วิธีใช้:ความย่อการแก้ไข

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมื่อคุณแก้ไขบทความในวิกิพีเดีย จะเห็นกล่องข้อความที่เขียนว่า "ความย่อการแก้ไข:" อยู่ใต้กล่องแก้ไขหลัก มีลักษณะดังนี้

กล่องความย่อการแก้ไข
กล่องความย่อการแก้ไข
  • ข้อความที่เขียนลงไปในกล่องนี้ จะไปปรากฏในหน้าปรับปรุงล่าสุด รวมถึงหน้าประวัติ หน้าแสดงความแตกต่างระหว่างรุ่น และหน้ารายการเฝ้าดู
  • ในกรณีที่คุณทำการแก้ไขบางส่วนของบทความโดยคลิกคำว่า แก้ ภายในตัวบทความ (ไม่ใช่คำว่า แก้ไข ที่อยู่ด้านบนของหน้า) คุณอาจพบว่ามีข้อความที่อยู่ระหว่างเครื่องหมาย /* และ */ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นหัวข้อภายในบทความนั้น ให้กรอกข้อความของคุณต่อท้ายข้อความนี้

ระบุความย่อให้มากที่สุด

การระบุความย่อการแก้ไขทุกครั้งถือเป็นสิ่งดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย้อนการกระทำของผู้อื่น หรือลบข้อความที่มีอยู่เดิม มิฉะนั้นบุคคลอื่นอาจตั้งคำถามถึงเจตนาของคุณในการแก้ไขนั้นได้ การลงความย่ออย่างแม่นยำช่วยให้ผู้อื่นตัดสินใจได้ว่าควรทบทวนการแก้ไขของคุณหรือไม่ และทำความเข้าใจการแก้ไขของคุณกรณีผู้อื่นต้องการทบทวนการแก้ไขนั้น

การแก้ไขที่ไม่ลงความย่อการแก้ไขย่อมมีโอกาสย้อนอย่างไม่ถูกต้องได้ แต่กระนั้นผู้เขียนไม่ควรย้อนการแก้ไขที่ดีเพียงเพราะว่าไม่ได้ลงความย่อการแก้ไขหรือลงสับสน เพราะผู้เขียนคนนั้นอาจลืม หรือความย่อที่สับสนอาจเกิดจากซอฟต์แวร์เติมให้อัตโนมัติก็ได้ อย่างไรก็ดี การลงความย่อในการแก้ไขใหญ่ ๆ จะช่วยป้องกันข้อผิดพลาดที่เกิดจากการด่วนสรุปได้

ความย่อมีความสำคัญน้อยในการแก้ไขเล็กน้อย (ซึ่งโดยความหมายคือ การแก้ไขที่ไม่น่าจะมีคนเห็นแย้ง เช่น แก้ไขตัวสะกดหรือไวยากรณ์) แต่ลงข้อความสั้น ๆ ว่า "แก้สะกด" ก็เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน

ในการตั้งค่าผู้ใช้ สามารถเลือกว่าจะเตือนเมื่อความย่อการแก้ไขว่างก็ได้เพื่อป้องกันการบันทึกการแก้ไขที่ไม่ระบุความย่อโดยไม่เจตนา

แนวทางการเขียนความย่อการแก้ไข

  • สรุป สรุปการเปลี่ยนแปลงสั้น ๆ ดีกว่าไม่ใส่เลย
  • อธิบาย บอกเหตุผลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ้างนโยบายและแนวปฏิบัติของวิกิพีเดียจะทำให้เหตุผลของคุณมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
  • ตัวย่อ ใช้ตัวย่อได้ ถ้าน่าจะเข้าใจได้ง่ายและใช้กันแพร่หลายในวิกิพีเดียแล้ว
  • ขยายความสารนิเทศสำคัญ ถ้าเกรงว่าระบุในกล่องความย่อการแก้ไขไม่เพียงพอ สามารถอธิบายในหน้าคุยของบทความ และระบุว่า "ดูในหน้าอภิปราย" ก็ได้
  • ให้เครดิต ถ้าคัดลอกหรือแปลมาจากวิกิพีเดีย พึงใส่ลิงก์ไปยังหน้าบทความต้นทางด้วย

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

  • เลี่ยงความย่อที่ชวนให้เข้าใจผิด เช่น จงใจละเลยการเปลี่ยนแปลงบางส่วนให้เข้าใจว่ามีการแก้ไขเล็กน้อยกว่าที่เกิดขึ้น
  • เลี่ยงความคลุมเครือ เช่น "แก้ไขบางจุด" หรือ "เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น" ไม่ต่างอะไรกับการไม่ใส่ความย่อเลย
  • เลี่ยงการใส่ความย่อยาว ๆ การใส่ความย่อยาว ๆ จนเกิน 1 บรรทัดขึ้นไปเป็นสิ่งที่น่ารำคาญสำหรับผู้อื่น ถ้าต้องการอภิปรายหรือติดต่อผู้ใช้อื่น กรุณาใช้หน้าคุยของบทความหรือคุยกับผู้ใช้ให้เหมาะสมกับการใช้
  • เลี่ยงความย่อที่ไม่เหมาะสม อย่าว่าร้ายตัวบุคคล หรือบริภาษการแก้ไขของผู้อื่นเกินสมควร เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอารยะ และอาจก่อให้เกิดอารมณ์รุนแรงและความขัดแย้งได้

เมื่อเกิดกรณีพิพาท

อย่าถกเถียงหรือเจรจากันในกล่องความย่อการแก้ไข ให้สนทนากันต่อในหน้าอภิปราย ตัวอย่างที่ควรระบุ เช่น

ย้อนการแก้ไขของผู้ใช้ ก; ดูต่อในหน้าอภิปราย

แก้ไขไม่ได้

หลังเผยแพร่การเปลี่ยนแปลงแล้ว คุณไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขความย่อการแก้ไขได้ ฉะนั้นระวังให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คุณกำลังอารมณ์ไม่ดี อย่าเขียนสิ่งที่คุณจะเสียใจในภายหลัง

ถ้าคุณเผลอข้ามความย่อที่สำคัญหรือเกิดข้อผิดพลาดในความย่อการแก้ไข สามารถแก้ไขโดยสร้างการแก้ไขเปล่า แล้วอธิบายในความย่อการแก้ไขของการแก้ไขเปล่าแทน

กรณีที่ในความย่อการแก้ไขมีลักษณะต้องห้าม คือ น่าจะก่อให้เกิดอันตรายหรือผิดกฎหมาย อาจมีการลบความย่อนั้นเมื่อมีคำร้องหรือตามดุลยพินิจของผู้ดูแลระบบ แต่ผู้ดูแลระบบยังมองเห็นความย่อการแก้ไขที่ถูกลบด้วยวิธีนี้ได้ ยกเว้นเมื่อมีการควบคุมประวัติ (oversight) จะเป็นการลบที่แม้แต่ผู้ดูแลระบบก็มองไม่เห็น