วัดอัมพวันเจติยาราม
วัดอัมพวันเจติยาราม | |
---|---|
พระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม | |
ชื่อสามัญ | วัดอัมพวันเจติยาราม, วัดอัมพวัน, วัดอัมพวา |
ที่ตั้ง | ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นโท |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่อทรงธรรมหรือหลวงพ่อดำ |
เจ้าอาวาส | พระวชิรเจดีย์ (วิทยา วรปุญฺโญ) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อยู่ติดกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นวัดของตระกูลราชินิกุลบางช้าง
ประวัติ
[แก้]วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหารเดิมเรียกกันว่า วัดอัมพวา คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1)โดยสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีสร้างถวายแด่สมเด็จพระมารดา (สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี) หลังวัดแห่งนี้เคยเป็นนิวาสสถานเก่าของหลวงยกกระบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) และยังเชื่อว่าบริเวณพระปรางค์ของวัดนี้เป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่ 2)ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3)วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกุฏิ พระวิหาร และพระที่นั่งทรงธรรม (ซึ่งแต่เดิมสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงบวชเป็นแม่ชีและฟังธรรมในพระที่นั่งนี้) และทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาบรรจุไว้ในพระปรางค์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4)พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั้งหลังและพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอัมพวันเจติยาราม"[1] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)พระองค์เสด็จประพาสต้นมาวัดแห่งนี้[2]
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดอัมพวันเจติยารามเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. 2500 พระอุโบสถตลอดจนถาวรวัตถุในวัดนี้ส่วนใหญ่เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บริเวณวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[3] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9)พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์ โดยมีกรมศิลปากรดำเนินงานสนองพระราชดำริ วาดจิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และจัดภูมิทัศน์รอบบริเวณพระอาราม[4]
โบราณสถาน
[แก้]พระปรางค์ของวัดมีลักษณะก่ออิฐถือปูน ย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานเป็นสิงห์ซ้อนกันชั้น ๆ เรือนธาตุมีซุ้มทั้งสี่ด้าน มีวิหารคดล้อมรอบซึ่งมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ภายในวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่โดยรอบ ด้านหนึ่งประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์
พระที่นั่งทรงธรรม วิหารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีชายคาปีกนกคลุมทั้งสี่ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป "หลวงพ่อทรงธรรมหรือหลวงพ่อดำ" และรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย พระอุโบสถของวัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องด้านหน้าและมีพาไลยื่นออกมา หน้าบันประดับกระจกสี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนช่วงปี พ.ศ. 2540–2542 เป็นภาพแสดงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ไกรทอง คาวี และ อิเหนา และบริเวณประตูด้านหน้าเป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วัดยังมีกุฏิทรงไทยยกพื้นสูง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[1]
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
[แก้]- จุฬารัตน์ เชื้อทหาร. (2546). จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสุมทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยศึกษา). นครปฐม: บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏนครปฐม.
- บุญเตือน ศรีวรพจน์, บรรณาธิการ. (2559). จิตรกรรมฝีพระหัตถ์และจิตรกรรมตามแนวพระราชดําริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: วัดอัมพวันเจติยาราม. กรุงเทพฯ: กระทรวงวัฒนธรรม.
- บุหลง ศรีกนก. (2543). จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม. ศิลปากร. 43(1): 4-21.
- สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ และสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. (2566). จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม: จากวัฒนธรรมอัมพวา สู่รัตนโกสินทร์. ใน ชีวิตและงาน อาจารย์ คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. บรรณาธิการโดย วิมลวรรณ ปีตธวัชชัย. น. 287-319. กรุงเทพฯ: มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
- เสรภูมิ วรนิมมานนท์. (2546). การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยศึกษา). กรุงเทพฯ: โครงการบัณฑิตศึกษา สถาบันราชภัฏธนบุรี.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "วัดอัมพวันเจติยาราม". กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 2020-07-10.
- ↑ "ท่องเที่ยววัดอัมพวันเจติยาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดอัมพวันเจติยาราม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "วัดอัมพวันเจติยาราม". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.