สมเด็จพระเจ้ามเหนทระแห่งเนปาล
สมเด็จพระเจ้ามเหนทระแห่งเนปาล | |
---|---|
![]() | |
พระปรมาภิไธย | สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ |
พระอิสริยยศ | พระมหากษัตริย์แห่งเนปาล |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ศาห์ |
ครองราชย์ | 14 มีนาคม พ.ศ. 2498 — 31 มกราคม พ.ศ. 2515 |
รัชกาล | 17 ปี |
รัชกาลก่อน | สมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ |
รัชกาลถัดไป | สมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทรพีรพิกรมศาหเทวะ |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
พระราชสมภพ | 11 มิถุนายน พ.ศ. 2463 |
สวรรคต | 31 มกราคม พ.ศ. 2515 (พระชนมายุ 51 พรรษา) |
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ |
พระราชมารดา | สมเด็จพระราชินีกานติแห่งเนปาล |
พระบรมราชินี | เจ้าหญิงอินดรา มกุฎราชกุมารีแห่งเนปาล สมเด็จพระราชินีรัตนาราชยลักษมีเทวีศาหะ |
พระราชบุตร | เจ้าหญิงชานติ ซิงห์แห่งเนปาล เจ้าหญิงชาราดา ชาห์แห่งเนปาล สมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทระแห่งเนปาล สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระแห่งเนปาล เจ้าหญิงโชวา ชาฮิแห่งเนปาล เจ้าชายดิเรนดราแห่งเนปาล |
สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหากษัตริย์เนปาลพระองค์ที่ 10 ครองราชย์ระหว่าง 14 มีนาคม พ.ศ. 2498 — 31 มกราคม พ.ศ. 2515
พระประวัติ[แก้]
สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ และ สมเด็จพระราชินีกานติแห่งเนปาล พระองค์ครองราชย์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2498 แต่เป็นการครองราชย์เพียงในพระนาม อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่กับตระกูลรานาซึ่งสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าราชการ และนายทหารมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2389 พระองค์จึงเปรียบเสมือนเชลยในพระราชวังนารายันหิติ พระองค์อภิเษกสมรสครั้งแรกกับสมเด็จพระราชินีอินทรราชยลักษมีเทวี[1] มีพระราชโอรส 3 พระองค์ และพระราชธิดา 3 พระองค์[2] สมเด็จพระราชินีอินทรราชยลักษมีเทวีเสด็จสิ้นพระชนม์เมื่อปีพ.ศ. 2493 ต่อมาในปีพ.ศ. 2495 พระองค์จึงอภิเษกสมรสใหม่กับสมเด็จพระราชินีรัตนาราชยลักษมีเทวีศาหะ แต่ไม่มีพระราชโอรส-พระราชธิดาด้วยกัน
หลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากอินเดียในพ.ศ. 2490 ทำให้อำนาจของตระกูลรานาเสื่อมถอยลง ในปีพ.ศ. 2493สถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายทำให้สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะกับพระราชวงศ์ตัดสินพระทัยไปประทับที่อินเดียเพื่อลี้ภัย ในที่สุดตระกูลรานาก็ได้ยอมตกลงที่จะร่วมมือกับรัฐบาลเนปาลภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ โดยใช้อำนาจร่วมกันอย่างเท่าเทียมในรัฐสภา แต่สุดท้ายตระกูลรานาก็หมดสิ้นอำนาจไป เนปาลต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งแรกกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระพลานามัยของพระองค์ไม่ดีนักพระองค์จึงสวรรคตเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2515 ขณะพระชนมายุได้ 51 พรรษา
รัชกาล[แก้]
สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์เนปาลเมื่อ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ
เมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2503 พระองค์ทรงระงับรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และไล่คณะรัฐมนตรีออก และจำคุกนายกรัฐมนตรีบิชเวชวาร์ ปราสาด โคอิราลาและบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล[3][4] พระองค์ทรงเริ่มปฏิรูปการปกครอง และดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยเป็นกลางระหว่างจีนและอินเดีย
พระองค์ได้รับตำแหน่งจอมพลอังกฤษในพ.ศ. 2503 พระองค์ได้เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินแก่ประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกินจำนวนมาก และพระองค์ยังสร้างทางหลวงไปสู่ชนบท เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาชนบทของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้เนปาลเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
ฝรั่งเศส :
พ.ศ. 2499 - เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์
ฟินแลนด์ :
พ.ศ. 2502 - เครื่องอิสริยาภรณ์กุหลาบขาว
เดนมาร์ก :
พ.ศ. 2503 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไอยรา
อิหร่าน :
พ.ศ. 2503 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปาห์ลาวี
ญี่ปุ่น :
พ.ศ. 2503 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ
โปรตุเกส :
พ.ศ. 2503 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญเจมส์แห่งดาบ
พ.ศ. 2504 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์รอยัล วิคตอเรียน เชน
เบลเยียม :
พ.ศ. 2507 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3
เยอรมนี :
พ.ศ. 2507 - เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
พ.ศ. 2510 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชสีห์แห่งเนเธอร์แลนด์
ลาว :
พ.ศ. 2513 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว
ปากีสถาน :
พ.ศ. 2513 - เครื่องอิสริยาภรณ์นิชาน เอ ปากีสถาน
พ.ศ. 2514 - เครื่องอิสริยาภรณ์ซิกาตูนา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศไทย[แก้]
- 2513 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
- 2507 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "King Birendra of Nepal". London: Daily Telegraph. 23 August 2001. สืบค้นเมื่อ 21 July 2008.
- ↑ Nepalitimes
- ↑ "Bisheshwor Prasad Koirala". Spinybabbler.org. 8 September 1914. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-11. สืบค้นเมื่อ 26 August 2011.
- ↑ "Permanent rebellion: The story of B.P. Koirala". Hinduonnet.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-25. สืบค้นเมื่อ 26 August 2011.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้ามเหนทระแห่งเนปาล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ | ![]() |
![]() พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล (14 มีนาคม พ.ศ. 2498 — 31 มกราคม พ.ศ. 2515) |
![]() |
สมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทรพีรพิกรมศาหเทวะ |