ข้ามไปเนื้อหา

คฤหาสน์ชนบท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คฤหาสน์โฮลค์แฮมเป็นคฤหาสน์ชนบทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษ นอกจากจะเป็นการแสดงฐานะและรสนิยมของเจ้าของแล้วก็ยังเป็นศูนย์กลางของทรัพย์สินที่ดินที่ให้งานทำแก่ผู้คนเป็นจำนวนเป็นร้อย

คฤหาสน์ชนบท (อังกฤษ: Country house หรือ English country house) โดยทั่วไปหมายถึงที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่หรือคฤหาสน์ที่เดิมเป็นสมบัติส่วนบุคคลผู้มักจะมีคฤหาสน์สำคัญ (great house) อีกหลังหนึ่งในเมือง ซึ่งทำให้สามารถใช้เวลาได้ทั้งในเมืองและในชนบท

“คฤหาสน์ชนบท” และ “คฤหาสน์ภูมิฐาน” บางครั้งมักจะใช้สับสนกัน—คฤหาสน์ชนบทเป็นคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่นอกเมือง แต่คฤหาสน์ภูมิฐานอาจจะตั้งอยู่ได้ทั้งในเมืองหรือนอกเมือง เช่นคฤหาสน์แอ็พสลีย์ (Apsley House) สร้างสำหรับอาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งเวลลิงตัน ที่มุมหนึ่งของไฮด์พาร์ค (Hyde Park) หรือที่เรียกกันว่า “No. 1, London” เป็นคฤหาสน์ภูมิฐานที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน คฤหาสน์ชนบทเช่นคฤหาสน์แอสค็อตต์ (Ascott House) ในบัคคิงแฮมเชอร์ ก็จงใจออกแบบที่ไม่ให้ออกมาเป็น “คฤหาสน์ภูมิฐาน” แต่ให้กลืนไปกับภูมิทัศน์รอบข้าง ขณะที่คฤหาสน์สำคัญอื่น ๆ เช่น คฤหาสน์เค็ดเดิลสตันฮอลล์ (Kedleston Hall) หรือคฤหาสน์โฮลค์แฮม (Holkham Hall) สร้างให้เป็น “บ้านที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจ” (power houses) เพื่อสร้างความประทับใจหรือเด่นจากภูมิทัศน์รอบข้าง และตั้งใจจะให้เป็น “คฤหาสน์ภูมิฐาน” ในปัจจุบันอดีตคฤหาสน์ภูมิฐานหลายแห่งขณะที่ยังมีฐานะเป็นคฤหาสน์ชนบทไม่มีร่องรอยของความยิ่งใหญ่ที่เคยเป็นมาแต่ก่อน และที่แน่นอนคือไม่ใช่ “บ้าน”

“คฤหาสน์ชนบท” ไม่แต่จะเป็นสถานที่สำหรับการไปพักผ่อนในวันหยุดของชนชั้นเจ้านายเท่านั้นแต่มักจะเป็นที่อยู่ถาวรของผู้ดีชนบท (gentry) ที่ชนชั้นปกครองของอังกฤษกลุ่มหนึ่งที่ปกครองอังกฤษมาจนกระทั่งการออก พระราชบัญญัติผู้แทนราษฎร ค.ศ. 1832 (Representation of the People Act) แม้แต่ธุรกิจก็ทำกันภายในห้องโถงของคฤหาสน์

วิวัฒนาการ

[แก้]
คฤหาสน์ลองลีตในวิลท์เชอร์
คฤหาสน์แฮ็ทฟิลด์ในฮาร์ทฟอร์ดเชอร์
คฤหาสน์มองตาคิวท์ในซัมเมอร์เซ็ท

คฤหาสน์ชนบทของอังกฤษวิวัฒนาการมากว่า 500 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่มักจะเป็นสถานที่มีการสร้างระบบป้องกันศัตรูและแสดงฐานะของผู้เป็นเจ้าของว่าเป็นผู้ครองมาเนอร์ (Manorialism) มาถึงสมัยทิวดอร์เมื่อบ้านเมืองมีความสงบขึ้น การก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่ไม่มีการสร้างระบบป้องกันข้าศึกก็เริ่มมีกันขึ้น

นโยบายการยุบอารามของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นการเปลี่ยนมือของคริสต์ศาสนสถานมาเป็นของผู้เป็นคนโปรดของพระองค์เป็นจำนวนมากมาย เมื่อได้มาแล้วบุคคลเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นคฤหาสน์ชนบท คฤหาสน์โวเบิร์นแอบบี (Woburn Abbey), คฤหาสน์ฟอร์ดแอบบี (Forde Abbey) และคฤหาสน์อื่นๆ ที่มีคำว่า “แอบบี” หรือ “ไพรออรี” ต่อท้ายชื่อเป็นคฤหาสน์ที่เคยเป็นคริสต์ศาสนสถานมาก่อนและมาเปลี่ยนมาเป็นคฤหาสน์ชนบทในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 คำอื่น ๆ ที่อยู่ในชื่อคฤหาสน์ที่ให้ความหมายถึงที่มาของคฤหาสน์ชนบท ก็ได้แก่คำว่า “พาเลซ”, “คาสเซิล”, “คอร์ต”, “ฮอลล์”, “พาร์ค”, “เฮาส์”, “มาเนอร์”, “เพลซ” และ “เทาเออร์เฮาส์”

เมื่อมาถึงครึ่งหลังของรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 และต่อมาสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เท่านั้นที่คฤหาสน์ชนบทเริ่มจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบโดยสถาปนิกที่ถือกันว่าเป็นจุดสุดยอดของสถาปัตยกรรมคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษ และเริ่มจะเป็นสิ่งที่เป็นที่น่าสังเกต คฤหาสน์เบอร์ลีย์ (Burghley House), คฤหาสน์ลองลีต (Longleat House) และ คฤหาสน์แฮ็ทฟิลด์ (Hatfield House) อาจจะเป็นคฤหาสน์ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในบรรดาคฤหาสน์ชนบทที่สร้างในช่วงนี้ คฤหาสน์แฮ็ทฟิลด์เป็นคฤหาสน์แรกในอังกฤษที่แสดงลักษณะอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอิตาลีของยุคเรอเนสซองซ์ ซึ่งเป็นการยุติการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะติดค้างจากการก่อสร้างสถาปัตยกรรมกอธิคที่มี “หอเล็กหอน้อย” เมื่อมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 สถาปัตยกรรมพาเลเดียนของอินนิโก โจนส์ (Inigo Jones) ก็เปลี่ยนโฉมหน้าของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของอังกฤษอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกจะมาเป็นที่นิยมต่อมาแต่สถาปัตยกรรมพาเลเดียนในหลายรูปแบบที่มามีสถาปัตยกรรมบาโรกขวางอยู่ช่วงหนึ่งก็เป็นสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลกว่าสถาปัตยกรรมลักษณะอื่นมาจนกระทั่งถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่ออิทธิพลของกรีกโบราณค่อย ๆ เข้ามาวิวัฒนาการเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกที่สนับสนุนอย่างแข็งแรงโดยโรเบิร์ต อาดัม (Robert Adam)

คฤหาสน์ชนบทที่เป็นที่รู้จักกันบางแห่งมักจะสร้างโดยสถาปนิกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ได้แก่คฤหาสน์มองตาคิวท์ (Montacute House), คฤหาสน์แชตสเวิร์ธ (คฤหาสน์แชตสเวิร์ธ) และคฤหาสน์เบล็นไฮม์ (Blenheim Palace) สิ่งที่น่าสนใจคือคฤหาสน์สองหลังหลังเป็นวังดยุก มองตาคิวท์แม้ว่าจะสร้างโดยเซอร์เอ็ดเวิร์ด เฟลิปส์ (Edward Phelips) ผู้เป็น “Master of the Rolls” ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญลำดับสามของระบบยุติธรรมของอังกฤษในสมัยนั้น แต่ก็เป็นคฤหาสน์ที่อยู่ในความครอบครองของตระกูลขุนนางชนบทที่ไม่มีคฤหาสน์ในเมือง (townhouse) แทนที่จะเป็นของชนชั้นเจ้านาย คฤหาสน์มองตาคิวท์อยู่ในมือของตระกูลเฟลิปส์มาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อหมดความร่ำรวยลงจนไม่สามารถรักษาคฤหาสน์ไว้ได้

