สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส) เป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมไม่ใช่หน่วยงานให้ทุนสนับสนุนกิจกรรม (granting agency)

ประวัติ[แก้]

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมดำเนินงานในช่วง 5 ปีแรกระหว่าง พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2551 ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างระดมความคิดหาทิศทางและยุทธศาสตร์การดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่สอง (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2556) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมเน้นความร่วมมือระยะยาวกับภาคี

แนวคิดและการจัดการ[แก้]

การจัดการความรู้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือสังคมอุดมปัญญา เนื่องจากสังคมไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของสังคมสู่สังคมอุดมปัญญา จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานสร้างขีดความสามารถด้านการจัดการความรู้ขึ้นในสังคม นี่คือที่มาของการก่อตั้ง สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ให้เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนขบวนการจัดการความรู้ในสังคมไทย โดยทำงานร่วมกับภาคีที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นภาคีโดยตรงและโดยอ้อม โดย สคส. ทำงานในลักษณะของเพื่อนร่วมเรียนรู้วิธีใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายหลักของภาคี และทำงานเชื่อมโยงภาคีจัดการความรู้เข้าเป็นเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การนำการจัดการความรู้ไปใช้งาน

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมดำเนินการส่งเสริมการจัดการความรู้ในสังคมไทย ทั้งในภาคสังคม-เศรษฐกิจพอเพียง และในภาคสังคม-เศรษฐกิจแข่งขัน ทั้งในภาคราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคเอกชนไม่ค้ากำไร (เอ็นจีโอ) และภาคประชาชน ทั้งดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการจัดการความรู้ในบริบทและรูปแบบที่หลากหลาย และส่งเสริมขบวนการเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมความรู้ และสังคมเรียนรู้ โดยมีการสร้าง ศาสตร์ ด้านการจัดการความรู้ในสังคมไทย และสร้าง “สุขภาวะ” ทางสังคม และทุนทางสังคมไปพร้อมๆ กับการดำเนินการดังกล่าว

การดำเนินงาน[แก้]

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมมียุทธศาสตร์การดำเนินงานในลักษณะเชื่อมโยงเครือข่ายกิจกรรมจัดการความรู้ขององค์กร หน่วยงาน และชุมชนต่างๆ ภายในประเทศ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการ ประสบการณ์ และความสำเร็จในการใช้การจัดการความรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักขององค์กร หน่วยงาน และชุมชน โดยมีหลายกิจกรรมหลายอย่างเช่น

  • มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ จัดทุกปี ในวันที่ 1 - 2 ธันวาคม มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3 จัดที่ ไบเทค บางนา
  • การประชุมภาคีการจัดการความรู้ภาคท้องถิ่น
  • การประชุมภาคีการจัดการความรู้ภาคราชการ
  • จดหมายข่าว ถักทอสายใยแห่งความรู้
  • Gotoknow (บล็อก)
  • เครือข่ายการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัย (UKM)
  • เครือข่ายการวิจัยด้านการจัดการความรู้ (RKM)
  • ชุมชนผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
  • การดำเนินการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายการจัดการความรู้ในท้องถิ่น หรือชุมชน โดย สรส. (สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) มีคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการ เน้นการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และองค์กรพัฒนาเอกชน
  • การให้บริการ KM Internship Program และ KM Externship Program
  • แนะนำวิทยากรบรรยาย หรือจัดการประชุมปฏิบัติการ เรื่องการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้
  • เป็นวิทยากรตามข้อ 11 โดย สคส. จะร่วมกับหน่วยงานที่ร้องขอในการคิด Roadmap ของการใช้การจัดการความรู้ในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อร่วมกันเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

อ้างอิง[แก้]

  • รายงานประจำปี KM ประเทศไทย (สคส.) 2548
  • สิ่งดีๆ ที่หลากหลาย สไตล์ KM (Best Practice - KM Style). รายงานประจำปี 2549 สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
  • นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ 2549. สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ISBN 974-9772-24-5

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]