ข้ามไปเนื้อหา

วัดเกตการาม (จังหวัดสมุทรสงคราม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเกตการาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเกตการาม, วัดเกต, วัดเกตราชยตนาราม
ที่ตั้งเลขที่ 26 หมู่ที่ 3 ทางหลวงชนบท สส.4013 ตำบลโรงหีบ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 75120
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระประธานหลวงพ่อพระศรีสัพพัญญู
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเกตการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านวัดเกต ตำบลโรงหีบ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ประวัติ

[แก้]

วัดเกตุการามสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่ต่อมาถูกทิ้งร้างไป เล่ากันสืบต่อมาว่าเศรษฐีเป็นผู้สร้างไว้ ประมาณปี พ.ศ. 2433 นายนุช นางตะ จึงได้นิมนต์พระจากวัดบางคนทีนอกมาบูรณปฏิสังขรณ์ เดิมมีชื่อว่า วัดเกต สันนิษฐานกันว่าชื่อตามต้นเกดใหญ่ (พ.ศ. 2474 ขุดพบแก่นไม้เกดยาว 5 วา 2 นิ้ว จมดินลึก 2 ศอก 1 คืบ 3 นิ้ว) ต่อมาพระมหาสมณวงศ์ได้ต่อเติมนามวัดเป็น "วัดเกตราชยตนาราม" ในปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เสด็จมาประทับแรมที่วัดนี้ ทรงปรารภว่าชื่อวัดยาวและเรียกยากจึงเปลี่ยนเป็น "วัดเกตการาม" กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม 2539 มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 5 ไร่ 3 งาน 2.54 ตารางวา[1]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

[แก้]

พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสี ลดชั้น มีช่อฟ้าใบระกา ปูนปั้นประดับกระจก พระอุโบสถนี้เป็นพระอุโบสถหลังที่ 3 สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2473 สมัยรัชกาลที่ 7 วิหารของวัดประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดงที่นำมาจากวัดร้างที่ตั้งอยู่เชิงสะพานท่าข้ามบางนกแขวกซึ่งปัจจุบันเป็นวัดคริสต์ หมู่กุฏิสงฆ์ทำด้วยไม้สัก เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูงมีระเบียงโดยรอบ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ฝาไม้ลูกปะกนทึบ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5–6

ปูชนียวัตถุของวัด หลวงพ่อพระศรีสัพพัญญู เป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังปัจจุบัน แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่กลางแจ้งนานเท่าไรไม่มีใครทราบได้ มีต้นไม้ปกคลุมองค์ท่านเป็นป่ารก คาดว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ได้สร้างมาพร้อมกับวัดโบราณ ต่อมาประชาชนใกล้วัดได้ช่วยกันถางต้นไม้ออก แล้วเอาปูนขาวพอกหุ้มองค์ท่านไว้ คนสมัยนั้นจึงเรียกท่านว่า หลวงพ่อเผือก[2] นอกจากนี้ยังมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในอุโบสถ หลวงพ่อเกสมงคลพุทธพรหมบดี และพระพุทธนรสีห์ชินินทรมหามุนีศรีสมุทร[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดเกตการาม". กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.
  2. "วัดเกตการาม พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม.
  3. "วัดเกตการาม". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์.