วัดแม่นางปลื้ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดแม่นางปลื้ม
แผนที่
ที่ตั้งตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อขาว
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแม่นางปลื้ม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติและตำนาน[แก้]

ประวัติของทางวัดแม่นางปลื้มกล่าวว่าวัดสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 1920 สมัยขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา[1] แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

วัดมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งทางวัดเขียนว่า แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านอยู่ริมน้ำชานพระนครคนเดียว ไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงพายเรือมาแต่พระองค์เดียว ท่ามกลางสายฝน เมื่อเสด็จมาถึงเห็นกระท่อมยังมีแสงตะเกียงจึงทรงแวะขึ้นมาในกระท่อม แม่นางปลื้มเห็นว่าเสื้อผ้าพระองค์เปียกจึงได้กล่าวเชื้อเชิญด้วยความมีน้ำใจ แต่พระองค์ท่านทรงตรัสเสียงดัง แม่ปลื้มจึงกล่าวเตือนว่าอย่าเสียงดังนัก กล่าวว่าเวลาค่ำ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินได้ยินจะทรงโกรธ พระองค์กลับตรัสด้วยเสียงอันดังว่าอยากดื่มน้ำจันทน์เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แต่แม่ปลื้มบอกว่าเป็นวันพระ หากจะดื่มได้ต้องไม่ให้เรื่องถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงรับปาก และได้ประทับค้างคืนที่บ้านของแม่ปลื้ม เช้าจึงเสด็จกลับวัง ต่อมาทรงให้จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง ด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนมีเมตตา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ครั้งแม่ปลื้มเสียชีวิต สมเด็จพระนเรศวรจึงจัดงานศพให้สมเกียรติ และสร้างวัดแห่งนี้ไว้ที่เป็นระลึก[2]

อย่างไรก็ตาม ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (Cort Verhael van't naturel eijnde der volbrachte tijt ende successie der Coningen van Siam) ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ประจำกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งเป็นหลักฐานเดียวที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ไม่มีการพูดถึงชื่อของหญิงชราที่ให้ที่พักกับพระนเรศวร และไม่มีเรื่องพระนเรศวรให้สร้างวัดเพื่อระลึกถึงแต่อย่างใด ดังว่า

มีสิ่งน่าจดจำหลายอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ (สมเด็จพระนเรศวร) ที่เล่าขานกัน แต่จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้เพราะจะเยิ่นเย้อเกินไป แม้สัญญาไว้แล้วว่าจะกล่าวแต่เพียงสั้น ๆ แต่ก็มีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งสมควรจะกล่าวเพิ่มเติม เย็นวันหนึ่งขณะที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จล่องเรือไปตามแม่น้ำ ทรงติดพายุฝนไม่สามารถเสด็จกลับพระราชวังได้ จึงเสด็จอย่างเร่งรีบไปยังบ้านเก่า ๆ หลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งของหญิงยากจนผู้หนึ่ง โดยไม่มีใครสังเกตเห็น หญิงผู้นั้นตกใจมาก กล่าวว่า “ลูกแม่ เจ้าไม่รู้หรอกว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจจะเสด็จมาใกล้ ๆ แถวนี้” พระองค์ตรัสตอบอย่างไม่เกรงกลัวว่า “จะเป็นอะไรไปจ๊ะแม่ ถ้าท่านจะเสด็จมาได้ยิน และมีพระประสงค์จะฆ่าลูกก็จะเป็นไรไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แล้วก็เป็นคราวเคราะห์ของลูกเอง เคราะห์ย่อมจะเกิดแก่คนทั่ว ๆ ไปโดยไม่ทราบล่วงหน้า" หญิงผู้นั้นก็คุกเข่าลงแทบพระบาทของพระองค์ อ้อนวอนด้วยความสลดใจ ห้ามมิให้กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินเช่นนั้น นางกล่าวว่า “เทพยเจ้าได้ประทานพระองค์ให้แก่พวกเรา ดังนั้นการกระทำของพระองค์ย่อมจะเป็นสิ่งไม่ชั่วร้าย พระองค์ทรงเป็นทั้งผู้ลงโทษแทนเทพยดา และเป็นผู้รับคำพิพากษาความผิดชั่วร้ายของเรามาลงโทษ เราจะต้องเชื่อฟังบุคคลที่เทพยดาส่งมาปกครองพวกเรา”

