ข้ามไปเนื้อหา

ลักษณะไฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สัญลักษณ์และคำย่อลักษณะไฟ

ลักษณะไฟ[1] หรือ ลักษณะแสง หรือ ลักษณะแสงไฟ (อังกฤษ: Light characteristic) คือคุณสมบัติที่ทำให้สามารถระบุลักษณะเฉพาะของไฟนำทางได้ ด้วยคำอธิบายแบบกราฟิกและข้อความที่ระบุถึงลำดับและสีของไฟนำทางบนแผนที่เดินเรือและทำเนียบไฟพร้อมสัญลักษณ์บนแผนที่สำหรับ ประภาคาร เรือทุ่นไฟ ทุ่น หรือเครื่องหมายทางทะเลที่มีแสงไฟติดอยู่ แสงที่ต่างกันเนื่องจากใช้ สี ความถี่ และรูปแบบไฟที่แตกต่างกัน ซึ่งนักเดินเรือสามารถจำแนกได้ว่าเป็นไฟแบบใดจากเครื่องหมายใด[2]

คำย่อ

[แก้]

ในขณะที่ลักษณะของไฟสามารถอธิบายได้เป็นข้อความร้อยแก้ว เช่น "กระพริบวับเดี่ยวเป็นสีขาวทุก ๆ สามวินาที" ทำเนียบไฟและคำอธิบายประกอบแผนที่เดินเรือจะใช้ตัวย่อ ซึ่งสัญลักษณ์ตัวย่อจะต่างกันเล็กน้อยจากทำเนียบไฟฉบับหนึ่งกับอีกฉบับหนึ่ง โดยมีการเพิ่มหรือลดจุด แต่โดยทั่วไปจะมีรูปแบบที่คล้ายกับรายการดังต่อไปนี้ (ดูตัวอย่างได้ในภาพด้านขวา)

  • คำย่อของประเภทไฟ เช่น "Fl." คือ ไฟวับเดี่ยว (flashing)[1] "F." คือ ไฟนิ่ง (fixed)[1]
  • สีของไฟ เช่น "W" คือ สีขาว (white), "G" คือ สีเขียว (green), "R" คือ สีแดง (red), "Y" คือ สีเหลือง (yellow), "Bu" คือ สีน้ำเงิน (blue) หากไม่ได้ระบุสี โดยปกติจะเป็นสีขาว
  • ระยะเวลาของรอบกระพริบ เช่น "10s" คือ 10 วินาที (seconds)
  • บางครั้งมีการเพิ่มตัวแปรเพิ่มเติม คือ
  • ไฟสูงเหนือระดับทะเลบนแผนที่ (โดยปกติจะขึ้นอยู่กับความสูงของน้ำ) เช่น "15m" คือ 15 เมตร (meters)
  • ระยะกำหนดการเห็นไฟ เช่น "10M" คือ 10 ไมล์ทะเล (nautical miles)

ตัวอย่างที่สมบูรณ์ของลักษณะไฟคือ "Gp Oc (3) W 10s 15m 10M" โดยหมายความว่า ไฟวาบหมู่ 3 ครั้ง เกิดขึ้นซ้ำในทุก ๆ 10 วินาที ไฟเป็นสีขาว ไฟสูงเหนือระดับทะเลบนแผนที่ 15 เมตร และระยะกำหนดการเห็นไฟ 10 ไมล์ทะเล

รูปแบบไฟ

[แก้]

ไฟนิ่ง

[แก้]

ไฟนิ่ง (Fixed light) ย่อว่า "F" เป็นไฟที่ส่องต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ไฟวับ

[แก้]

