วัดพระนอนหนองผึ้ง
วัดพระนอนหนองผึ้ง | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดพระนอนหนองผึ้ง, วัดหนองผึ้ง |
ที่ตั้ง | ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระนอนหนองผึ้ง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระนอนหนองผึ้ง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระนอนหนองผึ้งมีตำนานกล่าวถึงในอดีตบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1200 ได้มีพระมหาเถระเจ้าจำนวน 5 รูป ซึ่งติดตามพระนางจามเทวี มาธุดงค์บริเวณนี้ ชาวลัวะจึงได้นำรังผึ้งจากต้นมะขามริมสระน้ำใกล้หมู่บ้านมาถวาย และนำพระบรมสารีริกธาตุใส่กระบอกไม้รวก หรือไม้ไผ่บรรจุผอบทองคำบรรจุในหลุมลึก 22 ศอก พร้อมสร้างขึ้นเป็นวัดชื่อว่า วัดหนองผึ้ง วัดมีสภาพเป็นวัดร้างระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 1836 มีพระมหาเถระเจ้าพร้อมด้วยเศรษฐีจากเมืองเชียงแสนได้มาบูรณะเจดีย์ขึ้นใหม่ ทั้งยังสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายหลังเมื่อพญามังรายได้สร้างเวียงกุมกามแล้ว จึงได้รวมวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเวียงกุมกาม มีประเพณีนมัสการสรงน้ำปิดทองพระนอนในวันเพ็ญเดือนแปด[1]
อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วมีปีกนก 2 ข้าง ด้านหน้ามีสิงห์ปูนปั้นอยู่ 1 คู่ ส่วนซุ้มโขงประตูทางเข้าปรากฏลวดลายปูนปั้นในศิลปะพม่า สันนิษฐานว่าอาจได้รับการซ่อมแซมบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 5 เจดีย์ตั้งอยู่ระหว่างวิหารพระนอนและอุโบสถ เป็นเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆังที่ได้รับการซ่อมปฏิสังขรณ์แล้ว ส่วนฐานเป็นแบบเขียงตอนล่าง เหนือขึ้นมาเป็นชั้นปัทม์ย่อเก็จรองรับส่วนมาลัยเถาแบบย่อเก็จแปลง องค์ระฆังขนาดเล็ก ไม่มีส่วนบัลลังก์ ปล้องไฉนทรงกรวยคว่ำแต่ละปล้องต้องมีขนาดใหญ่ ต่อเหนือขึ้นไปด้วยชั้นบัวกลุ่มแบบพม่า และส่วนปลียอดประดับฉัตรโลหะ ตามตำนานเล่าว่าเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า[2] วิหารซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) เรียก พระนอนหนองผึ้ง หรือ พระพุทธรูปป้านปิง มีความยาวตั้งแต่ยอดพระโมฬีถึงฝ่าพระบาท 19 เมตร (38 ศอก) พระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระเจ้าทันใจ) 1 องค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดพระนอนหนองผึ้ง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
- ↑ "พระนอนป้านปิง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดพระนอนหนองผึ้ง". องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-02. สืบค้นเมื่อ 2021-10-02.