ยิ่งหญิงผู้นั้นพยายามทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเงียบพระสุรเสียงด้วยเหตุผลมากเท่าไร พระเจ้าแผ่นดินก็ยิ่งส่งเสียงมากขึ้นเท่านั้น ในที่สุด นางก็ขอร้องให้พระองค์เสด็จออกจากบ้านของนางไป เพราะว่านางไม่ต้องการมีส่วนร่วมกันในความประพฤติที่ผิด ๆ ของพระองค์ พระองค์ทรงยินยอมแต่ขอดื่มกระแช่ (aracq) ก่อน เพราะทรงเหนื่อยจากการทรงถูกฝน หญิงผู้นั้นกล่าวว่า “ลูกแม่ เจ้ารู้ดีว่าเวลานี้เป็นระยะเข้าพรรษา และจะไม่มีใครซื้อหรือดื่มกระแช่ได้จนกว่าจะออกพรรษา แต่ถ้าหากลูกต้องการเสื้อผ้าที่แห้งอย่างที่แม่ใส่อยู่นี่ แม่ก็จะให้เจ้า แม่จะซักและผึ่งเสื้อของเจ้าให้แห้ง ขอให้เจ้าพักผ่อนและนอนหลับสักครู่หนึ่งเถิด"

พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมที่รับเสื้อผ้ามาเปลี่ยน และให้หญิงผู้นั้นซักและผึ่งฉลองพระองค์ให้แห้ง แต่พระองค์ไม่ทรงยอมหยุดยั้งความปรารถนาที่จะดื่มกระแช่ โดยตรัสว่า พระองค์ไม่ต้องการผูกมัดตัวเองตามกฎหมายที่เข้มงวดของพระเจ้าแผ่นดิน ในที่สุดหญิงผู้นั้นก็รินกระแช่ใส่จอกเล็ก ๆ ถวายพระองค์ นางสาบานว่าได้ซื้อกระแช่ไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มพรรษา และยังไม่ได้ดื่มแม้แต่หยดเดียวตั้งแต่เข้าพรรษา นางขอให้พระองค์สัญญาว่าจะไม่เล่าเรื่องนี้แก่ผู้ใด เมื่อเสวยแล้วหญิงผู้นั้นก็นำเสด็จไปบรรทมบนเสื่อผืนเล็ก ๆ ของนาง ในขณะที่นางผึ่งฉลองพระองค์ที่ซักแล้ว เมื่อตื่นพระบรรทมแล้วก็ทรงฉลองพระองค์ซึ่งแห้งแล้ว ทรงขอบใจหญิงเจ้าของบ้านและตรัสคำอำลา หญิงผู้นั้นกล่าวว่า “ลูกแม่ เจ้าจงพักอยู่ที่นี่จนกว่าพระอาทิตย์ขึ้นเถิด หรือมิฉะนั้นเจ้าจะต้องพายเรือไปอย่างเงียบ ๆ เพื่อว่าเจ้าจะได้ไม่ส่งเสียงไปให้พระเจ้าแผ่นดินได้ยินเป็นเหตุเกิดโชคร้ายแก่เจ้า" พระเจ้าแผ่นดินทรงรับสั่งว่า “ลูกจะทำเช่นนั้น” และเสด็จออกจากบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ยากจนไป ทรงเสด็จกลับด้วยเรือเล็กพร้อมกับราชองครักษ์ซึ่งคอยอยู่ในเรือใกล้ ๆ บ้านหลังนั้น

วันรุ่งขึ้น พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งเรือหลวง (ซึ่งมีเรือนเล็ก ๆ หลังคาปราสาท) มายังบ้านหญิงยากจน ซึ่งพระองค์ได้อาศัยพักค้างคืนอยู่ เรือซึ่งมีพระที่นั่งเล็ก ๆ ลำนี้เป็นลำเดียวกับที่พระราชชนนี หรือพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินใช้ในพระราชพิธี นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าฉลองพระองค์บนเรืออีกด้วย ทรงมีรับสั่งให้มหาดเล็กนำเสื้อผ้าไปให้แก่หญิงแก่คนนั้นและเชิญลงเรือหลวงมาเข้าเฝ้า เมื่อหญิงแก่เห็นมหาดเล็กหลวงมาหาตน กก็ตกใจกลัวตัวสั่นด้วยคิดว่า พระเจ้าแผ่นดินได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้น ณ บ้านของนางในคืนก่อน ถึงแม้ว่ามหาดเล็กหลวงจะได้อธิบายให้ทราบถึงสาหตุที่ตนมา นางก็ไม่ยอมเชื่อว่านางจะมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ นางยังขอร้องพวกมหาดเล็กให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า นางได้เสียชีวิตเสียแล้วอย่างน่าสังเวชเนื่องจากความกลัว ในเวลาเดียวกัน นางก็คิดหนีเอาชีวิตรอดโดยจะไปพึ่งพระ พวกมหาเล็กก็ไม่สนใจต่อคำพูดของนางแต่ประการใด เมื่อเห็นว่านางไม่เต็มใจที่จะเข้าเฝ้า มหาดเล็กก็ช่วยกันจับนางด้วยความละมุนละม่อม แต่งตัวให้นาง และนำลงเรือมายังพระราชวัง และนำเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงเสด็จมาจูงนางและตรัสเล่าว่า พระองค์คือบุคคลไปอาศัยอยู่ ณ บ้านนางในคืนนั้น และนางได้ดูแลพระองค์อย่างดี ทรงตรัสต่อไปว่า "และเพราะว่าในยามยาก นางได้รับฉันเป็นลูกของนาง ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลูกก็จะเรียกนางว่าแม่และจะรักยิ่งต่อไป" พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้จัดที่อยู่ในพระราชวังสำหรับหญิงแก่ผู้นี้ และให้นางได้รับการดูแลและปรนนิบัติเป็นอย่างดีดุจพระมารดาของพระองค์เอง จนกระทั่งนางได้สิ้นชีพลง พระองค์ก็ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงเช่นเดียวกับพระราชินีนั้นเดียว

