วัดจอมทอง (จังหวัดนครศรีธรรมราช)
วัดจอมทอง | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดจอมทอง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประวัติ
[แก้]วัดจอมทองตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2225[1] มีร่องรอยเนินโบราณสถานอยู่กลางวัด ซึ่งเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ[2] โดยเมื่อ พ.ศ. 2525 โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดีได้สำรวจพบว่าวัดจอมทองซึ่งตั้งอยู่ริมคลองท่าเรือรีมีร่องรอยเนินโบราณสถานสูงประมาณ 1 เมตร อยู่กลางวัด แต่ได้ถูกทำลายไปเมื่อราว 30 ปีก่อนการสำรวจ พระวิษณุ พระพรหม พระพุทธรูปและพระพิมพ์จำนวนมาก รวมทั้งชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมซึ่งทำจากหินปูน
โบราณวัตถุ
[แก้]โบราณวัตถุสำคัญที่พบ ได้แก่ พระวิษณุศิลา สูง 67.5 เซนติเมตร อายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 13 ลักษณะบั้นพระองค์เล็กพระโสณีผายพระเพลาใหญ่พระกรทั้ง 4 ข้างสลักแยกออกจากพระวรกายทรงยืนอยู่บนฐานที่มีเดือยและสวมกีรีฎมกุฏทรงเตี้ยทรงพระภูษาโจงยาวครอบข้อพระบาทและขมวดเป็นปมอยู่ใต้พระนาภี ไม่มีผ้าคาดพระโสณี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศรีธรรมราช
ธรณีประตูเป็นแผ่นหินปูนพบจำนวนหลายแผ่นลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีรูสำหรับสวมเดือยกรอบประตูและมีรอยสลักลงไปให้กลมแต่ไม่ทะลุ ทั้งนี้คงจะใช้สำหรับสวมเดือยของบานประตูที่เป็นเครื่องไม้ ส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดมีอยู่ชิ้นหนึ่งที่มีอักษรปัลลวะรุ่นเดียวกันกับทีพ่บในศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11–12 ปรากฏอยู่ด้วยอย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์โอคอนเนอร์กำหนดอายุตัวอักษรว่าอยู่ในราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 12–13 จึงอาจกล่าวได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ขึ้นไป ปัจจุบันธรณีประตูชิ้นนี้ถูกเคลื่อนย้ายไปวางไว้ในบริเวณวัดประทุมทายการาม อำเภอสิชล
กรอบประตูเป็นแผ่นหินปูนที่ได้รับการตกแต่งให้เรียบทั้ง 2 หน้าลักษณะเป็นแผ่นยาวและมีเดือยที่ปลายทั้ง 2 ข้าง แผ่นหินนี้คงจะเป็นกรอบประตูซึ่งเป็นส่วนค้ำยันหรือวางในแนวดิ่งเดือยนั้นคงใช้สำหรับสวมลงไปในรูของธรณีประตู วัดขนาดชิ้นที่สมบูรณ์มีความกว้าง 38 เซนติเมตรหนา 9 เซนติเมตร ยาว 159 เซนติเมตร (หากรวมเดือยยาว 167 เซนติเมตร) แผ่นหินรูปวงกลมพบจำนวน 2 แผ่นทำจากหินปูนตกแต่งเรียบทั้ง 2 หน้าขนาดเท่ากัน คือ หนา 9 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 92 เซนติเมตร แผ่นหนึ่งมีร่องรอยสลักซึ่งยากแก่การศึกษาว่าจะเป็นสวดลายหรืออักษร
พระพุทธรูปประทับยืนสำริดสูง 20.3 เซนติเมตร ศิลปะทักษิณที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของศิลปะอินเดียทางภาคตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะจากเมืองนาคปัฎฎินัมซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์โจฬะทรงอุปถัมภ์อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17–18 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "รายงานทะเบียนวัด จังหวัดนครศรีธรรมราช".
- ↑ "วัดจอมทอง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดจอมทอง". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.