ข้ามไปเนื้อหา

วัดป่าลิไลยก์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป่าลิไลยก์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดป่าลิไลยก์, วัดป่าชัน, วัดป่าเรไร
ที่ตั้งตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดป่าลิไลยก์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

ประวัติ

[แก้]

วัดป่าลิไลยก์ เดิมเรียก วัดป่าชัน ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดป่าเรไร ตามทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2247 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่เรื่องราวเกี่ยวกับวัดไม่ปรากฏในเอกสารโบราณใด ๆ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2329

ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. 2325 พระมหาช่วยชาวบ้านน้ำเดือด ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุง ได้เป็นเจ้าอาวาส มีบันทึกว่าราว พ.ศ. 2328 พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช ทางฝ่ายเมืองพัทลุงพระมหาช่วยได้ทำเครื่องรางของขลังแจกไพร่พลกรรมการเมืองรวบรวมกำลังไว้ได้ประมาณ 1,000 คน ยกไปต้านทัพพม่าที่ตำบลปันเต แต่ไม่ทันรบกันพม่าก็ถอยทัพเสียก่อน พระมหาช่วยมีความชอบเป็นอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาบทและแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกราษฎร์

ต่อมาได้เกณฑ์คนตัดไม้ต่อเรือรบ 30 ลำ ปากกว้าง 3 วา บ้าง 4 วา บ้าง มีการต่อเรือกันที่ชายทะเลหน้าวัดป่าลิไลยก์ แต่เรือยังไม่ทันเสร็จก็ติดราชการกบฏเมืองไทรบุรีเสียก่อน

จากคำบอกเล่าที่ดินของวัดป่าลิไลยก์ในปัจจุบันเป็นที่ของตาผ้าขาวได้บริจาคให้แก่พระสมหมีอินทร์ที่ตั้งใจจะนำของโบราณมาบรรจุที่พระบรมมหาธาตุนครศรีธรรมราชแต่ไม่ทันพิธีการจึงได้จอดเรือพักและสร้างวัดป่าลิไลยก์[1]

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม 102 ตอนที่ 180 หน้า 141 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา

ศิลปกรรม

[แก้]

อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ด้านนอกมีใบเสมาหินทรายสีแดง ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนรอบอุโบสถจำนวน 8 ใบ บางใบสภาพชำรุดแต่ละใบมีลวดลายจำหลักไม่เหมือนกันคือสลักลายกระหนกก้านขดบางแผ่นสลักลายหน้ากาล เจดีย์ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วหน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 2 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร รอบฐานมียักษ์ปูนปั้นแบกด้านละ 5 ตน[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดป่าลิไลยก์". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพัทลุง.
  2. "วัดป่าลิไลยก์". กระทรวงวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]