ละครโน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การละครโนงากุ *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
การแสดงละครโนที่ศาลเจ้าอิตสึกูชิมะ
ประเทศธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
สาขาศิลปะการแสดง
อ้างอิง00012
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2008 (คณะกรรมการสมัยที่ 3)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

โน หรือ ละครโน (ญี่ปุ่น: โรมาจิ, มาจากคำว่า "ทักษะ" หรือ "ความสามารถ" ของคำภาษาจีน-ญี่ปุ่น) เป็นศิลปะการแสดงนาฏกรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมแขนงใหญ่ที่แสดงมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 พัฒนาโดย คันอามิ คิโยสึกุ และบุตรชายของเขา เซอามิ โมโตกิโยะ ละครโนเป็นศิลปะการแสดงที่เก่าแก่ที่สุดและยังคงสืบทอดต่อกันมาจวบจนถึงทุกวันนี้[1] แม้คำว่า โน และโนงากุ (能楽, Nōgaku) จะสามารถนำมาใช้แทนกันได้ก็ตาม แต่โนงากุจะครอบคลุมความหมายของทั้งละครโนและเคียวเง็น ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา การแสดงโนงากุเต็มรูปแบบจะประกอบไปด้วยการแสดงละครโนหลายองก์ที่มีการแสดงตลกเคียวเง็นคั่นกลางระหว่างการสับเปลี่ยนหรือช่วงพักการแสดง ในปัจจุบันนิยมทำการแสดงละครโนสององก์และเคียวเง็นหนึ่งบท นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มการแสดงประกอบพิธีกรรมที่เรียกโอกินะ ({翁, Okina) ในตอนต้นของการแสดงโนงากุ

เนื้อหาของละครโนจะอิงจากนิทานวรรณกรรมโบราณ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเทพเจ้าแปลงกายเป็นมนุษย์ รับหน้าที่เป็นตัวเอกคอยบรรยายเนื้อเรื่องตลอดการแสดง ละครโนจะมีการใช้หน้ากาก เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบร่วมกับการรำ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้แสดงและนักดนตรีที่ได้รับการฝึกอย่างดี อารมณ์ความรู้สึกจะถ่ายทอดผ่านนาฏยภาษาที่เป็นแบบแผนและหน้ากากที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์บอกบทบาทต่าง ๆ เช่น วิญญาณ ผู้หญิง เทพเจ้า และภูตผีปิศาจ[2] ละครโนจะให้น้ำหนักไปทางขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมามากกว่าการรับนวัตกรรมใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังถูกจัดประมวลและวางระเบียบอย่างเป็นแบบแผนโดยระบบอิเอโมโตะ

ประวัติ[แก้]

เวทีละครโนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่อิตสึกูชิมะ
เสื้ออาภรณ์คาราโอริในยุคเอโดะช่วงศตวรรษที่ 18 ลายตารางไม้ไผ่และดอกเบญจมาศ

ต้นกำเนิด[แก้]

คันจิของคำว่า โน (能) หมายถึง "ทักษะ" "งานฝีมือ" หรือ "ความสามารถ" อย่างเฉพาะเจาะจงในแวดวงศิลปะการแสดง คำว่า โน อาจใช้อยู่เดี่ยว ๆ หรือคู่กับ กากุ (, ความบันเทิงหรือดนตรี) เพื่อสร้างคำโนงากุ ในปัจจุบันละครโนเป็นขนบธรรมเนียมที่ได้รับการเคารพโดยผู้คนจำนวนมาก หากใช้อยู่เดี่ยว ๆ โนจะหมายถึงประเภทของละครทางประวัติศาสตร์ที่มีต้นกำเนิดมาจากซารูงากุ (猿楽, Sarugaku) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 และยังคงแสดงอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้[3]

รากฐานการแสดงละครโนและเคียวเง็นที่เก่าแก่ที่สุดคือซังงากุ [ja] โดยประเทศญี่ปุ่นได้รับมาจากประเทศจีนในศตวรรษที่ 8 ณ ขณะนั้น คำว่าซังงากุ หมายถึงการแสดงหลากหลายประเภทที่มีทั้งกายกรรม ดนตรี และการเต้นรำประกอบอยู่ เช่นเดียวกันกับการแสดงตลกแบบสเก็ตช์คอมเมดี ซึ่งหลังจากการดัดแปลงซังงากุสู่สังคมญี่ปุ่นที่นำพาไปสู่การกลายกลืนของรูปแบบทางศิลปะดั้งเดิมอื่น ๆ[2] องค์ประกอบของศิลปะการแสดงที่หลากหลายของซังงากุ เฉกเช่นเดียวกันกับองค์ประกอบการแสดงของเด็งงากุ (田楽, Dengaku; เพลงทุ่งนา, การเฉลิมฉลองการปลูกข้าวในท้องถิ่น) ซารูงากุ (การแสดงที่ประกอบไปด้วยกายกรรม เล่นพิเรนทร์ และละครใบ้) ชิราเบียวชิ (白拍子, Shirabyōshi, รำโบราณโดยผู้แสดงหญิงในพระราชวังในศตวรรษที่ 12) กางากุ (雅楽, Gagaku, การรำและการแสดงดนตรีในพระราชวังตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7) และ คางูระ (神楽, Kagura, รำชินโตโบราณในนิทานชาวบ้าน) ถูกวิวัฒนาการมาเป็นละครโนและเคียวเง็น[1]

การศึกษาทางพงศาวลีวิทยาของนักแสดงละครโนในศตวรรษที่ 14 ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของครอบครัวที่มีความสามารถในด้านศิลปะการแสดง ตามตำนานแล้วโรงเรียนคนปารุ (ญี่ปุ่น: 金春流โรมาจิKonparuryō) ซึ่งถือเป็นโรงเรียนละครโนที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งโดยฮาตะ โนะ คาวากัตสึ (ญี่ปุ่น: 秦河勝โรมาจิHata no Kawakatsu) ในศตวรรษที่ 6 แต่อย่างไรก็ตามผู้ก่อตั้งโรงเรียนคนปารุซึ่งเป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์คือคนปารุ กนโนกามิ ในยุคราชสำนักเหนือ-ใต้เสียมากกว่า จากพงศาวลีของโรงเรียนดังกล่าว คนปารุ กนโนกามิเป็นทายาทรุ่นที่ 53 ของฮาตะ โนะ คาวากัตสึ โรงเรียนคนปารุสืบทอดมาจากคณะผู้แสดงซารูงากุในศาลเจ้าคาซูงะและวัดโคฟูกุในจังหวัดยาโมโตะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนาระ)[4][5][6]

อีกหนึ่งทฤษฎีโดยชินฮาจิโร มัตสึโมโตะ สันนิษฐานว่าละครโนมีต้นกำเนิดจากผู้ไร้วรรณะที่พยายามยกสถานะทางสังคมของตนให้สูงขึ้นด้วยการมอบความบันเทิงแก่ผู้ที่มีอำนาจในขณะนั้น กล่าวคือซามูไรที่เป็นผู้ปกครองชนชั้นวรรณะ การโอนถ่ายอำนาจของโชกุนจากคามากูระไปยังเกียวโตในตอนต้นของยุคมูโรมาจิซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มอำนาจของชนชั้นซามูไรและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างโชกุนและพระราชวัง ขณะที่ละครโนเป็นรูปแบบทางศิลปะที่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าโชกุน ละครโนจึงสามารถเป็นศิลปะที่สง่างามได้ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ โดยในศตวรรษที่ 14 ด้วยแรงสนับสนุนและการอุปถัมภ์ค้ำชูจากโชกุนอาชิกางะ โยชิมิตสึ บุตรชายของคันอามิ เซอามิ โมโตกิโยะ จึงสามารถทำให้ละครโนเป็นศิลปะการแสดงโรงละครที่มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงได้[3]

การริเริ่มละครโนโดยคันอามิและเซอามิ[แก้]

