายะ จึงได้พาเธอเข้าสู่คณะละครสึกิคาเงะ
ฮายามิ มาสึมิ (速水真澄) หรือ มัคซีม ดาร์ซี (Maxime Darcy) ในเวอร์ชันฝรั่งเศส
ผู้อำนวยการคณะละครไดโตะ และประธานสมาพันธ์การแสดง มักถูกเรียกว่า ปีศาจบ้างานแห่งไดโตะทายาทเจ้าของคณะละครไดโตะ แม้ภายนอกจะดูเคร่งขรึม แต่แท้ที่จริงแล้ว เขาคือ'คุณกุหลาบสีม่วง' แฟนละครคนแรกของมายะที่ไม่ยอมเปิดเผยตัว เขาเป็นคนที่ละเอียดอ่อนอยู่ภายใน แต่ด้วยหน้าที่การงานและตำแหน่งทายาททำให้ต้อง 'บ้างาน' ไม่มีโอกาสได้ทำตามความฝันของตัวเอง เขาหลงรักมายะ เพราะมายะเปรียบเสมือนส่วนเติมเต็มในความฝันของเขา เขาจึงคอยอุปการะมายะอย่างลับๆ ด้วย แต่กระนั้นมายะก็ยังไม่ชอบเขาเพราะคณะละครไดโตะ เป็นคู่แข่งของคณะละครสึกิคาเงะที่ถือลิขสิทธิ์ครอบครองเรื่องนางฟ้าสีแดงอยู่นั่นเอง ต่อมา มายะได้รู้ว่า มาสึมี คือ กุหลาบสีม่วง เธอจึงเริ่มมีความรู้สึกที่ดีให้แก่เขา แต่ก็ติดอุปสรรคว่า มาสึมิ มีคู่หมั้นแล้ว
ซากุระโคจิ ยู (桜小路優)
นักแสดงของคณะละครออนดีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ เป็นเพื่อนชายของมายะ เขาหลงรักมายะ และอยากแสดงร่วมกับเธอ ซึ่งเขามีความสามารถที่อยู่ในระดับแนวหน้าได้เลยทีเดียว แม้ว่าเขาจะรู้ว่า มายะไม่ได้รักเขาจริงๆ และน้องสาวกับแม่ของเขาจะบอกให้เลิกหวังในตัวมายะเสียที แต่เขาก็ยังรักมายะข้างเดียวอยู่เสมอ และคอยเฝ้าดูละครของมายะอยู่ตลอดเวลา

