วัดไผ่ล้อม (จังหวัดนครปฐม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไผ่ล้อม
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 2 ถนนเทศา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไผ่ล้อม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ประวัติ[แก้]

สันนิษฐานกันว่าสร้างวัดไผ่ล้อมขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยุคนั้นได้มีการเกณฑ์ชาวมอญที่อยู่ใต้โพธิสมภารมาช่วยกันบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ชาวมอญได้พักอาศัยอยู่บริเวณสวนป่าไผ่ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาบริเวณนั้นร้างผู้คน ดงไผ่ขึ้นหนา พระภิกษุผู้แสวงหาธรรมหลายรูปต่างจาริกมาวิเวก ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรม ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเห็นว่า สถานที่บริเวณนี้สมควรตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จึงได้อาราธนาพระภิกษุจากวัดพระปฐมเจดีย์มาจำพรรษาเป็นครั้งคราว เมื่อมีภิกษุจำพรรษามากขึ้น ชาวบ้านได้ช่วยกันถางป่าไผ่เพื่อไปทำที่อยู่อาศัย จะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็บริเวณรอบ ๆ วัดเท่านั้น จึงกลายเป็นที่มาของชื่อวัด

วัดไผ่ล้อมขาดเจ้าอาวาสอยู่นาน กระทั่ง พ.ศ. 2486 ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระอาจารย์พูล อตตรกโข ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่วัดพระงามขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส[1] ท่านได้ร่วมกับญาติโยมสร้างอุโบสถ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 และแล้วเสร็จในอีก 3 ปีต่อมา ในสมัยของท่านยังได้สร้างเสนาสนะต่าง ๆ เช่น ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาฌาปนสถาน ศาลาปฏิบัติ หอระฆัง กุฏิสงฆ์ โรงเรียนวัดไผ่ล้อม เป็นต้น[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถหลังเก่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขนาดความกว้าง 9 เมตร ความยาว 21 เมตร เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น คอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นปูหินอ่อน บานประตูหน้าต่างไม้สักแกะสลัก 3 ชั้น ส่วนผนังด้านในเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติและผนังด้านนอกเป็นลายปูนปั้นรูปเทพทรงพระขรรค์ กำแพงแก้ว ประดับด้วยเสาหงส์คาบไฟ และลูกแก้วองค์พระปฐมเจดีย์ ปูพื้นหินแกรนิต ซุ้มเสมา ศิลปะอยุธยา ซุ้มประตู 4 ทิศ ปั้นเทพประจำทิศทั้งแปด พร้อมปูนปั้นเป็นท้าวเวสสุวรรณ 8 องค์ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เนื้อโลหะลงรักปิดทองขนาดหน้าตัก 4 ศอก 9 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540

ศาลาการเปรียญ (ปุริมานุสรณ์) ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 32 เมตร หอระฆังเป็นลักษณะทรงไทยประยุกต์ สูง 3 ชั้น มีหอกลองหอระฆังอยู่ในที่เดียวกันด้านหน้ากุฏิเจ้าอาวาส เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 นอกจากนี้ยังมีวิหารประดิษฐานสังขารหลวงพ่อพูล สถาปัตยกรรมไทย ยอดทรงมณฑป หลังคาจัตุรมุข ซ้อน 2 ชั้น

ปูชนียวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูปปางประทานอภัย พระประธานประจำอุโบสถหลังเดิม เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ปั้นด้วยปูน หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ สูงประมาณ 1.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2492[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดไผ่ล้อม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. หนุ่มลูกทุ่ง (21 มิถุนายน 2554). "ไหว้หลวงพ่อพูล "วัดไผ่ล้อม" นครปฐม". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "ประวัติวัดไผ่ล้อม".