วัดบางพระ (จังหวัดนครปฐม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางพระ
วัดบางพระ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางพระ
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ทางหลวงชนบท นฐ.4014 ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อสิทธิมงคล
เจ้าอาวาสพระครูอนุกูลพิศาลกิจ (สำอางค์ ปภสฺสโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบางพระ เดิมชื่อ วัดปากคลองบางพระ เป็นวัดสังกัดมหานิกายในหมู่ที่ 3 บ้านท่ามะดัน ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่วัด 31 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา และธรณีสงฆ์ 22 ไร่ 2 งาน 19 ตารางวา

วัดบางพระสร้างราวปี พ.ศ. 2220 ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ขาดหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัด กรมศิลปากรพิจารณาดินเผาของพระอุโบสถ อยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ส่วนพระประธานที่เป็นพระปฏิมากรหินทรายแดงจัดให้อยู่ในสมัยอโยธยาสุพรรณภูมิ (อู่ทอง)

พระอุโบสถหลังเดิมของวัด กว้างประมาณ 4 วา ยาวประมาณ 8 วา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในพระอุโบสถหลังเดิมมีพระประธานเป็นพระปฏิมากรหินทรายแดงประทับนั่งปางมารวิชัยลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว (ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อสิทธิมงคล) หน้าพระประธานเป็นพระพุทธปฏิมาประทับนั่งปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 26 นิ้วและมีพระพุทธปฏิมาประทับนั่งทางด้านขวามือองค์พระประธาน 3 องค์และทางด้านซ้าย พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนหลังคาลด 2 ชั้น ประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกา ที่สำคัญคือหลังคาอันมุงด้วยกระเบื้องดินธรรมดา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเล่าเรื่องราวในพระพุทธศาสนาเป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับอดีตขององค์พระพุทธเจ้า ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยการเขียนทับและแก้ไขเล็กน้อย พื้นเบื้องหลังใช้สีอ่อนมีดอกไม้ร่วงอันเป็นคติของอยุธยา จุดเด่นของภาพคือ ภาพมารผจญ เป็นภาพที่พระพุทธเจ้าทรงจีวรแดง ประทับนิ่งบนดอกบัวแก้วแม่ธรณีบีบมวยผมนับเป็นศิลปะแบบเก่า เป็นภาพในช่วงอยุธยาตอนกลาง มีการใช้สีเพียง 4 สี คือ ขาวดำแดงและเขียวใบแค[1]

ยุครุ่งเรืองของวัด คือยุคของเจ้าอธิการหิ่มอินทโชโต ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ ยุคนี้มีการสร้างพระพุทธบาทจำลอง และได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ในละแวกคุ้งน้ำนครชัยศรี สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2470 และเมื่อหลวง หลวงพ่อเปิ่น เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพระ ท่านได้ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ โดยได้บูรณะอุโบสถหลังใหม่ทำเป็นคอนกรีต ทั้งยังก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ มากมาย ต่อมา หลวงพ่อสำอาง ปภสฺโร ทำนุบำรุงพัฒนาวัดเรื่อยมา วัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระบรมสารีริกธาตุ (จากประเทศศรีลังกา) รอยพระพุทธบาทจำลอง หลวงพ่อโต (พระประธานในอุโบสถหลังใหม่) รูปหล่อสิทธิมงคล (พระประธานในอุโบสถหลังเก่า) รูปหล่อเหมือนหลวงปู่หิ่ม หลวงปู่ทองอยู่ หลวงปู่เปลี่ยน สังขารพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) นอกจากนี้วัดยังมีชื่อเสียงด้านการสักยันต์[2]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการเฒ่า พ.ศ. 2330 ถึง พ.ศ. 2379
  • พระอธิการวัชร์ พ.ศ. 2380 ถึง พ.ศ. 2419
  • พระอธิการแพ พ.ศ. 2420 ถึง พ.ศ. 2440
  • เจ้าอธิการหิ่ม อินฺทโชโต พ.ศ. 2441 ถึง พ.ศ. 2495
  • พระอธิการอยู่ปทุมรัตน พ.ศ. 2496 ถึง พ.ศ. 2516
  • พระอุดมประชานาถ (เปิ่น ฐิตคุโน) พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2545
  • พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (สำอางค์ ปภสฺสโร) พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติวัดบางพระ".
  2. "วัดบางพระ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.