ตัวละครรอง

[แก้]
อาโอกิ เร (青木 麗)
นักแสดงในคณะละครสึกิคาเงะ มีรูปร่างสูง และบุคลิกคล้ายกับผู้ชาย อีกทั้งยังแสดงเป็นพระเอกในละครของคณะบ่อยครั้ง ทำให้ได้รับความนิยมจากแฟนละครผู้หญิงมากเป็นพิเศษ ในบรรดาเพื่อนร่วมคณะสึกิคาเงะ เรเป็นคนที่มีความสนิทสนมกับมายะที่สุด เธอพักอยู่ห้องเดียวกับมายะ และมักจะเอ็นดูมายะเหมือนกับเป็นน้องสาว
มินาสึกิ ซายากะ (水無月さやか)
นักแสดงในคณะละครสึกิคาเงะ มัดผม 2 ข้าง พักอยู่ห้องเดียวกับมินะและไทโกะ ช่วงแรกๆ เคยแข่งขันกับมายะเพื่อชิงบทในเรื่องสี่ดรุณี แต่ภายหลังก็ได้ยอมรับในความสามารถของมายะ และเป็นเพื่อนกันในที่สุด
ซาวาตาริ มินะ (沢渡美奈)
นักแสดงในคณะละครสึกิคาเงะ เรียนหนังสือเก่งและมีผลการเรียนดี ช่วงที่คณะสึกิคาเงะถูกยุบ เธอจึงไปทำงานเป็นครูสอนพิเศษตามบ้าน ในฉบับหนังสือการ์ตูน กำลังชอบพอกับ โฮตตะ หัวหน้าคณะละครอิคคาคุจู
คาสึงะ ไทโกะ (春日泰子)
นักแสดงในคณะละครสึกิคาเงะ เป็นคนอารมณ์ดี มีรูปร่างท้วมเล็กน้อย ค่อนข้างสนิทสนมกับมินะและซายากะ
โคบายาชิ เก็นโซ (小林源造)
ผู้ติดตามของสึกิคาเงะ ติดตามรับใช้สึกิคาเงะมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ แม้ภายหลังสึกิคาเงะจะล้มป่วย เขาก็ยังคอยอยู่เคียงข้างเพื่อปรนนิบัติดูแล
จริงๆ แล้วนามสกุล "โคบายาชิ" ของเก็นโซนั้น อ้างอิงจากฉบับละครโทรทัศน์ เพราะในฉบับหนังสือการ์ตูนไม่เคยกล่าวถึงนามสกุลของเก็นโซเลย (แต่ภายหลัง ในเว็บของผู้เขียนก็ได้ลงชื่อเต็มไว้ว่า "โคบายาชิ เก็นโซ" เช่นกัน) [3]
มิสึกิ ซาเอโกะ (水城冴子)
เลขาสาวผู้มากความสามารถของมาสึมิ เคยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวของมายะอยู่ระยะหนึ่ง แม้ภายนอกจะดูเหมือนเป็นผู้หญิงที่เข้มงวด แต่แท้จริงแล้ว เธอจะคอยเป็นห่วงเป็นใยมาสึมิกับมายะอยู่เสมอ และเฝ้าหวังให้ทั้ง 2 คนยอมแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมาเสียที
เช่นเดียวกับเก็นโซ ชื่อ "ซาเอโกะ" นี้ เป็นชื่อที่อ้างอิงจากฉบับละครโทรทัศน์ เพราะในฉบับหนังสือการ์ตูนไม่เคยกล่าวถึงชื่อของมิสึกิเลย (แต่ภายหลัง ในเว็บของผู้เขียนก็ได้ลงชื่อเต็มไว้ว่า "มิสึกิ ซาเอโกะ" เช่นกัน) [4]
โอโนเดระ ฮาจิเมะ (小野寺一)
ผู้กำกับละครเวทีชื่อดัง และเป็นผู้อำนวยการของคณะละครออนดีนด้วย ร่วมมือกับมาสึมิในการที่จะแย่งชิงลิขสิทธิ์การแสดงเรื่องนางฟ้าแดงมาครอบครอง เขาให้การสนับสนุนอายูมิ ซึ่งเป็นนักแสดงในคณะอย่างสุดกำลัง และดูถูกความสามารถของมายะอย่างที่สุด โดยมักจะพูดจาในเชิงดูถูกและเสียดสีมายะ ทุกครั้งที่ได้เจอหน้า ภายหลังได้ถูกเลือกให้เป็นว่าที่ผู้กำกับเรื่องนางฟ้าสีแดง ร่วมกับ คุโรนุมะ ริวโซ
ฮายามิ เอสุเกะ (速水英介)
พ่อบุญธรรมของมาสึมิ เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของคณะไดโตะ ในอดีตเคยทำงานด้านการขนส่ง เอสุเกะมีความหลงใหลในบทบาทของนางฟ้าสีแดงเป็นอย่างมาก ที่ก่อตั้งคณะไดโตะขึ้นก็เพราะต้องการจัดแสดงเรื่องนางฟ้าสีแดงขึ้นอีกครั้ง เขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์การแสดงเรื่องนางฟ้าแดงมาครอบครอง จนถึงกับทำให้ โอซากิ อิจิเร็น ต้องฆ่าตัวตาย ปัจจุบันไม่สามารถเดินเหินได้สะดวกนัก เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อหลายปีก่อน
ฮิจิริ คาราโตะ (聖 唐人)
คนสนิทของมาสึมิ ทำงานอยู่เบื้องหลังของคณะไดโตะ และเป็นเหมือนคนส่งสารระหว่างมาสึมิกับมายะด้วย ทั้งเขาและพ่อของเขาต่างทำหน้าที่เป็นเหมือนเงาให้กับพ่อลูกตระกูลฮายามิ ในอดีต ฮายามิ เอสุเกะ เคยช่วยชีวิตเขาไว้จากการที่จะถูกฆ่าล้างครอบครัว เขาจึงยินดีทำทุกอย่างเพื่อตระกูลฮายามิ

