วัดดอนสะท้อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดดอนสะท้อน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลปากแพรก อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดดอนสะท้อน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลปากแพรก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ปัจจุบันมีพระปลัดประมวล ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติ[แก้]

วัดดอนสะท้อนตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2400[1] ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ สมัยหลวงพ่อทอง พุทธสุวณโณ เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2466 โดยได้สร้างกุฏิครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 ได้บูรณะวิหาร พ.ศ. 2482 สร้างอุโบสถหลังใหม่ในตำแหน่งของอุโบสถหลังเดิม วัดได้รับการประกาศเขตวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2495 ปัจจุบันหลังคากุฏิได้เปลี่ยนแปลงกระเบื้องหลังคาดินเผาของเดิมเป็นกระเบื้องลอนคู่สีแดง ส่วนสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ยังคงของเดิม

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ กุฎิหลวงพ่อทอง พุทธสวณโณ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช และเป็นผู้ดูแลซ่อมแซมทั้งสิ้น ประกาศขึ้นทะเบียนประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอน 80 ง. วันที่ 12 กันยายน 2540[2] ชั้นล่างของกุฏิก่ออิฐถือปูน เสาก่ออิฐถือปูนเป็นแบบย่อมุมสิบสอง มีลวดบัวหัวเสารับปูนปั้นบัวแปดกลีบ พื้นชั้นล่างเป็นซีเมนต์ขัดมัน บันไดทางขึ้นบนชั้นบนก่ออิฐฉาบปูน ตัวอาคารชั้นบนเป็นไม้ทั้งหมด พื้นไม้กระดาน 7 x 8 นิ้ว ฝาไม้ตีซ้อนเกล็ดแนวนอน ระเบียงด้านหน้ามีลูกกรงไม้กลึงโดยรอบ ประตูหน้าต่างลูกฟักไม้ ประกอบลวดบัวช่องลมโดยรอบอาคารทั้งหมดเป็นแผ่นไม้ฉลุลาย หัวเสาระเบียงด้านหน้าลอนคู่ ซึ่งเดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา

นอกจากนั้นยังมีวิหารก่ออิฐฉาบปูนไม่มีบัวฐาน มีเส้นลวดประดับบัวหัวเสา ราวลูกกรงลวดบัวลูกมะหวดแบน เสารางลูกรงมีหัวเม็ด หลังคาทรงไทย โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หัวนาค สันหลังคาชุดล่างประดับใบระกาและปูนปั้นรูปครุฑ ผ้าไขราไม้ ฝ้าเพดานช่องงไม้ 1 x 8 นิ้ว[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดดอนสะท้อน". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "กุฏิโบราณสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 อายุกว่า 100 ปี ในวัดดอนสะท้อน สวยที่สุดของประเทศไทย". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "วัดดอนสะท้อน". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.