— Cort Verhael van't naturel eijnde der volbrachte tijt ende successie der Coningen van Siam

[3]

วัดแม่นางปลื้มปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร รัชกาลขุนวรวงศาธิราช ว่า พ.ศ. 2091 โขลงช้างจากลพบุรีเข้ามาทางวัดแม่นางปลื้ม เข้าเพนียดวัดซอง สมุหนายกนำความกราบทูล ขุนวรวงศาธิราชมีรับสั่งว่าจะไปจับช้าง จึงเป็นหลักฐานว่าชื่อวัดแม่นางปลื้มมีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว ตำนานเรื่องแม่นางปลื้มจึงอาจไม่ใช่เรื่องจริง[4] [5]

ครั้นประมาณ ๑๕ วัน กรมการเมืองลพบุรีบอกลงมาว่า ช้างพลายสูง ๖ ศอก ๔ นิ้ว หูหางสรัพต้องลักษณะติดโขลง สมุหนายยกกราบทูล ตรัสว่าเราจะขึ้นไปจับ อยู่อีก ๒ วันจะเสด็จ แล้วสั่งให้มีตราขึ้นไปว่าให้กรมการจับเสียเถิด ครั้นอยู่มาประมาณ ๗ วัน โขลงชักปกเถื่อนเข้ามาทางวัดแม่นางปลื้ม เข้าพะเนียดวัดซอง สมุหนายกกราบทูล ตรัสว่า พรุ่งนี้เราจะไปจับ

— พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

[6]

ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วัดแม่นางปลื้มได้ถูกใช้เป็นค่ายของกองทัพพม่า ดังความในพระราชพงศาวดารว่า

ขณะนั้นพะม่ายกเข้ามาเผาพระที่นั่งพะเนียดเสีย แล้วตั้งค่ายที่พะเนียด แลวัดสามพิหาร และวัดมณฑป แลตั้งล้อมรอบกรุง ฝ่ายข้างในกรุงนั้น เกิดโจรปล้นมิได้ขาด คนอดโซเป็นอันมาก ที่หนีออกไปหาพะม่าก็เนือง ๆ แล้วพะม่าทำสะพานข้ามทำนบรอเข้ามา ขุดอุโมงค์รุ้งเชิงกำแพง แลตั้งป้อมศาลาดิน ตั้งค่ายวัดแม่นางปลื้ม ก่อป้อมสูงเอาปืนใหญ่ขึ้นยิง แล้วพะม่าตั้งค่ายณวัดศรีโพธิ์... ...ครั้นณวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุรนพศก เพลาบ่าย ๔ โมง พะม่ายิงปืนป้อมสูงวัดการ้อง วัดแม่นางปลื้ม ระดมเข้ามาในกรุง แล้วเอาเพลิงจุดเชื้อที่รากกำแพงครั้นเพลาค่ำกำแพงซุดลงหน่อยหนึ่ง พะม่าก็เข้ากรุงได้

— พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

[7]

โบราณสถาน[แก้]

เจดีย์ทรงระฆัง

ภายในเขตโบราณสถานประกอบด้วยอาคารที่สำคัญได้แก่ เจดีย์ประธานทรงระฆัง พบร่องรอยการบูรณะ 3 ครั้ง บริเวณฐานเจดีย์ปรากฏประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงห์ล้อม ซึ่งอาจเป็นการดัดแปลงมากจากคติเจดีย์ช้างล้อมที่นิยมในศิลปะสุโขทัย วิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐ ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อขาว พระพุทธรูปประธานสมัยอยุธยาที่มีร่องรอยการบูรณะในสมัยปัจจุบัน อุโบสถมีการตกแต่งหน้าบันด้วยเครื่องถ้วยประเภทต่าง ๆ รวมทั้งใบเสมาที่เป็นของสมัยรัตนโกสินทร์

อ้างอิง[แก้]

  1. ""วัดแม่นางปลื้ม" มีเรื่องเล่า! สมเด็จพระนเรศวรกับหญิงชรายากจนที่ทรงเรียกว่า "แม่"!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. "วัดแม่นางปลื้ม เที่ยวชมวัดโบราณข้ามประตูมิติไปสู่ความสวยงามในอดีต". สนุก.คอม.
  3. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.
  4. https://www.youtube.com/watch?v=MoXgosR4qGA
  5. https://www.blockdit.com/posts/5ebb6a083cf8704693e03411
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9