วินัย โพธิ์ภิรมย์
วินัย โพธิ์ภิรมย์ | |
---|---|
เกิด | 11 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ชุมชนโบสน์พรามณ์ ตำบลเสาชิงช้า อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร |
เสียชีวิต | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514 (19 ปี) เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี |
สาเหตุเสียชีวิต | ประหารชีวิตด้วยการยิง |
ชื่ออื่น | ตะขาบ, เทพ |
การศึกษา | มศ.2 |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนพงษ์เวชอนุสรณ์(ระดับ มศ.2) โรงเรียนการช่างฝีมือชาย(เรียนไม่จบ) |
อาชีพ | โจร, นักเลง |
สถานะทางคดี | ถูกประหารชีวิตตามมาตรา 17 ของรัฐบาลจอมพลถนอม กติขจร |
บิดามารดา | สุทิน โพธิ์ภิรมย์ (บิดา) เป้า โพธิ์ภิรมย์ (มารดา) |
ญาติ | พี่น้อง 8 คน |
สัญญาณเรียกขาน | นัย ตะขาบ |
ข้อหา | สมคบกันโดยมีอาวุธปล้นทรัพย์ และฆ่าเจ้าทรัพย์ |
รายละเอียด | |
ผู้เสียหาย | 10+ |
ระยะเวลาอาชญากรรม | 2512–2514 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
รัฐ | จังหวัดพระนคร |
ตาย | 3 |
อาวุธ | มีดปลายแหลม, ปืน |
วันที่ถูกจับ | 4 ธันวาคม พ.ศ. 2514 |
จำคุกที่ | สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี |
วินัย โพธิ์ภิรมย์ หรือฉายา นัย ตะขาบ (11 ตุลาคม พ.ศ. 2495 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514) เป็นฆาตกรชาวไทยและโจร ซึ่งก่อเหตุปล้นและทำร้ายเจ้าทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดพระนคร เขาถูกจับกุมในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หลังจากก่อเหตุปล้นทรัพย์ชาย 3 คน ที่ปากซอยชิดลม และถูกประหารชีวิตตามมาตรา 17 ของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร วินัยนับเป็นบุคคลที่สองที่ถูกประหารชีวิตโดยอำนาจมาตรา 17 หลังจากการรัฐประหารตนเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514[1][2][3]
ประวัติ
[แก้]วินัยเกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ในย่านโบสถ์พราหมณ์ซึ่งเป็นย่านโสเภณี เขาจบการศึกษาระดับ มศ.2 จากโรงเรียนพงษ์เวชอนุสรณ์ เขาคบเพื่อนที่ไม่ดี และมีการชกต่อยกันอยู่เสมอ เขามักจะโดดเรียนและมีผลการเรียนต่ำ ทำให้เขาถูกไล่ออกจากในโรงเรียนในระดับ มศ.2 เขาไปเรียนต่อที่โรงเรียนการช่างฝีมือชาย แต่เรียนได้ไม่ถึงปีก็ถูกไล่ออกเนื่องจากมีความประพฤติไม่เรียบร้อย[4]
ต่อมาเขาไปรวมกลุ่มอยู่กับเพื่อนที่มีนิสัยอัทธพาลซึ่งชอบทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นและหากินทางด้านมิจฉาชีพ เขาถูกจับกุมเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 ในความผิดฐานลักทรัพย์ และถูกศาลตัดสินให้มอบตัวให้ผู้ปกครองดูแลเป็นเวลา 2 ปี ในปีต่อมา เขาถูกจับกุมในข้อหาทำร้ายร่างกาย ศาลได้ตัดสินให้ปรับเงินจำนวน 100 บาท [5] เมื่อพ้นโทษออกมาเขาได้คุมสมัครพรรคพวกก่อคดีปล้นจี้ชิงทรัพย์ ซึ่งเขาได้ก่อคดีไว้อีกประมาณ 90 คดี[6]
การก่อคดี