ยุคมูโรมาจิในศตวรรษที่ 14 (ค.ศ. 1336–1573) คันอามิ คิโยสึกุ และบุตรชายของเขา เซอามิ โมโตกิโยะ ได้ตีความศิลปะการแสดงดั้งเดิมที่หลากหลายใหม่อีกครั้ง และพัฒนาละครโนให้แตกต่างไปจากแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิงจนเป็นละครโนในปัจจุบัน[7] คันอามิเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงจากการเล่นเป็นหญิงอรชร เด็กชาย ไปจนถึงชายแกร่ง เมื่อเขาได้ทำการแสดงแก่อาชิกางะ โยชิมิตสึที่ ณ ขณะนั้นอายุ 17 ปี เป็นครั้งแรก เซอามิที่ยังเป็นเด็กอายุราว 12 ปี ในการแสดงครั้งนั้น โยชิมิตสึได้ชื่นชอบการแสดงของเซอามิและชักชวนเขาให้ไปเล่นในพระราชวัง จึงทำให้ละครโนถูกแสดงอยู่บ่อยครั้งเพื่อโยชิมิตสึตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[3]

คนปารุ เซ็นจิกุ ซึ่งเป็นเหลนของคนปารุ กนโนกามิ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนคนปารุ และสามีของลูกสาวของเซอามินำองค์ประกอบของวากะ (กวี) ไปใช้ในการแสดงละครโนของเซอามิและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป[8][6]

ในบรรดาโรงเรียนละครโนหลักทั้ง 5 โรง มีโรงเรียน 4 โรงอันได้แก่ โรงเรียนคันเซะ ก่อตั้งโดยคันอามิและเซอามิ โรงเรียนโฮโช ก่อตั้งโดยพี่ชายคนโตของคันอามิ โรงเรียนคนปารุ และโรงเรียนคงโง โรงเรียนเหล่านี้สืบทอดมาจากคณะผู้แสดงซารุงากุในจังหวัดยาโมโตะ รัฐบาลโชกุนอาชิกางะให้การสนับสนุนเพียงแค่โรงเรียนคันเซะจาก 4 โรงเท่านั้น[5][9]

ยุคโทกูงาวะ[แก้]

ในช่วงยุคเอโดะ ละครโนถูกมองว่าเป็นศิลปะของชนชั้นสูงที่ได้รับการสนับสนุนจากโชกุน และขุนนางในระบอบศักดินา (ไดเมียว) เช่นเดียวกันกับสามัญชนผู้มีความร่ำรวยและมากประสบการณ์ ในขณะที่คาบูกิและโจรูริ (ญี่ปุ่น: 浄瑠璃โรมาจิJōruri) นั้นเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลางที่ชื่นชอบความบันเทิงแบบใหม่ที่อยู่ในขั้นลองผิดลองถูก ละครโนจึงต้องพยายามและดิ้นรนในการคงรักษาประวัติศาสตร์ของละครโนที่ถ่องแท้และมาตรฐานการแสดงที่สูงไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ตลอดยุคเอโดะ และเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวแก่นสาระของการแสดงโดยนักแสดงละครโนมืออาชีพ ทุกรายละเอียดของท่าทางและตำแหน่งการยืนจะถูกทำเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อสืบทอดต่อไปแก่รุ่นอื่น ๆ ในอนาคต ส่งผลให้จังหวะของการแสดงค่อย ๆ ช้าลงตามกาลเวลา[3]

ในยุคโทกูงาวะ รัฐบาลเอโดะได้กำหนดให้โรงเรียนคันเซะเป็นหัวหน้าของโรงเรียนละครโน อีก 4 โรง คิตะ ชิจิดายู (ชิจิดายู โชโน) นักแสดงละครโนที่รับใช้โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ ได้ก่อตั้งโรงเรียนคิตะ ซึ่งเป็นโรงเรียนละครโนสุดท้ายในบรรดาโรงเรียนละครโนหลัก 5 โรง[5][9]

ละครโนสมัยใหม่หลังยุคเมจิ[แก้]

ในโรงละครโน ปี 1891 โดยโองาตะ เก็กโก

หลังจากการล่มสลายของรัฐบาลเอโดะในปี 1868 และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความทันสมัยใหม่ ส่งผลให้ละครโนไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐอีกต่อไปและต้องประสบกับวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ หลังจากการฟื้นฟูเมจิไม่นาน ตัวเลขของผู้แสดงละครโนและเวทีละครโนลดลงอย่างเห็นได้ชัด การสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลจักรวรรดิได้กลับคืนมาหลังผู้แสดงละครโนยื่นขออุทธรณ์แก่นักการทูตต่างประเทศ บริษัทที่ยังคงอยู่ตลอดยุคเมจิได้ทำให้ละครโนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นโดยการทำการแสดงแก่สาธารณชน หรือทำการแสดงที่โรงละครในเมืองใหญ่ ๆ เช่น โตเกียวและโอซากะ[10]

ในปี 1957 รัฐบาลญี่ปุ่น ได้กำหนดให้โนงากุเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำคัญที่จับต้องไม่ได้ซึ่งส่งผลให้โนงากุและนักแสดงได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย มีการเปิดให้บริการโรงละครโนแห่งชาติ (ญี่ปุ่น: 国立能楽堂โรมาจิKokuritsu Nō Gakudō) โดยรัฐบาลในปี 1983[11] เพื่อทำการแสดงและจัดหลักสูตรฝึกหัดแก่นักแสดงในการรับบทนำในโนงากุ ในปี 2008 โรงละครโนงากุได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติโดยยูเนสโก[2]

แม้คำว่า โน และโนงากุ จะสามารถนำมาใช้แทนกันได้ก็ตาม แต่ตามคำจำกัดความของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นโนงากุจะครอบคลุมความหมายของการแสดงทั้งละครโนและเคียวเง็น[12] โดยจะแสดงเคียวเง็นคั่นกลางระหว่างช่วงสับเปลี่ยนการแสดงละครโนบนเวทีเดียวกัน เมื่อเปรียบกับละครโน เคียวเง็นจะไม่ค่อยใช้หน้ากากและแผลงมาจากการแสดงเชิงตลกขบขันเรียกซังงากุดังจะทราบได้จากบทพูดของการแสดง

ผู้หญิงในละครโน[แก้]

ในยุคเอโดะ ระบบสมาคม (guild system) ที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำการแสดงละครโนได้ค่อย ๆ เคร่งขรัดมากยิ่งขึ้น เว้นแต่โสเภณีชั้นสูง (courtesan) ที่สามารถเล่นดนตรีในบางโอกาสได้บ้างเป็นกรณีพิเศษ[13] ต่อมาในยุคเมจิผู้แสดงละครโนได้มีการฝึกสอนการแสดงให้แก่สามัญชนที่มีความร่ำรวยและขุนนางซึ่งนำไปสู่โอกาสที่จะมีผู้แสดงหญิงมากขึ้นเนื่องจากผู้เข้ารับการฝึกที่เป็นผู้หญิงยืนกรานที่จะรับการฝึกจากอาจารย์ที่เป็นผู้หญิงเช่นกัน[13] ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โรงเรียนดนตรีโตเกียว (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปกรรมโตเกียว) ได้อนุญาตให้ผู้หญิงเข้ารับการศึกษาได้ ทำให้กฎที่ห้ามผู้หญิงศึกษาในโรงเรียนละครโนต่าง ๆ ได้รับการผ่อนปรน ในปี 1948 และ 2004 ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมสมาคมละครโนต่าง ๆ ได้ ในปี 2007 โรงละครโนแห่งชาติเริ่มจัดการแสดงที่มีผู้แสดงเป็นผู้หญิงในทุกปี[14][15] และในปี 2009 มีนักแสดงละครโนชายประมาณ 1,200 คน และหญิงราว 200 คน[16]

โจฮากีว[แก้]

