ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:เขียนงานอย่างไรให้เป็นกลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เขียนงานอย่างไรให้เป็นกลาง อธิบายถึงหลักการคร่าว ๆ ในการเขียนงานในวิกิพีเดียให้มีความเป็นกลาง และไม่ใช่การโฆษณา

หลักการเขียนงานให้เป็นกลาง

  • เนื้อหาในจุดที่น่าสงสัย ต้องมีแหล่งอ้างอิงที่มาเสมอ เพื่อให้ทราบว่าผู้เขียนไม่ได้แต่งเรื่องขึ้นเอง แหล่งที่มาต้องมีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ทุกเวลา
  • ใช้ภาษากลาง ไม่เน้นไปทางโจมตี กล่าวหา ยกย่อง ส่งเสริม ไม่เขียนเนื้อหาต่อต้านสิ่งหนึ่ง หรือสนับสนุนสิ่งหนึ่งอย่างชัดเจน ไม่กล่าวว่าสิ่งใดดีที่สุดหรือเลวที่สุด
  • ยกมุมมองและข้อเท็จจริง ข้อดีและข้อเสีย ของทั้งสองข้างหรือหลายข้างวางไว้เคียงกัน ในน้ำหนักพอดีกัน หากมีมุมมองข้างเดียวจะไม่สามารถเป็นกลางได้
  • ไม่ควรสรุปความด้วยเหตุผลหรือพฤติการณ์เฉพาะที่เลือกมาเป็นตัวอย่าง เนื่องจากผู้เขียนอาจเลือกตัวอย่างมาเฉพาะที่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนเท่านั้น
  • ไม่ใส่ความเห็นของผู้เขียนเองลงในบทความ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ เช่นการตั้งข้อสงสัย การตั้งแง่ การสรุป การวิจารณ์

ตัวอย่าง

[แก้]
ทักษิณ ชินวัตร กรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป

เข้าข่ายไม่เป็นกลาง
ในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ จำนวน 49.595% ให้กับบริษัทเทมาเส็กของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณได้ชี้แจงว่า พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็น พรบ. ที่ออกบังคับใช้เป็นการทั่วไปในภาคธุรกิจโทรคมนาคม ของประเทศ ไม่ได้บังคับใช้กับบริษัทชินวัตรเพียงบริษัทเดียว และในเรื่องส่วนเรื่องสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาตินั้น ได้มีข้อตกลงของ WTO มาตั้งแต่ปี 2541 ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีรับการลงทุนจากต่างประเทศใน 8 ปี และกฎหมายนี้ ก็เข้าสู่การพิจารณาของสภามาตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่จะมีดำริขายหุ้นออกมาจากตระกูลชินวัตร และกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติทั้งสองสภาไปแล้วย่อมไม่เป็นความลับ นอกจากนี้การเจรจาขายหุ้นของชินวัตร เพิ่งเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2548 ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนจึงสรุปว่าทั้งหมดนี้เป็นประเด็นโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มองแต่เรื่องการเมือง และพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เข้าด้วยกัน โดยที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน

มุมมองที่เป็นกลาง
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) ซึ่งเป็น กองทุนเพื่อการลงทุน ของ รัฐบาลสิงคโปร์ จำนวน 1,487,740,000 หุ้น (หนึ่งพันสี่ร้อยแปดสิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นหุ้น) (คิดเป็น 49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท (เจ็ดหมื่นสามพันสองร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านสองแสนเก้าร้อยสิบบาทถ้วน) ซึ่งถือเป็น การขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้เกิด เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในสังคมไทย โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดที่ทำให้ กระแสการขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจาก นายกรัฐมนตรี ขยายตัวออกไปในวงกว้าง
GotoKnow

เข้าข่ายการโฆษณา
กำเนิด Gotoknow Weblog Gotoknow.org ได้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) พัฒนาโปรแกรมโดย ดร. จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Gotoknow ได้นำขึ้นใช้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ในครั้งแรก ในขณะนั้น Gotoknow ต้องเช่าเครื่องแม่ข่าย (server) ผ่านทางบริษัท servepath ซึ่งติดตั้งเครื่องที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการย้ายกลับมายังประเทศไทย เนื่องมีผู้ใช้จำนวนมากอย่างเกินความคาดหมาย ทำให้ระบบล่าช้า

