รามชนมภูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นเรนทระ โมที นากยรัฐมนตรีอินเดียประกอบพิธี "ภูมิบูชา" เมื่อปี 2020 สำหรับการก่อสร้างรามมนเทียร ตรงที่ที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระราม ในอโยธยา

รามชนมภูมิ (สันสกฤต: राम जन्मभूमि; แปลว่า ที่ประสูติของพระราม) เป็นสถานที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ประสูติของพระราม อวตารองค์ที่เจ็ดของพระวิษณุ ในรามายณะระบุว่าที่ประสูติของพระรามอยู่บนฝั่งแม่น้ำสรยู ในนคร "อโยธยา" เชื่อกันว่าคืออโยธยา ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอุตตรประเทศในประเทศอินเดีย

ชาวฮินดูบางส่วนอ้างว่าชนมภูมิของพระรามอยู่ที่อโยธยาในรัฐอุตตรประเทศ ตรงจุดที่เป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรีในอดีตโดยแน่นอน[1] ทฤษฎีดังกล่าวเชื่อว่า จักรวรรดิโมกุลได้ทุบทำลายวิหารในศาสนาฮินดูที่ตั้งอยู่ตรงจุดที่เป็นชนมภูมิของพระรามพอดี และสร้างมัสยิดขึ้นแทนที่ ผู้ที่ปฏิเสธทฤษฎีนี้ระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวปรากฏขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 18 และไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ณ จุดตรงนั้เป็นชนมภูมิของพระรามจริง ๆ สถานที่อื่น ๆ ทั้งในอินเดียส่วนอื่น, ในเนปาล และอัฟกานิสถาน ล้วนเคยมีผู้เสนอว่าเป็นชนมภูมิที่เป็นไปได้ของพระราม ข้อถกเถียงกรณีดังกล่าวเรียกว่า ข้อพิพาทอโยธยา ซึ่งมีทั้งแง่มุมทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และสังคมกับศาสนา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ว่าที่ตั้งของมัสยิดบาบรี และวิหารฮินดูที่มีอยู่ก่อนหน้า แท้จริงแล้วเป็นชนมภูมิแท้จริงของพระรามหรือไม่

ในปี 1992 เหตุการณ์การทุบทำลายมัสยิดบาบรีโดยกลุ่มชาตินิยมฮินดูกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างชุมชนชาวฮินดูกับมุสลิมไปทั่ว ข้อพิพาททางกฎหมายของมัสยิดได้ถูกตัดสินโดยศาลสูงสุดอินเดียระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2019[2][3] โดยคำตัดสินสุดท้ายมีคำสั่งให้ส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่ทรัสต์ชาวฮินดูเพื่อใช้ในการสร้างศาสนสถานของฮินดูขึ้น[4]

ที่ตั้งของมัสยิดบาบรี[แก้]

รามายณะ มหากาพย์ของฮินดูซึ่งมีส่วนที่เก่าแก่ที่สุดอายุย้อนไปถึง 1000 ปีก่อนคริสต์กาล ระบุว่าราชธานีของพระรามคือกรุงอโยธยา[5] ตามความเชื่อฮินดูพื้นถิ่น ที่ตั้งของอดีตมัสยิดบาบรีในอโยธยาซึ่งได้ถูกทำลายไปแล้วนั้น เป็นจุดที่เป็นที่ประสูติของพระรามพอดี เชื่อว่ามัสยิดบาบรีก่อสร้างขึ้นในปี 1528–29 โดยบุคคลนามว่า 'มีร์ บากี' (Mir Baqi; เป็นไปได้ว่าคือ บากี ตัชกันดี) ผู้นำทัพในรัชสมัยของจักรพรรดิบาบูร์ (ค.1526–1530) แห่งโมกุล[6] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์พบว่าหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ของความเชื่อเหล่านี้มีอยู่น้อยมาก[7]