แต่คฤหาสน์ชนบทที่ไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักเป็นจำนวนมากมักจะเป็นของทั้งผู้ดีชนบทและชนชั้นเจ้านายการก่อสร้างก็วิวัฒนาการไปเป็นหลายแบบหลายลักษณะที่เกิดจากการตีความหมายโดยสถาปนิกท้องถิ่นหรือบางครั้งก็มาจากจินตนาการของรสนิยมของสถาปัตยกรรม เช่นที่คฤหาสน์บริมพ์ตัน เดอเวร์ซี (Brympton d'Evercy) ในซัมเมอร์เซ็ทที่เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานจากหลายสมัยแต่กลมกลืนกันด้วยการใช้หินแฮมฮิลล์สีอ่อนในการสร้างทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงบางครั้งก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่นเมื่อวิลเลียม เคนท์ออกแบบคฤหาสน์รูสแชม (Rousham House) ใหม่เสร็จไม่เท่าใดก็มาถูกเปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเพื่อให้มีที่ทางพอสำหรับบุตรธิดาของเจ้าของทั้งสิบสองคน คฤหาสน์แคนนอนสแอชบี (Canons Ashby) ของครอบครัวของกวีจอห์น ไดรเด็น (John Dryden) เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการแสดงการเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มด้วยการเป็นบ้านฟาร์มของยุคกลางที่มาขยายรอบลานในสมัยทิวดอร์ มาในสมัยสจวตก็มีการตกแต่งเพดานพลาสเตอร์อย่างหรูหรา ต่อมาในสมัยจอร์เจียในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สมัยจอร์เจียก็มีการตกแต่งด้านใหม่ ผลก็คือสถาปัตยกรรมผสมผสานจากหลายสมัยแต่ดูเหมือนจะกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นอย่างดีที่เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมการก่อสร้างคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษ คฤหาสน์วิลท์ตัน (Wilton House) คฤหาสน์อันสง่างามที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษก็มีประวัติคล้ายคลึงกัน ขณะที่ไดรเด็นเป็นเพียงผู้ดีท้องถิ่น แคนนอนสแอชบีจึงสร้างโดยสถาปนิกท้องถิ่น แต่คฤหาสน์วิลท์ตันเป็นของตระกูลเอิร์ลแห่งเพมโบรคผู้มีอำนาจที่สามารถจ้างสถาปนิกชั้นหนึ่งได้ตามต้องการ เริ่มต้นด้วยโฮลไบน์ อีก 150 ปีต่อมาก็เป็นอินนิโก โจนส์ และต่อมาไวแอ็ตต์ ตามด้วยแชมเบอร์ส สถาปนิกแต่ละคนก็ใช้ลักษณะสถาปัตยกรรมต่างกันไปและดูจะไม่ให้ความสนใจสิ่งที่สร้างในบริเวณที่ไม่ไกลนัก “การปรับปรุง” มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อสร้างแต่ต่อมาลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นคุณลักษณะที่ทำให้สถาปัตยกรรมการก่อสร้างคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นในโลกแล้วชนชั้นสูงของอังกฤษก็เห็นจะเป็นชาติเดียวที่อนุญาตหรือแสวงหาความไม่คำนึงถึงลักษณะความแตกต่างของลักษณะสถาปัตยกรรมต่าง ๆ

บ้านแสดงอำนาจและบ้านสำหรับเป็นครอบครัว

[แก้]

ผู้พำนักอาศัยในคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษเรียกรวมกันว่า “ชนชั้นปกครอง” (Ruling class) ซึ่งก็เป็นการแสดงถึงหน้าที่ของบุคคลกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมีตำแหน่งสูงทางการเมืองในระดับชาติ หรือในการบริหารประจำวันในท้องถิ่นที่พำนักเช่นในฐานะผู้พิพากษา หรือบางครั้งก็แม้แต่เป็นนักบวช “ชนชั้นสูง” นี้มีบทบาทในการถือตำแหน่งสำคัญ ๆ เรื่อยมาแต่ค่อย ๆ ลดถอยลงจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ และเซอร์อเลค ดักลาส-ฮูม (Alec Douglas-Home) เป็นนายกรัฐมนตรีสองคนสุดท้ายที่มาจากชนชั้นนี้ ความคิดที่ว่าคฤหาสน์ชนบทเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อมาของรัฐบาลแรกของพรรคกรรมกรครั้งแรกในปี ค.ศ. 1921 อาร์เธอร์ ลี ไวเคานท์ลีแห่งแฟแรมที่ 1 ถึงกับอุทิศคฤหาสน์เช็คเคอร์ (Chequers) ให้แก่ชาติเพื่อให้เป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรีผู้อาจจะไม่มีคฤหาสน์ชนบทเป็นของตนเอง คฤหาสน์เช็คเคอร์ในปัจจุบันก็ยังใช้ตามจุดหมายดั้งเดิมที่ตั้งไว้ นอกจากนั้นก็ยังมีอีกสองคฤหาสน์ที่อุทิศให้เป็นที่พำนักโดยเฉพาะสำหรับรัฐมนตรีผู้มีตำแหน่งสูงของรัฐบาลอังกฤษ

