ศิลปินแห่งชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศิลปินแห่งชาติ
ไฟล์:National artist pin1.jpg
เว็บไซต์http://art.culture.go.th Edit this on Wikidata

ศิลปินแห่งชาติ ของประเทศไทย หมายถึงศิลปินผู้มีความสามารถ มีผลงานสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นที่ยอมรับของวงการ และมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติจากอดีตถึงปัจจุบันและดำรงสืบไปในอนาคต

นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ. 2528) ถึงประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2561 มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 307 ท่าน เสียชีวิตแล้ว 140 ท่าน และมีชีวิตอยู่ 167 ท่าน[1]

ประวัติ

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เริ่มจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา เชิดชูเกียรติ ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของแผ่นดินไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติจากผลงาน มีการประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติ ครั้งแรก พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ"

คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือก

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการพิจารณาเชิดชูเกียรติบุคคลด้านศิลปะ 7 ประการ ได้แก่[2]

  1. เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสินเลือก
  2. เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
  3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เผยแพร่ศิลปะแขนงนั้นต่อไปในอนาคต
  4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
  5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน อันสัมพันธ์กับหลักเกณฑ์ในประการก่อนหน้า
  6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน และประวัติชื่อเสียงที่ไม่เหมาะสมที่ไม่คู่ควรจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และบุคคลผู้ที่ได้รับคัดเลือกควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งต่อประชาชนและเยาวชน รวมไปถึงจะไม่กระทำความผิดอันอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มอบรางวัลให้ไว้เพื่อเชิดชูเกียรติ
  7. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นคุณสมบัติที่ศิลปินแห่งชาติพึงระลึกและปฏิบัติ ไว้เสมอว่า ท่านข้อหนึ่งข้อใดตามหลักเกณฑ์ จนได้รับคัดเลือก หลักของความดี ความงาม ความถูกต้อง ซึ่งจะแสดงออกมาโดยการกระทำ ทางกาย วาจาและจิตใจของแต่ละบุคคลโดยไม่ส่งให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายจากผลของการกระทำที่ไร้ซึ่งคุณธรรม ซึ่งเป็นหลักประจำใจที่ ศิลปินแห่งชาติ พึงประพฤติปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัยตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบัน และจะกระทำต่อไปจนวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งหลักคุณธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคมประเทศชาติ เพื่อก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี - สมานฉันท์ ความใกล้ชิดอบอุ่นสนิทสนม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และส่งผลให้มีความมั่นคงในชีวิต สังคม บ้านเมือง และประเทศชาติ และสามารถที่จะแบ่งปันให้ผู้ที่อยู่รอบข้างในระดับนานาชาติ

สาขาของศิลปินแห่งชาติ

มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกจำแนกศิลปินแห่งชาติออกเป็นสาขาศิลปะ 4 ด้านสาขาหลัก คือ[3]

สาขาทัศนศิลป์

หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติ หรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านจิตรกรรม หมายถึง ภาพเขียน ภาพสี และภาพลายเส้น
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านประติมากรรม หมายถึง งานปั้น และแกะสลัก
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านภาพพิมพ์ หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ หรือโลหะ ฯลฯ
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านภาพพิมพ์และสื่อผสม หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ซิลค์สกรีน
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านภาพถ่าย หมายถึง ผลงานศิลปะภาพถ่ายที่นำเสนอด้วยการสื่ออารณ์และความรู้สึก
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านภาพถ่ายศิลปะ หมายถึง ผลงานภาพถ่ายงานศิลปะชั้นดีเยี่ยม โดดเด่น ที่นำเสนอด้วยการทำให้ผู้ชมสะเทือนใจและอิ่มเอมกับความงามของภาพที่ปรากฏในภาพแต่ละชุด
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านสื่อประสม หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธี และเทคนิคต่าง ๆ อย่างอิสระ
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) หมายถึง ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและรูปแบบทันสมัย[4]
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) หมายถึง ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและรูปแบบสะท้อนถึงประเพณี ต่าง ฯ ของไทย[5]
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านสถาปัตยกรรมไทย หมายถึง ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและรูปแบบสะท้อนถึงประเพณี ต่าง ฯ ของไทย[6]
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านประณีตศิลป์ หมายถึง ผลงานศิลปะ อย่างประณีต สวยสดงดงาม[7]
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านประณีตศิลป์-แกะสลัก หมายถึง ผลงานศิลปะการแกะสลักเครื่องสดโดยการแกะสลักผัก ผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด อย่างประณีต สวยสดงดงาม
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ หมายถึง ผลงานศิลปะการทอผ้า อย่างประณีต สวยสดงดงาม[8]
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น หมายถึง ผลงานศิลปะการปั้นปูน อย่างประณีต สวยสดงดงาม[9]
  • ด้านสาขาทัศนศิลป์ สาขาย่อยด้านออกแบบอุตสาหกรรม หมายถึง ผลงานศิลปะผลงาน การออกแบบงานเครื่องปั้นดินเผา เทคนิคการเคลือบและการลงสีเฉพาะตัว อย่างประณีต สวยสดงดงาม[10]