ไฟวับ (Flashing light) คือไฟที่เป็นจังหว่ะซึ่งมีระยะเวลารวมของความสว่างสั้นกว่าระยะเวลาของความมืด และแสงวับของไฟมีระยะเวลาเท่ากันหมด โดยปกติจะใช้กับไฟวับจังหว่ะเดียวซึ่งจะทำให้เห็นไฟกระพริบเพียงจังหว่ะเดียววนซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งกรณีนี้จะเรียกโดย่อว่า "Fl" นอกจากนี้คำนี้ยังใช้ได้กับไฟวับในรูปแบบชุดที่วนเป็นชุดอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้จะใช้ตัวย่อคือ "Fl (2)" หรือ "Gr Fl (2)" สำหรับไฟวับชุดละ 2 ครั้ง การใช้งานในอีกรูปแบบคือในรุปแบบจังหว่ะเพิ่มเติม ซึ่งเป็นชุดที่ต่อเนื่องกันและมีการวับไฟต่างกัน เช่น "Fl" (2+1) หมายถึงไฟวับชุดแรก 2 ครั้ง ตามมาด้วยชุดต่อไป 1 ครั้ง

ในบางกรณีในการใช้งาน[3] เมื่อใช้ไฟวับยาวเกิน 2 วินาที ไฟดังกล่าวจะถูกเรียกว่า "ไฟวับยาว" (Long flashing) ตัวย่อคือ "L.Fl"

หากความถี่ในการวับสูง (มากกว่า 30[4] ถึง 50[3] ครั้งต่อนาที) ไฟนี้จะเรียกว่า "ไฟวับเร็ว" ดูรายละเอียดได้ด้านล่าง

ไฟวาบ

[แก้]

ไฟวาบ (Occulting light) คือไฟที่เป็นจังหวะซึ่งมีระยะของความสว่างในแต่ละช่วงนานกว่าระยะเวลาของความมืด พูดอีกอย่างก็คือมันตรงข้ามกับไฟวับซี่งมีระยะของความมืดนานกว่าระยะเวลาของความสว่าง มีลักษณะเหมือนปิดไฟกระพริบ แทนที่จะเป็นเปิดไฟกระพริบ เช่นเดียวกับไฟวับที่สามารถใช้ใช้ไฟวาบในการวาบไฟแค่ช่วงเดียว หรือสามารถจัดกลุ่มและทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอได้ ย่อได้ว่า "Oc" จัดเป็นกลุ่ม Oc (3) หรือหมู่ประกอบกัน Oc (2+1)

กลไกการบังแสงของนาฬิกาที่เคยใช้งานอยู่ที่ประภาคารเกาะโคเค็ต

คำว่าบดบังถูกนำมาใช้เนื่องจากแต่เดิมทีจังหว่ะไฟนั้นได้มาจากการใช้กลไก (เช่น การโรลลิ่งชัตเตอร์หรือการใช้ฉากตั้งกั้น) ในการบังแสงเป็นระยะจากการมองเห็น

ไฟช่วงเท่า

[แก้]

ไฟช่วงเท่า (Isophase light) ย่อว่า "Iso" เป็นไฟที่มีช่วงคาบสว่างและคาบมืดยาวเท่ากัน คำนำหน้ามาจากภาษากรีก iso- แปลว่า "same" (เหมือนกัน)

ไฟวับเร็ว

[แก้]

ไฟวับเร็ว (Quick light) ย่อว่า "Q" เป็นกรณีพิเศษของไฟวับที่มีความถี่สูง (มากกว่า 30[4] หรือ 50[3] ครั้งต่อนาที) ซึ่งหากถ้าลำดับของการกระพริบถูกขัดจังหว่ะด้วยช่วงมืดซ้ำ ๆ กันเป็นประจำซึ่งมีระยะเวลาที่คงที่และนาน ไฟนั้นจะแสดงแบบ "วับเร็วเป็นห้วง ๆ" (Interrupted quick) หรือย่อว่า "I.Q"

บางครั้งก็ใช้สัญลักษณ์แบบกลุ่มที่คล้ายคลึงกับไฟวับและไฟวาบ[3] เช่น Q (9)

