ข้ามไปเนื้อหา

วัดโชค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโชค
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโชค, วัดบ้านใหม่
ที่ตั้งตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดโชค เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา ด้านการศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2475

วัดโชค เดิมชื่อ วัดบ้านใหม่ เพราะตั้งอยู่ที่ตำบลคลองบ้านใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งประตูระบายน้ำ (ต่อมาโอนเข้ากับตำบลโพธาราม) จนเมื่อ พ.ศ. 2455 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จมาตรวจคณะสงฆ์จังหวัดราชบุรีผ่านวัดบ้านใหม่ ทั้ง ๆ ที่มิได้ตั้งพระทัยแวะที่วัดนี้ แต่เห็นประชาชนตั้งพลับพลาต้อนรับ ปูผ้าขาวลาดจรดริมท่าน้ำ ชาวบ้านรอคอยรับเสด็จเต็มถนนเข้าวัด จึงเปลี่ยนพระทัยแวะเข้าวัด เสด็จขึ้นพลับพลาต้อนรับ ชาวบ้านจัดสำรับอาหารถวายเพล กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเห็นความพร้อมเพรียงจึงตรัสชมเชยและเปลี่ยนชื่อวัดให้ใช้ชื่อใหม่ว่า "วัดโชค" ให้เป็นมงคลนาม และระลึกถึงความมีโชคคือเป็นวัดที่มีโชคที่สมเด็จพระสังฆราชได้แวะ

ต่อมา พ.ศ. 2462 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เสด็จมาราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง พักอยู่ที่ศาลาริมน้ำซึ่งเป็นศาลาเล็ก 2 หลังคู่กัน (ขณะนี้ได้รื้อแล้ว) เป็นเวลา 2 วันคือวันที่ 21–22 มิถุนายน จอดเรือลอยอยู่ริมท่าน้ำ แล้วเสด็จขึ้นประทับบนศาลาใหญ่ให้ชาวบ้านเข้าเฝ้าอย่าง ใกล้ชิด (ศาลานี้ปัจจุบันใช้เป็นศาลาการเปรียญ) ก่อนเสด็จกลับทรงประทานภาพถ่ายของพระองค์แก่หลวงพ่อแจ่มเจ้าอาวาสวัดโชคในขณะนั้น[1]

วัดมีพระประธานองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่อยู่กลางแจ้ง ภายในพระประธานใช้บรรจุพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดที่มีอายุนับพันปีที่ย้ายมาเมื่อ พ.ศ. 2515 จากอุโบสถเก่า อุโบสถหลังเดิมก่อนที่จะรื้อมีรูปร่างแบบจีนเช่นเดียวกับวิหารที่หลวงพ่อแจ่ม กระเบื้องเก่าของอุโบสถที่ขุดได้บริเวณวัดและบางส่วนของหลังคาอุโบสถทำด้วยดินแดงแบบกระเบื้องกาบกล้วยซึ่งมาจากจีน รวมทั้งอุโบสถเก่าเป็นฝีมือการก่อสร้างของช่างจีนด้วย วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 16 เมตร ยาว 26 เมตร[2]

รายนามเจ้าอาวาส

[แก้]
  • พระเสือ พ.ศ. 2367–2397
  • พระอ่วม พ.ศ. 2398–2428
  • พระครูธรรมเสนานี พ.ศ. 2429–2465
  • พระครูวิทยาวรคุณ พ.ศ. 2466–2486
  • พระสงัด พ.ศ. 2487–2495
  • พระครูพิพัฒน์รัตโนภาส พ.ศ. 2496v2542
  • พระเฉลิมชัย ธมมกาโม
  • พระครูกันตชัยธรรม

อ้างอิง

[แก้]
  1. วนิดา ตรีสวัสดิ์. "วัดมอญจังหวัดราชบุรี : การจัดภูมิทัศน์ และความหมาย ของอัตลักษณ์ชุมชน". p. 12.
  2. "วัดโชค". สำนักงานเทศบาลเมืองโพธาราม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-28. สืบค้นเมื่อ 2022-11-28.