วัดป่าไผ่ (จังหวัดราชบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป่าไผ่
แผนที่
ที่ตั้งตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดป่าไผ่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

วัดป่าไผ่เป็นวัดมอญ เดิมเป็นคณะสงฆ์แบบรามัญนิกาย ที่สร้างโดยชาวมอญรุ่นที่ 3 สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวมอญรุ่นแรกได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เดิมวัดป่าไผ่เป็นวัดร้างมาก่อน เนื่องจากมีซากวิหาร และกองอิฐโบราณหลงเหลืออยู่ รวมทั้งพระพุทธรูปหินทราย ทิ้งร้างอยู่ในดงไผ่ ชาวมอญได้บูรณะและปฏิสังขรณ์เป็นวัดขึ้นมาใหม่ เรียกว่า "วัดป่าไผ่" เพราะบริเวณที่สร้างวัดมีป่าไผ่อยู่เป็นจำนวนมาก[1] ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2334 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2341[2]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ หอไตรได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบพม่าผสมผสานกับสถาปัตยกรรมล้านนา มีลักษณะพิเศษเฉพาะซึ่งช่างชาวรามัญได้สร้างขึ้น มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส อาคารเรือนยอดทรงปราสาท หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จำนวน 5 ชั้น มีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั้งสี่ด้าน โดยมีเสานางเรียงรองรับชายคาด้านละ 3 เสา การประดับตกแต่งหลังคาในแต่ละชั้นบริเวณมุมสันตะเข้จะประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นขนาดเล็ก บานประตูเขียนภาพเซี่ยวกางด้านนอกและทวารบาลด้านใน บานหน้าต่างด้านในเขียนภาพทวารบาล ผนังไม้ด้านในเรียบ หัวเสามีลวดลายตกแต่ง บนเพดานไม้เขียนภาพจิตรกรรมเป็นภาพยันต์ตรีนิสิงเห

อุโบสถได้รับการบูรณะใหม่แต่ยังคงเห็นรูปแบบเดิม วิหารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งสร้างอยู่บนฐาน (วิหาร) สมัยอยุธยา ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานปูนปั้นขนาดเล็กประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดป่าไผ่". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดป่าไผ่". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ําแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดป่าไผ่". สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี.