ข้ามไปเนื้อหา

วัดไผ่ล้อม (จังหวัดสระบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไผ่ล้อม
โบสถ์วัดไผ่ล้อม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไผ่ล้อม
ที่ตั้งตำบลสวนดอกไม้ อำเสาไห้ จังหวัดสระบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย เถรวาท
พระประธานพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดพระเพลากว้าง - นิ้ว สูง - นิ้ว
พระพุทธรูปสำคัญพระประธานในอุโบสถ
เจ้าอาวาสพระครูวิสุทธิสีลาภิวัฒน์ ฐิติโก
ความพิเศษสร้างในสมัย อยุธยาตอนปลาย
เวลาทำการทุกวัน
จุดสนใจพระบรมธาตุเจดีย์
กิจกรรมสักการบูชา พระบรมธาตุเจดีย์
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดไผ่ล้อม ตั้งอยู่เลขที่ 16 บ้านไผ่ล้อม ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีฐานะ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 20 ตาราวา โฉลดเลขที่ 9042 อาณาเขต ทิศเหนือยาว 3 เส้น 8 วา ติดกับแม่น้ำแควป่าสัก ทิศใต้ยาว 2 เส้น ติดต่อกับทุ่ง ทิศตะวันออก ยาว 2 เส้น 17 วา ติดกับโรงงานทอกระสอบ ทิศตะวันตก ยาว 3 เส้น 5 วา ติดต่อกับทางสาธารณะพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำแควป่าสัก[1]

ประวัติ

[แก้]

วัดไผ่ล้อมสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2212 สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีนามตามชื่อหมู่บ้าน เป็นวัดชนิดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2222 ตามหลักฐานบันทึกไว้ในทะเบียนของวัด แจ้งว่าตั้งอยู่ เลขที่ 16 หมู่ที่ 1 ตำบล (สิบต๊ะ) สวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี สร้างประมาณปี พ.ศ. 2122 สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ส่วนหลักฐานอื่นไม่มีผู้ใดได้จดบันทึกไว้ ถาวรวัตถุก็ไม่หลงเหลือไว้ให้ศึกษาค้นคว้าได้

ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติในยุคนั้น การที่จะจัดตั้งเป็นประกาศมีสัดส่วนที่มั่นคงไม่มี ส่วนใหญ่จะเป็นเมือง โดยมีเจ้าเมืองปกครองดูแล เมืองที่กล้าเก่งกว่ายกทัพมาโจมตี เมืองที่พ่ายแพ้ก็ตกเป็นเมืองขึ้น หรือถูกกวาดต้อนไปรวมเป็นกำลังเสริมที่จะรุกรานขยายอาณาเขต เมื่อรวมได้หลายๆ เมืองก็จัดตั้งเป็นประเทศมีเมืองหลวงเป็นศูนย์การปกครอง เช่น กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ต่างชาติต่างเผ่าพันธ์ไม่สามารถเข้าไปร่วมกันได้ต่างก็อพยพหนีไปหาที่อยู่ใหม่ พวกที่ไม่สามารถจะไปไหนได้ก็แทรกตัวอยู่เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในเมืองหรือประเทศนั้น ประเทศไทยจึงมีชนหลายเผ่าพันธ์ เมื่อไปอยู่ชุมชนใด เป็นกลุ่มมากพอต่างก็นำเข้าประเพณีและวัฒนธรรมขึ้นมากำหนดตั้งเพื่อให้เป็นที่ปฏิบัติร่วมชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา ก็พากันจัดตั้งสำนักสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์มาอยู่ช่วยการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเมื่อมีพระสงฆ์และชาวพุทธมากขึ้น มีกำลังพอที่จะจัดตั้งสำนักสงฆ์เป็นวัดมีวิสุงคามสีมาได้ก็รวมกันจัดทำ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนำมาข้างต้น ก็พอที่จะมีหลักฐานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการตั้งวัดไผ่ล้อมได้พอสมควร

