สุวรรณเศียร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สุวรรณเศียร เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อเรื่องจากสุวรรณสิรสาชาดกในปัญญาสชาดกอันเป็นชาดกนอกนิบาตซึ่งแต่งโดยภิกษุชาวล้านนาภาคเหนือ

สุวรรณเศียรเป็นวรรณกรรมของทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนทางภาคเหนือเรียก อ้อมล้อมต่อมคำ ทางภาคอีสานรวมถึงในประเทศลาวเรียก ท้าวหัว หรือ ท้าวหัวข้อหล้อ ทั้งสามเรื่องมีโครงเรื่องเหมือนกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ตัวละคร ฉาก เหตุการณ์ ที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลในด้านความน่าเชื่อถือให้สอดคล้องกับคำสอนและค่านิยมท้องถิ่น รวมถึงความสนุกสนาน สุวรรณเศียรแต่งในลักษณะคำประพันธ์ที่เรียกว่ากลอนอ่าน ส่วนอ้อมล้อมต่อมคำและท้าวหัวแต่งเลียนแบบชาดกในพระไตรปิฎก คือประกอบด้วยปัจจุบันวัตถุ อดีตวัตถุและสโมทาน โดยแต่งเป็นร้อยแก้วด้วยภาษาถิ่นสลับคาถาภาษาบาลี[1] เนื้อเรื่องสุวรรณเศียรคล้ายกับสังข์ทองเพราะเนื้อหามาจากปัญญาสชาดกเช่นเดียวกัน[2] สาระสำคัญคือแม้มีความบกพร่องทางร่างกายมีแต่ศีรษะ แต่ตัวเอกมีพฤติกรรมดีอยู่ในจริยธรรมอันดีงาม มีความกตัญญูต่อมารดา[3]

ต้นฉบับเรื่องสุวรรณเศียรพบเป็นสมุดไทยขาวและไทยดำ เท่าที่มีข้อมูลต้นฉบับมี 4 ฉบับ เก็บไว้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ฉบับเก่าสุดมีอายุสมัยในรัชกาลที่ 3 ฉบับใหม่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งหมดเขียนด้วยอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนอ้อมล้อมต่อมคำ พบว่ามีการจารลงในใบลาน (หนังสือผูก) ด้วยอักษรธรรมล้านนา ปรากฏทั่วในภาคเหนือ สำหรับท้าวหัวแพร่หลายมากในภาคอีสาน พบเป็นหนังสือผูกจารด้วยอักษรธรรมอีสานในแทบทุกจังหวัด

โครงเรื่อง[แก้]

พระโพธิสัตว์ซึ่งเกิดมามีแต่ศีรษะ ยังคงกระทำความดี มีความกตัญญูต่อมารดา โดยแอบช่วยงานบ้านและเลี้ยงโค ต่อมาได้ออกเดินทางด้วยเรือสำเภาไปเกาะแห่งหนึ่ง เมื่อธิดาพญานาค 2 ตน ออกมาเล่นน้ำก็เกิดทำลายพืชพันธุ์ที่พระโพธิสัตว์ปลูกไว้จนเสียหาย จึงได้นำทรัพย์สินมาชดใช้ จากนั้นพระโพธิสัตว์เดินทางกลับไปหามารดาพร้อมกับขอให้นางไปสู่ขอกับพระธิดาองค์สุดท้องของพระยาพรหมทัตแต่พระองค์ไม่ยินยอม จะยอมยกธิดาให้หากสร้างสะพานเงินสะพานทองมาถึงพระราชวัง พระอินทร์ได้ช่วยเหลือจนได้อภิเษกสมรส

ต่อมามีผู้ยุยงให้พระยาพรหมทัตฆ่าพระโพธิสัตว์เนื่องจากมีรูปร่างไม่เหมือนมนุษย์ พระอินทร์ได้เข้ามาช่วยเหลืออีกครั้งโดยตั้งคำถามกับพระยาพรหมทัต 4 ข้อ หากตอบไม่ได้จะฆ่าให้ตาย พระองค์ไม่สามารถตอบคำถามได้แต่พระโพธิสัตว์ช่วยตอบคำถามได้หมด ทั้งยังแสดงรูปกายที่แท้จริงซึ่งงดงามยิ่งนัก พระยาพรหมทัตจึงได้ยกเมืองให้พระโพธิสัตว์สืบครองเมือง

อ้างอิง[แก้]

  1. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร. "การศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมเรื่องสุวรรณเศียร, อ้อมล้อมต่อมคำ และท้าวหัว" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "สุวรรณเศียร".
  3. พิชญา เพ็งศรี. "การศึกษาแนวคิดเชิงจริยศาสตร์ในวรรณกรรมอีสานเรื่องท้าวหัวข้อหล้อ" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.