โจฮากีวมาจากคำว่ากางากุ (ดนตรีที่เล่นในพระราชวัง) แนวคิดของโจฮากีวจะควบคุมทุกองค์ประกอบของละครโน เช่น การจัดเรียงลำดับ โครงสร้าง ดนตรี ความเร็วของจังหวะ และการรำของการแสดง เป็นต้น โดย โจ หมายถึงการเริ่มต้น ฮา หมายถึง การแตกหัก และ กีว หมายถึง รวดเร็วเร่งรัด การนำแนวคิดโจฮากีวไปใช้สามารถพบเห็นได้ในจารีตประเพณีต่าง ๆ เช่น ละครโน พิธีน้ำชา กวีนิพนธ์ และการจัดดอกไม้[17]

โจฮากีวจะถูกนำไปใช้ในการแสดง 5 องก์ของละครโน องก์แรกคือโจ องก์ที่สอง สาม และสี่คือฮา และองก์ที่ห้าคือกีว ซึ่งจากการนำแนวคิดโจฮากีวมาใช้ในละครโน จึงมีการแบ่งประเภทของการแสดงออกเป็น 5 ประเภท โดยองก์หนึ่งจะถูกเลือกและแสดงเป็นลำดับ ในแต่ละองก์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแนะนำ ช่วงพัฒนาเนื้อเรื่อง และช่วงสรุป การแสดงจะเริ่มต้นด้วยจังหวะที่ช้า (โจ) ค่อย ๆ เร็วขึ้น (ฮา) และถึงจุดสูงสุด (กีว)[18]

ผู้แสดงและบทบาท[แก้]

คันเซะ ซากง [ja], 1895–1939), ครูใหญ่โรงเรียนคันเซะ

ตามขนบธรรมเนียม นักแสดงละครโนจะเริ่มการฝึกฝนตั้งแต่อายุ 3 ปี

การฝึกหัด[แก้]

เซอามิได้แบ่งการแสดงละครโนออกเป็น 9 รูปแบบ จากการเน้นอากัปกริยาท่าทางและความรุนแรงไปจนถึงการเปรียบได้ดั่งดอกไม้ที่น่าเกรงขามและความองอาจของจิตวิญญาณ[19][20]

ในปี 2012 ยังมีโรงเรียนละครโนที่ยังคงเปิดการเรียนการสอนชิเตะ 5 โรงได้แก่ โรงเรียนคันเซะ (ญี่ปุ่น: 観世流) โรงเรียนโฮโช (ญี่ปุ่น: 宝生流) โรงเรียนคนปารุ (ญี่ปุ่น: 金春流) โรงเรียนคงโง และโรงเรียนคิตะ (ญี่ปุ่น: 喜多流) ในชื่อโรงเรียนของแต่ละโรงจะมีชื่อของครอบครัวในระบบอิเอโมโตะที่มีอำนาจในการสร้างบทละครใหม่หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงและรูปแบบการแสดงใหม่ได้[21] นักแสดงที่ได้รับบทเป็นวากิจะผ่านการฝึกหัดในโรงเรียนทากายาซุ (ญี่ปุ่น: 高安流) โรงเรียนฟูกูโอ (ญี่ปุ่น: 福王流) และโรงเรียนโฮโช สำหรับโรงเรียนอื่น ๆ เช่น โรงเรียนโอกูระ (ญี่ปุ่น: 大蔵流) และโรงเรียนอิซูมิ (ญี่ปุ่น: 和泉流) จะเปิดการสอนและฝึกหัดการแสดงเคียวเง็น และโรงเรียนอีก 11 โรงจะฝึกการเล่นเครื่องดนตรี โดยแต่ละโรงเรียนจะมีความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีใดเครื่องดนตรีหนึ่งหรืออาจมากกว่านั้นเป็นพิเศษ[22]

สมาคมนักแสดงโนงากุ (ญี่ปุ่น: 能楽協会) ซึ่งนักแสดงละครโนมืออาชีพเป็นสมาชิกนั้นจะคุ้มครองและปกป้องจารีตประเพณีที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ (อิเอโมโตะ) แต่อย่างไรก็ตาม เอกสารลับหลายฉบับของโรงเรียนคันเซะที่เขียนโดยเซอามิและคนปารุ เซ็นจิกุก็หลุดออกมาสู่ชุมชนของนักวิชาการด้านเวทีการแสดงญี่ปุ่น[22]

บทบาท[แก้]

เวทีละครโน ประกอบไปด้วย ชิเตะ (กลาง) วากิ (ขวาหน้า) สมาชิกจิอูไต 8 คน (ขวา) ฮายาชิคาตะ 4 คน (หลังกลาง) และโคเก็ง 2 คน (หลังซ้าย)

สามารถแบ่งประเภทของนักแสดงละครโนได้ออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ชิเตะ วากิ เคียวเง็น และ ฮายาชิ[5][23][24]

  1. ชิเตะ (ญี่ปุ่น: 仕手, シテ) ตัวเอกหรือตัวชูโรง ในช่วงแรกของการแสดง ชิเตะจะปรากฏตัวเป็นมนุษย์ (เรียกว่า มาเอะชิเตะ) ก่อนที่จะแปลงตนเป็นวิญญาณ (เรียกว่า โนจิชิเตะ)
    • ชิเตะสึเระ (ญี่ปุ่น: 仕手連れ, シテヅレ) ผู้ติดตามรับใช้ชิเตะ บางครั้งอาจย่อเหลือเพียง "สึเระ (ญี่ปุ่น: 連れ, ヅレ)" ซึ่งครอบคลุมความหมายของคำว่า ชิเตะสึเระ และ วากิสึเระ
    • โคเก็ง (ญี่ปุ่น: 後見) ผู้ควบคุมเวที มักจะมีหนึ่งถึงสามคน
    • จิอูไต (ญี่ปุ่น: 地謡) เป็นคณะขับร้องหมู่ มักจะประกอบไปด้วยหกถึงแปดคน
  2. วากิ (ญี่ปุ่น: 脇, ワキ) ตัวรองหรือตัวสมทบชิเตะ
    • วากิสึเระ (ญี่ปุ่น: 脇連れ, ワキヅレ) เป็นผู้ติดตามรับใช้วากิ
  3. เคียวเง็น (ญี่ปุ่น: 狂言) นักแสดงเคียวเง็นจะแสดงในช่วงการเล่นสลับฉากระหว่างองก์ (ญี่ปุ่น: 間狂言) หรือสลับฉากระหว่างบทการแสดง
  4. ฮายาชิ (ญี่ปุ่น: 囃子) หรือ ฮายาชิคาตะ (ญี่ปุ่น: 囃子方) เป็นผู้เล่นเครื่องดนตรี 4 เครื่องที่ใช้ในโรงละครโน ได้แก่ ขลุ่ย (ญี่ปุ่น: โรมาจิFueทับศัพท์: ฟูเอะ) กลองใหญ่ (ญี่ปุ่น: 大鼓โรมาจิŌtsuzumiทับศัพท์: โอสึซูมิ, ญี่ปุ่น: 大皮โรมาจิŌkawaทับศัพท์: โอกาวะ) กลองเล็ก (ญี่ปุ่น: 小鼓โรมาจิKotsuzumiทับศัพท์: โคสึซูมิ) และกลองไทโกะ (ญี่ปุ่น: 太鼓โรมาจิTaiko) ส่วนขลุ่ยที่ใช้เป็นการเฉพาะในละครโนจะเรียกว่าโนกัง (ญี่ปุ่น: 能管โรมาจิNōkan)

บทละครโนโดยทั่วไปจะมีการขับร้องหมู่ วงมโหรี (กลุ่มของฮายาชิ) ผู้แสดงที่รับบทเป็นชิเตะและวากิอย่างน้อย 1 คน[25]

องค์ประกอบการแสดง[แก้]

การแสดงละครโนเป็นการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบที่หลากหลายให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน เช่น ความบริสุทธิ์ใสสะอาดที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นตามความเชื่อของลัทธิชินโต และแนวคิดแบบมินิมอลลิสม์ตามหลักสุนทรียศาสตร์ของละครโน

หน้ากาก[แก้]

