ข้ามไปเนื้อหา

สุภาพ รัศมิทัต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุภาพ รัศมิทัต
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด1 มกราคม พ.ศ. 2468
สุภาพ รัศมิทัต
เสียชีวิต15 สิงหาคม พ.ศ. 2557 (89 ปี)
อาชีพนักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2485 - 2557
ผลงานเด่นฉันไม่ชอบเดือนหงาย
สังกัดวงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์

สุภาพ รัตมิทัต (1 มกราคม พ.ศ. 2468–15 สิงหาคม พ.ศ. 2557) เป็นอดีตนักร้องของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่มีเพลงที่เธอบันทึกเสียงได้ไม่กี่เพลง เช่น ฉันไม่ชอบเดือนหงาย ฯลฯ

ประวัติ

[แก้]

การศึกษา

[แก้]

สุภาพจบมัธยมจากโรงเรียนเขมะศิริอนุสรณ์และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนการเรือนตามเพื่อนสนิทที่ชื่อ "สะอิ้ง" โดยเข้าไปปีเดียวกับคุณอาภรณ์ กรรณสูตร ภรรยาของครูเอื้อ

เข้าสู่วงการ

[แก้]

ตอนที่เธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนการเรือนสุภาพได้รู้จักกับคุณอาภรณ์ กรรณสูตร (ซึ่งต่อมาคือภรรยาครูเอื้อ สุนทรสนาน) โดยคุณอาภรณ์ได้ไปเล่าให้ครูเอื้อฟังว่า มีเพื่อนที่โรงเรียนการเรือนร้องเพลงเพราะ ครูเอื้อจึงให้สุภาพมาพบแต่มาหลายครั้งก็คลาดกันตลอด จนกระทั่งคุณอาภรณ์จะลาออกจากโรงเรียนการเรือนไปเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคุณสุภาพก็เตรียมลาออกไปเข้าจุฬา ทั้งคู่ได้พบกันที่ร้านรองเท้าแถวสามยอดคุณอาภรณ์จึงพาสุภาพมาพบครูเอื้อเป็นครั้งสุดท้าย ช่วงนั้นครูเอื้ออยู่ที่บ้านคุณ อาภรณ์แถวราชวิถี พอพบหน้ากันครูเอื้อก็ให้ร้องเพลงให้ฟังโดยเพลงที่เธอใช้ร้องนั้นเธอจำชื่อเพลงไม่ได้แต่เธอจำได้ว่าอายมากยกหนังสือเพลงปิดหน้าไว้ตลอด แล้วก็นัดให้ไปพบที่กรมโฆษณาการเพื่อร้องให้ท่านผู้ใหญ่ตัดสินแต่ผู้ใหญ่ในความคิดของสุภาพคือนักดนตรีอาวุโสในวงแต่ผู้ใหญ่ในที่นี้คือ ท่านอธิบดี รองอธิบดี หัวหน้ากอง และเลขา เพลงที่ใช้ร้องทดสอบคือเพลง หนาวลม และ อยู่เพื่อรัก มีครูสริ ยงยุทธเล่นเปียโนประกอบ โดยเธอไปหลบร้องอยู่หลังเปียโนเพราะอาย พอร้องเสร็จครูเอื้อก็บอกมาทำงานได้เธอดีใจมากจึงทิ้งการเรียนไปทันที

ชีวิตนักร้อง

[แก้]
สุภาพ รัศมิทัตร้องเพลงหมู่กับนักร้องวงกรมโฆษณาการ ในานเลี้ยง ส.ส.ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486

สุภาพเป็นนักร้องยุคแรกของวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยตอนที่เธอเข้ามามีนักร้องหญิงอยู่ 3 คน คือ มัณฑนา โมรากุล, รุจี อุทัยกร และสุปาณี พุกสมบุญ นักร้องชาย 2 คนคือครูล้วน ควันธรรม และเลิศ ประสมทรัพย์ โดยมีนักร้องหญิงที่เข้าวงตามเธอมาติด ๆ คือ ชวลี ช่วงวิทย์

ในช่วงแรก ๆ เธอก็ได้รับมอบหมายให้ร้องเพลงเก่า ๆ ออกอากาศ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในเวลาเดือนหงาย ฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำระเบิดมาทิ้งได้สะดวกเพราะมีแสงสว่างจากดวงเดือน ผู้คนสมัยนั้นจึงไม่ชอบเดือนหงาย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล จึงแต่งเพลง ฉันไม่ชอบเดือนหงาย ให้สุภาพร้องแต่ในเนื้อเพลงกลับสื่อถึงความรักไม่เกี่ยวกับลูกระเบิดเลยสักน้อย สุภาพอยู่กับวง 2 - 3 ปีก็ลาออกเนื่องจากเกิดสงคราม และผันตัวมาเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยแทน พอสงครามสงบครูสริ ยงยุทธ ได้มาตามให้เธอไปบันทึกเสียง 5 เพลง คือ

  1. ฉันไม่ชอบเดือนหงาย
  2. หยาดน้ำค้าง
  3. บัวงาม
  4. เธอรักใคร
  5. มะลิ

บันทึกเสียงที่โรงภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โดยส่งไปทำแผ่นที่อังกฤษทั้ง 5 เพลง แต่มีส่งกลับมาแค่สองเพลง คือ ฉันไม่ชอบเดือนหงายและหยาดน้ำค้าง สุภาพเคยหัดเล่นเปียโนกับครูสริ ยงยุทธ แต่ก็ได้เลิกไป

สูงวัย

[แก้]
จากซ้าย: จุรี โอศิริ, จันทนา โอบายวาทย์, สุปาณี พุกสมบุญ, สุภาพ รัศมิทัต ในวันครบรอบ 20 ปีวงดนตรีสุนทราภรณ์

หลังจากลาออกจากกรมโฆษณาการได้ไปเป็นครูประถมศึกษาที่โรงเรียนนันทนศึกษาและได้เป็นครูของรวงทอง ทองลั่นธมด้วยแถมยังเป็นศิษย์รักอีกต่างหาก เป็นครูได้ 2 - 3 ปีก็ลาออกมาทำสำมะโนเกษตร ต่อมารู้จักกับจำนงค์ รังสิกุลเลยร่วมกันก่อตั้งไทยโทรทัศน์ หรือต่อมาคือ อสมท. และมาเป็นผู้ดูแลการผลิตที่อสมท.จนเกษียณอายุ

หลังจากท่านเกษียณอายุราชการท่านก็ไม่ค่อยออกสื่ออะไรมากนัก ครั้งล่าสุดคือเมื่อสุนทราภรณ์ครึ่งศตวรรษ จนมีข่าวว่าท่านเสียชีวิตเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557 สวดอภิธรรมศพที่วัดธาตุทอง ศาลา15 และมีการฌาปนกิจเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ผลงาน

[แก้]
  • ฉันไม่ชอบเดือนหงาย
  • หยาดน้ำค้าง
  • เธอรักใคร
  • บัวงาม (เกียรติศักดิ์หญิงไทย)
  • มะลิ
  • อยู่เพื่อรัก (ขับร้องสด)
  • หนาวลม (ขับร้องสด)
  • ธรรมชาติกล่อมขวัญ (ขับร้องสด)

อ้างอิง

[แก้]