ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Regent Lighthouse
แผนที่
ที่ตั้งปากแม่น้ำเจ้าพระยา
พิกัด13°29′26″N 100°35′20″E / 13.49056°N 100.58889°E / 13.49056; 100.58889
หอคอย
สร้างขึ้นพ.ศ. 2413
แสงไฟ
เริ่มใช้งาน9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417
ปิดการใช้งาน1 ธันวาคม พ.ศ. 2472
ความสูงโฟกัส44 ฟุต (13 เมตร)
แหล่งกำเนิดแสงเรือนตะเกียง
พิสัย10 ไมล์ (8.7 ไมล์ทะเล)

ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา (อังกฤษ: Regent Lighthouse) เป็นประภาคารแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้งานในปี พ.ศ. 2417 ถึง พ.ศ. 2472

ประวัติ[แก้]

ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ควบคุมการก่อสร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 ใช้มาจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 รวมระยะเวลา 55 ปี 22 วัน[1]

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปากแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือเข้าออกจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากการค้าขายกับต่างชาติที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการก่อสร้าง ซึ่งราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 กล่าวว่า ค่าก่อสร้างเป็นเงิน 225 ชั่ง 5 ตำลึง 5 สลึง (18,021.25 บาท) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ส่งพระสยามธุรพาห์ กุงสุลไทย ณ กรุงลอนดอน เป็นผู้ซื้อเรือนตะเกียงมายังสยาม

ระหว่างการก่อสร้างประภาคารได้เกิดทรุดตัวลง ทำให้ก่อสร้างช้ากว่ากำหนด หลังจากแก้ไขใหม่จนก่อสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ยกให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ภาษาอังกฤษเรียกประภาคารแห่งนี้ว่า "รีเยนท์ไลท์เฮาส์" (Regent Lighthouse; ประภาคารผู้สำเร็จราชการ) หลักฐานของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เรียก "ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา" คนทั่วไปเรียก "กระโจมไฟสันดอน"

หลังยุติการใช้งาน[แก้]

ในช่วงปี พ.ศ. 2450 ได้มีการนำเรือทุ่นไฟมาใช้งานแทนที่ตัวประภาคาร แต่ต่อมาได้ยุติการใช้เรือเนื่องจากราคาการดูแลที่สูง และสร้างประภาคารหลังใหม่แทนที่ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งอยู่จากจุดที่ตั้งเดิมและยุติการใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2502 และมีการก่อสร้างสถานีนำร่องของกรมเจ้าท่าขึ้นมาที่บริเวณสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน[2]

รายละเอียด[แก้]

ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ข้อมูลตามราชกิจจานุเบกษาในขณะนั้นระบุว่าตั้งอยู่ในละติจูด 13 (ดีกรี) องศา 29 มินิศ (ลิปดา) 26 เสกัน (ฟิลิปดา) เหนือ นับข้างทิศตะวันออก ลอนยิศจุน 100 ดีกรี (องศา) 35 มินิศ (ลิปดา) 20 เสกัน (ฟิลิปดา) โดยตัวประภาคารสูงพ้นน้ำ 44 ฟุต มีแสงสว่างมองเห็นได้ไกล 10 ไมล์ และมีแหล่งกำเนิดแสงคือตะเกียง[2]

ปัจจุบัน[แก้]

ตำแหน่งปัจจุบันของประภาคาร ตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิมคือละติจูดที่ 13 องศา 27 ลิปดา 26 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูด 100 องศา 35 ลิปดา 20 ฟิลิปดาตะวันออก มีจุดสังเกตคือทุ่นสีแดง หมายเลข 14 มองตั้งฉากกับแนวทุ่นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทาง 2.5 กิโลเมตร คือตำแหน่งที่ตั้งของประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "๙ พ.ย. ๒๔ เริ่มเปิดใช้ "เรือนตะเกียง" แห่งแรก! ประภาคารไทยสวยติดอันดับโลก!!". mgronline.com. 2020-11-09.
  2. 2.0 2.1 "ตามรอยประภาคารแห่งแรกของไทย". bangkokbiznews. 2017-05-03.
  3. "ตามรอยประภาคารแห่งแรกของไทย". marinerthai.net.