วัดศรีสุทธาวาส (จังหวัดเชียงราย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดศรีสุทธาวาส
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศรีสุทธาวาส, วัดศรีราชคฤห์ (วัดราช), วัดนอก (นอกเวียง), วัดหลวงราชคฤห์, วัดใหม่, วัดราษฏร์, วัดกิตติวาส, วัดเจดีย์สุวรรณ
ที่ตั้งตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรีสุทธาวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ลักษณะพื้นที่เป็นเนินเตี้ย มีป่าไม้เบญจพรรณล้อมรอบมีพื้นที่เป็นวัดและธรณีสงฆ์ รวม 43 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

วัดศรีสุทธาวาสมีหลายชื่อ ได้แก่ วัดศรีราชคฤห์ (วัดราช) หรือ วัดนอก (นอกเวียง) วัดหลวงราชคฤห์ วัดใหม่ วัดราษฏร์ วัดกิตติวาส วัดเจดีย์สุวรรณ ตามประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรของกรมศาสนา ระบุไว้ว่าวัดศรีสุทธาวาสสร้างเมื่อ พ.ศ. 2286 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2427 แต่ประวัติการสร้างวัดมีการสร้างจากหลักฐานแผ่นศิลาจารึก ชร.1 จารึกวิหารจันทรอาราม ระบุว่าเริ่มก่อสร้างวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2011 โดยเจ้าหมื่นท้าวลูกหมื่นพลางเงินญาง เจ้าเมืองวังเหนือได้สร้างวิหารขึ้นชื่อว่า "จันทรอาราม" มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์จารึกอักษรโบราณ และมีแนววิหารโบราณเป็นหลักฐานให้เห็นถึงปัจจุบัน สมัยสร้างราว พ.ศ. พ.ศ. 2256–2286 ตรงกับสมัยของพญามังราย สร้างใหม่หลังจากร้างไปหลายปี

ใน พ.ศ. 2286 ได้สร้างต่อเติมบูรณะไปเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2297 แล้วก็ร้างไปจนกระทั่ง พ.ศ. 2426 พระครูอุตตมะ พร้อมพระครูยติวัตตวิมล พระยาเทพณรงค์ เจ้าเมืองเวียงป่าเป้า พระขันธเสมาหน่องส่วยโหง่งและลูกศิษย์ ร่วมกันบูรณะสร้างวัด พระพุทธรูปในวิหาร เจดีย์ อุโบสถ หอไตร ธรรมาสน์ และหอสรงบางส่วน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2464 พระครูยติวัตตวิมล ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ซึ่งเหลือแต่ฐานเป็นเจดีย์แบบพม่าขึ้นมาใหม่ สร้างพระประธานในวิหาร และวิหารหลังใหม่ครอบวิหารหลังเดิมครอบพระพุทธรูปประประธาน[1] พ.ศ. 2533–2538 ได้สร้างวิหารหลังใหม่ให้ใหญ่ขึ้นเป็นแบบทรงภาคกลางครอบวิหารหลังเดิมซึ่งชำรุด

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่หอไตรสร้างเมื่อ พ.ศ. 2446 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2544 ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมมาก พระธาตุเจดีย์แบบสิบสองปันนา อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2451 มีมุขสร้างคร่อมบันไดรูปปูนปั้นครุฑแบกนาค ยักษ์แบกนาค และแม่พระธรณีบีบมวยผม ปูชนียวัตถุที่สำคัญคือพระประธานแบบพม่าประดิษฐานในวิหาร อยู่บนฐานชุกชีและที่ฐานมีปูนปั้นเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาติชาดก ฝีมือช่างไทใหญ่และสิบสองปันนา[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดศรีสุทธาวาส ศิลปะพม่า เวียงป่าเป้า เชียงราย". สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย.
  2. "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดศรีสุทธาวาส". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-03. สืบค้นเมื่อ 2022-08-03.