สาขาศิลปะการแสดง

หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ การดนตรี, นาฏศิลป์ และภาพยนตร์และละคร

  • ด้านศิลปะการแสดงสาขาดนตรี แบ่งออกเป็นสาขาดนตรีไทยและสาขาดนตรีสากล แบ่งออกเป็นสาขาย่อยดังนี้

- สาขาย่อยด้านนักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องดนตรี

- สาขาย่อยด้านนักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับ และ/หรือสามารถแหล่ทำนองต่าง ๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)

- สาขาย่อยด้านนักประพันธ์เพลง ประพันธ์คำร้อง ทำนอง จังหวะ ทั้งทางร้อง และทางดนตรี

- สาขาย่อยด้านผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น

- สาขาย่อยด้านผู้ผลิตเครื่องดนตรี

- สาขาย่อยละครรำ อาทิ รำฟ้อน ระบำ รำเซิ้ง เช่น โนห์รา ชาตรี ระบำแขก ฯลฯ

- สาขาย่อยละครร้อง อาทิ โขน ลิเก ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เช่น หุ่นเชิด หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้อง หรือบท

- สาขาย่อยละครรำ (เพื่อการแสดง)

สาขาการแสดงภาพยนตร์ แบ่งออกเป็นสาขาย่อย คือ

- สาขาย่อยภาพยนตร์

- สาขาย่อยผู้สร้างภาพยนตร์

- สาขาย่อยผู้ประพันธ์คำร้อง - ผู้กำกับภาพยนตร์

- สาขาย่อยการแสดงภาพยนตร์ - นักแสดง

- สาขาย่อยนักพากษ์ - นักแสดง

สาขาการแสดงละคร

- สาขาย่อยละคร

- สาขาย่อยการแสดงละครเวที

- สาขาย่อยการแสดงละครเวทีพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ

- สาขาย่อยการแสดงละครเวที - นักแสดง

- สาขาย่อยการแสดงละครเวที - นักแสดงตลก

- สาขาย่อยการแสดงละครโทรทัศน์

- สาขาย่อยการแสดงละครโทรทัศน์ - นักแสดง

- สาขาย่อยการแสดงละครโทรทัศน์ - นักแสดงตลก

สาขาวรรณศิลป์

หมายถึง บทประพันธ์ที่ทำให้เกิดจินตนาการ เห็นเป็นภาพมโนคติ ภาพลักษณ์ ความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น บันเทิงคดีสำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ วรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็กที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม

หมายถึง งานออกแบบหรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

รายชื่อศิลปินแห่งชาติ

สิทธิประโยชน์ และตอบแทนที่ได้รับจากทางราชการ

ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม [11] ได้แก่

  • ค่าตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ 25,000 บาทต่อเดือน
  • ค่ารักษาพยาบาลว่าด้วยเงินสวัสดิการ (เว้นแต่มีสิทธิ์เบิกจากหน่วยงานอื่นโดยให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีงบประมาณ
  • ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง
  • ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง
  • เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท
  • เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท

วันศิลปินแห่งชาติ

วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งนับถือกันว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรม ทรงอุปถัมภ์บำรุงศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ตลอดจนทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยพระองค์ เพื่อรำลึกถึงพระองค์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ

การมีวันศิลปินแห่งชาตินั้น สืบเนื่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติต้องการให้นานาอารยประเทศยอมรับการมีชื่อเสียงเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีอารยธรรม วัฒนธรรมเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ จึงจัดให้มีโครงการประกาศศิลปินแห่งชาติขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อจัดทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ และสรรหาบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะด้วยความอุตสาหะ และมีผลงานปรากฏต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน แล้วยกย่องเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะนำศิลปินแห่งชาติเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เพื่อรับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันศิลปินแห่งชาติ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุก ๆ ปี

อนึ่ง ในวันศิลปินแห่งชาติ ทางราชการยังจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติและศิลปะพื้นบ้านขึ้นทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ โดยให้ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด และศูนย์วัฒนธรรมอำเภอรับผิดชอบดำเนินการ โดยจัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528

หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ห้องศิลปินแห่งชาติ เป็นห้องที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติศิลปินแห่งชาติทุกแขนงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนผู้ที่สนใจ[12]

  • ห้องศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ จัดแสดงที่ชั้นที่ 1 ภายในห้องมีภาพประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ งานวรรณกรรม และห้องสมุดที่สามารถสืบค้นข้อมูล
  • ห้องศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์และศิลปะสถาปัตยกรรม จัดแสดงที่ชั้นที่ 2 มีการจัดแสดงป้ายเชิดชูเกียรติของศิลปินแห่งชาติ พร้อมรูปถ่าย ลายเซ็น และส่วนจัดแสดงประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติอย่างย่อ แต่หากต้องการทราบประวัติโดยละเอียดในฐานลึก ก็สามารถสืยค้นจากห้องสมุดและระบบคอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย เพื่อให้สามารถสืบค้น ข้อมูลศิลปินแห่งชาติแต่ละท่านได้เช่นกัน นอกจากนี้ภายในห้องยังจัดแสดงผลงานต้นฉบับของศิลปินแห่งชาติทุกท่าน ซึ่งหาดูได้ยาก ที่ทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติยิ่ง
  • ห้องศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง มีการจัดแสดงด้วยการดึงดูดผู้คนจากผู้เข้าชม ด้วยการจำลองบรรยากาศของเวทีการแสดง อันอบอวนไปด้วยศิลปะการแสดง น่าดู น่าฟัง มีประวัติของศิลปินแห่งชาติและผลงาน ยังมีจอหนังตะลุง โรงภาพยนตร์ ส่วนจัดแสดงอุปกรณ์งานสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง หุ่นจำลองใส่ชุดละครรำ ส่วนผู้ที่ชอบการร้องเพลงก็มีห้องคาราโอเกะให้ผู้เข้าชมได้ทดลองขับร้องเพลงของศิลปินแห่งชาติได้อีกด้วย

หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่ ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เปิดเข้าชม วันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๖.๐๐ น

เข็มศิลปินแห่งชาติ

ลักษณะของเข็ม

ลักษณะของเข็มศิลปินแห่งชาติ เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่องอ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งขอบเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคทาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์เชื่อมประสานระหว่างกัน

ความหมายของเข็ม

ความหมายของเข็มศิลปินแห่งชาติแสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะ อุทิศตน สร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย จนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งในสาขาทัศนศิลป์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์และศิลปะการแสดง ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเข็ม เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป

อ้างอิง

  1. สนุก.คอม. "ประกาศ 12 รายชื่อ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2561 ‘เพชรา-ประภาส’ ได้รับคัดเลือก" [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1] 2562. สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2562.
  2. http://art.culture.go.th/art_aboutUs.php
  3. http://art.culture.go.th/art_aboutUs.php
  4. http://art.culture.go.th/art01.php?nid=223
  5. http://art.culture.go.th/art01.php?nid=222
  6. http://art.culture.go.th/art01.php?nid=244
  7. http://art.culture.go.th/art01.php?nid=251
  8. http://art.culture.go.th/art01.php?nid=240
  9. http://art.culture.go.th/art01.php?nid=247
  10. http://art.culture.go.th/art01.php?nid=232
  11. ไทยทีวีสีช่องสาม. "ประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติประจำปี 2561 แล้ว 12 คน" [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://news.ch3thailand.com/local/88532 2562. สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2562.
  12. http://www.culture.go.th/sah/main.php?filename=index

แหล่งข้อมูลอื่น