ฝูหวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตุ๊กตาสัตว์นำโชคประจำโอลิมปิก 2008 ทั้ง 5 ได้แก่ปลา แพนด้า หนูน้อยลูกไฟ ละมั่งทิเบต และนกนางแอ่น

ฝูหวา (จีน: 福娃; พินอิน: Fúwá) คือมาสคอตประจำมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ประกอบด้วยตัวหมีแพนด้าที่แต่งตัวเป็นปลาชื่อเป้ยเป่ยมีสีฟ้า แพนด้าชื่อจิงจิงมีสีดำ หนูน้อยลูกไฟชื่อฮวานฮวานมีสีแดง ละมั่งทิเบตชื่ออิ่งอิ๋งมีสีส้ม และนกนางแอ่นชื่อหนีหนี่มีสีเขียว

มาสคอตในโอลิมปิกครั้งนี้ถือว่ามีมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งมีมากถึง 5 ตัว มาสคอตทั้ง 5 ตัวเป็นพี่น้องกัน มีชื่อเรียงกันจากพี่คนโตถึงน้องคนเล็กว่า เป้ยเป่ย จิงจิง ฮวานฮวาน อิ๋งอิ๋ง หนีหนี่ เมื่อนำชื่อพยางค์ของแต่ละตัวมารวมกัน ก็จะเป็นคำว่า “เป่ยจิงฮวนอิ๋งหนี่” (北京欢迎你, Běijīng huānyíng nǐ) แปลว่า “ปักกิ่งขอต้อนรับท่าน”

หลังจากที่ฝูหวาถูกนำออกวางจำหน่ายในท้องตลาด ก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนเป็นอย่างมาก ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งเดือน สินค้าชนิดนี้ก็ขาดตลาด แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีของสัญลักษณ์โอลิมปิกในปักกิ่งเกมส์ว่าจะนำรายได้จำนวนมหาศาลมาสู่จีน อย่างไรก็ดี ความนิยมชมชอบของชาวจีนจำนวนมาก ก็เป็นเหตุผลให้มีผู้ดัดแปลงฝูหวาเป็นรูปลักษณ์อื่นๆที่แตกต่างไปจากรูปที่เป็นทางการ โดยส่วนหนึ่งทำขึ้นเพื่อล้อเลียนประเทศจีน หรือการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้[ต้องการอ้างอิง]

ฝูหวา[แก้]

ชื่อ เป้ยเป่ย (贝贝) จิงจิง (晶晶) ฮวานฮวาน (欢欢) อิ่งอิ๋ง (迎迎) หนีหนี่ (妮妮)
รูปภาพ
เพศ หญิง ชาย ชาย ชาย หญิง
สัญลักษณ์โอลิมปิก ห่วงสีฟ้า ห่วงสีดำ ห่วงสีแดง ห่วงสีเหลือง ห่วงสีเขียว

ฝูหวาแต่ละตัวล้วนเป็นสัญลักษณ์แทนมงคลนามธรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เป้ยเป่ย (贝贝)[แก้]

เป้ยเป่ย (贝贝) เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ เนื่องจาก “ปลา” และ “ น้ำ ” ในขนบทางศิลป์ของจีนจะหมายถึงความรุ่งโรจน์และผลการเก็บเกี่ยว ชาวจีนใช้ภาพ “ ปลาหลีกระโดดข้ามประตูมังกร” (鲤鱼跳龙门) เพื่อแสดงถึงความสำเร็จในกิจการและความใฝ่ฝันที่กลายเป็นจริง นอกจากนี้ “ปลา” (鱼) ยังมีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า “เหลือกินเหลือใช้” อีกด้วย ศีรษะของเป้ยเป่ยเป็นลวดลายปลาที่ปรากฏ ในเครื่องปั้นยุคหินใหม่ของจีน เป้ยเป่ยเป็นตุ๊กตาที่อ่อนโยนและบริสุทธิ์เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างพลิ้วไหว จึงใช้เป็นตัวแทนของห่วงสีฟ้า ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ห่วงของกีฬาโอลิมปิค

จิงจิง (晶晶)[แก้]

จิงจิง (晶晶) เป็นหมีแพนด้าตัวใหญ่ที่มีสัมมาคารวะ ในฐานะที่เป็นสัตว์ประจำชาติ จึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก จิงจิงมาจากป่ากว้าง และเป็นสัญลักษณ์ของความสมัครสมานระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ศีรษะของจิงจิงเป็นลวดลายดอกบัวถักที่ปรากฏอยู่บนเครื่องเคลือบดินเผาสมัยราชวงศ์ซ่ง จิงจิงเป็นตุ๊กตาที่มองโลกในแง่ดีและเต็มไปด้วยพลัง เป็นตัวแทนของห่วงสีดำ

ฮวนฮวน (欢欢)[แก้]

ฮวนฮวน (欢欢) ถือเป็นพี่ชายคนโตในบรรดาฝูหวาทั้ง 5 ตัว เป็นสัญลักษณ์แทนคบเพลิงโอลิมปิก ฮวนฮวนเป็นตัวแทนแห่งความฮึกเหิมซึ่งนำจิตวิญญาณโอลิมปิกไปสู่คนทั่วโลก ศีรษะของฮวนฮวนประดับด้วยลวดลายของไฟคบเพลิงที่ปรากฏบนภาพวาดฝาผนังในเมืองตุนหวง เป็นตุ๊กตาที่มีนิสัยเปิดเผยและมีความชำนาญในการเล่นกีฬาทุกประเภท เป็นตัวแทนของห่วงสีแดง

อิ่งอิ๋ง (迎迎)[แก้]

อิ่งอิ๋ง (迎迎) เป็นละมั่งทิเบตที่มีความปราดเปรียวและวิ่งเร็วปานสายฟ้าแลบ มาจากดินแดนตะวันตกอันแสนกว้างใหญ่ของจีน นำคำอวยพรที่เป็นมงคลแพร่ไปสู่ชาวโลก อิ๋งอิ๋งเป็นสัตว์สงวนซึ่งมีซึ่งมีเฉพาะในเขตที่ราบสูงชิงจั้ง ศีรษะของอิ๋งอิ๋งประดับด้วยเครื่องประดับที่ชาวจีนแถบภูเขาสูงในชิงจั้งและซินเกียงนิยมใช้กัน เป็นตุ๊กตาที่เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วและถือเป็นสัญลักษณ์ของกรีฑาประเภทลู่และลาน เป็นตัวแทนของห่วงสีเหลือง

หนีหนี่ (妮妮)[แก้]

หนีหนี่ (妮妮) เป็นนกนางแอ่นที่กระพือปีกบินบนท้องฟ้า รูปลักษณ์ของหนีหนีเกิดจากรูปนกนางแอ่นของทะเลทรายบนแผ่นว่าว ซึ่งนิยมใช้เล่นกันในปักกิ่ง คำว่า “เยี่ยน” (燕 อ่านได้ 2 เสียง) ยังเป็นตัวแทนของเมือง “เยียนจิง” (ชื่อเรียกกรุงปักกิ่งในอดีต) หนีหนีนำพาฤดูใบไม้ผลิและความสุขมาสู่ชาวโลก และโบยบินไปยังที่ต่างๆ เพื่ออวยพรให้ทุกคนประสบแต่โชคดี หนีหนีจะปรากฏตัวในสนามแข่งขันยิมนาสติก เป็นตัวแทนของห่วงสีเขียว

อ้างอิง[แก้]

  • จดหมายข่าว อาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 54 (มกราคม 2550)

ดูเพิ่ม[แก้]