วัดจันเสน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดจันเสน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูนิวิฐธรรมขันธ์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดจันเสน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณจันเสน ซึ่งเป็นเมืองสมัยทวารวดี[1] มีเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูนิวิฐธรรมขันธ์

วัดจันเสนตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2446 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2479[2] มีหลวงพ่อเขียนเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ตามคำบอกเล่าต่อกันมาว่าท่านเป็นชาวอยุธยาได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่ริมบึงโบราณจันเสน เห็นสภาพพื้นที่เหมาะที่จะตั้งเป็นวัดจึงได้ชวนชาวบ้านญาติโยมสร้างเป็นวัด มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ พระพิมพ์ ตุ๊กตา ตะเกียงดินเผา ฐานบัว ธรรมจักร ขวานหินขัด และใบหอกสำริด ซึ่งจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์จันเสน บริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน[3]

พิพิธภัณฑ์จันเสนก่อตั้งโดยพระครูนิสัยจริยคุณ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโอด อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน และเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2539 พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน ออกแบบโดยวนิดา พึ่งสุนทร[4] มีแนวคิดออกแบบรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปะยุคทวาราวดี[5]

อาคารเสนาสนะอื่น ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 7.80 เมตร ยาว 23 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 16.20 เมตร ยาว 37.24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ กว้าง 7 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2555 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ จำนวน 11 หลัง เป็นอาคารไม้ 2 หลัง อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 8 หลัง อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 5.20 เมตรยาว 12.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2555 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ และศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง 8 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดจันเสน". องค์การบริหารส่วนตำบลจันเสน.
  2. "วัดจันเสน". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "วัดจันเสน". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
  4. ศรีศักร วัลลิโภดม. "เปิดประเด็น : ภราดรภาพที่จันเสน". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-29.
  5. "เที่ยวพิพิธภัณฑ์จันเสน กราบ 'หลวงพ่อโอด' เมืองโบราณสมัยทวาราวดีตอนต้น". แนวหน้า.