ตัวละครอื่น ๆ

[แก้]
คิตาจิมะ ฮารุ (北島 春)
แม่ของมายะ ทำงานและอาศัยอยู่ในร้านอาหารจีนที่โยโกฮาม่า แม้จะชอบดุด่าและต่อว่ามายะว่าเป็นคนไม่เอาไหน แต่จริงๆแล้วเธอก็รักมายะมาก หลังจากที่มายะหนีออกจากบ้านไปได้พักหนึ่ง เธอก็เริ่มป่วย และมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนต้องเลิกทำงานและไปพักรักษาตัวอยู่ที่สถานพักฟื้นในจังหวัดยามานาชิ ต่อมาเธอป่วยหนักมากจนเสียชีวิต
ฮิเมกาวะ อุตาโกะ (姫川歌子)
แม่ของอายูมิ เป็นนักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของญี่ปุ่น ในอดีตเคยเป็นลูกศิษย์ของสึกิคาเงะ จิงุสะ และเป็นอีกคนหนึ่งที่ฝันอยากแสดงบท "นางฟ้าสีแดง" แม้เธอจะเป็นแม่ของอายูมิ แต่กลับไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงละครร่วมกับลูกสาวบ่อยนัก
ฮิเมกาวะ มิตสึงุ (姫川 貢)
พ่อของอายูมิ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เป็นคนที่ค่อนข้างดุและเข้มงวดมากในเวลาทำงาน แต่เมื่อได้อยู่กับครอบครัว ก็กลับกลายเป็นคนอ่อนโยนใจดีไปอย่างไม่น่าเชื่อ
โอซากิ อิจิเร็น (尾崎一蓮)
ผู้ประพันธ์เรื่อง "นางฟ้าสีแดง" เป็นคนที่ สึกิคาเงะ จิงุสะ รักและเคารพเทิดทูนอย่างที่สุด เพราะเขาคือผู้ที่เก็บสึกิคาเงะไปเลี้ยงดู และปลุกปั้นจนกลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ภายหลังได้ประสบปัญหาหลายด้านที่มี ฮายามิ เอสุเกะ อยู่เบื้องหลัง เขาจึงได้ฆ่าตัวตาย และโอนลิขสิทธิ์การแสดงเรื่อง "นางฟ้าสีแดง" ให้กับสึกิคาเงะ
โอโตเบะ โนริเอะ (乙部のりえ)
เด็กสาวที่ประทับใจในฝีมือการแสดงของมายะจนถึงกับขอสมัครตัวเป็นผู้ติดตาม แต่แท้จริงแล้วเธอมีชื่อว่า ทาชิโระ ซุซุโกะ เป็นนักแสดงที่มีความสามารถจากจังหวัดคุมาโมโตะ ที่เข้ามาใกล้ชิดมายะ ก็เพื่อหาโอกาสทำลายชื่อเสียงมายะ และแย่งชิงบทที่มายะแสดงทั้งหมดมาเป็นของตัวเอง
คุโรนุมะ ริวโซ (黒沼龍三)
ผู้กำกับละครเวทีที่มีความสามารถสูง แต่การทำงานของเขากลับไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ มากนัก เพราะเขามักจะเข้มงวด และต่อว่านักแสดงอย่างรุนแรง หากแสดงไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ คุโรนุมะเป็นอีกคนหนึ่งที่มองเห็นพรสวรรค์ในตัวของมายะ เขาจึงได้ชวนมายะมาแสดงเรื่อง "ทุ่งหญ้าที่ถูกลืม" ที่เขาเป็นผู้กำกับ จนทำให้มายะได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม และทำให้มาสึมิมองเห็นถึงความสามารถของเขา ภายหลังเขาจึงถูกรับเลือกให้เป็น 1 ในว่าที่ผู้กำกับเรื่อง “นางฟ้าสีแดง” คู่กับ โอโนเดระ ฮาจิเมะ
ทากามิยะ ชิโอริ (鷹宮紫織)
คู่หมั้นของมาสึมิ เป็นหลานสาวของประธานแห่งกลุ่มบริษัททากามิยะ มีร่างกายอ่อนแอมาตั้งแต่เด็ก จึงต้องอยู่แต่ในบ้านตลอด ทำให้ไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับผู้ชายคนอื่นมากนัก เมื่อได้เข้าพิธีดูตัวกับมาสึมิ เธอจึงรู้สึกประทับใจในตัวเขาตั้งแต่แรกพบ แม้จะรู้ดีว่ามาสึมิไม่ได้มีใจให้กับตนเองเลยก็ตาม
มาจิมะ เรียว (真島 良)
นักแสดงที่ได้แสดงร่วมกับมายะในละครเวทีเรื่อง "หุบเขาพายุ" ด้วยการแสดงที่สมจริงของมายะ ทำให้เขารู้สึกอินไปกับบทบาทในเรื่อง จนหลงรักตัวละครที่มายะเป็นผู้แสดงโดยไม่รู้ตัว
ซาโตมิ ชิเงรุ (里美 茂)
ดาราวัยรุ่นชื่อดังขวัญใจสาวๆ ได้แสดงร่วมกับมายะในละครเรื่อง "แสงจรัสจากสวรรค์" เคยคบเป็นแฟนกับมายะอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ต้องเลิกรากันไปเพราะผลกระทบจากแผนการของโอโตเบะ โนริเอะ
อาโซ ไม (麻生 舞)
แฟนใหม่ของซากุระโคจิ ไม่ค่อยชอบหน้ามายะ และไม่อยากให้ซากุระโคจิได้อยู่ใกล้ชิดกับมายะมากนัก เพราะรู้ดีว่าเขายังตัดใจจากมายะไม่ได้
คณะอิคคาคุจู (劇団一角獣)
คณะละครจากฮอกไกโด ได้รู้จักกับพวกมายะในการประกวดการแสดงระดับประเทศที่จังหวัดนาโงย่า และหลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ร่วมแสดงละครกับพวกมายะอีกหลายครั้ง

