ข้ามไปเนื้อหา

สลิ่ม

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สลิ่ม ในบริบทการเมืองไทยร่วมสมัย เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนหรือพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกมองว่าคลางแคลงในระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนบทบาทของกองทัพในพื้นที่การเมือง[1][2] นักรัฐศาสตร์ สุรชาติ บำรุงสุข มองว่าสลิ่มคือตัวแทนชนชั้นกลางปีกขวา[3] คำนี้ในตอนแรกใช้เรียกเฉพาะ "กลุ่มเสื้อหลากสี" หรือ กลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยเรียกตามชื่อขนมซ่าหริ่มซึ่งมีหลายสี และอาจมีความหมายเชิงดูถูก[4] ต่อมาขอบเขตความหมายได้กินความรวมไปถึงคนกลุ่มอื่นที่อยู่นอกเหนือผู้ชุมนุมในกลุ่มคนเสื้อหลากสีด้วย[2][5] คำว่าสลิ่มเริ่มถูกใช้ในงานเขียนที่เผยแพร่ทางสื่อทั่วไปอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2554[6] และกลับมาเป็นที่สนใจในบทสนทนาทางการเมืองอย่างมากอีกครั้งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อนักเรียนนักศึกษาจากหลายสถานศึกษาได้อ้างอิงถึงคำนี้ในแฮชแท็กของการชุมนุมประท้วง[1] เช่น #BUกูไม่เอาสลิ่ม[5] #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม[7] #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ[8] รวมถึงมีเพลงล้อชื่อ "ดูสลิ่ม" ออกมาในช่วงเดียวกัน โดยท่อนแรกของเนื้อเพลงคือ "ชอบกฎหมายที่สั่งตัดมาพิเศษ"[9]

ที่มา

คำนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ใช้สีเสื้อในการระบุอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ใส่เสื้อสีเหลือง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่ใส่เสื้อสีแดง โดยกลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งรวมตัวครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2553 เพื่อคัดค้านการที่กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา[10] จึงเรียกตัวเองอย่างลำลองว่า "กลุ่มเสื้อหลากสี" เพื่อแยกตัวเองออกมาจากกลุ่มการเมืองก่อนหน้า ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือ "หมอตุลย์" แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Positioning ว่า “ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเปลี่ยนจากพลังเงียบให้กลายมาเป็นพลังที่เคยเงียบเสียที” “ผมเลยชวนพวกเขามาอยู่เวทีเดียวกัน ทำให้เป็นกลุ่มเสื้อหลากสีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีพลังมากขึ้น”[11] ต่อมาผู้ติดตามการเมืองได้นำชื่อขนมไทยที่เรียกว่าซ่าหริ่มหรือสลิ่ม ที่มีเส้นหลากหลายสีมาเรียกกลุ่มดังกล่าว โดยเชื่อว่าเริ่มเรียกกันเป็นครั้งแรกในเว็บบอร์ดพันทิป.คอม[12] สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางสังคมที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงเคยกล่าวบนสื่อสังคมทวิตเตอร์ว่า "มีคนใช้คำนี้เรียกกลุ่มคนเสื้อหลากสีใน Pantip แล้วผมเอามาใช้ต่อ และปัจจุบันผมเลิกเรียกคนว่าสลิ่ม ตามที่ วาด รวี เขารณรงค์"[13]

คำจำกัดความ

มีความพยายามในการให้คำจำกัดความและความหมายของคำว่า "สลิ่ม" มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในทางการเมืองเท่านั้นแต่ยังรวมถึงทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์[14]

กันยายน 2553 ทัศนะ ธีรวัฒน์ภิรมย์ ได้อธิบายลักษณะร่วมบางประการของสลิ่มในบทความของประชาไท โดยสรุปได้เป็นนัยว่า สลิ่มเป็นกลุ่มคนที่เป็นผู้เกินกว่าราชา (Ultra-Royalist), เป็นคนที่มีการศึกษาสูงแต่จะเลือกเชื่อแต่สิ่งที่ได้รับการศึกษาในระบบมาเท่านั้น, เป็นคนที่เชื่อคนยากแต่จะเลือกเชื่อคนที่ดูดีมีความรู้, เป็นคนที่มีศีลธรรมจรรยา, เป็นคนที่ติดตามข่าวสารเรื่องการเมืองและมองทักษิณ ชินวัตรเป็นปัญหาของการเมืองไทยมาโดยตลอด, เป็นผู้มีอันจะกินมีกำลังซื้อมากและชอบนำเทรนด์, และเป็นคนที่มีความย้อนแย้งในตัวเองสูง[14]