ในบางครั้ง อาจเกิดไฟวับด้วยความเร็วที่แตกต่างกันอีก[3]ระหว่าง ไฟวับ (มากกว่า 50 แต่น้อยกว่า 80 ครั้งต่อนาที) ไฟวับเร็วมาก (Very quick) (ตั้งแต่ 80 แต่ไม่เกิน 160 ครั้งต่อนาที ย่อว่า "V.Q") และ ไฟวับเร็วที่สุด (Ultra quick) (ตั้งแต่ 160 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป ย่อว่า "U.Q") ซึ่งสามารถใช่ร่วมกับสัญลักษณ์การขัดจังหว่ะ เช่น V.Q (9) คือกลุ่มไฟวับเร็วมากหนละ 9 ครั้ง ซึ่งลักษณะของไฟวับเร็วยังสามารถนำไปใช้กับลักษณะแบบอื่นได้อีก เช่น VQ (6) LFl คือไฟวับเร็วมากหนละ 6 ครั้ง และตามด้วยไฟวับยาว

ไฟรหัสมอร์ส

[แก้]

ไฟรหัสมอร์ส (Morse code light) ย่อว่า "Mo" คือไฟที่มีลักษณะของแสงที่มีระยะในการวับและวาบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน (จุดและขีด) จัดเป็นกลุ่มเพื่อแสดงอักขระหรืออักษรในรหัสมอร์ส ตัวอย่างเช่น "Mo (A)" คือไฟซึ่งแต่ละช่วงจะแสดงแสงวับในช่วงสั้น ๆ (จุด) ตามด้วยแสงวาบซึ่งนานกว่า (ขีด) ซึ่งเป็นรหัสมอร์สของ "A" ·–

ไฟนิ่งและวับ

[แก้]

ไฟนิ่งและวับ (Fixed and flashing) ย่อว่า "F. Fl" เป็นไฟนิ่งที่มีความเข้มต่ำและมีไฟวับที่มีความเข้มสูงแทรกเข้ามา

ไฟสลับ

[แก้]

ไฟสลับ (Alternating) ย่อว่า "Al" เป็นไฟที่แสดงสีสลับกัน ตัวอย่างเช่น "Al WG" จะแสดงไฟสีขาว (White) และสีเขียว (Green) สลับกัน

