พระอุดมประชานาถ (เปิ่น ฐิตคุโณ)
พระอุดมประชานาถ (เปิ่น ฐิตคุโณ) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงพ่อเปิ่น |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 12 สิงหาคม พ.ศ. 2466 (78 ปี) |
มรณภาพ | 30 มิถุนายน พ.ศ. 2545 |
นิกาย | มหานิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบางพระ จังหวัดนครปฐม |
อุปสมบท | 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 |
พรรษา | 53 พรรษา |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดบางพระ เจ้าอาวาสวัดโคกเขมา |
พระอุดมประชานาถ หรือที่ชาวบ้านชาวนครชัยศรีกล่าวนามกันเป็นที่รู้จักว่า หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นพระเกจิอาจารย์แห่งเมืองนครชัยศรี อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา และเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ด้วย
ประวัติ[แก้]
ท่านมีนามเดิมว่า " นายเปิ่น ภูระหงษ์ " ท่านเกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2466 ณ หมู่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ในวัยเด็กหลวงพ่อเปิ่น ท่านได้เรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับวิชาอาคมไสยศาสตร์ เพื่อใช้ในการป้องกันตัว โดยในตอนนั้นหลวงพ่อท่านก็มีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์มาตั้งนานแล้ว ในตอนนั้นบ้านของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางพระ ท่านจึงอยากจะศึกษาวิชาอาคมอย่างเต็มที่ ท่านก็เลยเดินทางมาศึกษาวิชาอาคมที่วัดบางพระเป็นประจำ หลวงพ่อท่านก็เดินทางตามหาคุณครูอาจารย์ผู้ที่จะสอนเรื่องวิชาอาคมให้ และตัวท่านก็นำคาถาเวทมนตร์มาท่องเป็นประจำ ต่อมาท่านได้มาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก ศิษย์หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดคลองมะดัน หลวงพ่อเปิ่นท่านได้อยู่ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อแดง และในส่วนของหลวงพ่อแดงก็เห็นแววของหลวงพ่อเปิ่นว่าจะเป็นผู้ที่มีความขลังในเวทย์ และหลวงพ่อเปิ่น ท่านเป็นเด็กที่ยังมีจิตใจอันบริสุทธิ์ ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อแดงจนหมดทุกแขนงแล้ว
เมื่อท่านโต ท่านก็นำวิชาที่ท่านเรียนไปไปพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่สนใจในวิชานี้เช่นกัน ต่อมาหลวงพ่อเปิ่นก็ย้ายภูมิลำเนากลับสู่บ้านที่นครปฐม เนื่องจากท่านอายุครบเกณฑ์ทหาร ท่านได้รับตำแหน่งเป็นทหารราชโยธา และต่อมาตำแหน่งนี้ถูกประกาศยกเลิก หลวงพ่อท่านจึงออกมาช่วยบิดามารดาทำนาเลี้ยงชีพต่อไป และในเวลานั้น หลวงพ่อเปิ่นก็เรียนวิชาอาคมคาถาวิชาการสักยันต์จากพระอาจารย์หิ่ม วัดบางพระ [1] ต่อมาเมื่อมีอายุครบ 20 ปี หลวงพ่อได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางพระ ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมี เจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทองอยู่ ปทุมรัตน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตฺธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐิตคุโณ” หลังอุปสมบทท่านก็ได้ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์จนกระทั่งท่านมรณภาพ ท่านได้จาริกธุดงควัตรต่อไปและได้ไปเป็นศิษย์หลวงพ่อโอภาสี (อาศรมบางมด) และได้ศึกษาวิชาอาคมจากท่านได้ประมาณ 1 ปีเศษ ท่านก็ออกธุดงค์ต่อไปยังภาคใต้ และไปกราบหลวงพ่อพระพุทธทาสภิกขุ และหลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จากนั้นหลวงพ่อท่านก็ธุดงค์ไปยังป่าแห่งหนึน่งแล้วก็ไม่พบเจอท่านอีก
เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพระ[แก้]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 หลวงพ่อเปิ่นได้มาปักกรดที่ชายทุ่งนาใกล้วัดทุ่งนางหลอก อ.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี และท่านก็ใช้เวทมนตร์ทางด้านสมุนไพรยารักษาโรค รักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย จนชาวบ้านนิมนต์ท่านให้มาช่วยพัฒนาวัดทุ่งนางหลอก 2 ปี ท่านก็ล้มป่วยกะทันหัน และกลับมารักษาตัวที่วัดบางพระจนกระทั่งหายเป็นปกติ ท่านตั้งใจจะเดินทางไปที่อื่น แต่ชาวบ้านได้ขอให้ท่านไปพัฒนาวัดโคกเขมาแทน ท่านจึงได้ไปอยู่ที่วัดโคกเขมา และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อ และท่านก็ได้สร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกในชีวิตของท่าน ต่อมาหลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน์ เจ้าอาวาสวัดบางพระได้มรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2516 ชาวบ้านท่านจึงตกลงใจกันนิมนต์หลวงพ่อเปิ่นให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระสืบต่อ หลวงพ่อเปิ่นได้เข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2518 และได้รับสมณศักดิ์ที่ “พระครูฐาปนกิจสุนทร” ในวันที่ 5 ธ.ค. 2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระอุดมประชานาถ” [2]
สมณศักดิ์[แก้]
- พ.ศ. 2514 หลวงพ่อเปิ่นได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระใบฎีกา" ฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระอุดมสารโสภณ เป็นช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา (อันเป็นเวลาที่วัดโคกเขมาเจริญรุดหน้าขึ้นอย่างสูงสุด)
- พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่ " พระครูฐาปนกิจสุนทร "
- พ.ศ. 2532 ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2537 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ที่ " พระอุดมประชานาถ,(สย.)"
มรณภาพ[แก้]
หลวงพ่อเปิ่น มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ รวมอายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๔ ถึงแม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความมีสติของศิษยานุศิษย์ คุณงามความดีของท่าน ก็จะสืบทอดต่อไปให้ประชาชนทำตาม หลักธรรมที่ท่านสอนคือสอนให้ปฏิบัติตัวให้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และรู้จักปลงในทุกสิ่งทุกอย่างว่า ทุกอย่างในชีวิตมันไม่แน่นอน
อ้างอิง[แก้]
- ↑ วัดบางพระ
- ↑ "พระอุดมประชานาถ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-14. สืบค้นเมื่อ 2019-03-03.
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม[แก้]
ก่อนหน้า | พระอุดมประชานาถ (เปิ่น ฐิตคุโณ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระอธิการทองอยู่ ปทุมรตโน | ![]() |
เจ้าอาวาสวัดบางพระ (25 สิงหาคม พ.ศ. 2518 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2545) |
![]() |
พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (สำอางค์ ปภสฺสโร) |