รางวัลพานแว่นฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รางวัลพานแว่นฟ้า เป็นรางวัลการประกวดผลงานเขียน วรรณกรรมการเมือง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย [1] เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 ในวาระครบรอบ 70 ปี ของรัฐสภา โดยได้จัดประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก และในปี พ.ศ. 2546 ได้เพิ่มประเภทบทกวีการเมืองเข้าประกวดด้วย รวมทั้งแบ่งเป็นระดับนักเรียนและระดับประชาชน จนถึงปี พ.ศ. 2548 ได้ยกเลิกการแบ่งระดับไป การประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปี (เว้นปี 2557 มีการยกเลิกการประกวดกลางคัน โดยอ้างความเหมาะสมกับสภาพสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากมีการรัฐประหาร) นับเป็นรางวัลทางวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลอีกรางวัลหนึ่งในยุคนี้

รางวัลพานแว่นฟ้า รับผลงานส่งเข้าประกวดทุกๆ ต้นปี โดยจะรับผลงานประเภทต่างๆ และประกาศผลการประกวดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน หรือสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม อันเป็นวาระของวันรัฐธรรมนูญ(10 ธันวาคม)

จำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวด[แก้]

  • พ.ศ. 2545 - ครั้งที่ 1 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 86 เรื่อง
  • พ.ศ. 2546 - ครั้งที่ 2 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 372 เรื่อง
  • พ.ศ. 2547 - ครั้งที่ 3 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 501 เรื่อง
  • พ.ศ. 2548 - ครั้งที่ 4 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 580 เรื่อง
  • พ.ศ. 2549 - ครั้งที่ 5 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 408 เรื่อง
  • พ.ศ. 2550 - ครั้งที่ 6 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 651 เรื่อง
  • พ.ศ. 2551 - ครั้งที่ 7 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 702 เรื่อง
  • พ.ศ. 2552 - ครั้งที่ 8 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 877 เรื่อง
  • พ.ศ. 2553 - ครั้งที่ 9 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 611 เรื่อง
  • พ.ศ. 2554 - ครั้งที่ 10 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 729 เรื่อง
  • พ.ศ. 2555 - ครั้งที่ 11 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 777 เรื่อง
  • พ.ศ. 2556 - ครั้งที่ 12 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 724 เรื่อง
  • พ.ศ. 2557 - (ยกเลิกการประกวด)
  • พ.ศ. 2558 - ครั้งที่ 13 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 125 เรื่อง
  • พ.ศ. 2559 - ครั้งที่ 14 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 657 เรื่อง
  • พ.ศ. 2560 - ครั้งที่ 15 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 733 เรื่อง[2]
  • พ.ศ. 2561 - ครั้งที่ 16 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 794 เรื่อง[3]
  • พ.ศ. 2562 - ครั้งที่ 17 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 914 เรื่อง[4]
  • พ.ศ. 2563 - ครั้งที่ 18 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 1,214 เรื่อง[5]
  • พ.ศ. 2564 - ครั้งที่ 19 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 1,000 เรื่อง[6]

นักประพันธ์และวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้า[แก้]

รางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2554 อันเป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษของรางวัลพานแว่นฟ้า คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ได้พิจาณาเลือกสรรวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ 10 รางวัล ได้แก่

โดยการมอบรางวัลดังกล่าว เป็นการมอบให้กับผลงานของนักเขียนไทยในอดีตที่มีเนื้อหาสาระแสดงทัศนะหรือสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยในอดีตและปัจจุบันได้อย่างลุ่มลึก หลากหลาย งดงาม สมควรเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างเพื่อปลุกเร้าหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้รักประชาธิปไตยในสังคมไทย

ปัญหาการตัดสิน[แก้]

การตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2548 เกิดปัญหาเนื่องจากนางลลิตา ฤกษ์สำราญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานจัดประกวด มีความเห็นส่วนตัวว่าวรรณกรรมที่ได้รับการตัดสินให้รับรางวัล ทั้งประเภทเรื่องสั้น ที่มี นายปองพล อดิเรกสาร และบทกวี ที่มี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน มีเนื้อหาของตัวละครในเรื่อง ตีแผ่พฤติกรรมคอรัปชั่นของรัฐมนตรี (เรื่องสมมุติ) และพลิกมติให้เรื่องสั้น 2 เรื่องที่ควรจะได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศให้ตกไป และไม่ได้รางวัลใดๆ เรื่องสั้น 2 เรื่องดังกล่าวคือ พญาอินทรี ของ จรัญ ยั่งยืน และ กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด ของ 'อาลี โต๊ะอิลชา' หรือ ศิริวร แก้วกาญจน์[7] โดยให้เหตุผลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น การตัดสินดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากคณะกรรมการประกวด รวมทั้งเสียงต่อต้านจากบุคคลในวงการวรรณกรรม นับเป็นเรื่องประหลาดที่คณะกรรมการไม่รับรองผลการตัดสินของกรรมการเสียงข้างมาก ทั้งที่การประกวดวรรณกรรมการเมือง เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ตัวประธานไม่เป็นประชาธิปไตย และนำการเมืองไปแทรกแซงวงการวรรณกรรม รอยด่างครั้งนี้ ทำให้รางวัลพานแว่นฟ้าซบเซาไปในระยะหนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2549 ศิริวร แก้วกาญจน์ ส่งเรื่องสั้น 'กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด' และบทกวี 'การปะทะของแสงและเงา' เข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า ปรากฏว่าเกิดกรณีตัดสิทธิผลงานด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งต่อมา ศิริวร ได้ขยาย 'กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด' ให้เป็นนวนิยาย ปรากฏว่าด้วยความโดดเด่นของเนื้อหา และกลวิธีการเล่า ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2549 ปีต่อมา เขาส่งบทกวีสองบท ได้แก่ 'จดหมายของแม่' และ 'เพลงละเมอของเด็กชายและเพลงกล่อมของแม่' เข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าอีกครั้ง ในนามของ 'ปัณณ์ เลิศธนกุล' และ 'อันวาร์ หะซัน' ตามลำดับ ปรากฏว่าบทกวีทั้งสองได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ตามลำดับ โดยคณะกรรมการไม่รู้ว่า บทกวีสองชิ้นนี้เป็นผลงานของ ศิริวร เพราะเขาใช้นามปากกาที่ต่างกันในการส่งเข้าประกวด การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกติกาของการประกวด เขาจึงไม่แสดงตัวในวันรับรางวัล ความลับดังกล่าวถูกปิดเงียบ จนเมื่อปี พ.ศ. 2551 ศิริวร ได้พิมพ์รวมบทกวีชุดใหม่ชื่อ 'ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง' โดยมีบทกวีที่ได้รับรางวัลทั้งสองชิ้นรวมอยู่ด้วย พร้อมเขียนหมายเหตุพาดพิงถึงรางวัลพานแว่นฟ้าไว้ด้วย ศิริวร จงใจพิสูจน์บางอย่าง และการจงใจนี้นำไปสู่การฝ่าฝืนกฎ แต่น่าแปลกที่กลับไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ในแวดวงวรรณกรรมเลย[8] นับเป็นรอยด่างอีกครั้งที่กรรมการตัดสินรางวัลถูกท้าทาย

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 นายวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ได้แถลงข่าวเรียกร้องเสรีภาพในการเขียนและวิพากษ์วิจารณ์ให้กับกลุ่มนักเขียนศิลปินประชาธิปไตย โดยขอให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยอมรับความในคิดเห็นที่แตกต่าง สร้างความเสมอภาคและเสรีภาพในการพูดความจริง และต่อมาได้ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า[9] นับเป็นรอยด่างอีกครั้งที่กรรมการรางวัลพานแว่นฟ้ายังอยู่ภายใต้วังวนการเมืองเลือกข้าง

