ข้ามไปเนื้อหา

วัดประสาทบุญญาวาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดประสาทบุญญาวาส
แผนที่
ชื่อสามัญวัดประสาทบุญญาวาส, วัดคลองสามเสน, วัดขวิด
ที่ตั้งเลขที่ 36 ถนนดาวข่าง แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหาสุชาติ ธมฺมรโต (รก.)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดประสาทบุญญาวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา อาณาเขตของวัดติดกับวังศุโขทัย ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสคือ พระมุนีอโนมคุณ

ประวัติ

[แก้]

วัดประสาทบุญญาวาสสร้างเมื่อราว พ.ศ. 2376 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เดิมชื่อ วัดคลองสามเสน เพราะอยู่ใกล้คลองสามเสน ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดขวิด เพราะมีต้นมะขวิดขนาดใหญ่อยู่ใกล้อุโบสถ และได้เปลี่ยนนามอีกครั้งมาเป็น "วัดประสาทบุญญาวาส" เมื่อราว พ.ศ. 2487[1]

พ.ศ. 2464 ทางวังศุโขทัยและทางวัดได้แลกเปลี่ยนที่ดินด้านหลังวัดซึ่งเป็นของวัด ทำให้ด้านหน้าของวัดขยายเปิดออกไปถึงถนน ต่อมา พ.ศ. 2498 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ สูญเสียอุโบสถและกุฏิจนเกือบยุบวัด ในเวลานั้นพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมมฺธโร) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ได้นิมิตไปว่าหลวงปู่ทวดให้มาช่วยบูรณะวัดนี้ เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงปู่ทวดมักมาปักกลดอยู่บริเวณนี้ หลังจากนิมิตนี้ท่านจึงได้นำแม่พิมพ์และส่วนผสมสำหรับสร้างพระพิมพ์หลวงปู่ทวดมามอบให้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดของวัดประสาทบุญญาวาส ซึ่งสร้างรายได้ให้กับวัดเป็นอย่างมากจนสามารถนำมาสร้างอุโบสถหลังใหม่สำเร็จลงในปี พ.ศ. 2544

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

อุโบสถเดิมที่ถูกเพลิงไหม้ไปนั้น กล่าวว่าไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คงเป็นแบบพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่จึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นรูปแบบไทยประเพณีตามสมัยนิยม คือ เป็นอาคารทรงโรงมีมุขหน้าหลัง หลังคาซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีการตกแต่งด้วยเทพนมที่มุขหน้าหลัง ประดับลวดลายต่าง ๆ จำนวนมากที่หล่อพิมพ์ทาสีทองติดกระจก ภายนอกอุโบสถมีกำแพงแก้ว มีใบเสมาทาสีทองอยู่ในซุ้มเสมาสีขาว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานยกสูง มีซุ้มเรือนแก้ว ด้านข้างมีสาวกประคองอัญชลี ส่วนล่างของฐานมีพระพุทธรูปประทับยืนตรงกลาง ในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่มิได้เคร่งครัดตามคติความหมายเดิม ดังเห็นได้จากภาพแสดงวิถีไทย เช่น การตีไก่ เล่นว่าว เป็นต้น

เจดีย์ประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อม เดิมมีสีขาว แต่มาทาสีทองภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ด้านหน้าวัดมีรูปหล่อหลวงปู่ทวดขนาดใหญ่ทาสีทองในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพชร[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กองพุทธศาสนสถาน, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2, หน้า 179.
  2. ภัทราวรรณ บุญจันทร์. "ความสัมพันธ์ของชุมชนกับศิลปกรรมในวัดราษฎร์ริมคลองสามเสน" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 41–47.