ข้ามไปเนื้อหา

วัดตะล่อม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดตะล่อม
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 59 ซอยบางแวก 86 ถนนบางแวก แขวงคลองขวาง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร (สินทร)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดตะล่อม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางเชือกหนัง ในแขวงคลองขวาง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 15 ตารางวา

ประวัติ

[แก้]

วัดตะล่อมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2410 ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง แต่เดิมนั้นพวกสนมกรมวังในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มาสร้างศาลาไว้พักผ่อนหย่อนใจที่แห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าสถานที่เหมาะควรแก่การสร้างวัดขึ้นจึงได้สร้างวัด โดยระยะแรกคงจะเป็นวัดชนิดสำนักสงฆ์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้สร้างอุโบสถเรียบร้อยแล้ว วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 เขตพระราชทานกว้าง 69 เมตร ยาว 94 เมตร ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539[1]

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

อุโบสถหลังใหม่กว้าง 6.50 เมตร ยาว 20.50 เมตร หลังคาทรงไทยโบราณ มีเฉลียงหน้ามุขยื่นออกทางด้านหน้าและหลัง ซุ้มประตูหน้าต่างแบบปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระประธานสมัยสุโขทัย แบบปูนปั้นลงรักปิดทอง แต่ปัจจุบันพระประธานคือ พระพุทธชินราชองค์ใหญ่ พระวิหารซึ่งแต่เดิมคืออุโบสถหลังเดิมมีลักษณะเป็นอุโบสถแบบรัชกาลที่ 1[2] กุฏิสงฆ์จำนวน 2 หลังเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น อาคารสงฆ์นานาชาติ 5 ชั้น ให้ชื่ออาคารว่า พระพรหมวชิรญาณ หอสวดมนต์กว้าง 8 เมตรยาว 20 เมตร ศาลาการเปรียญกว้าง 11.60 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 มณฑปมีหลวงพ่อหินอ่อนสีขาวเนื้อละเอียดประดิษฐานอยู่ เป็นศิลปะแบบพม่า รุ่นเดียวกับพระแก้วมรกต หน้าตัก 60 เซนติเมตร

รายนามเจ้าอาวาส

[แก้]
  • หลวงพ่อหงวน
  • พระอาจารย์ก้วย
  • พระอาจารย์เชิง
  • พระอาจารย์แวง
  • พระอาจารย์ติ่ง
  • พระอาจารย์ลิ
  • พระอาจารย์ดี
  • พระอธิการบุญชู เขมกาโร (ทองก้าย)
  • พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร (สินทร)
  • พระมหาบุญลือ ปุณฺณโก (อุปลา)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-27.
  2. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรีในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 313.