หน้ากากโน ขวา: วิญญาณนักเลงสุรา (โชโจ) ทำมาจากไม้เคลือบเงากับเส้นไหมสีแดงผูกไว้โดย ฮิมิ มูเนทาดะ ยุคเอโดะ ศตวรรษที่ 19 ซ้าย: นากิโซะ บ่งบอกถึงบทบาทของเทพธิดาหรือผู้หญิงที่มีชั้นยศสูงที่ใช้ในบทละครโนเช่น ฮาโงโรโมะ และ โอฮาระ มิยูกิ ทำมาจากไม้เคลือบเงาและไม้ทาสีโดย โนรินาริ ออกแบบโดย โซอามิศตวรรษที่ 18–19
รูปภาพสามรูปของหน้ากากผู้หญิงเดียวกันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการแสดงออกทางสีหน้าตามองศาการเอียงศีรษะที่แตกต่างกัน ในภาพเหล่านี้ หน้ากากติดอยู่บนพนังและแสงไฟคงที่ มีเพียงแต่กล้องเท่านั้นที่ขยับเปลี่ยนองศา
หน้ากากโนแบบฮันเนีย ศตวรรษที่ 17 หรือ 18 ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำคัญที่จับต้องไม่ได้

หน้ากากโน (ญี่ปุ่น: 能面โรมาจิNōmenทับศัพท์: โนเมง, ญี่ปุ่น: โรมาจิOmoteทับศัพท์: โอโมเตะ) แกะสลักจากแท่งไม้ฮิโนกิ (ญี่ปุ่น: โรมาจิHinoki) และลงสีด้วยสีย้อมธรรมชาติด้วยกาวและผงเปลือกหอยที่มีเบสเป็นกลาง หน้ากากโนมีประมาณทั้งสิ้น 450 แบบที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกเป็น 60 ประเภทและมีชื่อเฉพาะเป็นของตนเอง หน้ากากบางแบบอาจใช้ได้ในบทละครโนหลายบท ในขณะที่หน้ากากน้อยแบบมีความเฉพาะเจาะจงมากและสามารถใช้ได้ในบทละครโนเพียงแค่ 1 หรือ 2 บทเท่านั้น หน้ากากละครโนบ่งบอกถึงเพศสภาพ อายุ และสถานะทางสังคมของตัวละคร นอกจากนี้นักแสดงละครโนยังสามารถสวมหน้ากากเพื่อแสดงเป็นคนหนุ่มสาว ชายสูงวัย ผู้หญิง หรืออมนุษย์ (พระเจ้า ปิศาจ หรือสัตว์) แต่เฉพาะชิเตะเท่านั้นที่จำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากในทุกบทละคร แม้ว่าสึเระอาจสวมหน้ากากในบางโอกาสเพื่อแสดงเป็นตัวละครเพศหญิง[25]

แม้ว่าหน้ากากจะปิดบังการแสดงออกทางสีหน้าของนักแสดงก็ตาม แต่การใช้หน้ากากในละครโนก็ไม่ได้ละทิ้งการแสดงออกดังกล่าวไปเสียทีเดียว ในทางตรงกันข้าม เจตนาหลักของการสวมหน้ากากคือเพื่อจัดระเบียบการแสดงออกทางสีหน้าให้เป็นแบบแผนผ่านการใช้หน้ากาก และกระตุ้นจินตนาการของผู้รับชมการแสดง นอกจากนี้นักแสดงยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและภาษากายในลักษณะที่ควบคุมได้ดีกว่า หน้ากากบางแบบนำเทคนิคการจัดแสงไฟเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านการเอียงหรือตะแคงศีรษะเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ การแหงนศีรษะขึ้น หรือการทำหน้ากาก "สว่างขึ้น" จะทำให้หน้ากากสามารถรับแสงไฟได้มากขึ้น รูปหน้าอื่น ๆ เช่น หัวเราะ หรือยิ้ม จึงปรากฏขึ้น ในทางกลับกัน การหันหน้าลงหรือการทำหน้ากาก "มืดลง" จะทำให้หน้ากากแสดงใบหน้าเศร้าหมองหรือโกรธเคือง[17]

หน้ากากโนเป็นสมบัติตกทอดมาจากครอบครัวและสถาบันละครโน โรงเรียนละครโนมีหน้ากากโนที่เก่าแก่และทรงคุณค่าที่สุดไว้ในครอบครองโดยจะสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของพวกเขาและมักไม่ได้นำออกมาให้สาธารณชนได้เห็น มีการสันนิษฐานว่า หน้ากากที่มีอายุมากที่สุด ถูกเก็บไว้ในโรงเรียนละครโนที่เก่าแก่ที่สุดเช่นกัน กล่าวคือโรงเรียนคนปารุ โดยอ้างอิงจากครูใหญ่ของโรงเรียน หน้ากากนั้นถูกแกะสลักเมื่อหลายพันปีก่อนโดยเจ้าชายโชโตกุ (ค.ศ. 572–622) ขณะที่ความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ของหน้ากากที่เจ้าชายโชโตกุแกะสลักนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียง ตำนานดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงในศาสตรนิพนธ์ของเซอามิในชื่อ "ฟูชิกาเด็ง (ญี่ปุ่น: 風姿花伝โรมาจิFūshikaden)" ที่ถูกบันทึกในศตวรรษที่ 14[26] ทั้งนี้ยังมีหน้ากากบางส่วนของโรงเรียนคนปารุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียวเป็นผู้เก็บรักษาและจัดแสดงไว้ให้ผู้เข้าชม[27]

เวที[แก้]

A contemporary Noh theatre with indoor roofed structure
โรงละครโนแบบโครงสร้างหลังคาภายในร่วมสมัย
1: ฮาชิงาการิ 2: จุดนั่งนักแสดงเคียวเง็น 3: จุดนั่งผู้ควบคุมเวที 4: กลองไทโกะ 5: กลองใหญ่ 6: กลองเล็ก 7: ขลุ่ย 8: จุดนั่งจิอูไต (คณะขับร้องหมู่) 9: จุดนั่งวากิ 10: จุดยืนวากิ 11: จุดยืนชิเตะ 12: ชิเตะ-บาชิระ (เสาชิเตะ) 13: เมสึเกะ-บาชิระ (เสานำสายตา) 14: วากิ-บาชิระ (เสาวากิ) 15: ฟูเอะ-บาชิระ (เสาขลุ่ย)

เวทีละครโนโบราณ (บูไต) เป็นเวทีแบบเปิดโดยไม่มีส่วนหน้าของเวที (proscenium) หรือผ้าม่านที่บดบังสายตา ผู้ชมยังสามารถเห็นนักแสดงก่อนที่พวกเขาจะเดินเข้าและออกจากเวทีกลาง (ญี่ปุ่น: 本舞台โรมาจิHonbutaiทับศัพท์: ฮงบูไต; เวทีหลัก) ด้วย ซึ่งสร้างความใกล้ชิดระหว่างนักแสดงและผู้ชมตลอดการแสดง โรงละครโนถือเป็นว่าเป็นสัญลักษณ์และได้รับความเคารพนับถือโดยทั้งผู้แสดงและผู้ชม[17]

ลักษณะเด่นของละครโนที่สามารถสังเกตและจดจำได้ที่สุดคือหลังคาที่มีเสาทั้ง 4 ค้ำจุนติดตั้งอยู่บนเวทีแม้ว่าโรงละครจะอยู่ภายในก็ตาม หลังคาดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ การออกแบบสถาปัตยกรรมของเวทีละครโนได้รับอิทธิพลมาจาก ไฮเด็ง (ศาลาใช้เพื่อการสักการะบูชา) หรือ คางูราเด็ง (ศาลาใช้เพื่อการเต้นรำบูชา) แบบชินโต หลังคายังทำให้พื้นที่บนเวทีเป็นหนึ่งเดียวกันและสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม[17]

เสาทั้ง 4 ที่ค้ำจุนหลังคาจะเรียกว่าชิเตะบาชิระ (เสาของตัวชูโรง) เมสึเกะบาชิระ (เสานำสายตา) วากิบาชิระ (เสาของตัวสมทบ) และ ฟูเอะบาชิระ (เสาของผู้เป่าขลุ่ย) ตามเข็มนาฬิกาจากหลังเวทีฝั่งขวามือตามลำดับ เสาแต่ละต้นจะสัมพันธ์กับนักแสดงและอากัปกิริยาของพวกเขา[28] เวทีจะทำด้วยต้นไซปรัสญี่ปุ่นหรือไม้ฮิโนกิที่ยังไม่ได้ขัดเงาเกือบทั้งหมด นักกวีและนักแต่งนวนิยาย โทซง ชิมาซากิ ได้เขียนไว้ว่า