[แก้]วินัยได้ร่วมกับพรรคพวกก่อคดีปล้นทรัพย์, ทำร้ายเจ้าทรัพย์ และฆ่าเจ้าทรัพย์ไว้หลายคดี ซึ่งเขาจะเอาเงินที่ได้จากการปล้นไปใช้กับสถานบันเทิง โดยคดีที่เขาได้กระทำความผิดซึ่งถูกคณะปฎิวัติพิจารณามีดังนี้[7]
ในช่วงเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม พ.ศ. 2514 วินัยได้ร่วมกับสุวรรณ หรือ โก๋ สาลี,จรูญ ณ บางช้าง หรือ น้อย นาซี และสุรศักดิ์ หรือ แฉะ หุ่นประดิษฐ์ก่อคดีไว้ 4 คดี ดังนี้[8]:
1.ฆาตกรรมนายเต๊ก หรือเซ้ง แซ่ตั้ง ที่หน้าบาร์โซสซิสเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
2.วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2514 เวลา 21.00 น. วินัยได้ร่วมกับจรูญ,สุวรรณ และสุรศักดิ์ ฆาตกรรมนายเต็กบิน แซ่กอ พร้อมกับเอาสร้อยคอทองคำหนัก 10 บาทไปด้วย เหตุเกิดที่ที่ปากซอยสารสิน
3.ปล้นทรัพย์นายประสิทธิ์ ต้นเจริญ ที่หน้าที่พักรถประจำทางหน้าวัดช่างแสง
4. ปล้นทรัพย์นายมนัส ทวีกุลวัฒน์ ที่ถนนพัฒน์พงศ์
ต่อมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอมกิติขจรได้ทำรัฐประหารตนเองและมีการประกาศใช้กฏอัยการศึกทั้งราชอาณาจักร
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เวลาประมาณ 19.00 น. วินัยได้ร่วมกับจรูญจี้ชิงทรัพย์นายเอี่ยว แซ่อุ่น อายุ 50 ปี ที่ถนนลำพูนไชย ใกล้กับสามแยกพลับพลาชัย ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ แต่เอี่ยวขัดขืนจึงใช้มีดปลายแหลมแทงเอี่ยวเข้าที่ท้องจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับเอานาฬิกาข้อมือจำนวน 1 เรือน และเข็มขัดหนังหัวทองคำหนึ่งเส้น มูลค่ารวม 4,400 บาทไป[9]
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เวลา 21.00 น. วินัย, จรูญ, สุรศักดิ์ และแดงได้ปล้นทรัพย์ของนายขี่เอ็ง แซ่เอียที่หน้าสถานบริการเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตำบลคลองมหานาค ทั้งสี่ได้กระชากสร้อยคอทองคำจำนวนหนึ่งเส้น และล้วงเอาซองธนบัตรซึ่งมีเงินและใบสำคัญตัวคนต่างด้าว มูลค่ารวม 3,000 บาทไป ถัดจากนั้นเพื่อนของวินัยได้ใช้มีดแทงขี่เอ็งจำนวน 3 แผล แทงเข้าที่สีข้างขวาขวา 1 แผล และเข้าที่สีข้างซ้าย 2 แผล บาดแผลทะลุเข้าที่หัวใจและช่องท้อง[10] ขี่เอ็งได้วิ่งกระเสือกกระสนเพื่อเอาชีวิตรอด ก่อนจะล้มลงที่ถนนบริเวณป้ายรถเมล์ ข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ต่อหน้าประชาชนบนรถเมลล์ และที่สัญจรไปมา ขี่เอ็งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ แต่เขาทนพิษบาดแผลไม่ไหว และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลังจากเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย[11]
วันที่ 4 ธันวาคม เวลา 20.00 น. วินัย,สุวรรณและพรรคพวกอีก 2 คน ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์ชาย 3 คน ได้แก่นายปรีชา ญาณโยธิน, นายประเสริฐ ตรงกานนท์ และนายวิทยา ปิยะโรจน์เสถียร ที่ปากซอยชิดลม โดยทั้งสามเป็นพนักงานบริษัทของชาวต่างชาติ 2 คน และพนักงานบริษัทปูนซีเมนต์ 1 คน หลังจากที่กลุ่มของวินัยได้นาฬิกาของเจ้าทรัพย์ไปคนละเรือน พร้อมกับเงินของวิทยาจำนวน 115 บาท โดยคิดเป็นมูลค่ารวม 2,515 บาท ทั้งสามจึงวิ่งติดตามกลุ่มของวินัย วินัยจึงใช้ปืนยิงทั้งสาม แต่กระสุนไม่ถูกใคร จ่าสิบตำรวจสุพัฒน์ สมหวัง สายตรวจของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เขต 1 กับพลเหลือ ท้วงผึ่ง จึงเข้าจับกุมเขากับสุวรรณ ส่วนพรรคพวกอีก 2 คน หลบหนีไปได้[12][13]
