วัดศรีบุญเรือง (ตำบลเวียง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดศรีบุญเรือง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

วัดศรีบุญเรือง ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง ข้อมูลของทางวัดอ้างว่าสร้างใน พ.ศ. 1982 แต่ยังไม่พบหลักฐานยืนยัน

พระครูปัญญาลังการ (คำปัน ขตฺติโย) พระครูขัติยะ หรือพระดวงต๋า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ได้บันทึกประวัติวัดศรีบุญเรืองไว้ในพับสาจดหมายเหตุเมืองเชียงรายว่า เมื่อ พ.ศ. 2389 ครูบาอินทจักรังสีได้เดินทางจากเชียงใหม่มาอยู่วัดวังธาน (อยู่บริเวณปากแม่น้ำลาว) เจ้านายเมืองเชียงรายได้นิมนต์มาอยู่วัดศรีบุญเรืองในเขตเวียงเชียงราย และว่าชื่อวัดมาจากการที่ปู่บุญเรืองนำไม้สรี (โพ) มาปลูกในวัด จึงได้ชื่อว่าวัดศรีบุญเรือง ดังจดหมายเหตุเมืองเชียงรายกล่าวไว้ว่า

ประวัติวัดสรีบุญเรือง สกราชเท่าใดไม่ซาบ มีครูบาอินทจักรังสี ได้ลุกจากเชียงใหม่ ขึ้นมาตั้งอารามอยู่วัดวังธานก่อน แล้วเจ้านายบ้านเมืองค็จัดเอาราสดอรเข้ามาอยู่ในเวียง ท่านค็พาเอาสัทธาเข้ามาตั้งอยู่ที่วัดสรีบุญเรือง เวลาเมือเข้ามาตั้งวัดนี้ ยังมีสัทธาคน 1 ชื่อว่าปู่บุญเรือง หาได้ยไม้สรีต้น 1 ที่มาปลูกไว้ยที่แจ่งวัด ยังอยู่ต่อเท้าบัดนี้ จึงตั้งชื่อวัดว่า วัดสรีบุญเรือง มาแล

[1]

สมัยพระครูปัญญาลังการ (คำปัน ขตฺติโย) เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการสร้างวิหาร (จารึกอิฐระบุปีที่สร้าง พ.ศ. 2455) สร้างเจดีย์ ศาลาบาตร กำแพงขึ้นใหม่หมดทั้งวัด ดังจดหมายเหตุเมืองเชียงรายกล่าวไว้ว่า

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2481 ได้รับสัญญาบัตเปนพระครูปัญญาลังการ อยู่ต่อมานานแล้ว ค็ได้สร้างวิหารขึ้น 1 หลัง หลูบพระธาตุขึ้น 1 หลัง สาลาบาตร กำแพงขึ้นใหม่หมดทุกอย่าง ประดับแท่นแก้วเสร็จ ไม่จำสกราช แล้วทุนค่าที่ได้เสี้ยงไพนั้นแล้ว

[2]

พ.ศ. 2500 ภายหลังเมื่อวัดเชียงมั่น (ปัจจุบันคือพื้นที่โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์) วัดประจำคุ้มเจ้าหลวงเชียงรายได้ร้างลง แม่เจ้าจันทร์สุข อินทวงศ์ ได้อาราธนาพระครูปัญญาลังการ ให้ทำพิธีสูตถอนและอัญเชิญพระพุทธรูปสำริด เครื่องทองเหลือง คัมภีร์ใบลานพับสาจากวัดเชียงมั่นเท่าที่สามารถขนได้ มาไว้ยังวัดศรีบุญเรือง ปัจจุบันพระพุทธรูปจากวัดเชียงมั่นยังคงประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีบุญเรือง[3]

วัดศรีบุญเรืองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ได้ประกอบพิธีพุทธสีมา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2491[4] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

พ.ศ. 2546 ได้รื้อวิหารหลังเดิมที่พระครูปัญญาลังการสร้าง แล้วทำการสร้างวิหารขึ้นใหม่

อาคารเสนาสนะ[แก้]

วิหารศิลปะล้านนา

อาคารเสนาสนะของวัด ได้แก่ วิหาร เจดีย์ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอฉัน หอระฆัง และศาลาพักร้อนตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ด้านหลังวัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น[5]วัดนี้เป็นที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล และชมรมลูกเสือชาวบ้านด้วย

เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง[แก้]

  1. ครูบาอินทจักรังสี
  2. พระวง
  3. พระอภิวงศ์
  4. พระพรมปัญญา
  5. พระอภิไชย
  6. พระอินทะ
  7. พระครูปัญญาลังการ (คำปัน ขตฺติโย) พระครูขัติยะ ครูบาขัต หรือพระดวงต๋า[6]
  8. พระครูสิริบุญญานันท์ (บุญทา อานนฺโท)
  9. พระครูธำรงรัตนากร (คมสันต์ ฐิตธมฺโม)
  10. พระมหาอิทธิจันทร์ นิรุตฺยานุปาลี (รักษาการ)
  11. พระครูสิริธรรมนิวิฐ (ทองเย็น ธมฺมวโร)

อ้างอิง[แก้]

  1. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  2. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  3. อภิชิต ศิริชัย. วัดร้างในเวียงเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  4. "วัดศรีบุญเรือง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  5. "วัดศรีบุญเรือง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  6. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.