ในปี 2556 เป็นปีที่การประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า มีเรื่องอื้อฉาวอีกครั้ง เมื่อกรรมการจำนวน 14 คน ที่นำโดยนายเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประกาศถอนตัวจากการเป็นกรรมการตัดสิน เนื่องมาจากมีความเห็นไม่ลงรอยกับกรรมการใหม่ที่มาจากสายคนเสื้อแดง ที่นำโดยนายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี ที่เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างและเงื่อนไขในการประกวดเรื่องสั้นและบทกวีหลายประการ แม้กระนั้น การประกวดก็ดำเนินการต่อไป จนในที่สุด มีการตัดสินให้บทกวีเรื่อง เบี้ย ของ อรุณรุ่ง สัตย์สวี ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยยอดเยี่ยม ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเข็มและเกียรติบัตร ของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล 1 แสนบาท ทั้งที่ตามกติการะบุว่าบทกวีต้องมีขนาดความยาว 6 - 12 บท แต่บทกวีเรื่อง เบี้ย มีความยาว 14 บทครึ่ง ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศไปแล้ว แต่กรรมการได้ชี้แจงว่าบทกวีดังกล่าวสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะคุณค่าของบทกวีย่อมไม่ถูกกดกักไว้ด้วยแบบแผนใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วาด รวี ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น โดยประกาศลาออกจากคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา และจะไม่เป็นกรรมการตัดสินวรรณกรรมใดๆ อีกตลอดชั่วชีวิต[10]

ปี 2557 มีการยกเลิกการประกวดกลางคัน[11] โดยอ้างความเหมาะสมกับสภาพสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากมีการรัฐประหาร

ปี 2558 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกลับมาจัดการประกวดอีกครั้ง โดยให้งดวรรณกรรมการเมือง แต่จัดประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสครบ 120 ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดประกวดวรรณกรรมประเภท กวีนิพนธ์ และสารคดี เท่านั้น และเนื่องจากเป็นวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ จึงต้องคำนึงถึงความถูกต้องของพระราชประวัติเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก รวมถึงความถูกต้องของฉันทลักษณ์ ทำให้คณะกรรมการตัดสินรางวัลต้องตรวจสอบความถูกผิดของผลงานทุกชิ้นอย่างถี่ถ้วน[12] ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดน้อยอาจเนื่องจากความพิเศษของหัวข้อรางวัลดังกล่าว

สิ่งตีพิมพ์ - เอกสารอ้างอิง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วรรณกรรมเรื่องสั้นและบทกวีการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า[ลิงก์เสีย]
  2. ประกาศคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2560 เรื่อง ผลการตัดสินเรื่องสั้นและบทกวี การประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2560 ประกาศ ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2560 (parliament.go.th)
  3. ประกาศคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2561 เรื่อง ผลการตัดสินเรื่องสั้นและบทกวี การประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2561 ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2561 (parliament.go.th)
  4. ประกาศคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2562 เรื่อง ผลการตัดสินเรื่องสั้นและบทกวี การประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2562 ประกาศ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2562 (parliament.go.th)
  5. ประกาศคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2563 เรื่อง ผลการตัดสินเรื่องสั้นและบทกวี การประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2563 ประกาศ ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2563 (parliament.go.th)
  6. "'รางวัลพานแว่นฟ้า' 2564 สุดยอดเรื่องสั้นและบทกวีการเมือง". bangkokbiznews. 2021-08-06.
  7. "จุดประกาย วรรณกรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 6225". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-21. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  8. โพสต์ทูเดย์[ลิงก์เสีย]
  9. คมชัดลึก : กวีศรีบูรพาถูกอัมรินทร์ปลดข้อหาเสื้อแดง ออกแมกกาซีนสำหรับคนเสื้อแดง[ลิงก์เสีย]
  10. วาด รวี แถลงลาออก กก.พานแว่นฟ้า แฉพฤติกรรมแก๊งค์นักเขียน
  11. ประกาศคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2557 เรื่อง ยกเลิกการประกวดวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวี "รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย" ปีที่ 13
  12. รายงานพิเศษ เจาะลึกผลงานรางวัลพานแว่นฟ้าเฉลิมพระเกียรติฯ