การสืบสวน
[แก้]หลังจากถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาวินัยไปค้นซ่องโสเภณีของนางไล้ ซึ่งเป็นที่ที่เขาไปอยู่หลังจากก่อเหตุฆาตกรรมขี่เอ็ง จากการตรวจค้น พบเสื้อสีขาวและรองเท้าหนังกลับซึ่งเป็นชุดที่เขาใส่ไปในวันที่ก่อคดี[14]
เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เขต 1 ได้ทำการสอบปากคำวินัย ตลอดเวลาที่สอบปากคำวินัย เขาตอบข้อซักถามด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใจ และไม่ได้ระแวงว่าจะถูกหัวหน้าคณะปฎิวัติสั่งประหารชีวิต เขากล่าวอย่างมั่นใจว่าอย่างมากก็ถูกคำสั่งจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น วินัยเล่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฟังว่าเคยก่อคดีมาทั้งหมดประมาณ 9 คดี แต่จำไม่ได้ว่าก่อที่ไหนบ้าง[15][16]
วินัยได้รับสารภาพว่าหลังจากที่ปล้นฆ่านายขี่เองแล้ว ทั้งวินัย,สุรศักดิ์,จรูญ และแดง ได้เดินย้อนไปขึ้นรถประจำทางที่หน้าโรงเรียนสตรีทัดสิงหเสนี แล้วไปลงที่หน้าวัดสามง่าม ก่อนจะนั่งแท็กซี่ไปยังพระโขนงด้วยราคาคนละ 300 บาท โดยในช่วงกลางคืนของวันเดียวกันวินัยได้พาพรรคพวกไปใช้จ่ายเงินจนหมดที่ไนท์คลับย่านเพลินจิต เขายังได้สารภาพถึงคดีปล้นนายเอี่ยว แซ่อุ่น เมื่อตำรวจนำตัวของเอี่ยวมาดู ก็สามารถชี้ตัวของวินัยได้อย่างถูกต้อง ส่วนของกลางในคดีนี้เจ้าหน้าที่สามารถค้นได้จากโรงรับจำนำ เขายังได้สารภาพถึงคดีปล้นที่หน้าโรงแรมศรีรุ่งเรือง บริเวณเชิงสะพานกษัตริย์ศึก, ปล้นและฆาตกรรมนายเต็กบิน แซ่กอ ที่ซอยสารสิน และปล้นชายหนุ่มคนหนึ่งที่ถนนพัฒนพงษ์ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 4 ธันวาคม แต่ชายคนดังกล่าวไม่ได้แจ้งความ[17][18]
เขาได้ให้การว่าพวกของเขามีประมาณ 7-8 คน และปล้นมาแล้วประมาณ 7-8 ครั้ง เมื่อลงมือแล้วจะมักทำติดต่อกันอีกหลายราย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งทำสำนวนทุกคดีให้เสร็จโดยเร็วเพื่อส่งให้คณะปฎิวัติพิจารณาโทษ[19]
ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2514 พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพัทธ์ของคณะปฎิวัติได้แถลงถึงการจับกุมวินัยและสุวรรณจากเหตุปล้นทรัพย์บริเวณถนนเพลินจิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม และเขายังได้แถลงอีกว่า"การกระทำดังกล่าวนับเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะปฎิวัติซึ่งประกาศบทลงโทษหนักต่อผู้ที่ประกอบอาชญากรรมทำลายชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่น ในเรื่องนี้หัวหน้าคณะปฎิวัติได้สั่งดำเนินการลงโทษแก่บุคคลที่บังอาจประพฤติก่อกวนความสงบสุขของประชาชนโดยไม่มีการลดหย่อนใดๆ ส่วนคนร้ายอีก 2 คน ที่หลบหนีไปนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกสืบสวนติดตามและจะรายงานให้หัวหน้าคณะปฎิวัติต่อไป"[20]
ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2514 พลตำรวจตรี เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีคณะปฎิวัติให้เร่งรัดให้สอบสวนทำสำนวนคดีของวินัย ซึ่งพฤติการณ์ของคดีเป็นการกระทำอย่างอุกอาจแบบเย้ยคำสั่งคณะปฎิวัตินั้น ซึ่งในขณะนี้ทางสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี 1 ในเขตนครบาลกรุงเทพใต้ได้รวบรวมส่งสำนวนคดีของวินัยให้กับกองบังคับการแล้ว และกองบังคับการได้ส่งเสนอให้คณะปฎิวัติ ในเวลา 11.00 น. ของวันเดียวกัน[21]
ได้มีข่าวลือว่าคณะปฎิวัติได้ประชุมพิจารณา และมีผู้เสนอให้ประหารชีวิตวินัยด้วยการยิงเป้า เช่นเดียวกับสมศักดิ์ ขวัญแก้ว ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมนายทหารอากาศชาวอเมริกันที่อำเภอสัตหีบ ซึ่งถูกประหารชีวิตไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน โดยคาดว่าคณะปฎิวัติจะประกาศคำสั่งที่แน่นอนให้ประชาชนทราบโดยเร็ว[22]
การประหารชีวิต
[แก้]วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิติขจร ได้มีคำสั่งของหัวหน้าคณะปฎิวัติ ที่ 4/2514 โดยมีคำสั่งให้ประหารชีวิต วินัย โพธิ์ภิรมย์ จากการกระทำผิดทางอาญาก่อนการประกาศกฎอัยการศึก 4 คดี และหลังประกาศใช้กฎอัยการศึก 3 คดี ส่วนสุวรรณ สาลี มีคำสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต โดยเห็นว่าสุวรรณ ไม่ได้ประกอบอาชีพแต่อย่างใด และเคยต้องโทษในความผิดฐานซ่องโจร นับว่าวินัยและสุวรรณมีสันดานเป็นโจร ไม่ประกอบอาชีพสุจริตเหมือนพลเมืองดี ประกอบแต่กรรมชั่วปล้นจี้ฆ่าคนตามท้องถนนหลวงต่อหน้าคนโดยสารรถประจําทาง และต่อหน้าผู้คนที่สัญจรไปมา โดยไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง จนเป็นที่เดือดร้อนหวั่นเกรงแก่ประชาชนเบ็นลําดับมา แม้ผู้ต้องหาทั้งสองจะให้การรับสารภาพและชี้ที่เกิดเหตุด้วยความสมัครใจก็เป็นการจํานนต่อพยานหลักฐาน สมควรลงโทษเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง โดยกำหนดให้เรือนจำกลางบางขวางเป็นสถานที่ประหารชีวิตวินัย[23][24]
หลังจากคณะปฎิวัติได้ออกคำสั่ง พลตำรวจตรีเสน่ห์ สิทธิพันธ์ได้สั่งการไปยังสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีเขต 1 เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดกับสุวรณและวินัย โดยมีคำสั่งให้จัดกำลังเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของผู้ต้องหา และ ให้พล สมพร อุยะนันท์ กับพล สุพัฒน์ อินทร์สมหวัง แต่งกายนอกเครื่องแบบเป็ยผู้ต้องขังไปนอนร่วมห้องกับทั้งสอง และยังมีคำสั่งให้พลปรีชาผู้จับกุมวินัย ถูกนำตัวไปขังในห้องเดียวกับวินัย โดยทำทีว่าปรีชาถูกผู้บังคับบัญชาสั่งคุมขังเนื่องจากทำผิดวินัย[25]
ตลอดทั้งคืน วินัยไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังจะถูกประหารชีวิต เขายังคงนอนหลับได้ตามปกติ มีเพียงครั้งเดียวที่เขาตื่นขึ้นมาและถามพลปรีชาว่าทำไมถึงมีคนจำนวนมากอยู่ในโรงพัก ปรีชาตอบว่ามีคดีเรื่องธรรมดา วินัยบ่นว่าหนาว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำผ้าห่มกับหมอนเข้าไปให้วินัย และเขาก็หลับต่อไป[26]