นักบวชมิชชันนารีคณะเยสุอิต โยเซฟ ทีเฟนทาเลอร์ เดินทางไปที่มัสยิดบาบรีระหว่างปี 1766 ถึง 1771 และบันทึกไว้ว่า ไม่จักรพรรดิออรังเซพ (ค.1658–1707) ก็ จักรพรรดิบาบูร์ ได้ทุบทำลายป้อมปราการรามโกฏซึ่งรวมถึงวิหารที่ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระราม มัสยิดหลังหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่วิหารนั้น แต่ชาวฮินดูก็ยังคงทำพิธีสวดภาวนาบนแท่นดินเหนียวที่ระบุจุดที่เป็นสถานที่ประสูติของพระราม[8] ก่อนถึงทศวรรษ 1940s มัสยิดมีชื่อว่า มสายีดีชนมสถาน (Masjid-i-Janmasthan; มัสยิดแห่งสถานที่ประสูติ) ดังที่ปรากฏในเอกสารทางการ[9]

ข้อคัดค้าน[แก้]

นักประวัติศาสตร์บางส่วน เช่น อาร์ เอส ชาร์มา ระบุว่าข้อกล่าวอ้างว่ามัสยิดบาบรีเป็นจุดที่เป็นชนมภูมิของพระรามนั้นเริ่มมีขึ้นหลังจากศตวรรษที่ 18[8] และระบุว่าอโยธยาเป็นจุดหมายปลายทางแสวงบุญของชาวฮินดูย้อนไปได้ถึงยุคกลาง และไม่ปรากฏในคัมภีร์ใด ๆ ว่าเป็นศูนย์กลางของการแสวงบุญ ยกตัวอย่างเช่น บทที่ 85 ของวิษณุสมิรตี ระบุรายชื่อสถานที่แสวงบุญ 52 แห่งซึ่งไม่มีชื่อของอโยธยา[10][5]

นักวิจารณ์จำนวนมากยังอ้างว่าบริเวณที่เป็นอโยธยาในปัจจุบันเดิมทีเป็นพุทธศาสนสถาน ตามที่ระบุได้ตรงกับสาเกตในคัมภีร์พุทธ โรมิลา ฐาปัร ระบุว่าหากไม่ได้พิจารณาแหล่งข้อมูลเชิงปรัมปราวิทยาของฮินดูแล้ว การกล่าวถึงครั้งแรกของอโยธยาในประวัติศาสตร์นั้นย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 7 โดยพระถังซำจั๋ง ซึ่งระบุว่าบริเวณนี้เป็นพุทธศาสนสถาน[11][12]: 25 

สถานที่อื่น ๆ[แก้]

ผู้ที่ยึดถือว่าพระรามมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ระบุว่าพระรามประสูติก่อน 1,000 ปีก่อนคริสต์กาล กระนั้น การขุดค้นทางโบราณคดีที่อโยธยาไม่ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เก่าแก่ถึงช่วงเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เสนอสถานที่อื่น ๆ อีกมากมายว่าอาจเป็นชนมภูมิของพระราม[5]

ในเดือนพฤศจิกายน 1990 จันทรเศขร นายกรัฐมนตรซึ่งพึ่งได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง ได้พยายามที่จะแก้ไขข้อพิพาทอโยธยาอย่างเป็นมิตรต่อทั้งสองฝ่าย โดยให้ทั้งชุมชนฮินดูและมุสลิมออกมาแลกเปลี่ยนข้อกล่าวอ้างของตนเหนือพื้นที่ของมัสยิดบาบรีในอโยธยา คณะผู้แทนฝั่งมุสลิมคือคณะกรรมการปฏิบัติงานมัสยิดบาบรี (Babri Masjid Action Committee; BMAC) ซึ่งรวมถึงอาร์ เอส ชาร์มา, ดี เอ็น ฌา, เอ็ม อถัร อะลี และ สุรัช ภัน คณะฝั่งมุสลิมได้นำเสนอหลักฐานที่เป็นบทความทางวิชาการและเสนอทฤษฎีทดแทนเกี่ยวกับชนมภูมิของพระรามที่อื่น ๆ แหล่งข้อมูลเหล่านี้ระบุชนมภูมิที่เป็นไปได้อื่น ๆ รวมแปดแห่งที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงสถานที่อื่นนอกอโยธยา ไปถึงในเนปาล และ อัฟกานิสถาน[13]