ภาพยนตร์การ์ตูน

[แก้]

หน้ากากแก้ว เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2527 โดยเอเคน ครั้งที่ 2 สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ในรูปแบบ OVA โดย TMS ส่วนครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุด สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2548 โดย TMS เช่นเดียวกัน เวอร์ชันล่าสุดนี้ มักถูกเรียกในชื่อภาษาอังกฤษว่า GLASS MASK 2005

เวอร์ชัน พ.ศ. 2527

[แก้]
หน้ากากแก้ว พ.ศ. 2527

ออกอากาศทางสถานีนิปปอนทีวี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กันยายน ถึง 4 เมษายน พ.ศ. 2527 มีความยาวทั้งสิ้น 23 ตอน ได้นำออกฉายในประเทศไทยครั้งแรกในช่อง IBC ในชื่อเรื่อง "นักรักโลกมายา" (ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น UBC และ True ในปัจจุบัน) โครงเรื่องหลักๆ จะเหมือนกับในฉบับหนังสือการ์ตูน โดยเริ่มตั้งแต่ตอนแรกที่มายะต้องวิ่งส่งบะหมี่คนเดียว จนถึงช่วงที่แสดงบทเฮเลน เคลเลอร์ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและลำดับเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องไปมากพอสมควร เช่น ในฉากที่มายะจะต้องได้ประชันฝีมือครั้งแรกกับอายูมิในการเล่นละครใบ้ กลับถูกเปลี่ยนเป็นให้มายะได้แต่แอบดูการแสดงของอายูมิเท่านั้น[5] และหลังจากที่มายะเข้าคณะละคร ก็ได้รับบทเป็นเบ็ธ ในเรื่องสี่ดรุณีทันที โดยไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนที่จะได้รับบทเลย[6] ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้ว เวอร์ชัน พ.ศ. 2548 จะมีเนื้อเรื่องที่ตรงกับในฉบับหนังสือการ์ตูนมากกว่า

ผู้ให้เสียงตัวละคร

[แก้]
ญี่ปุ่น

เพลงประกอบ

[แก้]
เพลงเปิด
  • "การาสุ โนะ คาเมน" (ガラスの仮面) ขับร้องโดย อาชิเบะ มาริโกะ (芦部真梨子)
เพลงปิด
  • "เพอร์เพิลไลท์" (パープル・ライト) ขับร้องโดย อาชิเบะ มาริโกะ (ตอนที่ 1-13)
  • "นัตสึ โนะ บิยาคุ" (夏の媚薬) ขับร้องโดย Sister Q (ตอนที่ 14-23)

เวอร์ชัน OVA

[แก้]
หน้ากากแก้ว เวอร์ชัน OVA

มีความยาว 3 ตอนจบ ออกจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2541-2542 โดยใช้ชื่อว่า "หน้ากากแก้ว เด็กสาวผู้มีหน้ากากพันหน้า" (ญี่ปุ่น: ガラスの仮面 千の仮面を持つ少女โรมาจิGarasu no Kamen Sen no Kamen wo Motsu Shoujo) ผลิตโดย TMS และจัดจำหน่ายโดย โพลีแกรม

ในประเทศไทย หน้ากากแก้ว เวอร์ชัน OVA นี้ เคยออกอากาศทาง ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ เมื่อหลายปีก่อน

ผู้ให้เสียงตัวละคร

[แก้]
ญี่ปุ่น
ไทย (ช่อง 9)

เพลงประกอบ

[แก้]
เพลงเปิด
  • "ฮิคาริ นิ นาริไต" (光になりたい) ขับร้องโดย โฮชิโนะ มาโฮะ (星乃真帆)
เพลงปิด
  • "ซึตโตะ คิมิ โตะ โซบะ นิ อิรุ" (ずっと君のそばにいる) ขับร้องโดย นามิโอกะ มาซาฮิโกะ (浪岡将彦)

เวอร์ชัน พ.ศ. 2548

[แก้]

ออกอากาศตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2548 ถึง 28 มีนาคม พ.ศ. 2549 ทางสถานีทีวีโตเกียว เป็นสถานีหลัก เรื่องราวทั้งหมดจะดำเนินตามในฉบับหนังสือการ์ตูนตั้งแต่ต้น จนถึงตอนช่วงชิงบทนางฟ้าสีแดงที่หุบเขาดอกบ๊วย แต่ได้มีการตัดทอนรายละเอียดบางส่วนออกไป เพื่อให้เนื้อเรื่องรวบรัดและกระชับขึ้น จนสามารถจบลงได้ภายใน 51 ตอนพอดี รวมทั้งได้ออกแบบทรงผม และเครื่องแต่งกายของตัวละครบางตัวขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคปัจจุบัน

ในประเทศไทย หน้ากากแก้ว เวอร์ชันนี้เคยออกอากาศทางยูบีซีสปาร์ค ช่อง 28 ของสถานีเคเบิลโทรทัศน์ยูบีซี เมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังออกวางจำหน่ายในรูปแบบวีซีดี, ดีวีดี โดยอามีโก้ และออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ในช่วงของโมเดิร์นไนน์การ์ตูน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.30 - 10.00 น. ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[7] ถึง 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2551[8]