บนเวทีละครโนนั้นจะไม่มีฉากหรือผ้าม่านกั้นใด ๆ ที่จะเปลี่ยนไปตามองก์ของเรื่อง มีเพียงแต่แผ่นกระดานหลังเวที (ญี่ปุ่น: 鏡板โรมาจิKagami Itaทับศัพท์: คางามิอิตะ) ที่เป็นภาพวาดของต้นเกี๊ยะสีเขียวซึ่งสร้างความคิดของผู้ชมว่าอะไรก็ตามที่เป็นความมืดมนได้ถูกกำจัดออกไปแล้ว การหักล้างความซ้ำซากจำเจและการทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย[17]

อีกหนึ่งลักษณะเด่นของเวทีคือฮาชิงาการิ (ญี่ปุ่น: 橋掛โรมาจิHashigakari) หรือทางเดินของนักแสดงที่ใช้เดินเข้าเวที ฮาชิงาการิแปลว่าสะพานแขวน ซึ่งสื่อความหมายโดยนัยว่าเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโลกสองโลกให้อยู่ในระดับเดียวกัน และยังเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติของละครโนโบราณที่ผีและวิญญาณมักจะปรากฏตัว เมื่อเปรียบเทียบกับฮานามิจิ (ญี่ปุ่น: 花道โรมาจิHanamichi) ในโรงละครคาบูกิ ซึ่งก็เป็นทางเดิน (ญี่ปุ่น: โรมาจิMichi; ถนน, ทาง) เช่นเดียวกันกับฮาชิงาการิ แต่ฮานามิจิเป็นทางเดินที่ใช้เชื่อมระหว่างสองสถานที่ในโลกเดียวกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วจึงมีความหมายที่แตกต่างกัน[17]

เครื่องแต่งกาย[แก้]

เครื่องแต่งกายละครโน (คาริงินุ) ลายตารางและหอยสังข์ ยุคเอโดะ ศตวรรษที่ 18 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว

นักแสดงละครโนจะสวมเสื้อคลุมทำจากผ้าไหมที่เรียกว่าโชโซกุ ตามด้วยผมปลอม หมวก และพัด ด้วยสีสันของเสื้อคลุมที่สะดุดตาและเนื้อผ้าที่เย็บปักถักร้อยอย่างประณีต เสื้อคลุมละครโนจึงจัดเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งด้วยตัวของมันเอง เครื่องแต่งกายโดยเฉพาะของชิเตะนั้นจะมีความหรูหราตระการตาเป็นอย่างยิ่งจากผ้ายกที่มีความแวววาว แต่สำหรับเครื่องแต่งกายของสึเระ วากิสึเระ และนักแสดงเคียวเง็นนั้นจะไม่โออ่าเท่าชิเตะ[17]

เป็นเวลาหลายศตวรรษ มุมมองของเซอามิที่ว่าเครื่องแต่งกายละครโนเป็นการเอาอย่างเสื้อผ้าที่ตัวละครจะสวมใส่จริง ๆ อย่างเช่นเสื้อคลุมของข้าราชสำนักและเครื่องแต่งกายของชาวไร่ชาวนาหรือสามัญชน แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 เครื่องแต่งกายละครโนถูกทำให้ทันสมัยขึ้นด้วยจารีตประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ในยุคเอโดะ (โทกูงาวะ) เสื้อคลุมที่ทำอย่างพิถีพิถันถูกมอบไปยังนักแสดงโดยขุนนางและซามูไรในยุคมูโรมาจิถูกพัฒนาเป็นเครื่องแต่งกายละครโน[29]

โดยปกตินักดนตรีและคณะขับร้องหมู่จะสวมมนสึกิกิโมโน (เสื้อคลุมสีดำประดับตกแต่งด้วยตราประจำตระกูลทั้ง 5) ร่วมกับฮากามะ (คล้ายกระโปรง) หรือ คามิชิโมะ (เครื่องแต่งกายที่เป็นการผสมผสานระหว่างฮากามะและเสื้อกั๊กแบบไหล่กว้าง) ส่วนผู้ควบคุมเวทีจะสวมเสื้อคลุมสีดำแต่ไม่มีการประดับตกแต่งใด ๆ ลักษณะคล้ายเครื่องแต่งกายของผู้ควบคุมเวทีในโรงละครแบบตะวันตกร่วมสมัย[10]

อุปกรณ์ประกอบการแสดง[แก้]

อุปกรณ์ประกอบการแสดงในละครโนนั้นมีความทันสมัยและเป็นสารัตถศิลป์ อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่จะพบได้บ่อยสุดคือพัด เนื่องจากทุกตัวละครจะถือมันโดยไม่คำนึงถึงบทบาทในการแสดง คณะขับร้องหมู่และนักดนตรีอาจถือพัดในมือระหว่างเดินขึ้นเวทีหรือสอดไว้ในโอบิ (สายคาดเอวรัดชุดกิโมโนให้แน่น) โดยปกติพัดจะถูกวางไว้ทางด้านของผู้แสดงและจะไม่นำออกมาอีกครั้งจนกว่าจะออกจากเวที นอกจากนี้พัดยังสามารถใช้แทนอุปกรณ์ประกอบการแสดงอื่น ๆ ที่ใช้มือถือได้ เช่น ดาบ เหยือกแก้ว ขลุ่ย หรือพู่กัน[17]

คูโรโกะนั่งอยู่ด้านหลังนักแสดง

เมื่อนำอุปกรณ์การแสดงที่เป็นแบบมือถือนอกเหนือจากพัดมาใช้ก็จะถูกเก็บกลับคืนโดยคูโรโกะ (ญี่ปุ่น: 黒衣โรมาจิKuroko) ที่ทำหน้าเสมือนผู้ควบคุมเวทีในโรงละครร่วมสมัย คูโรโกะสามารถปรากฏตัวได้ระหว่างการแสดงกำลังดำเนินอยู่หรือจะอยู่บนเวทีจนกว่าการแสดงจะจบก็ได้ โดยทั้งสองกรณีผู้ชมจะมองเห็นพวกเขา คูโรโกะจะสวมเสื้อคลุมสีดำเพื่อแสดงเป็นนัยว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมบนเวทีและมองไม่เห็น[10]

อุปกรณ์ประกอบฉากในละครโน เช่น เรือ บ่อน้ำ แท่นบูชา และระฆังจะถูกนำมาวางไว้บนเวทีก่อนที่จะเริ่มการแสดงของแต่ละองก์ถ้าต้องการ โดยทั่วไปอุปกรณ์ประกอบฉากเหล่านี้เป็นเพียงแค่สิ่งจำลองของวัตถุจริง ยกเว้นระฆังใบใหญ่เป็นกรณีพิเศษที่ถูกออกแบบเพื่อปิดบังนักแสดงในระหว่างการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายในช่วงการแสดงเคียวเง็นคั่นกลาง[23]

การขับร้องและดนตรี[แก้]