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้กรมหมื่นเทพทรรักษ์และพระปราบ นำทัพไปขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน พ.ศ. 2347 พม่าพ่ายแพ้ถอยร่นกลับไป ก็ให้เผาเมืองเชียงแสน แล้วรวบรวมผู้คนชาวเชียงแสนได้จำนวนหนึ่งอพยพลงมาแต่ในระหว่างบางส่วนต่างก็กระจัดกระจายกันปักหลักอยู่ตามระยะทางที่ผ่านมาคือ เวียงจันทร์ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ส่วนพวกที่มาถึง ได้โปรดให้ตั้งบ้านเรือนที่เมืองสระบุรี เมืองเสาไห้ (ในสมัยนั้นเมืองสระบุรีเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองเสาไห้) อีกส่วนหนึ่งไปตั้งรกรากอยู่ที่บ้านคูเมือง พวกที่มาจากเชียงแสน (โยนกนาคนคร) หรือชาว ไทยวน ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลเสาไห้ (หมู่บ้านไผ่ล้อม) ตำบลสวนดอกไม้ (สิบต๊ะ)ตำบลต้นตาล ตำบลพระยาทด ตำบลท่าช้าง ตำบลศาลารีไทย ตำบลบ้านยาง และตำบลหัวปลวก “ปู่คัมภีระ” หัวหน้าผู้นำอพยพของชาวเชียงแสนพร้อมขุมกำลังผู้ใกล้ชิดได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านโบราณซึ่งอยู่คนละฝั่งวัดไผ่ล้อม ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 2 ได้แต่งตั้งปู่คัมภีระมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยารัตนกาศ” มีหน้าที่คุมกำลังส่งเสบียงให้พลรบยามเกิดศึกสงครามด้านทิศตะวันออก(ศึกเขมร)กองกำลังมีกองโตตั้งอยู่ 3 แห่ง อยู่ที่สี่คิ้ว 1 กอง โคกกร่าง 1 กอง และโคกแย้ 1 กอง และมีกองม้าอยู่ที่บ้านยาง 1 กอง ไว้เป็นหน่วยคุ้มกันกองเสบียง เมื่อมีขุมกำลังอำนาจหน้าที่เช่นนี้จึงเชื่อได้ว่า วัดไผ่ล้อมต้องได้รับการทำนุบำรุงให้ดีขึ้น โดยฝีมือของชาวไทยวนที่อพยพมาจากเชียงแสน

ต่อมาผู้อพยพสายตระกูลปู่คัมภีระได้สืบต่อตำแหน่ง “พระยารัตนกาศ” มีลูกหลานหลายคน คนสุดท้ายเป็นบุตรของพ่อเฒ่ามหาวงศ์ ได้เป็นนายอำเภอเสาไห้ คนที่ 2 พ.ศ. 2439 ถึง พ.ศ. 2443 และได้ตั้งบ้านเป็นสำนักงานที่ทำการอำเภอเสาไห้อยู่ที่บ้านไผ่ล้อมจนถึง ณ ปัจจุบันนี้[2]

สถานที่ภายในวัด

[แก้]

เสนาสนะ

[แก้]
  • 1.1 ศาลาการเปรียญกว้าง 14 เมตร ยาว 34 เมตร สร้างด้วยไม้และคอนกรีต พ.ศ. 2523
  • 1.2 หอสวดมนต์กว้าง 20 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างด้วยไม้สัก พ.ศ. 2410
  • 1.3 กุฏิสงฆ์ จำนวน 5 หลัง เป็นอาคารไม้ นอกจากนี้มีหอระฆังและวิหาร

ศาสนสถาน

[แก้]
  • 1.1 อุโบสถกว้าง 17 เมตร ยาว 33 เมตร บูรณะ พ.ศ. 2502 ก่ออิฐถือปูน
  • 1.2 พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศาสนวัตถุ

[แก้]
  • 1.1 พระประธานในอุโบสถ พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดพระเพลากว้าง - นิ้ว สูง - นิ้ว [3]

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]
ลำดับเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.สวนดอกไม้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
ลำดับที่ รายนาม/สมณศักดิ์ ตำแหน่ง เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระปลัดอิน เจ้าอาวาส - -
2 พระอาจารย์ศรีวิชัย เจ้าอาวาส - พ.ศ. 2454
3 พระอาจารย์แป้น เจ้าอาวาส พ.ศ. 2454 พ.ศ. 2458
4 พระอาจารย์คำมี เจ้าอาวาส พ.ศ. 2458 พ.ศ. 2465
5 พระอาจารย์ทองคำ เจ้าอาวาส พ.ศ. 2465 พ.ศ. 2467
6 พระอาจารย์คำมูล เจ้าอาวาส พ.ศ. 2467 พ.ศ. 2476
7 พระอธิการป้อม ทีปงฺกโร เจ้าอาวาส พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2484
8 พระอาจารย์เดช เจ้าอาวาส พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2489
9 พระอาจารย์หลี เจ้าอาวาส พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2495
10 พระอธิการประถม ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาส พ.ศ. 2497 พ.ศ. 2535
11 พระอธิการสุดใจ ถาวโร เจ้าอาวาส พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2543
12 พระครูวิสุทธิสีลาภิวัฒน์ ฐิติโก เจ้าอาวาส พระอุปัชฌาย์ และ เจ้าคณะตำบลสวนดอกไม้ พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. กองพุทธสถาน,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 4 ,หน้า 388 ,ประวัติวัดในจังหวัสระบุรี : กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2552.
  2. กองพุทธสถาน,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 4 ,หน้า 389 ,ประวัติวัดในจังหวัสระบุรี : กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2552.
  3. กองพุทธสถาน,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 4 ,หน้า 389 ,ประวัติวัดในจังหวัสระบุรี : กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2552.