ตุลาคม 2554 พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย http://thaipolitionary.com เก็บถาวร 2016-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ได้ให้ความหมายของคำนี้ว่าเป็น "บุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ ทั้งยังปากว่าตาขยิบ มีอคติและความดัดจริตสูง เกลียดนักการเมือง และไม่ชอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน"[15]

พฤศจิกายน 2554 Faris Yothasamuth ได้อธิบายลักษณะเฉพาะของสลิ่มในบทความของประชาไท โดยสรุปได้เป็นนัยว่า สลิ่มมีลักษณะที่เกลียดชังทักษิณ, ฝักใฝ่ลัทธิกษัตริย์นิยม, โหยหาทหาร, ไม่เชื่อมั่นประชาธิปไตยในระบบ, ขาดเหตุผลและความรู้, และมีความหลงผิดว่าตนเองดีเลิศและสูงส่งกว่าคนอื่น[2][16]

ในช่วงการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 เริ่มมีการใช้คำว่าสลิ่มกันในวงกว้างขึ้นและทำให้สื่อทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความหมายที่ร่วมกันว่า เป็นคำที่ถูกใช้ในทางเย้ยหยันหรือเหยียดหยาม (derogatory)[17][18] เรียกกลุ่มคนพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง (ultraconservative), ผู้เกินกว่าราชา (ultra-royalist)[19], และผู้สนับสนุนรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา (pro-establishment)[20][21]

การใช้คำ

ในช่วงก่อนการประท้วง 2563 มีนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิจารณ์ทางการเมืองหลายคนใช้คำนี้เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์[22] คำ ผกา[23] แต่ในช่วงการประท้วง 2563 เริ่มปรากฏการใช้คำนี้ในสื่อกระแสหลักมากขึ้น