ในหนังสือตีพิมพ์ปี 1992 เล่ม Ancient geography of Ayodhya (ประวัติศาสตร์โบราณของอโยธยา) นักประวัติศาสตร์ ศยาม นารายัณ ปัณเฑ (Shyam Narain Pande) เสนอว่าพระรามประสูติในบริเวณที่ปัจจุบันคือนครเฮราต ในประเทศอัฟกานิสถาน[14] ในปี 1997 เขาได้เสนอทฤษฎีนี้ในเกสาร "Historical Rama distinguished from God Rama" ("พระรามในแง่ประวัติศาสตร์ กับพระรามในฐานะเทพเจ้า") ในการประชุมประวัติศาสตร์อินเดียใหญ่ครั้งที่ 58 (58th session of the Indian History Congress) ในเบงคาลูรุ ในปี 2000 ราเชศ โกฉัร (Rajesh Kochhar) ยังได้เสนอว่าชนมภูมิของพระรามอยู่ที่อัฟกานิสถานเช่นกัน ในหนังสือ The Vedic People: Their History and Geography ("ชาวพระเวท: ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์") ระบุว่าแม่น้ำฮารีอูดในอัฟกานิสถาน เป็นแม่น้ำ "สรายุ" ในรามายณะ ส่วนอโยธยาก็ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำนี้[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. Jain, Meenakshi (2017), The Battle for Rama – Case of the Temple at Ayodhya, Aryan Books International, ISBN 978-8-173-05579-9[ต้องการเลขหน้า]
  2. "Ayodhya dispute: The complex legal history of India's holy site". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2019. สืบค้นเมื่อ 16 October 2019.
  3. "Supreme Court hearing ends in Ayodhya dispute; orders reserved". Business Line. Press Trust of India. 2019-10-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-10-18.
  4. "Ram Mandir verdict: Supreme Court verdict on Ram Janmabhoomi-Babri Masjid case". The Times of India. 2019-11-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 November 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-11-09.
  5. 5.0 5.1 5.2 Ram Sharan Sharma (2003). "The Ayodhya Issue". ใน Robert Layton and Julian Thomas (บ.ก.). Destruction and Conservation of Cultural Property. Routledge. pp. 127–137. ISBN 9781134604982.
  6. Noorani, A. G. (2003), The Babri Masjid Question, 1528–2003, Volume 1, Tulika Books, Introduction (p. xvii), ISBN 81-85229-78-3, It asserts that the Mughal Emperor Babar's governor at Awadh, Mir Baqi Tashqandi, built the Babri Masjid (mosque) at Ayodhya ... The mosque was built in 1528 ...
  7. Kunal, Ayodhya Revisited (2016), Chapter 6.
  8. 8.0 8.1 Robert Layton and Julian Thomas (2003). Destruction and Conservation of Cultural Property. Routledge. pp. 2–9. ISBN 9781134604982.
  9. K. Jaishankar (2009). "Communal Violence and Terrorism in India: Issues and Introspections". ใน Yakov Gilinskiy; Thomas Albert Gilly; Vladimir Sergevnin (บ.ก.). The Ethics of Terrorism. Charles C Thomas. pp. 25–26. ISBN 9780398079956.
  10. Sikand, Yoginder (5 August 2006). "Ayodhya's Forgotten Muslim Past". Counter Currents. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2007. สืบค้นเมื่อ 12 January 2008.
  11. Thapar 2003, A historical perspective on the story of Rama
  12. Panikkar, K.N. (1991). "A Historical Overview". ใน Sarvepalli Gopal (บ.ก.). Anatomy of a Confrontation: The Babri Masjid-Ramjanmabhumi Issue. Penguin. pp. 22–37.
  13. Ram Sharan Sharma (1991). Ramjanmabhumi-Baburi Masjid: A Historians' Report to the Nation. People's Publishing House. ISBN 978-81-7007-138-9.
  14. Śyām Nārāyan Paṇde. Arihant International. 1992. pp. 25–43. ISBN 9788172770242.
  15. Review of The Vedic People: Their History and Geography เก็บถาวร 20 กันยายน 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Current Science. Volume 80, Issue 4. 25 February 2001. p. 584.

บรรณานุกรม[แก้]