วัดสิงห์ (เขตจอมทอง)
วัดสิงห์ | |
---|---|
ที่ตั้ง | เลขที่ 35 ซอยเอกชัย 43 ถนนเอกชัย แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย[1] |
เจ้าอาวาส | พระครูปริยัติประภัสสร (สมบูรณ์ ปภสฺสโร ป.ธ.3) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสิงห์ เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ริมคลองสนามชัย (คลองด่าน) ด้านหลังสถานีรถไฟวัดสิงห์ เขตจอมทอง ทางวัดเปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา สำหรับการศึกษาทางโลก มีโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ซึ่งทางวัดให้การสนับสนุนตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์ของวัดด้วย
ประวัติ
[แก้]เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงกับวัดเป็นชุมชนหนาแน่น จึงมีการบูรณะและสร้างเสริมถาวรวัตถุภายในวัดจนกลายเป็นวัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในย่านนี้ แต่เดิมคงเป็นวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมคลองสนามชัยที่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน มีหลักฐานพบว่า วัดสิงห์มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หากจะกำหนดอายุถือจากใบเสมาเป็นหลัก เข้าใจว่า สร้างมาแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยเป็นเสมาของยุคนั้นแท้ ๆ อีกประการหนึ่ง ลวดลายปูนปั้นกระจกมีรูปปั้นเทพนมติดตั้งตรงช่อฟ้าและหางหงส์ แบบเดียวกับวัดท่าหลวง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง จึงคาดว่าเป็นวัดรุ่นเดียวกัน[2]
ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม
[แก้]โบสถ์หลังเก่าก่อผนังหนาทรงวิลันดาสมัยอยุธยา หน้าบรรณปั้นปูนรูปลายพะเนียงประดับถ้วยชาม ตอนล่างหน้าบรรณปั้นลักษณะจำลอง เขามอ คันทวยสลักไม้สวยงาม หน้าอุโบสถต่อเพิงยื่นออกมา เสารับเพิงเป็นเสาเหลี่ยมย่อมมุม 12 คาดว่าต่อภายหลังในอยุธยาตอนปลาย (เหตุเพราะอยุธยาตอนต้นไม่มี) ในปัจจุบันทางวัดสร้างโบสถ์หลังใหม่และใช้เสมาเก่าเฉพาะที่สมบูรณ์ดีเท่านั้น
ส่วนพระประธานในโบสถ์เก่า ทำด้วยก่ออิฐฉาบปูน ลงรักปิดทองและมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ได้อัญเชิญย้ายมาวิหารหลังใหม่ มาทราบภายหลังว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นเนื้อหินทรายแดง (ศิลาแลง) คาดว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาตอนต้น เป็นพระพุทธรูปปาง อู่ทอง นั่งขัดสมาธิ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อดำ
นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงสมัยอยุธยาอยู่บริเวณโคนต้นโพธิ์และต้นมะขามหน้าวิหารหลวงพ่อดำอีกมาก คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 300–400 ปี
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | พระอาจารย์ทัด | ? | ? |
2 | พระอาจารย์จุ่น | ? | ? |
3 | พระอาจารย์พัน | ? | ? |
4 | พระอธิการจำปา | ? | ? |
5 | พระอธิการสุดใจ ธมฺมธีโร | ? | พ.ศ. 2495 |
6 | พระครูอุดมสิกขกิจ (ฉ่อง อุตตฺโม) | พ.ศ. 2496 | พ.ศ. 2531 |
7 | พระครูวิบูลวัฒนวิธาน (แกละ ฐิตธฺมโม) | พ.ศ. 2532 | พ.ศ. 2545 |
8 | พระครูนวการวิมล ดร.(สง่า สิริธโร) | พ.ศ. 2546 | พ.ศ. 2566 |
9 | พระครูปริยัติประภัสสร (สมบูรณ์ ปภสฺสโร ป.ธ.3) | พ.ศ.2567 | ปัจจุบัน |
ระเบียงภาพ
[แก้]-
พระประธานในอุโบสถ
-
พระประธานในอุโบสถเก่า
-
หลวงพ่อดำในวิหารมณฑป
-
อุโบสถหลังเก่า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายชื่อวัดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร
- ↑ น. ณ ปากน้ำ (นามแฝง). ศิลปกรรมในบางกอก. (พระนคร : โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, 2514), หน้า 187