สคส. ทำอะไรบ้างกับ Gotoknow? เริ่มต้นจากวงเล็กๆ ภายในกลุ่มภาคีที่ สคส. คุ้นเคยและไปแนะนำกระบวนการ KM ผ่านรูปแบบ workshop ใน session ท้ายก็จะมีการสอนให้รู้จัก Gotoknow และขออาสาสมัครมาทดลองเปิดลงทะเบียนใช้จริง เพื่อเป็นการสาธิตให้ท่านอื่นได้ดูตามไปด้วย ทีมงาน สคส. จะประชาสัมพันธ์ทุกครั้งที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร หรือร่วมในการประชุม เสวนาในทุกเรื่อง จากนั้นไม่นาน สคส. ได้เรียนรู้ว่า gotoknow นั้น เป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ปฏิบัติ ทั้งในสายงานเดียวกัน ข้ามสายงาน หรือแม้แต่ข้ามองค์กรก็สามารถทำได้ ผู้ใช้ หรือที่เราเรียกกันว่า blogger นั่นเอง เริ่มมีพัฒนาการในการประยุกต์ใช้ Gotoknow สคส. จึงเดินเครื่องเพื่อเสริมกำลังใจแก่ active blogger เหล่านั้น ให้หัวใจพองโตมากยิ่งขึ้น สคส. เริ่มใช้กลยุทธ์การให้รางวัลเพื่อกระตุ้นให้บรรยากาศคึกคักขึ้น เริ่มจากรางวัล “สุดคนึง” (Best Blog of the Month) และต่อมาเพิ่มรางวัล “จตุรพลัง” (คุณเอื้อ, คุณอำนวย, คุณกิจ, และคุณลิขิตดีเด่น)


มุมมองที่เป็นกลาง
Gotoknow.org เป็นบล็อก สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้บนอินเทอร์เน็ต พัฒนาโดย ดร. จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดยในขณะนั้นมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่ ซานฟรานซิสโกในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะย้ายมาที่เมืองไทยในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ภายใต้การสนับสนุนหลักโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในเว็บไซต์จะมีการแบ่งย่อยออกเป็นตามกลุ่ม (หลายชุมชน) ตามเนื้อหาที่สนใจ เช่น ชุมชนเบาหวาน ชุมอาหารปลอดภัย ชุมชนการป้องกันโรค นอกจากนี้ ในแต่ละหน้าจะเชื่อมโยงกันตามกลุ่มป้ายเพื่อง่ายต่อการค้นหาและเชื่อมโยงเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน
Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

เข้าข่ายการโฆษณา
seasonschange เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นภาพยนตร์ไทย เรื่องราวเกี่ยวกับ เด็กวัยรุ่น 5 คน ประกอบด้วย 3 หนุ่ม 2 สาว ที่มีความใฝ่ฝันว่าจะเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จ แต่ละคน จึงเลือกทางเดินชีวิตของตน เข้ามาสู่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเส้นทางที่ทำให้ทั้งหมดมาพบกัน และ ก่อนหน้านั้น ก้าวแรกสู่วงการเพลงของสามหนุ่ม คือ การเข้าประกวด วงดนตรีระดับมัธยมศึกษา ที่ดังกระหึ่มที่สุดในประเทศ นาม ฮอทเวฟมิวสิคอวอร์ด แม้จะพบอุปสรรคท้อใจ แต่เด็ก ๆ เหล่านี้ ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ พวกเขาและเธอ จะไปถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิตหรือไม่....

มุมมองที่เป็นกลาง
Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นภาพยนตร์ไทย เรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่น 3 คน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปรียบเทียบกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร และเข้าฉาย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2549
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เข้าข่ายการโฆษณา
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2505 โดยอาจารย์สุรัตน์ และอาจารย์ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ "มูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ" จากสถาบันการศึกษาเอกชนที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการไทยในสมัยเมื่อแรกก่อตั้ง ปัจจุบันกลับกลายเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของประเทศ บุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐมนตรี นักธุรกิจ นักวิชาการ ดารานักร้อง นักแสดงจำนวนมากมายที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ก้าวตามความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในปัจจุบัน

มุมมองที่เป็นกลาง
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2505 โดยอาจารย์สุรัตน์ และอาจารย์ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ อยู่ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากสถาบันการศึกษาเอกชนที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการไทยในสมัยเมื่อแรกก่อตั้ง

ดูเพิ่ม

[แก้]