รายชื่อตอน

[แก้]
(อ้างอิงตามฉบับลิขสิทธิ์ของอามีโก้)
1. เด็กสาวผู้มีหน้ากากพันหน้า
2. หน้ากากของวีวี่
3. นกน้อยที่หนีไป
4. บันไดเพลิง
5. คำพูดที่ถูกจำกัด
6. เบ็ธในแบบของฉัน
7. กุหลาบสีม่วง
8. เดินท่ามกลางสายลม
9. มิโดริแบบใหม่
10. มิโดริทั้งสอง ประชันบทบาท
11. พายุฤดูใบไม้ผลิ
12. เวทีที่ต้องแสดงคนเดียว
13. ต้นหญ้าแห่งวันพรุ่งนี้
14. คู่แข่งแห่งโชคชะตา
15. กับดัก
16. ผู้ทำลายเวที
17. หุบเขาพายุ
18. รับบทตุ๊กตา
19. หน้ากากหลุด
20. บทที่ถูกเปลี่ยน
21. การฝึกอันหนักหน่วง
22. การตัดสินรอบสุดท้าย
23. การต่อสู้ของเฮเลนทั้งสอง
24. วังวนแห่งโลกมายา
25. แสงจรัสจากสวรรค์
26. เงาที่จ้องทำลายมายะ
27. หลุมพรางที่มองไม่เห็น
28. ไร้คุณสมบัตินักแสดง
29. ภาพวาดของคาร์มิลล่า
30. ล้านสายรุ้ง
31. ละครแสดงเดี่ยว
32. ฝันกลางฤดูร้อน
33. มหัศจรรย์เวทีกลางแจ้ง
34. การท้าทายครั้งใหม่ของมายะ
35. อาร์ดิสและออลิเกลด์
36. กลุ่มดาวในฤดูหนาว
37. เจ้าหญิงสองพระองค์ (ปฐมบท)
38. เจ้าหญิงสองพระองค์ (ปัจฉิมบท)
39. เงาสีม่วง
40. เจน สาวน้อยหมาป่า
41. จิตวิญญาณของสัตว์ป่า
42. เสี่ยงเพื่องานเทศกาลละคร
43. ทุ่งหญ้าที่ถูกลืม
44. เวทีที่ไร้ขอบเขต
45. ดวงดาวในเมือง
46. สู่หุบเขาดอกบ๊วย
47. เปลวเพลิงแห่งรัก
48. คืนแห่งฝัน
49. วิญญาณอีกครึ่งหนึ่ง
50. หน้ากากของนางฟ้า
51. นางฟ้าสีแดง

ผู้ให้เสียงตัวละคร

[แก้]
ญี่ปุ่น
ไทย (อามีโก้)
  • ฮายามิ เอสุเกะ - ไกวัล วัฒนไกร
  • ฮิจิริ คาราโตะ - ไกวัล วัฒนไกร
  • ฮิเมกาวะ อุตาโกะ - ศันสนีย์ ติณห์กีรดีศ
  • ฮิเมกาวะ มิตสึงุ - ภัคภูมิ ลิ้มมานะสภาพร
  • คิตาจิมะ ฮารุ - อรุณี นันทิวาส
  • คุโรนุมะ ริวโซ - ภัคภูมิ ลิ้มมานะสภาพร
  • ทากามิยะ ชิโอริ - วิภาดา จตุยศพร
  • มาจิมะ เรียว - ไกวัล วัฒนไกร
  • อาโซ ไม - วิภาดา จตุยศพร
  • เก็นโซ - ภัคภูมิ ลิ้มมานะสภาพร
  • บรรยาย - ไกวัล วัฒนไกร
ไทย (โมเดิร์นไนน์ทีวี)
  • ฮิจิริ คาราโตะ - อิทธิพล มามีเกตุ
  • ฮิเมกาวะ อุตาโกะ - ศรีอาภา เรือนนาค
  • ฮิเมกาวะ มิตสึงุ - สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล
  • คิตาจิมะ ฮารุ - ฉันทนา ธาราจันทร์
  • คุโรนุมะ ริวโซ - ไกวัล วัฒนไกร
  • ทากามิยะ ชิโอริ - อรุณี นันทิวาส
  • มาจิมะ เรียว - สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล
  • ซาโตมิ ชิเงรุ - สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล
  • อาโซ ไม - ศรีอาภา เรือนนาค
  • บรรยาย - ไกวัล วัฒนไกร

