วัดช้าง (จังหวัดนครนายก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดช้าง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูโสภณนาคกิจ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดช้าง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ปัจจุบันมีพระครูโสภณนาคกิจ หรือ พระอาจารย์เดช เจ้าคณะตำบลพิกุลออก เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติ[แก้]

วัดช้างสร้างเมื่อใดไม่แน่ชัด ที่ตั้งของวัดเคยเป็นที่พักช้างของทางราชการตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีปะรำพิธีรับช้างอยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกของวัดเป็นที่ราบลุ่ม อีกเรื่องระบุว่าเหตุที่ชื่อว่าวัดช้างเพราะในบึงน้ำพบซากช้างจำนวนมากซึ่งช้างล่มตาย พบซากกระดูกช้างจึงตั้งชื่อว่า "วัดช้าง"

บ้างก็เล่าว่าหลวงพ่อคุ้มเป็นผู้ริเริ่มร่วมมือกับชาวบ้านสร้างวัด ต่อมาเมื่อมีกำลังทหารหมู่หนึ่งได้ทำการต้อนช้างป่ามาหลบพักอาศัยอยู่ที่ใต้ถุนศาลาการเปรียญ แต่เนื่องจากได้เกิดมีฝนตกลงมาอย่างหนัก และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้ทหารกลุ่มนั้นไม่สามารถหากิ่งไม้แห้งมาทำเป็นฟืนก่อไฟเพื่อหุงต้มอาหารได้ ทหารกลุ่มนั้นจึงได้ใช้วิชาบังตา หลอกหลวงพ่อคุ้ม แล้วแอบใช้มีดถากเสาศาลาการเปรียญเพื่อเอาไม้มาทำฟืนหุงข้าว แต่ด้วยที่หลวงพ่อคุ้มมีวิชาอาคมที่เหนือกว่าจึงไม่สามารถใช้วิชาบังตาได้คงปล่อยให้เหล่าทหารได้กินข้าวกินปลากันจนเป็นที่เรียบร้อยและนอนหลับไป หลวงพ่อคุ้มได้ใช้วิชากำบังแก้เผ็ดเหล่าทหารโดยการนำเอากะลามะพร้าว ไปวางครอบไว้บนหัวของช้างที่ทหารเหล่านั้นต้อนมาผูกไว้ใต้ศาลา เมื่อทหารตื่นมาก็ไม่พบช้างของตน ตามหาก็ไม่พบ จึงต่างพากันสำนึกผิดนเข้าไปกราบขอขมาอภัยที่ได้ล่วงเกินหลวงพ่อไป หลวงพ่อคุ้มมีเมตตาให้อภัยในโทษนั้น และให้ทหารพวกนั้นไปทำการตัดต้นไม้มาทำเสาศาลาการเปรียญให้เรียบร้อยดังเดิม จากนั้นหลวงพ่อท่านก็ถอนอาคม และคืนช้างให้กับทหารกลุ่มนั้นไป[1]

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2273 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2323[2]

ปูชนียวัตถุ[แก้]

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปยืนปางห้ามพยาธิประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถ ใกล้ ๆ กันคือท้าวเวสสุวรรณประดิษฐานอยู่คู่กัน พระบรมรูปสามพระองค์คือ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถและพระสุพรรณกัลยา ส่วนหน้าวิหารมีรูปปั้นช้างและม้าออกศึก พระพุทธรูปองค์พระพุทธเมตตาประดิษฐานอยู่ในวิหาร และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทับช้างสามเศียร[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สรรพวิชา'เถรส่องบาตรหาของหาย'วัดช้าง". คมชัดลึก.
  2. "วัดช้าง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "ท่องเที่ยวสุขใจไป อำเภอบ้านนา "วัดช้าง" จ. นครนายก".