ฮายาชิคาตะ (นักดนตรี) จากซ้ายไปขวา: กลองไทโกะ กลองใหญ่ กลองเล็ก และขลุ่ย

โรงละครโนจะมีคณะขับร้องหมู่และวงมโหรี (กลุ่มของฮายาชิ) ที่เรียกโนบายาชิ (ญี่ปุ่น: 能囃子โรมาจิNōbayashi) ละครโนเป็นละครบทขับร้องที่มีเพียงผู้บรรยายพากย์เป็นบางส่วนเท่านั้น (เปรียบได้เหมือนอุปรากร) แต่อย่างไรก็ตาม การขับร้องในละครโนจะมีข้อจำกัดด้านระดับเสียงที่ยืดยาวและซ้ำหลายครั้งผ่านช่วงความกว้างของระดับความดังเสียงที่แคบ บทขับร้องจะให้น้ำหนักไปทางฉันทลักษณ์กลอนญี่ปุ่นแบบห้า-เจ็ดที่มีการจัดเรียงสำนวนอย่างเป็นระบบและเต็มไปด้วยการใช้คำอุปมาตลอดทั้งบท ช่วงการขับร้องของละครโนจะเรียกว่าอูไต (ญี่ปุ่น: 歌いโรมาจิUtai) และบทพูดจะเรียกว่าคาตารุ (ญี่ปุ่น: 語るโรมาจิKataru)[30] ดนตรีจะมีช่วงพักเป็นจำนวนมากระหว่างเสียงที่แท้จริง ซึ่งช่วงพักเหล่านั้นเป็นหัวใจที่แท้จริงของดนตรีในละครโน นอกจากนี้ วงมโหรี (กลุ่มของฮายาชิ) ประกอบไปด้วยนักดนตรี 4 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อฮายาชิคาตะ ซึ่งได้แก่ มือกลอง 3 คนที่เล่น กลองไทโกะ กลองใหญ่ กลองเล็ก ตามลำดับและคนเป่าขลุ่ย[17]

บางครั้งนักแสดงจะพูดบทของตนหรืออธิบายเหตุการณ์จากมุมมองของอีกตัวละครหนึ่งหรือแม้กระทั่งผู้บรรยายที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ซึ่งแตกต่างจากการขัดจังหวะของการแสดงละครโนแบบมูเก็งที่พยายามรักษาความรู้สึกของการอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งเป็นอย่างมาก

บทละครโน[แก้]

มีบทละครโนที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้อยู่ประมาณ 2,000 เรื่อง ในบรรดาบทละครเหล่านั้น 240 เรื่องถูกแสดงโดยโรงเรียนละครโนทั้ง 5 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรสนิยมการชมของชนชั้นขุนนางเป็นอย่างมากในยุคเอโดะ ทำให้ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสามัญ[3] บทละครโนสามารถจำแนกประเภทได้หลากหลายวิธี

ตัวละคร[แก้]

บทละครโนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่[10]

  • เก็นไซโน (ญี่ปุ่น: 現在能โรมาจิGenzai Nō; ละครโนปัจจุบัน) มีตัวละครมนุษย์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามเส้นเวลาตลอดบทละคร
  • มูเก็งโน (ญี่ปุ่น: 夢幻能โรมาจิMugen Nō; ละครโนจินตนิมิต) เกี่ยวข้องกับโลกเหนือธรรมชาติ ปรากฏด้วยเทพเจ้า วิญญาณ ผี หรือภาพหลอนในบทบาทของชิเตะ ส่วนใหญ่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นตามเส้นเวลาแบบไม่เชิงเส้น และการกระทำของตัวละครอาจมีการสลับสับเปลี่ยนระหว่างช่วงเวลาสองช่วงหรือมากกว่ารวมถึงภาพย้อนหลังในอดีต
  • เรียวกาเกะโน (ญี่ปุ่น: 両掛能โรมาจิRyokake Nō; ละครโนผสม) เป็นการผสมผสานระหว่างเก็นไซโนและมูเก็งโน ในปัจจุบันหาชมได้ยาก

ในขณะที่ เก็นไซโนใช้ความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกในการขับเคลื่อนโครงเรื่องและถ่ายทอดอารมรณ์ความรู้สึกออกมา มูเก็งโนเป็นการแสดงที่ให้น้ำหนักไปการใช้ภาพย้อนหลังของเหตุการณ์ในอดีตหรือเรื่องราวของคนที่เสียชีวิตไปแล้วเพื่อกระตุ้นความรู้สึกของผู้ชม[10]

รูปแบบการแสดง[แก้]

นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกประเภทละครโนได้จากรูปแบบการแสดง

  • เงกิโน (ญี่ปุ่น: 劇能โรมาจิGeki Nō) เป็นบทละครที่ให้น้ำหนักไปทางการพัฒนาเนื้อเรื่องและการบรรยายการกระทำของตัวละคร
  • ฟูรีวโน (ญี่ปุ่น: 風流能โรมาจิFuryū Nō) เป็นบทละครที่ให้น้ำหนักทางการแสดงบทเวทีที่วางแผนด้วยความประณีต มักจะมีการนำ กายกรรม อุปกรณ์ประกอบการแสดงหรือฉาก และตัวละครที่หลากหลาย[3]

แก่นเรื่อง[แก้]

การแสดงโอกินะ โฮโน (บทละครโน) ในวันตรุษญี่ปุ่น

บทละครโนสามารถจำแนกประเภทตามแก่นเรื่องออกเป็น 5 ประเภท ซึ่งนับว่าสามารถใช้ได้จริงที่สุดและถูกใช้เป็นการ[3] โดยแต่ดั้งเดิมแล้ว "การแสดงละครโน 5 องก์" จะมีแก่นเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้[10]

  1. คามิโมโนะ (ญี่ปุ่น: 神物โรมาจิKami Mono) หรือ วากิโน (ญี่ปุ่น: 脇能โรมาจิWaki Nō) โดยปกติชิเตะจะปรากฏตัวในบทของเทพเจ้าที่จะเล่าเรื่องราวลึกลับของศาลเจ้าหรือกล่าวคำสรรเสริญต่อพระเจ้าอีกองค์อย่างเฉพาะเจาะจง บทละครโนที่มีแก่นเรื่องดังกล่าวจะมีโครงสร้างที่แบ่งออกเป็น 2 องก์ โดยจะแฝงตนเป็นมนุษย์ในองก์แรกและเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในองก์ที่สอง (ตัวอย่างบทละครโนเช่น ทากาซาโงะ หรือ ชิกูบูชิมะ)[3][10]
  2. ชูระโมโนะ (ญี่ปุ่น: 修羅物โรมาจิShura Mono) หรือ อาชูระโน (ญี่ปุ่น: 阿修羅能โรมาจิAshura Nō) ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากนรกภูมิตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ตัวชูโรงจะปรากฏตัวเป็นภูติผีวิญญาณของซามูไรที่วิงวอนขอร้องแก่พระเพื่อช่วยให้ตนพ้นบาปไปจนถึงการจำลองการตายของเขาอีกครั้งในเครื่องแบบรบเต็มยศ (ตัวอย่างบทละครโนเช่น นามูระ หรือ อัตสึโมริ)[3][10]
  3. คัตสึระโมโนะ (ญี่ปุ่น: 鬘物โรมาจิKatsura Mono) หรือ อนนะโมโนะ (ญี่ปุ่น: 女物โรมาจิOnna Mono) มีชิเตะรับบทเป็นผู้หญิง เพลงและท่ารำของละครโนที่อ่อนโยนสละสลวย สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวที่อ่อนช้อยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของตัวละครผู้หญิง (ตัวอย่างบทละครโน เช่น บาโชะ หรือ มัตสึกาเซะ)[3][10]
  4. ยังมีบทละครโนจิปาถะอื่น ๆ อีก 94 บทที่ถูกแสดงในลำดับที่ 4 ของการแสดงละครโน 5 องก์ ซึ่งประกอบไปด้วยประเภทย่อยได้แก่ เคียวรังโมโนะ (ญี่ปุ่น: 狂乱物โรมาจิKyoran Mono) อนเรียวโมโนะ (ญี่ปุ่น: 怨霊物โรมาจิOnryō Mono) เก็นไซโมโนะ (ญี่ปุ่น: 現在物โรมาจิGenzai Mono) และอื่น ๆ (ตัวอย่างบทละครโน เช่น อายะ โนะ สึซูมิ หรือ คินูตะ)[3][10]
  5. คิริโน (ญี่ปุ่น: 切能โรมาจิKiri No) หรือ โอนิโมโนะ (ญี่ปุ่น: 鬼物โรมาจิOni Mono) จะปรากฏชิเตะเป็นภูตผีปีศาจ และมักถูกเลือกจากความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันของผู้แสดง คิริโนจะถูกแสดงในช่วง 5 นาทีสุดท้ายของการแสดงละครโน 5 องก์[3] มีบทละครโนประมาณ 30 บทที่ตกอยู่ในประเภทนี้ซึ่งมีความยาวที่สั้นกว่าประเภทอื่น ๆ[10]