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 จุดติด-ไม่ติด : แฮชแท็กและการชุมนุมประท้วงของนิสิตนักศึกษาบอกอะไรเราบ้าง. เดอะโมเมนตัม. 26 ก.พ. 2563 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://themomentum.co/students-protest-after-after-future-forward-party-disbanded/
  2. 2.0 2.1 2.2 Faris Yothasamuth. "อะไรคือสลิ่ม? ว่าด้วยที่มา บริบทความหมาย และคุณลักษณะเฉพาะ." 20 พ.ย. 2554 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://www.facebook.com/notes/10150458126042090/ สำเนานอกเฟซบุ๊ก https://ssgoat-farm.blogspot.com/2011/12/blog-post_27.html
  3. จับพลังคนรุ่นใหม่ ‘สุรชาติ’ ชี้สูตรล้มอำนาจนิยม-ศึกชนชั้นกลาง 2 ขั้ว ‘ปีกก้าวหน้า-ปีกสลิ่ม’. วอยซ์ออนไลน์. 6 มี.ค. 2563 (เข้าถึง 8 มี.ค. 2563) https://voicetv.co.th/read/NLJokCFeT
  4. บก.ลายจุดเห็นด้วย เลิกใช้คำว่า”สลิ่ม”ชี้เป็นอุปสรรค ไม่นำไปสู่เรียนรู้-เปลี่ยนแปลงใดๆ. มติชนออนไลน์. 18 ก.พ. 2561 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://www.matichon.co.th/politics/news_846599
  5. 5.0 5.1 "แท้จริงแล้วความหมายของคำว่า “สลิ่ม” คืออะไร ถอดความหมายจากผู้ชุมนุม #BUกูไม่เอาสลิ่ม". Workpoint News. 28 ก.พ. 2563 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://workpointnews.com/2020/02/28/political-terms-salim/
  6. ใบตองแห้ง. "คำท้าทายถึงชนชั้นกลาง." 23 พ.ย. 2554 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://prachatai.com/journal/2011/11/38001
  7. มหา'ลัยทั่วประเทศ แห่ตั้งชื่อแฮชแท็กต้านรัฐบาล ปมยุบพรรคอนาคตใหม่. เมเนเจอร์ออนไลน์. 25 ก.พ. 2563 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000018810
  8. #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ จากประท้วงที่ม.เกษตร สู่การประท้วงของนิสิตนักศึกษากว่า 10 สถาบัน. เดอะโมเมนตัม. 24 ก.พ. 2563 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://themomentum.co/flash-mob-kasetsart-university/
  9. แชร์สนั่น เพลงสุดฮา! ‘ดูสลิ่ม’ แปลงจากวงดนตรีดัง แนะวิธีพิจารณา ‘สลิ่ม’ ในความหมายทางการเมือง. มติชนออนไลน์. 29 ก.พ. 2563 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://www.matichon.co.th/politics/news_2016163 โดยเพลงดังกล่าวเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 29 ก.พ. 2563 ในช่อง SalimVEVO ที่ https://www.youtube.com/watch?v=jDsgdsSZktM มีผู้เข้าชม 119,605 ครั้งในเวลาประมาณ 2 วัน ก่อนวิดีโอจะดูไม่ได้เนื่องจากปัญหาลิขสิทธิ์ และได้เผยแพร่ซ้ำอีกครั้งเมื่อ 2 มี.ค. 2563 https://www.youtube.com/watch?v=wo7VewW2EWk
  10. มาลีรัตน์. "กลุ่มพิทักษ์สถาบัน ฯ ชุมนุมอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ." พลังหญิง. 13 เม.ย. 2553. (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) http://oknation.nationtv.tv/blog/maleerat/2010/04/13/entry-1
  11. Positioning. “เสื้อหลากสี” แทรกสงครามการเมือง." 13 พ.ค. 2553 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://positioningmag.com/12747
  12. ใบตองแห้ง. "สลิ่ม" ไม่ใช่เป็นได้ง่ายๆ นะ." 22 ก.พ. 2561 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://www.khaosod.co.th/politics/news_766939
  13. บก.ลายจุด @nuling "ผมไม่ใช่คนที่เริ่มใช้คำว่า "สลิ่ม" มีคนใช้คำนี้เรียกกลุ่มคนเสื้อหลากสีใน Pantip แล้วผมเอามาใช้ต่อ และปัจจุบันผมเลิกเรียกคนว่าสลิ่ม ตามที่ วาด รวี เขารณรงค์." 25 มิ.ย. 2562 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) https://twitter.com/nuling/status/1143326171154661376
  14. 14.0 14.1 "ข้อสังเกตบางประการในการทำความเข้าใจ "สลิ่ม"". prachatai.com.
  15. "พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย". www.facebook.com.
  16. "อะไรคือสลิ่ม? ว่าด้วยที่มา บริบทความหมาย และคุณลักษณะเฉพาะ". prachatai.com.
  17. "Thailand's protesters take on 'salim' as Bangkok prepares for rally". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2020-09-18.
  18. "ที่มาและความหมายของคำว่า "สลิ่ม" ศัพท์การเมืองที่หลายคนรู้จัก". www.sanook.com/campus.
  19. "Uni defends heartthrob Mario Maurer's pro-govt thesis". https://www.nationthailand.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help); แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)[ลิงก์เสีย]
  20. Welle (www.dw.com), Deutsche. "Thailand protests reveal growing generational gap on political issues | DW | 27.10.2020". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  21. "How Thailand's New Protest Movement Influences Dating". www.vice.com (ภาษาอังกฤษ).
  22. เอียวศรีวงศ์, นิธิ (2017-02-23). "นิธิ เอียวศรีวงศ์ : หากทรัมป์ยังอยู่". มติชนสุดสัปดาห์.
  23. ผกา, คำ (2016-04-21). "คำ ผกา : วังเวงในเบื้องหน้า". มติชนสุดสัปดาห์.