เพลงประกอบ

[แก้]
เพลงเปิด
  • "Promise" ขับร้องโดย Candy (ตอนที่ 1-26)
  • "zero" ขับร้องโดย อิคุตะ ไอโกะ (幾田愛子) (ตอนที่ 27-51)
เพลงปิด
  • "ยาซาชี่ ซาโยนาระ" (やさしいさよなら) ขับร้องโดย ไอนะ (愛名) (ตอนที่ 1-13)
  • "Step One" ขับร้องโดย Sister Q (ตอนที่ 14-26)
  • "สุนาโอะ นิ นาเรนาคุเตะ" (素直になれなくて) ขับร้องโดย Splash Candy (ตอนที่ 27-39)
  • "Hello Hello ~another star~" ขับร้องโดย CORE OF SOUL (ตอนที่ 40-51)

ตารางการออกอากาศ

[แก้]
ญี่ปุ่น
  • ทีวีโตเกียว ทุกวันอังคาร เวลา 1.30 - 2.00 น
  • ทีวีไอจิ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 1.28 - 1.58 น
  • ทีวีโอซาก้า ทุกวันอังคาร เวลา 2.05 - 2.35 น
  • AT-X ทุกวันอังคาร เวลา 11.00 - 11.30 น
ไทย
  • ทรูสปาร์ค ทุกวันจันทร์-พุธ เวลา 19.00 - 19.30 น. (จบแล้ว)
  • ทรูสปาร์ค (รีรัน) ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 - 11.30 น. และ 15.00 - 15.30 น.
  • ทรูสปาร์ค (รีรัน) ทุกวันอาทิตย์-จันทร์ เวลา 05.30 - 06.00 น. ฉายซ้ำกับวันเสาร์-อาทิตย์เวลา 15.00 - 15.30 น.
  • การ์ตูนคลับ
  • โมเดิร์นไนน์ทีวี ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.30 - 10.00 น.

รายชื่อตอน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.animenewsnetwork.com/news/2013-04-22/glass-mask-manga-no.50-delayed-until-further-notice
  2. Mask's Miuchi: Manga is Moving Along Toward End[ลิงก์เสีย]
  3. http://homepage2.nifty.com/suzu/invite/sec30/genzo_room.htm[ลิงก์เสีย]
  4. http://homepage2.nifty.com/suzu/invite/sec30/mizuki_room.htm[ลิงก์เสีย]
  5. หน้ากากแก้ว ฉบับภาพยนตร์การ์ตูน ตอนที่ 1, กิซาบุโร่ สุงิอิ (ผู้กำกับ) , เอเคน (สตูดิโอ) , พ.ศ. 2527
  6. หน้ากากแก้ว ฉบับภาพยนตร์การ์ตูน ตอนที่ 2, กิซาบุโร่ สุงิอิ (ผู้กำกับ) , เอเคน (สตูดิโอ) , พ.ศ. 2527
  7. กัชเบลกลับมาแล้ว พร้อมหน้ากากแก้วสุดสนุก... เก็บถาวร 2007-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Modernine Cartoon, 31 ต.ค. 2550 (เรียกข้อมูลวันที่ 4 พ.ย. 2550)
  8. พฤษภาคมนี้ มีอะไรจะบอก... เก็บถาวร 2008-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Modernine Cartoon, 24 ม.ย. 2551 (เรียกข้อมูลวันที่ 3 พ.ค. 2551)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
แฟนไซต์