ชนิดของไฟ

[แก้]
ตาราง I
ชนิดของไฟ ลักษณะไฟ อักษรย่อ คำจำกัดความ ตัวอย่าง ตัวอย่างไฟ
1. ไฟนิ่ง (Fixed) F ไฟที่สว่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ F R
2. ไฟวาบ (Occulting)
ระยะเวลาในการสว่างในแต่ละคาบเวลาจะมากกว่าช่วงมืด และระยะเวลาช่วงมืดแต่ละคาบจะเท่ากัน
2.1 วาบ Oc ช่วงมืดที่เกิดขึ้นซ้ำสลับกับช่วงสว่างอย่างสม่ำเสมอ Oc R 6s
2.2 วาบหมู่ Oc(x) กลุ่มช่วงมืดที่เกิดขึ้นซ้ำสลับกับช่วงสว่างอย่างสม่ำเสมอ Oc(2) G 8s
2.3 วาบหมู่ผสม Oc(x+y) ไฟจะคล้ายกับไฟวาบหมู่ ยกเว้นแค่ช่วงต่อเนื่องจะมีช่วงมืดแต่ละคาบที่ต่างกัน Oc(2+3) W 18s
3. ไฟช่วงเท่า (Isophase) Iso ระยะเวลาของช่วงสว่างและช่วงมืดเท่ากัน Iso R 4s
4. ไฟวับ (Flashing)
ไฟที่มีความยาวของความสว่างน้อยกว่าความยาวของความมืด โดยที่แสงสว่างจะมีการกระพริบในอัตราที่เท่ากันสม่ำเสมอ
4.1 วับ Fl ไฟวับที่วับซ้ำ ๆ กันอย่างสม่ำเสมอในอัตราความเร็วที่ต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที Fl G 5s
4.2 วับยาว L.Fl ไฟวับที่มีมีความยาวมากกว่า 2 วินาที และวนไปอย่างสม่ำเสมอ L.Fl W 10s
4.3 วับหมู่ Fl(x) ไฟวับที่วับซ้ำ ๆ กันเป็นหมู่อย่างสม่ำเสมอ Fl(3) R 15s
4.4 วับหมู่ผสม Fl(x+y) คล้ายกับการวับหมู่ แต่มีการวับแตกต่างกันหลายรูปแบบ Fl(2+1) W 15s
5. ไฟวับเร็ว (Quick)
การวับไฟซ้ำ ๆ ด้วยความถี่ระหว่าง 50 ถึง 79 ครั้งต่อนาที
5.1 วับเร็ว Q การวับเร็วที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างสม่ำเสมอ Q W
5.2 วับเร็วหมู่ Q(x) กลุ่มการวับเร็วตามจำนวนที่กำหนดและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างสม่ำเสมอ Q(3) G 9s
5.3 วับเร็วเป็นห้วง ๆ I.Q ลำดับของไฟวับที่ขัดเป็นประจำด้วยช่วงมืดคงที่ซึ่งมีระยะเวลาเป็นห้วง ๆ ยาวซ้ำ ๆ กันสม่ำเสมอ I.Q R 14s
6. ไฟวับเร็วมาก (Very quick)
การวับไฟซ้ำ ๆ ด้วยความถี่ระหว่าง 80 ถึง 159 ครั้งต่อนาที
6.1 เร็วมาก VQ ไฟวับเร็วมากที่กระพริบซ้ำ ๆ กันอย่างสม่ำเสมอ VQ W
6.2 วับเร็วมากเป็นหมู่ VQ(x) การวับไฟเป็นหมู่ตามจำนวนที่กำหนดและวนอย่างสม่ำเสมอ VQ(3) G 4s
6.3 วับเร็วมากเป็นห้วง ๆ I.VQ จังหว่ะของไฟวับที่ถูกขัดจังหว่ะด้วยช่วงมืดเป็นห้วง ๆ อย่างสม่ำเสมอ I.VQ R 9s
7. ไฟวับเร็วที่สุด (Ultra quick)
การวับไฟซ้ำ ๆ ด้วยความถี่เท่ากับหรือมากกว่า 160 ครั้งต่อนาที
7.1 เร็วที่สุดอย่างต่อเนื่อง UQ ไฟวับเร็วที่สุดที่กระพริบอย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ กันต่อเนื่อง UQ W
7.2 เร็วที่สุดเป็นห้วง I.UQ ไฟวับเร็วที่สุดที่ถูกขัดจังหวะอย่างสม่ำเสมอเป็นห้วงด้วยช่วงมืด I.UQ R 6s
8. ไฟรหัสมอร์ส (Morse code) Mo(x) ไฟวับที่มีช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และถูกรวมกันกลุ่มกันเพื่อประกอบเป็นอักขระตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นในในระบบรหัสมอร์ส Mo(K) G 6s
9. ไฟนิ่งและวับ (Fixed and flashing) F.Fl ไฟที่รวมระหว่างไฟความเข้มแสงคงที่กับไฟที่มีความเข้มแสงมากกว่าเข้าด้วยกัน โดยส่วนของไฟวับมีลักษณะตามที่อธิบายไปข้างต้น F.Fl Y 5s
10. ไฟสลับ (Alternating) Al ไฟที่แสดงสีต่าง ๆ สลับกันไป
หมายเหตุ - ไฟสลับสามารถใช้ร่วมกับไฟส่วนใหญ่ในคลาสก่อนหน้าได้
Al WR 3s

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 (PDF). กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ. 2556.
  2. Thompson, William. "On Lighthouse Characteristics". สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 List of Lights
  4. 4.0 4.1 Light List states at one point that only "frequency not exceeding 30 flashes per minute" is considered "Flashing", yet at another that only "a rate of 60 flashes per minute" is considered "Quick", leaving the interval in-between undefined.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]