ข้ามไปเนื้อหา

บาโรกแบบอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลกรีนิช, ลอนดอนออกแบบโดยเซอร์คริสโตเฟอร์ เร็น, ค.ศ. 1694

สถาปัตยกรรมบาโรกอังกฤษ (อังกฤษ: English Baroque) เป็นคำที่ใช้กันอย่างหลวมๆ ที่อาจจะหมายถึงวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมอังกฤษที่เกิดขึ้นพร้อมกับการวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมบาโรกบนแผ่นดินใหญ่ยุโรประหว่างเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666 (1666) และ สนธิสัญญาอูเทร็คท์ที่ลงนามกันในปี ค.ศ. 1713

การวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมบาโรกอย่างแพร่หลายบนแผ่นดินใหญ่ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยเฉพาะในเยอรมนีและฝรั่งเศส แทบจะไม่มีผลแต่อย่างใดต่ออังกฤษในสมัยการปกครองของรัฐผู้พิทักษ์ และ สมัยฟื้นฟูราชวงศ์ครั้งแรก ในช่วงสิบปีตั้งแต่การเสียชีวิตของอินิโก โจนส์ในปี ค.ศ. 1652 และ การไปเยือนปารีสของคริสโตเฟอร์ เร็นในปี ค.ศ. 1665 อังกฤษก็แทบจะไม่มีสถาปนิกระดับดี ฉะนั้นก็จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจถึงสาเหตุที่อิทธิพลของสถาปัตยกรรมของแผ่นดินใหญ่ยุโรปที่แทบจะไม่ปรากฏเท่าใดนักในอังกฤษ

ลักษณะสถาปัตยกรรมบาโรกแบบอังกฤษเป็นลักษณะที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของคริสโตเฟอร์ เร็น ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากที่ทำกันบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ตรงความแจ่มแจ้งของการออกแบบ และ แนวโน้มที่ออกไปทางสถาปัตยกรรมคลาสสิก หลังจากที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน ในปี ค.ศ. 1666 คริสโตเฟอร์ เร็นก็ได้รับจ้างให้สร้างวัดใหม่ด้วยกันทั้งสิ้น 53 วัดที่ลักษณะบาโรกออกมาในรูปของโครงสร้างที่มีพลัง (dynamic structure ) และมุมมองที่สลับซับซ้อน งานชิ้นสำคัญที่สุดของคริสโตเฟอร์ เร็นคือการสร้างมหาวิหารเซนต์พอล (ค.ศ. 1675-ค.ศ. 1711) ที่มีโดมใหญ่คล้ายกับโดมของวัดขนาดใหญ่ในฝรั่งเศสและอิตาลี ลักษณะสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่เป็นการผสานระหว่างสถาปัตยกรรมพาลเลเดียนของอินิโก โจนส์กับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของภาคพื้นยุโรปได้อย่างเหมาะเจาะ

คฤหาสน์ซีตันเดอลาวาลฮอลล์ โดยเซอร์จอห์น แวนบรูห์, ค.ศ. 1718

แม้ว่าเร็นจะสร้างสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้สถาปัตยกรรมทางศาสนา แต่คฤหาสน์ชนบท แบบบาโรกที่แท้จริงหลังแรกออกแบบโดยวิลเลียม ทัลแมนที่คฤหาสน์แช็ทสเวิร์ธที่เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1687 ที่มาของลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกดังว่ามาจากจอห์น แวนบรูห์ และ นิโคลัส ฮอคสมอร์ ซึ่งทั้งสองคนต่างก็มีความสามารถในการสร้างทฤษฎีสถาปัตยกรรมของตนเอง แต่ก็ยังชอบที่จะทำงานไล่ตามหลังกันโดยเฉพาะในการสร้างคาสเซิลฮาวเวิร์ด (ค.ศ. 1699) และ วังเบล็นไฮม์ (ค.ศ. 1705)

แม้ว่าคฤหาสน์ทั้งสองจะมีลักษณะที่เทอะทะหรือออกไปในเชิงโอ่อ่าตามมุมมองของสถาปัตยกรรมอิตาลี แต่ลักษณะที่ดูหนาหนักและใหญ่โตจนเกินกว่าควรเป็นสิ่งที่ต้องตาสาธารณชนในอังกฤษ คาสเซิลฮาวเวิร์ดเป็นคฤหาสน์ที่สร้างอย่างวิจิตรโอ่อ่า (flamboyant) ที่ประกอบด้วยหอโดมที่ไม่ต่างไปจากสถาปัตยกรรมที่อาจจะพบในเดรสเดน หรือ มิวนิก แต่วังเบล็นไฮม์เป็นสิ่งก่อสร้างที่ดูหนักแน่นกว่าโดยการใช้หินขนาดใหญ่ ประตูโค้ง และซุ้มทางเข้าที่ใหญ่ที่กลายเป็นสิ่งที่เด่น

งานชิ้นสุดท้ายของเซอร์จอห์น แวนบรูห์คือคฤหาสน์ซีตันเดอลาวาลฮอลล์ (ค.ศ. 1718) เป็นคฤหาสน์ที่มีขนาดย่อม แต่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และรูปทรงการออกแบบที่เด่น แต่จะอย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมบาโรกก็มิได้เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมกันเท่าใดนักในอังกฤษ

อ้างอิง

[แก้]
  • Downes, Kerry. English Baroque Architecture. London, A. Zwemmer, 1966.

ดูเพิ่ม

[แก้]