จุดสูงสุด

[แก้]
คฤหาสน์เชิร์คคาสเซิลในเวลส์

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19 คฤหาสน์ชนบทเป็นสถานที่ที่ใช้ในการพักผ่อน, ล่าสัตว์ และปกครองประเทศของชนชั้นสูงของอังกฤษ คฤหาสน์ชนบทบางหลังถึงกับมีโรงละครเป็นของตนเอง แต่ก็มีชนชั้นสูงบางคนที่พำนักอยู่ถาวรในคฤหาสน์ชนบทและแทบจะไม่ได้เข้ากรุงลอนดอนเท่าใดนัก คฤหาสน์ชนบทเป็นศูนย์กลางของโลกของตนเองที่สร้างงานให้คนเป็นจำนวนร้อยในบริเวณใกล้เคียง ในสมัยที่ยังไม่มีระบบประชาสงเคราะห์โดยรัฐบาลผู้ที่ทำงานกับคฤหาสน์ชนบทถือว่าเป็นผู้โชคดีที่มีงานทำที่มั่นคงและมีที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ผู้ที่มีหน้าที่ที่ดีที่สุดคือผู้ที่ทำงานภายในคฤหาสน์ จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อเทียบกับบุคคลอื่นในสมัยเดียวกันแล้วผู้ที่ทำงานในคฤหาสน์ก็มีที่หลับที่นอนบนเตียงที่เป็นเตียง, แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีกว่า, มีอาหารการกินครบสามมื้อ และแถมยังมีรายได้ ในสมัยที่ผู้คนยังเสียชีวิตเพราะขาดหมอขาดยาหรือขาดอาหาร การต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าสภาพที่กล่าว ภาพยนตร์เรื่อง “คฤหาสน์กอสฟอร์ดพาร์ค” (Gosford Park), สารคดีชุด “คฤหาสน์ชนบทของสมัยเอ็ดเวิร์ด” และละครโทรทัศน์ชุด “ชั้นบน, ชั้นล่าง” (Upstairs, Downstairs) แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศ และชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับคฤหาสน์ชนบททั้ง “ชั้นบน” - เจ้าของคฤหาสน์ และ “ชั้นล่าง” - ผู้รับใช้ได้อย่างตรงกับความเป็นจริง

ชนชั้นสูงที่เป็นเจ้าของคฤหาสน์ชนบทหลายหลังก็อาจจะเลือกพำนักแต่ละหลังตามฤดูล่าสัตว์เช่นอาจจะไปยิงไก่ป่า (Grouse) กันในสกอตแลนด์ หรือไปยิงไก่ฟ้า (pheasant) หรือล่าหมาจิ้งจอก (fox hunting) กันในอังกฤษ เช่นเอิร์ลแห่งโรสบรีมีคฤหาสน์ดาลเมนี (Dalmeny House) ในสกอตแลนด์, คฤหาสน์เมนท์มอร์เทาเออร์สในบัคคิงแฮมเชอร์ และอีกหลังหนึ่งใกล้กับเอ็พซอมสำหรับฤดูแข่งม้าเท่านั้น คฤหาสน์ชนบทที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษคือวังเบล็นไฮม์, ในสกอตแลนด์คฤหาสน์โฮพทูน (Hopetoun House), ในไอร์แลนด์คฤหาสน์คาสเซิลทาวน์เฮาส์ (Castletown House) หรือคฤหาสน์เพ็นริน (Penrhyn Castle) และในเวลส์คฤหาสน์เชิร์คคาสเซิล (Chirk Castle), คฤหาสน์เอร์ดดิก (Erddig) หรือคฤหาสน์กลินลิฟอน (Glynllifon) ส่วนในดาร์บีเชอร์ก็คือคฤหาสน์แชตสเวิร์ธ และในเคมบริดจ์เชอร์คฤหาสน์วิมโพลฮอลล์ (Wimpole Hall)

ความตกต่ำ

[แก้]
คฤหาสน์ไลม์พาร์คในเชสเชอร์

คฤหาสน์ชนบทของอังกฤษค่อยๆ หมดความสำคัญลงเมื่อการอุตสาหกรรมสมัยใหม่เริ่มแพร่หลาย เพราะอุตสาหกรรมเป็นสร้างงานใหม่ให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมากและเป็นการเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ที่ชนวนของความตกต่ำของคฤหาสน์ชนบทมากที่สุดคือสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนงานจำนวนมากที่เคยทำงานให้กับคฤหาสน์ถูกเรียกตัวไปทำสงครามและไม่ได้กลับมา หรือผู้ที่กลับมาก็ไปได้งานที่ได้รายได้สูงกว่าในเมือง ชนวนสุดท้ายคือสงครามโลกครั้งที่สอง คฤหาสน์ถูกเกณฑ์ไปเป็นของรัฐบาลเพื่อเป็นโรงพยาบาลบ้าง หรืออื่น ๆ เมื่อได้รับคืนมาก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมเป็นอันมาก นอกจากนั้นเจ้าของบางคนก็สูญเสียทายาทไปกับสงคราม, ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่มีรายได้จากการเกษตรกรรมลดน้อยลง ฉะนั้นเจ้าของหลายคนจึงแก้ปัญหาโดยการขายของเก่ากิน, ขายสมบัติในการประมูล หรือทุบบ้านทิ้งแล้วเอาหินขาย

ในปัจจุบันคฤหาสน์ชนบทใช้กันหลายอย่างคฤหาสน์มองตาคิวท์ (Montacute House), คฤหาสน์เวสต์วิคคัมบ์พาร์ค และคฤหาสน์ไลม์พาร์ค (Lyme Park) กลายมาเป็นสมบัติของสารธารณะที่รวมทั้งองค์การเพื่อการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญและความสวยงามแห่งชาติ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “อุตสาหกรรมคฤหาสน์ภูมิฐาน” (Stately home industry) คฤหาสน์ชนบทบางหลังที่รวมทั้งคฤหาสน์วิลท์ตัน และคฤหาสน์แชตสเวิร์ธ และคฤหาสน์ขนาดเล็กอีกหลายแห่งเช่นคฤหาสน์เพ็นคาร์โรว์ (Pencarrow) ในคอร์นวอลล์ และคฤหาสน์รูสแชม (Rousham House) ในคฤหาสน์ยังเป็นคฤหาสน์ส่วนบุคคลของสมาชิกของตระกูลผู้สร้าง ที่ในปัจจุบันเปิดให้ประชาชนเข้าชม

สถานะภาพของคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษในปัจจุบัน

[แก้]
คฤหาสน์คลิฟเดินในบัคคิงแฮมเชอร์

คฤหาสน์ชนบทส่วนใหญ่เปลี่ยนไปเป็นโรงเรียน, โรงพยาบาล และคุก บางแห่งเช่นคฤหาสน์คลิฟเดิน, คฤหาสน์โคเวิร์ธ (Coworth House) และคฤหาสน์ฮาร์ทเวลล์เฮาส์ (Hartwell House) ในปัจจุบันเป็นโรงแรมชั้นหรู ในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 คฤหาสน์ชนบทเป็นจำนวนหลายร้อยหลังถูกรื้อทิ้ง

ในปัจจุบันการเป็นเจ้าของ “คฤหาสน์ชนบท” ในปัจจุบันอาจจะเป็นการโชคดีหรือโชคร้ายพร้อม ๆ กัน คฤหาสน์ชนบทอยู่ภายใต้การอารักขาของรัฐบาลภายใต้ “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” ซึ่งทำให้ทำการเปลี่ยนแปลงได้ยากหรือถ้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างใดก็ต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากและต้องทำตามกฎที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ปัญหาของเจ้าของคือค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและอนุรักษ์

อ้างอิง

[แก้]
  • Mark Girouard. Life in the English Country House : a social and architectural history details the impact of social change on design

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คฤหาสน์และบ้านในอังกฤษ

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คฤหาสน์ประวัติศาสตร์ในอังกฤษ