นอกจากการจำแนกบทละครโนตามแก่นเรื่อง 5 ประเภทด้านบน โอกินะ (ญี่ปุ่น: โรมาจิOkina) หรืออาจเรียก คามิอูตะ มักจะถูกนำมาแสดงในช่วงต้นการแสดงละครโน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันปีใหม่ วันนักขัตฤกษ์ และโอกาสพิเศษอื่น[31] โอกินะเป็นการรำที่ผสมผสานมาจากพิธีกรรมทางลัทธิชินโตและถือได้ว่าเป็นประเภทของบทละครโนที่เก่าแก่ที่สุด[10]

บทละครโนที่มีชื่อเสียง[แก้]

ตารางด้านล่างเป็นการคัดเลือกบทละครโนที่มีชื่อเสียงโดยโรงเรียนคันเซะ[19]

ชื่อบทละคร คันจิ ความหมาย ประเภท
อาโออิ โนะ อูเอะ 葵上 คุณผู้หญิงอาโออิ 4 (จิปาถะ)
อายะ โนะ สึซูมิ 綾鼓 กลองยกดอก 4 (จิปาถะ)
โดโจจิ 道成寺 วัดโดโจ 4 (จิปาถะ)
ฮาโงโรโมะ 羽衣 เสื้อคลุมขนนก 3 (ผู้หญิง)
อิตสึซุ 井筒 บ่อน้ำรั้วไม้ 3 (ผู้หญิง)
มัตสึกาเซะ 松風 กระแสลมพัดต้นสน 3 (ผู้หญิง)
เซกิเดระ โคมาจิ 関寺小町 โคมาจิที่วัดเซกิ 3 (ผู้หญิง)
โชโจ 猩々 นักเลงสุรา 5 (ภูตผีปีศาจ)
โซโตบะ โคมาจิ 卒都婆小町 โคมาจิที่หลุมศพ 3 (ผู้หญิง)
ทากาซาโงะ 高砂 ที่ทากาซาโงะ 1 (เทพเจ้า)
โยริมาซะ 頼政 โยริมาซะ 2 (นักรบ)

ศัพยวิทยาทางสุนทรียศาสตร์[แก้]

เซอามิและเซ็นจิกุได้บรรยายคุณลักษณะของนักแสดงละครโนที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจละครโนให้เป็นรูปแบบทางศิลปะอย่างหนึ่ง

  • ฮานะ (ญี่ปุ่น: โรมาจิHana; ดอกไม้) ในคาเด็นโช (คู่มือการจัดดอกไม้) ของเซอามิได้เขียนอธิบายความหมายของคำว่าฮานะไว้ว่า "เมื่อคุณเชี่ยวชาญเรียนรู้ความลับของทุกสรรพสิ่งและผ่านความเป็นไปได้ในทุก ๆ ทางแล้ว ฮานะที่ไม่เคยสูญสิ้นหายไปจะยังคงอยู่"[17] นักแสดงละครโนที่แท้จริงจะพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชมที่หาได้ยากในทำนองเดียวกันกับการเพาะปลูกดอกไม้ นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่า ฮานะหรือดอกไม้ สมควรที่จะได้รับการชื่นชมโดยผู้ชม ฮานะสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ฮานะแบบที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของดอกไม้อันอ่อนเยาว์ซึ่งจะผ่านไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ฮานะแบบที่จะสร้างและแบ่งปันความสวยงามโดยสมบูรณ์ของดอกไม้ตลอดการแสดง
  • ยูเก็ง (ญี่ปุ่น: 幽玄โรมาจิYūgen; ความงามลึกซึ้งอันสูงส่ง) ยูเก็งเป็นแนวคิดที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในอดีตหมายความว่าความงดงามหรือสง่างาม ใช้เพื่อสื่อถึงความความสวยงามสมบูรณ์แบบในวากะ (กวีญี่ปุ่น) ยูเก็ง นั้นเป็นสิ่งงดงามที่มองไม่เห็น มักจะรู้สึกได้มากกว่ามองเห็นในงานศิลปะ คำศัพท์นี้ยังถูกนำมาใช้ในละครโนซึ่งสื่อถึงความงดงามยิ่งยวดของปรโลก รวมถึงการอาลัยอาวรณ์ที่สง่างามของผู้แสดง ปรากฏในบทเศร้าโศรกหรือความสูญเสีย[17]
  • โรจากุ (ญี่ปุ่น: 老弱โรมาจิRojaku) โร หมายถึงแก่ และจากุ หมายถึงความสงบเงียบ โรจากุเป็นขั้นสุดท้ายของการพัฒนาฝึกฝนทักษะการแสดงของนักแสดงละครโน โดยพวกเขาจะกำจัดการเคลื่อนไหวหรือการส่งเสียงที่ไม่จำเป็น ทิ้งไว้แต่เพียงการถ่ายทอดแก่นแท้ของฉากหรือการกระทำ[17]
  • โคโคโระ หรือ ชิน (ญี่ปุ่น: โรมาจิKokoro, Shin) หมายถึงหัวใจ จิตใจ หรือทั้งสอง โคโคโระในละครโนที่เซอามิกล่าวไว้ในคำสอนของเขาถูกจำกัดความในความหมายของจิตใจมากกว่า ในการที่นักแสดงละครโนจะสามารถรู้ซึ้งถึงฮานะได้ พวกเขาจะต้องผ่านเข้าไปสู่สภาวะไร้ความคิดหรือมูชิน (ญี่ปุ่น: 無心โรมาจิMushin)
  • เมียว (ญี่ปุ่น: โรมาจิMyō; ละเมียดละไม) เสน่ห์ของนักแสดงละครโนที่สามารถทำการแสดงได้อย่างพริ้วไหว
  • โมโนมาเนะ (ญี่ปุ่น: 物真似โรมาจิMonomane; การจำลอง) เจตจำนงของนักแสดงละครโนที่จะเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องแม่นยำซึ่งตรงข้ามกับเหตุผลทางสุนทรียศาสตร์ที่มีความเป็นนามธรรมหรืองดงามอลังการเสียมากกว่า โมโนมาเนะมีความแตกต่างกับยูเก็งอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ทั้งสองแสดงให้เห็นถึงจุดจบของความต่อเนื่องยาวนานมากกว่าจะแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง
  • คาบุอิชชิน (ญี่ปุ่น: 歌舞一心โรมาจิKabu Isshin; เพลงและการรำด้วยหัวใจดวงเดียว) เป็นทฤษฎีที่ว่าเพลง (รวมถึงกวีนิพนธ์) และการรำเป็นสิ่งคู่กัน นักแสดงละครโนจึงพยายามในการถ่ายทอดให้เห็นถึงทั้งสองสิ่งดังกล่าวด้วยหัวใจและจิตใจอย่างพร้อมเพรียง

โรงละครโนที่ยังคงอยู่[แก้]

ละครโนยังคงเล่นอยู่ในโรงละครตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ปัจจุบันมีโรงละครโนทั้งสิ้น 70 โรงทั่วประเทศญี่ปุ่น มีการเปิดการแสดงโดยนักแสดงละครโนชำนาญการหรือมือสมัครเล่น[32]

โรงละครโนที่สนับสนุนโดยภาครัฐฯ มีทั้งสิ้น 3 โรงอันได้แก่ โรงละครโนแห่งชาติ (โตเกียว) โรงละครโนนาโงยะ และโรงละครโนโอซากะ แต่ละโรงเรียนละครโนจะมีโรงละครเป็นของตน เช่น โรงละครโนคันเซะ (โตเกียว) โรงละครโนโฮโช (โตเกียว) โรงละครโนคงโง (เกียวโต) และโรงละครโนคนปารุนาระ (นาระ) นอกจากนี้ยังมีโรงละครส่วนจังหวัดและส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศญี่ปุ่นที่ทำการแสดงโดยผู้เชี่ยวชาญและมือสมัครเล่น ในบางภูมิภาคที่มีละครโนเฉพาะพื้นที่ จะมีโรงเรียนเพื่อฝึกอบรมละครโนแบบคูโรกาวะซึ่งแยกออกจากโรงเรียนละครโนดั้งเดิมทั้ง 5 โดยสิ้นเชิง[17]