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เวลา 05.45น. พลตำรวจโท มนต์ชัย พันธ์คงชื่น สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถว 2 ด้าน จากปากประตูห้องขังถึงรถจี๊บที่จอดอยู่หน้าสถานีตำรวจ ถัดจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เบิกตัววินัยออกมาจากห้องขัง เขามีตื่นตกใจเล็กน้อยและหยุดชะงักตรงเชิงบันไดชั้นบน แต่เขาไม่ได้พูดอะไรเลย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวลงบันได 5 ขั้น วินัยเข่าอ่อน จนเจ้าหน้าที่ต้องพยุงแล้วพาเดินไปยังหลังรถจี๊บแลนด์โรเวอร์ ตราโล่ น.50 หมายเลขทะเบียน 00984 ส่วนสุวรรณเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเบิกตัวขึ้นรถจี๊บไปได้รวดเร็วกว่าวินัย โดยนำตัวสุวรรณขึ้นรถจี๊บ ตราโล่ หมายเลข น.51 ทะเบียน 00804[27]
รถจี๊บทั้งสองคันมุ่งหน้าออกจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีเมื่อเวลา 05.50 น. เพื่อมุ่งหน้าไปยังเรือนจำกลางบางขวาง โดยมีรถวิทยุตำรวจขนาบข้าง และมีรถของหนังสือพิมพ์วิ่งตามขบวนรถคุ้มกันของตำรวจเป็นกลุ่มใหญ่[28]
ขบวนรถคุ้มกันไปถึงหน้าเรือนจำกลางบางขวางเมื่อเวลา 06.30 น. เมื่อรถเข้าถึงในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ได้แยกตัวทั้งสองออกจากกัน โดยสุวรรณถูกแยกตัวไปฟังคำสั่งจำคุกตลอดชีวิต และนำขึ้นไปคุมขังในแดนที่ 1 เมื่อเวลา 06.35 น.[29]
ส่วนวินัย เจ้าหน้าที่ได้แยกตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือ ถัดจากนั้นพัศดีของเรือนจำได้อ่านคำสั่งคณะปฎิวัติให้ประหารชีวิตให้ฟัง ตลอดเวลาที่ฟังเขารับฟังด้วยอาการสงบ และมีน้ำตาไหลคลอเบ้าตา หลังจากฟังคำสั่งหัวหน้าคณะปฎิวัติ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวเขาไปยังหอรักษาการ 7 ชั้น เพื่อฟังพระธรรมเทศนาจากพระมหาสาย ฐานมงคโล ในเรื่องกฎแห่งกรรม เมื่อผิดพลาดไปแล้วให้ปลงในชีวิต โดยเทศน์โปรดเขาด้วยกัณฑ์ไตรลักษณ์ วินัยฟังเทศน์ด้วยอาการสงบโดยมีน้ำตาไหลนองหน้า เมื่อเทศน์จบ เขาฟุบลงแทบตักพระมหาสายแล้วใช้จีวรเช็ดน้ำตาก่อนจะก้มกราบ เขาได้ถวายเงินเป็นปัจจัยให้พระไป 5 บาท ส่วนอีก 20 บาท เขาขอฝากให้แม่เมื่อเขาเสียชีวิตแล้ว ถัดจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ยกอาหารมื้อสุดท้ายมา แต่เขาปฎิเสธที่จะรับประทานเพราะกินไม่ลง ถัดจากนั้นได้ให้เขียนพินัยกรรมและจดหมาย เขาไม่มีทรัพย์สินอะไรจึงไม่ได้ทำพินัยกรรม เขาแสดงความจำนงที่จะบริจาคดวงตาทั้งสองข้างให้แก่สภากาชาดไทย เขาเขียนจดหมายสั่งเสียถึงพ่อแม่จำนวน 1 บรรทัด โดยมีใจความว่า""กราบเท้า คุณพ่อคุณแม่ที่เคารพ ลูกขอลาพ่อแม่พี่ๆน้องๆไปก่อน ขอให้แม่ดูแลรักษาน้องให้ดี อย่าให้เอาอย่างผม" ระหว่างการเขียนเขาได้ร้องไห้อีก แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร[30][31][32]
เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 3 นาย ได้พาตัวเขาไปยังศาลาแปดเหลี่ยมหรือศาลาเย็นใจ วินัยได้ขอเดินไปเอง โดยไม่ขอนั่งรถเข็น ซึ่งเขาสามารถเดินได้อย่างปกติ เมื่อถึงศาลาแปดเหลี่ยม นายดอกรัง วงศ์ณรงค์ และนายชม ฉิมพัด เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้ผูกตาเขาด้วยผ้าดิบสีดำ แล้วนำเข้าสู่สถานที่หมดทุกข์ แล้วผูกมัดกับหลักประหาร คำพูดสุดท้ายของเขาก็คือ"ผมขอฝากคำพูด ไปถึงแม่ผม ด้วย..ขอให้แม่เลี้ยงน้อง ๆ ให้ดี...ผมไม่มีทางแล้ว.." วินัยถูกประหารชีวิตเมื่อเวลา 07.56 น. โดยเพชฌฆาตมุ้ย จุ้ยเจริญ ใช้กระสุนจำนวน 8 นัด เขานับเป็นบุคคลที่แรกที่ถูกประหารชีวิตโดยอำนาจมาตรา 17 จากคดีในเขตกรุงเทพมหานคร หลังจากการรัฐประหารตนเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514[33][34]
หลังจากการประหารชีวิต
[แก้]หลังจากการประหารชีวิตวินัย ได้มีประชาชนจากจังหวัดพระนคร,ธนบุรี,นนทบุรี และสมุทรปราการ ทยอยมารอดูศพของเขาที่วัดบางแพรกใต้อย่างเนืองแน่น
ในเวลา 09.45 น. สุชิน โพธิ์ภิรมย์ พ่อของเขาได้ไปติดต่อขอเยี่ยมวินัย แต่ได้รับคำตอบว่าถูกประหารชีวิตไปแล้ว หลังจากได้รับคำตอบสุชินได้น้ำตาไหลออกมา และบอกว่าไม่นึกว่าจะประหารเร็วเช่นนี้ เขาจึงไปยื่นเรื่องขอรับศพวินัยเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศล แต่หลักฐานเอกสารคลาดเคลื่อน ชื่อตามหลักฐานทางราชการของวินัยคือ วินัย โพธิ์ภิรมย์ แต่สุชินแจ้งนามสกุลเป็นโพธิภิรมย์ ทำให้ไม่สามารถรับศพได้ เขาจึงต้องกลับไปแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง[35]
หลังจากได้รับอนุญาตให้รับศพ ในเวลา 12.00 น. ญาติพี่น้องของวิรัยได้นำรถบรรทุกไปจอดไว้บริเวณวัดบางใต้เพื่อรับศพของวินัย ในเวลา 15.35 น. เจ้าหน้าที่ของเรือนจำและนักโทษชั้นดีได้นำศพของวินัยซึ่งบรรจุในโลงไม้ยางออกมาจากเรือนจำผ่านทางประตูแดง หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือของวินัยอีกครั้งเพื่อยืนยันตามระเบียบของเรือนจำว่าประหารไม่ผิดตัว ญาติของเขาได้นำโลงศพขึ้นรถบรรทุกแล้วนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดลุ่มเจริญศรัทธา ในย่านตรอกจันทน์[36][37]
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2515 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจพระโขนงเขต 1 ได้จับกุมจรูญ หรือ น้อย นาซี และนายอู้ด(ไม่ทราบนามสกุล) หลังจากก่อเหตุชิงทรัพย์ ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ล้อมจับกุมสุรศักดิ์ ที่บ้านในหมู่ที่ 4 ตำบลลาดกระบัง อำเภอลาดกระบัง นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ซึ่งสุรศักดิ์ และน้อยได้ร่วมก่อเหตุกับวินัย 5 คดี และทั้งสองยังได้ก่อเหตุชิงทรัพย์และฆาตกรรมอีกที่บาร์โซซิสเตอร์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 เวลา 22.00 น. โดยจรูญแทงนายเซ้ง หรือ เกตุ แซ่ตั้ง จนเสียชีวิต ส่วนสุรศักดิ์ยิงสุชาติ แซ่อึ้งจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งสรุปสำนวนเพื่อเสนอให้กับคณะปฎิวัติพิจารณาโดยเสนอให้ประหารชีวิตทั้งสองเนื่องจากหลังจากการประหารชีวิตวินัยไปแล้ว ทั้งสองยังก่อเหตุชิงทรัพย์และฆ่าคนอีก โดยไม่หวั่นเกรงต่อโทษ[38]
ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2515 คณะปฎิวัติได้พิจารณาลงโทษรุนแรงกับนายจรูญ ณ บางช้าง หรือน้อย นาซี, นายสุรศักดิ์ หุ่นประดิษฐ์ และนายอำนาจ หรือ แดง มโนสตาร์ เนื่องจากทั้งสามได้ประกอบกรรมชั่วปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ตายตามท้องถนนหลวงต่อหน้าประชาชนที่สัญจรไปมาโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะจรูญ แม้ว่าวินัยซึ่งเป็นลูกพี่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว ก็หามีได้เกรงกลัวในโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ กลับกระทำผิดซ้ำ จึงมีคำสั่งให้ลงโทษประหารชีวิตจรูญ แต่จรูญยังเป็นเยาวชนอายุเพียง 17 ปี จึงมีคำสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนสุรศักดิ์กับอำนาจ กระทำผิดร้ายแรงไม่เท่าจรูญจึงมีคำสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต[39]
ดูเพิ่ม
[แก้]- ธีรศักดิ์ หลงจิ ฆาตกรผู้ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์เด็กนักเรียนที่จังหวัดตรัง โดยขณะก่อเหตุมีอายุ 19 ปี และเป็นนักโทษคดีความผิดต่อชีวิตคนที่สองที่ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ
- รายชื่อบุคคลที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2530
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับสอง ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หน้า 16
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับสองวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2514 หน้า 16
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หน้า 16
- ↑ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฎิวัติที่๔/๒๕๑๔
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หน้า 16
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หน้า 16
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หน้า 16
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หน้า 16
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่ ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่ ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฎิวัติที่๔/๒๕๑๔
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับสอง ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หน้า 16
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับสอง ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับหลัง ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับสอง ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
- ↑ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 หน้าสอง
- ↑ "ระบุความผิดอุกฉกรรจ์นับสิบๆคดี ชี้แจงไม่ลงโทษประหารอายุยังน้อย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 10 June 1972. p. 2.