วัดบางโปรง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางโปรง
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 10 หมู่ที่ 2 ซอยบางโปรง 13 ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 10270
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระอธิการเกษม พุทธิสาโร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบางโปรง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านวัดบางโปรง ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 4 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

วัดบางโปรงสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1912 ก่อนสมัยอยุธยาเพียงเล็กน้อย[1] เดิมบริเวณตั้งวัด ชาวบ้านเรียกว่า บางปลง เนื่องจากสมัยที่พระเจ้าอู่ทองเสด็จตรวจราชการผ่านมาบริเวณนี้ ได้เกิดโรคระบาดส่งผลให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงใช้สถานที่ตรงนี้เป็นการปลงศพหรือเผาศพ ต่อมาจึงสร้างวัดขึ้น มีชื่อว่า วัดบางปลง จนเวลาผ่านเลยไป ชาวบ้านเห็นว่าชื่อ "ปลง" ทำให้นึกถึงแต่การปลงศพ จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น "บางโปรง"[2]

วัดบางโปรงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ในด้านการศึกษา มีโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2494 และมีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2525[3]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถกว้าง 10 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างแทนหลังเก่าเมื่อ พ.ศ. 2514 มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ฎีกาพาหุง เบญจศีล เบญจธรรม ประตูหน้าต่างแกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติและพระประจำวัน กุฏิสงฆ์จำนวน 5 หลัง หอสวดมนต์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2509 วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2499 ฌาปนสถาน หอระฆัง หอปริยัติธรรม ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูป นามว่า หลวงพ่อกั่ว หน้าตักกว้าง 58 นิ้ว สูง 73 นิ้ว ปางมารวิชัย เจดีย์ 6 องค์ นอกนี้มีหลวงพ่อโสธรจำลอง หลวงพ่อโตจำลอง หลวงพ่อวัดบ้านแหลมจำลองพระศรีอารีย์และรอยพระพุทธบาทจำลอง[4]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอาจารย์เพิ่ม
  • พระอาจารย์เปลื้อง
  • พระอาจารย์ผัน
  • พระอาจารย์ฉ่อง
  • พระอาจารย์เคลือบ
  • พระใบฎีกาเทพ
  • พระใบฎีกาไพจิตร
  • พระปลัดไปล่ กนฺตวณฺโณ
  • พระครูภัทรสมุทรคุณ
  • พระอธิการเกษม พุทธิสาโร

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดบางโปรง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์.
  2. "ประวัติความเป็นมา". องค์การบริหารส่วนตำบลบางโปรง.
  3. "วัดบางโปรง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "วัดบางโปรง". กศน.ตำบลบางโปรง.