มารยาทของผู้ชม[แก้]

มารยาทในการชมละครโนนั้นมีความคล้ายคลึงกับโรงละครในตะวันตกซึ่งก็คือการนั่งชมอย่างเงียบสงบ โดยจะไม่มีการใช้คำบรรยายสดบนหน้าจอ [en] แต่อาจมีการอ่านลิเบรตโต (บทละคร) ในขณะชมการแสดง และเพราะว่าบนเวทีนั้นไม่มีผ้าม่าน การแสดงจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้แสดงเดินเข้าเวทีและจบเมื่อเดินออกจากเวที โดยปกติแล้วแสงไฟในโรงละครโนจะเปิดไว้ตลอดการแสดงเพื่อสร้างความรู้สึกที่ใกล้ชิดกันระหว่างผู้แสดงและผู้ชมละครโน[10]

ในตอนท้ายของการแสดง ผู้แสดงจะตั้งแถวตอนลึกและเดินออกอย่างช้า ๆ (เรียงลำดับจากตัวละครที่สำคัญก่อนและมีช่องว่างระหว่างผู้แสดง) ขณะที่ผู้แสดงเดินมาถึงบนทางเดิน (ฮาชิงาการิ) ผู้ชมจะปรบมือและหยุด จากนั้นจึงปรบมืออีกครั้งเมื่อผู้แสดงคนถัดไปเดินออกจากเวที โดยจะแตกต่างจากโรงละครตะวันตกที่จะไม่มีการโค้งคำนับหรือกลับมาทำการแสดงอีกครั้งเมื่อลงจากเวทีไปแล้ว หรือบทละครอาจจบลงด้วยชิเตะเดินออกจากเวทีเสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง (ยกตัวอย่างบทละครโนเช่นโคกาจิ) แทนที่ตัวละครทุกตัวจะมารวมตัวกันบนเวที[19]

ช่วงสับเปลี่ยนการแสดงอาจมีการให้บริการอาหารหรือเครื่องดื่มที่ห้องโถง เช่น ชา กาแฟ หรือวากาชิ (ขนมญี่ปุ่น) ในยุคเอโดะที่ทำการแสดงละครโนทั้งวัน จะมีการรับรองมากุโนะโออูจิเบ็นโต (ญี่ปุ่น: 幕の内弁当โรมาจิMakunoouchi Bentō; ข้าวกล่องระหว่างองก์) ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในงานสำคัญต่าง ๆ เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง อาจมีการเตรียมโอมิกิ (ญี่ปุ่น: お神酒โรมาจิOmikiสาเกในงานพิธีทางการ) ไว้บริเวณทางออกสู่ห้องโถงเฉกเช่นเดียวกันกับพิธีกรรมทางลัทธิชินโต

ผู้เข้าชมจะนั่งจากแถวหน้าของเวที ทางซ้ายของเวที และมุมซ้ายหน้าของเวทีตามลำดับ ในขณะที่เสานำสายตา (ดู § เวที) จะบดบังการมองเห็นเวที ผู้แสดงโดยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตามมุมต่าง ๆ ไม่ใช่ตรงกลาง ดังนั้นจึงมีเพียงทางเดินระหว่างที่นั่งทั้งสองฝั่งมองเห็นการแสดงได้ยากและทำให้สามารถชมการแสดงได้โดยไม่มีอะไรบดบังแม้ว่าจะนั่งอยู่ตรงไหนก็ตาม[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Bowers, Faubion (1974). Japanese Theatre. Rutland, Vermont: Charles E. Tuttle Co. ISBN 9780804811316.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Nôgaku theatre". The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity. UNESCO. สืบค้นเมื่อ 21 November 2019.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 Ortolani, Benito (1995). The Japanese theatre: from shamanistic ritual to contemporary pluralism. Princeton University Press. p. 132. ISBN 0-691-04333-7.
  4. Konparu school. The Noh.com
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Shite-kata. The Noh.com
  6. 6.0 6.1 Shite-kata. The Noh.com
  7. Watanabe, Takeshi (2009). Breaking Down Barriers: A History of Chanoyu. Yale Art Gallery. p. 51. ISBN 978-0-300-14692-9.
  8. Kotobank, Konparu Zenchiku. The Asahi Shimbun
  9. 9.0 9.1 Noh schools. Wagokoro.
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 10.13 Ishii, Rinko (2009). 能・狂言の基礎知識 [The Fundamentals of Noh and Kyogen]. Tokyo: Kadokawa.
  11. "โรงละครโนแห่งชาติ | โตเกียว Attractions | การท่องเที่ยวญี่ปุ่น | เจเอ็นทีโอ". องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "Nôgaku" 能楽. National Cultural Heritage Database (ภาษาญี่ปุ่น). The Agency for Cultural Affairs, Japan. สืบค้นเมื่อ 21 November 2019.
  13. 13.0 13.1 "Living And Breathing History, Through Noh". March 24, 2018.
  14. "Living and Breathing History, Through Noh". 24 March 2018.
  15. "TRIVIA of Noh : Q25 : Can a woman become a Noh performer?". www.the-noh.com.
  16. Suzumura, Yusuke (Mar 8, 2013). "Players, Performances and Existence of Women's Noh: Focusing on the Articles Run in the Japanese General Newspapers". Journal of International Japan-Studies. สืบค้นเมื่อ Nov 8, 2014.
  17. 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 17.12 Tsuchiya, Keiichirō (2014). 能、世阿弥の「現在」 [The "Present" of Noh and Zeami] (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Kadokawa.
  18. Komparu, Kunio (1983). The Noh Theater: Principles and Perspectives. New York / Tokyo: John Weatherhill. ISBN 0-8348-1529-X.
  19. 19.0 19.1 19.2 Eckersley, M., บ.ก. (2009). Drama from the Rim. Melbourne: Drama Victoria. p. 32.
  20. "Rarified, Recondite, and Abstruse: Zeami's Nine Stages". Buddhistdoor Global (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2021-12-16.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. Hayashi, Kazutoshi (2012). 能・狂言を学ぶ人のために [For Those Learning Noh and Kyogen]. Tokyo: Sekai Shisou Sha.
  22. 22.0 22.1 "About the Nohgaku Performers' Association". The Nohgaku Performers' Association. สืบค้นเมื่อ Nov 8, 2014.
  23. 23.0 23.1 Other Roles. The Noh.com
  24. "Enjoying Noh and Kyōgen" (PDF). The Nohgaku performers' association. p. 3.[ลิงก์เสีย]
  25. 25.0 25.1 Eckersley 2009, p. 47.
  26. Rath, Eric C. (2004). The Ethos of Noh – Actors and Their Art. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Asia Center. ISBN 0-674-01397-2.
  27. "Noh masks formerly owned by Konparu Sōke". Tokyo National Museum. สืบค้นเมื่อ 2018-01-18.
  28. Brockett, Oscar G.; Hildy, Franklin J. (2007). History of the Theatre (Foundation ed.). Boston, MA: Allyn and Bacon. ISBN 978-0-205-47360-1.
  29. Morse, Anne Nishimura, et al. MFA Highlights: Arts of Japan. Boston: Museum of Fine Arts Publications, 2008. p109.
  30. Pound, Ezra; Fenollosa, Ernest (1959). The Classic Noh Theatre of Japan. New York: New Directions Publishing.[ต้องการเลขหน้า]
  31. "Introduction to Noh and Kyogen – Plays and Characters". the Japan Arts Council. สืบค้นเมื่อ 21 November 2019.
  32. "Noh Theater Search". The Nohgaku Performers Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-14. สืบค้นเมื่อ 14 December 2014.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]